King of Capital


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

Sandy Weill ผู้สร้างสถาบันการเงินใหญ่สุดในโลก

Sandy Weill ผู้เป็น CEO ของ Citigroup สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็น deal maker ระดับตำนาน หนังสือชีวประวัติเล่มใหม่ของเขา King of Capital เขียนโดย Amey Stone และ Mike Brewster จะบอกเล่าให้คุณรู้ว่า เขากลายเป็น นักธุรกิจพันล้านด้วยการสร้างบริษัทที่ประสบความสำเร็จขึ้นมาจากบริษัทเล็กๆ หรือบริษัทที่กำลังล้มเหลวได้อย่างไร สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร และทำข้อตกลงทางธุรกิจที่ไม่มีใครเชื่อว่าเป็นไปได้ได้อย่างไร Weill ยังเป็นผู้ที่เปลี่ยนโฉมหน้าของโลกการเงินและธุรกิจประกันภัยไปตลอดกาล เมื่อเขาสร้าง Citigroup ขึ้นในปี 1998 ให้เป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อ Weill อายุ 65 แทนที่จะเกษียณ เขากลับเตรียมตัวที่จะรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง Travelers Group กับ Citicorp และหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็สามารถล็อบบี้สภา Congress สหรัฐฯ และประธานาธิบดี ให้ผ่านร่างกฎหมาย Financial Services Modernization ได้เป็นผลสำเร็จ กฎหมายดังกล่าวมีผลอย่างสำคัญต่อความแข็งแกร่งของการรวมกิจการครั้งสำคัญนั้น เพราะยินยอมให้บริษัททั้งหลายสามารถขายประกัน ออกหลักทรัพย์ และให้บริการธนาคารได้ภายใต้บริษัทเดียวกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

King of Capital ยังเผยอีกด้วยว่า เหตุใด Weill จึงไม่เป็นที่รักของใครๆ เท่าไรนัก โดยเฉพาะอดีตหุ้นส่วนและลูกน้องของเขา แม้เขาจะบริจาคเงินเป็นจำนวนหลายล้านดอลลาร์ แต่กล่าวกันว่า Weill เป็นคนที่ไล่เพื่อนออกจากงานมากกว่าที่ใครๆ เคยทำมา และหลายคนว่าเขาเป็นผู้นำที่ ใจร้ายและไร้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นŽ

เริ่มต้นอย่างต่ำต้อย

Weill เติบโตในบ้านหลังเล็กๆ ใน Bersonhurst, Brooklyn ที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ พี่สาว ป้า และปู่ย่า ซึ่งอพยพมาจากโปแลนด์ เขาได้เห็นพ่อกับปู่สร้างธุรกิจตัดเสื้อที่ประสบความสำเร็จต่อมาถึง 40 ปี Weill เรียนรู้เรื่องระเบียบวินัยพร้อมไปกับวิชาการเมื่อเขาเรียนที่ Peekskill Military Academy ซึ่งทำให้เขาซึมซับระบบการให้รางวัลที่ส่งให้เขากลายเป็นนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จใน Cornell เมื่อจบการศึกษา Weill เริ่มชีวิตการทำงานในระดับต่ำสุดด้วยการเป็นพนักงานเดินเอกสารใน Wall Street แต่ไม่นานก็ได้เป็นโบรกเกอร์ และเพียง 5 ปีหลังจากนั้น คือในปี 1960 เขาก็สามารถเปิดบริษัทของตัว ซึ่งมีหุ้นส่วนบางคนที่ถือว่าเป็นระดับ อัจฉริยะในวงการเลยทีเดียว

หนึ่งในข้อตกลงครั้งสำคัญๆ ในช่วงแรกๆ ของเขาเกิดขึ้น ในปี 1970 เมื่อเขาซื้อ Heyden Stone บริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์อายุเก่าแก่ถึง 100 ปี ซึ่งกำลังใกล้จะล้มละลายอยู่รอมร่อ บริษัทนี้ใหญ่กว่าบริษัทของเขาถึง 10 เท่า บรรดาบริษัทนายหน้า เกิดใหม่ทั้งหลายต่างเดินตามสูตรนี้ของ Weill ในเวลาต่อมากันเป็น ทิวแถว กล่าวคือ ซื้อบริษัทที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ที่กำลังประสบปัญหา หนักในราคาถูกๆ ใช้ชื่อของบริษัทนั้นต่อไป ปิดแผนกที่เป็นปัญหา รวมแผนกที่ไม่มีปัญหาเข้ากับบริษัทเดิม และตัดค่าใช้จ่าย

3 ปีต่อมา Weill กลายเป็น CEO ของ Heyden Stone และซื้อ Shearson Hamill ซึ่งทำให้บริษัทโตเป็น 2 เท่า ในปี 1979 Shearson Hayden Stone ซื้อ Loeb Rhoades ซึ่งทำให้บริษัทโตเป็น 2 เท่าอีกครั้ง และเปลี่ยนชื่อเป็น Shearson Loeb Rhodes

หลังจากทำอย่างเดียวกันนี้ไปทั้งหมด 14 ดีล บริษัทนาย หน้าเล็กๆ ของ Weill ก็กลายเป็น Shearson บริษัทโบรกเกอร์ใหญ่สุดอันดับสองใน Wall Street จากธุรกิจที่เน้นให้บริการลูกค้า รายย่อย ขยายไปสู่ธุรกิจวิจัย วาณิชธนกิจ และการสร้างธุรกิจใหม่ ตอนที่เขาขาย Shearson ให้ American Express ในปี 1981 นั้น เขาก็พร้อมที่จะเข้าไปกินตำแหน่งผู้จัดการระดับอาวุโส คนหนึ่งใน AmEx

ยังไม่หมดไฟ

แม้จะเป็นมหาเศรษฐีเงินล้านแล้วในตอนนั้น แต่ Weill ก็ยังไม่พอใจการที่ยังต้องอยู่ใต้คนอื่นใน AmEx ถึงแม้ต่อมาเขาจะได้เลื่อนเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในปี 1983 สองปีหลังจากนั้น เขาลาออกจาก AmEx เพื่อแสวงหาความท้าทายใหม่ๆ เมื่อเขาเข้ากุมบังเหียนบริษัทสินเชื่อผู้บริโภคที่กำลังมีปัญหาอย่าง Commercial Credit ในปี 1986 ไม่มีใครคิดว่าเขาจะทำอะไรได้มากนัก เขาใช้เวลา 12 ปีพลิกฟื้นบริษัทดังกล่าว และใช้มันเป็นฐานในการสร้างสถาบันการเงินที่จะผงาดขึ้นเหนือทุกบริษัท ในปี 1988 Weill ซื้อ Primerica ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทนายหน้า Smith Barney อันนับเป็นการได้หวนกลับคืนสู่รากเหง้าของเขาในธุรกิจค้าหลักทรัพย์อีกครั้ง จากนั้น เขาก็ซื้อหุ้นใน Travelers Insurance และซื้อ Shearson ที่กำลังประสบปัญหากลับคืนมาจาก AmEx ปี 1997 Weill ซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดใน Travelers และซื้อวาณิชธนกิจ Solomon Brothers

ในไม่ช้า Weill ก็สร้างประวัติศาสตร์อันลือลั่นด้วยการรวม Citicorp กับ Travelers ด้วยมูลค่า 70 พันล้านดอลลาร์ และขึ้น เป็น CEO สมใจ ในปี 2001 Citigroup มีมูลค่ามากกว่า 1.5 ล้าน ล้านดอลลาร์ และมีกำไรเกือบ 15 พันล้านดอลลาร์ ทำให้บริษัท ของ Weill เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีกำไรสูงสุดแห่งหนึ่งในโลก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.