นับแต่นี้ไปจะเกิดภาพการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธุรกิจประกันภัยไทยจากความสำเร็จด่านแรก
ที่สหรัฐอเมริกาผลักดันให้ไทยเปิดเสรีทางการเงินอย่างครบวงจร…!
นั่นก็คือ การผลักดันให้กลุ่มประเทศภาคีสมาชิกลงนามตามข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยอัตราภาษีศุลกากร
(GATT) ในรอบอุรุกวัยวันที่ 15 ธันวาคม ศกนี้
"แต่แม้ผลเจรจาแกตต์จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ในที่สุดธุรกิจประกันภัยไทยก็ต้องเปิดเสรีเพื่อรองรับต่อยุคโลกานุวัตรอย่างปฏิเสธไม่ได้
แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เราปรับตัวได้ทัน" ประชา จารุตระกูลชัย
อธิบดีกรมการประกันภัยเน้นถึงความจำเป็นที่เราต้องปรับตัวตามตลาดการเงินโลกที่หมุนพลิ้วไปอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะความต่างระหว่างผลตอบแทนจากการรับประกันของไทยกับสหรัฐฯ ต่างกันมาก
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้สหรัฐฯ เร่งรุกการเจรจาแกตต์รอบอุรุกวัยให้สำเร็จให้ได้เร็วขึ้น
จะเห็นว่าที่เอไอจี บริษัทประกับของสหรัฐฯ สำรวจออกมาพบว่า ผลตอบแทนจากการรับประกันในไทยค่อนข้างสูง
ประมาณ 9-12% ขณะที่บริษัทประกันภัยในสหรัฐฯ ได้ราว 6-8% เท่านั้น ไทยจึงกลายเป็นแหล่งดึงดูดความสนใจเพิ่มขึ้น
ประกอบกับแนวโน้มธุรกิจประกันภัยไทยเองก็ยังไปได้สวย "ตอนนี้มีบริษัทประกันภัยอยู่ซึ่งรวมของต่างชาติด้วยแล้วมีอยู่
67 แห่ง ถ้าประเมินตามสินทรัพย์ของบริษัทประกันภัยปีนี้มีประมาณหนึ่งแสนล้านบาท
หากคิดอัตราการเติบโตที่ 20% ต่อปี อีก 10 ปีก็จะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น
4 แสนล้านบาท"
ดังนั้น "ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในดังกล่าว ธุรกิจประกันภัยไทยจึงต้องรีบปรับตัว"
ประชา อธิบดีกรมการประกันภัยกล่าวย้ำ "โดยในตอนแรก จะเน้นเปิดเสรีในขอบข่ายที่กระทบต่อธุรกิจประกันภัยไทยน้อยที่สุดก่อน"
นัยว่าเพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่จะลงสนามเสรีอย่างเต็มตัว ซึ่งมีข้อวิพากษ์ถึงข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจประกันภัยอยู่ไม่น้อย
เริ่มตั้งแต่การขยายสัดส่วนให้ต่างชาติถือหุ้นเพิ่มจากเดิม 25% เป็น 30%
"ประเด็นนี้ถือว่าช่วยให้ต่างชาติมาลงทุนมากขึ้น และระยะแรกแล้วเชื่อว่าไม่กระทบต่อธุรกิจประกันภัยไทย
เพราะกว่าบริษัทต่างชาติจะลงฐานและสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับคงต้องใช้เวลา
2-3 ปี และยังยากที่จะเข้ามาครอบกิจการทั้งหมด แต่ก็เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติได้ไม่น้อยเพื่อกระตุ้นการแข่งขันให้มากขึ้น"
แหล่งข่าวจากวงการประกันภัยรายหนึ่งชี้ถึงผลกระทบในช่วงแรก
แต่ระยะต่อไปจะขึ้นกับเงื่อนไขของกรมฯ ว่าจะเปิดกว้างออกไปมากแค่ไหน "ซึ่งถ้าต่างชาติขอถือถึง
49% สัดส่วนตรงนี้คิดว่า ถ้าให้เขาถือเกิน 30% ก็ไม่น่าจะเกิน 35% เพราะตามเป้าหมายของกรมฯ
ต้องการให้บริษัทประกันภัยทุกแห่งเป็นบริษัทมหาชนซึ่งทำให้ง่ายต่อการควบคุมและพัฒนาธุรกิจให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น
พอเป็นอย่างนี้ถ้าถือเกิน 35% จะทำให้ต่างชาติเข้าครองบริษัทประกันภัยไทยได้ง่าย
โดยใช้วิธีผ่านตัวแทนให้ถือหุ้นแทน (NOMENEES)" ประสาน นิลมานัต นายกสมาคมประกันวินาศภัยติงถึงแนวโน้มที่พึงระวัง
เพราะเพียงแต่ให้มีตัวแทนถือหุ้นแทนเพียง 4 ราย โดยแต่ละรายซื้อไม่เกิน 5%
ตามกฎของตลาดหุ้นก็จะมีหุ้นเกิน 50% อันเสี่ยงต่อการถูกเทกโอเวอร์ได้ง่าย
ส่วนการอนุมัติให้บริษัทแม่ของบริษัทประกันต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาในไทย
โดยแก้ไข พ.ร.บ. ประกันวินาศภัยและ พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ที่เดิมกำหนดห้ามบริษัทประกันต่างชาติมาเปิดสาขาในไทยนั้น
จะทำให้เกิดบริษัทประกันภัยต่างชาติในไทยมากขึ้น
อันนี้จะทำให้เกิดการตื่นตัวและแข่งขันหนักขึ้นแน่นอน "เพราะเขาชำนาญกว่าจะเกิดการแย่งลูกค้า
แต่เขาก็ต้องใช้เวลานิดหน่อย สัก 2-3 ปี โดยเฉพาะบริษัทที่เกิดก่อนก็ได้เปรียบ
เช่น บริษัท ไตโชมารีน ประกันภัยของญี่ปุ่น เขามีฐานลูกค้าที่เป็นญี่ปุ่นราว
40% ของนักลงทุนในไทย ก็จะทำให้ขยายฐานได้ง่ายและเร็วขึ้น" แหล่งข่าวจากสมาคมประกันวินาศภัยกล่าว
ประเทศที่ต้องการเข้ามาจริงๆ คือ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น..!
อันที่จริง แต่เดิมมีบริษัทประกันภัยต่างชาติอยู่แล้ว 7 บริษัท เช่น นิวแฮมเชอร์ประกันภัยของสหรัฐ
ไตโชมารีนประกันภัยของญี่ปุ่น เวนโดมประกันภัยของฝรั่งเศส แต่เมื่อทางกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าบริษัทประกันภัยมีมาถึง
67 แห่งแล้ว จึงห้ามต่างชาติเข้ามาตาม พ.ร.บ. ปี 2510 ที่ห้ามต่างชาติเปิดสาขา
เมื่อมาปี 2535 ออก พ.ร.บ. ใหม่แทนปี 2510 ก็ยังคงห้ามต่างชาติเหมือนเดิม
การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาในคราวนี้ เท่ากับเป็นการเตรียมธุรกิจประกันภัยไทยไปสู่ตลาดประกันภัยโลกอย่างแท้จริง…!
แต่ประเด็นนี้ อุทัย พิมพ์ใจชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เคยให้แนวคิดว่า
เมื่อไทยให้สิทธิต่างชาติ ต่างชาติก็ควรให้สิทธิเราด้วย เช่น ถ้าสิงคโปร์จะเข้ามาเปิดในไทย
เขาก็ต้องให้เราไปเปิดในบ้านเขาได้ด้วย
จุดอ่อนของไทยคือเรื่องการรับประกันความเสี่ยง บริษัทประกันภัยต่างชาติจะหาบริษัทรับช่วงต่อได้ดีกว่าไทย
ได้ในอัตราที่ดีกว่า เพราะมีความสัมพันธ์และเครือข่ายกว้างขวาง ขณะที่บริษัทประกันภัยของไทยจะไม่รู้เลยว่า
เขาคิดกันอัตราเท่าไหร่ นี่เป็นธรรมชาติของธุรกิจประกันภัย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการกรองความเสี่ยงกรณีรับประกัน "เรายังมีน้อย
เช่น กรณีโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ต่างประเทศเขาจะถ่ายรูปทุกจุดตอนรับประกัน
พอมีปัญหาก็ชี้จุดได้ แต่เรามีปัญหามากในเรื่องของทีมเซอร์เวเยอร์ (SERVEYER)"
ผู้เชี่ยวชาญจากกรมการประกันภัยยกตัวอย่างปัญหาบริษัทธุรกิจประกันภัยไทยที่ต้องโหมแก้อย่างหนัก
ขณะที่หลังเกิดเหตุบริษัทประกันภัยต้องการทีมสำรวจภัยที่ชำนาญเฉพาะเรื่องเฉพาะส่วน
โดยต่างประเทศเขาจะเรียกใช้ได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ แต่เมื่อด้อยประสบการณ์
ทำให้ต้องจ่ายสินไหมในภาพของการจำยอม และสูงกว่าที่ควรจะเป็น
ยิ่งกว่านั้น ยังมีปัญหาบุคลากรทั้งปริมาณและคุณภาพ ดังนั้นเมื่อต่างชาติเข้ามาเยอะก็จะเกิดการดึงคนที่มีคุณภาพไปซึ่งจะทำให้เกิดการถ่ายเทมันสมองมากขึ้น
เพราะไม่เพียงแต่อนุญาตให้บริษัทประกันภัยต่างชาติเข้ามาเท่านั้น แต่ยังให้ขยายสาขาไปต่างจังหวัดได้
ตลอดจนให้บริษัทประกันภัยไทยขยายบทบาทไปลงทุนธุรกิจเพิ่มเติมในอีก 3 ประเภท
คือเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม และธุรกิจลิสซิ่งได้
เมื่อผนวกประเด็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เข้าด้วยกันแล้ว ด้านหนึ่งแม้จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรและเกิดความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่ครบวงจรมากขึ้น
เพราะธุรกิจเหล่านี้เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับธุรกิจประกัน ก็จะทำให้มีฐานที่จะหารายได้ใหม่เข้าบริษัท
ซึ่งถือว่าเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนที่จะไปแข่งกับต่างชาติ แต่ด้านหนึ่งก็จะเจอปัญหาเรื่องกำลังคนอย่างมากเช่นกัน
โดยเฉพาะใน 2-3 ปีแรก
"เนื่องจากทางกลุ่มบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และธนาคารทำธุรกิจเหล่านี้อยู่แล้ว
จึงไม่ง่ายที่บริษัทประกันภัยจะหาคนเข้ามาสนองความต้องการ เชื่อแน่ว่าจะมีการดึงตัวกันมาก"
แหล่งข่าวจากสมาคมประกันวินาศภัยชี้ถึงปัญหานอกเหนือจากปัญหาเรื่องทีมสำรวจภัย
คนที่จะเสียเปรียบคือบริษัทที่ไม่มีธนาคารหรือบริษัทเงินทุนในเครือซึ่งมีกว่า
40 แห่งจากบริษัทประกันภัย 67 แห่ง แต่บริษัทที่มีความพร้อม เช่น กรุงเทพประกันภัยของธนาคารกรุงเทพ
หรือ ภัทรประกันภัยของกสิกรไทยจะได้เปรียบ
แม้ว่าด้านหนึ่งทางกรมฯ จะเปิดโอกาสให้ขยายวงเงินที่บริษัทประกันภัยจะนำไปลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มเป็น
40% จากเดิมที่กำหนดเพียง 30% พร้อมทั้งให้นำเงินส่วนเกิน (SURPLUS FUNDS)
ซึ่งเกิดจากส่วนผู้ถือหุ้นระยะแรกบวกกำไรสะสม 75% โดยปัจจุบันมียอดอยู่ประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทในระบบนั้นจะทำให้บริษัททำกำไรได้มากขึ้น
เพราะจากที่เคยเน้นเงินฝากและได้ผลตอบแทนต่ำมาก แต่เมื่อเข้าตลาดหุ้นจะทำให้มีกำไรเพิ่มเป็น
15-20% "แต่อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับฝีมือการบริหารของบริษัทนั้นด้วยว่าแน่แค่ไหน"
แหล่งข่าวจากสมาคมประกันวินาศภัยกล่าวย้ำถึงเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป ที่บริษัทประกันภัยจะต้องพลิกโฉมธุรกิจการบริหารงานขององค์กรอย่างเร่งรีบ
โดยเฉพาะในเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลดังกล่าวข้างต้น "ถ้าเราเตรียมไม่ทัน
ไม่เกิน 5 ปี ก็รู้ผล" ประสาน นายกสมาคมประกันวินาศภัยกล่าว เพราะนั่นอาจหมายถึงการถูกกลืนธุรกิจไป
แต่จะเป็นผลดีต่อผู้เอาประกันในระยะยาวเมื่อมีการแข่งเต็มที่ยิ่งขึ้น ปัญหาเดิมไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าที่ประวิงเวลาจ่ายค่าสินไหม
หรือการคิดเบี้ยประกันที่บวกความคุ้มครองเพิ่มอย่างไร้ระบบด้อยมาตรฐานก็จะค่อยๆ
หมดไปด้วยเช่นกัน…!