ล้อมคอกนอมินีหุ้นชินฯ


ผู้จัดการรายวัน(18 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวถึงแถลงการของบริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้ง เกี่ยวกับการลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับนักลงทุนสถาบันและรายย่อยว่า เชื่อว่านักลงทุนรายใหญ่หลายรายสนใจที่จะเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น แต่คงต้องรอความชัดเจนในเรื่องการกำหนดราคาขายของเทมาเส็กก่อนว่าจะขายในราคาเท่าใด และในสัดส่วนเท่าไหร่

ทั้งนี้ เชื่อว่าเทมาเส็กคงจะไม่มีการกำหนดราคาโดยให้ส่วนลดมากนักเนื่องจาจะทำให้กระทบต่อเงินที่ลงทุน เนื่องจากราคาที่เทมาเส็กซึ่งหุ้นต่อจากตระกูลชินวัตรที่ราคาหุ้นละ 49.25 บาท เมื่อเทียบกับราคาหุ้นในปัจจุบันก็ถือว่าได้รับผลขายทุนค่อนข้างมากแล้วประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากการกำหนดราคาขายยังกำหนดราคาต่ำกว่าราคาตลาดจะทำให้ยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น

สำหรับการกำหนดราคาซื้อขายหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปที่ผ่านมามักจะมีการให้ส่วนลดราคาประมาณ 20% จากราคาในกระดาน ซึ่งการกำหนดราคาบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น จะต้องมีการพิจารณาถึงราคาหุ้นในกลุ่มที่ SHIN ถืออยู่ด้วยอีก 4 บริษัทซึ่งประกอบด้วย บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)หรือ ADVANC,บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน)หรือ SATTEL, บริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน)หรือ ITV และบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด(มหาชน)หรือ CSL ซึ่งหากราคาที่จะเสนอขายเป็นราคาที่อ้างอิงจากราคาตลาดเชื่อว่าจะมีกลุ่มผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุน แต่ทั้งคงต้องอยู่ที่วัตถุประสงค์และเงินของลงทุนของผู้ที่สนใจด้วย เนื่องจากการถือหุ้นของเทมาเส็กยังคงสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 49%

"การลดสัดส่วนการถือหุ้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติสำหรับบริษัทจดทะเบียน เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในบริษัทขนาดเล็ก ๆ ที่มีผู้ถือหุ้นคนไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่กรณีนี้ที่ดังขึ้นมาเพราะเป็นบริษัทขนาดใหญ่" นายก้องเกียรติกล่าว

นอกจากนี้ การติดต่อหานักลงทุนที่สนใจจเข้ามาร่วมลงทุนหากเทมาเส็กสามารถติดต่อที่จะขายหุ้นได้ตามสัดส่วสนที่ต้องการเป็นครั้งเดียวน่าจะส่งผลดีต่อราคาหุ้นในตลาดมากกว่าการซื้อขายหลายครั้ง เพราะอาจจะทำให้เกิดความลังเลในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนได้

อย่างไรก็ตาม การประเมินราคาที่จะเสนอซื้อขายรวมถึงการประเมินทรัพย์สินน่าจะมีการใช้บริษัทที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินหลายบริษัท เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายในครั้งนี้มีมูลค่ารวมกว่าหลายหมื่นล้านบาท

นายก้องเกียรติ กล่าวถึงกฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.เกี่ยวกับการต้องยื่นเพื่อซื้อหุ้นทั้งหมด (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) หากมีการซื้อขายหุ้นเกิน 25% ว่าเรื่องดังกล่าวยังมีช่องว่างที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาเหมือนกรณีเทมาเส็ก โฮลดิ้ง เข้ามาหุ้นบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น เนื่องจากการเข้ามาซื้อหุ้นของเทมาเสกคงไม่ได้ต้องการเข้ามาถือหุ้นถึง 90% กว่า แต่สัดส่วนดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะกฎเกณฑ์ของสำนักงานก.ล.ต.ที่ต้องมีการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นทั้งหมดจากนักลงทุน ซึ่งเมื่อราคาหุ้นที่รับซื้อมีความน่าสนใจนักลงทุนก็พร้อมจะขายทันที

ทั้งนี้ เชื่อว่าการเข้ามาลงทุนของเทมาเส็กในประเทศไทยตามแถลงการณ์ ระบุชัดเจนว่าธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมถือเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อประเทศในอนาคต และบริษัทในเครือของชินคอร์ปก็เป็นผู้นำตลาดด้านนี้และมีผลประกอบการที่ดีมาโดยตลอด

"มันถือว่าเป็นช่องว่างทางหนึ่งของเกณฑ์ ก.ล.ต. เนื่องจากต้องให้มีการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์หากมีการซื้อขายเกินหุ้น 25% ทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของผู้ที่ต้องการเข้าลงทุนอาจจะเกิดกว่าสัดส่วนที่ต้องการซื้อจริงๆ"นายก้องเกียรติกล่าว

**อย่าใช้นอมินีลงทุน**

นายรพี สุจริตกุล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สิ่งแรกที่เทมาเส็กจะต้องเร่งดำเนินการก่อนที่จะมีการขายหุ้นบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น คือ การสร้างความชัดเจนในเรื่องสัญญาสัมปทานเพราะปัจจุบันเรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องอยู่หลายคดี

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดการเข้ามาของผู้ที่จะเข้ามาซื้อหุ้นต่อในครั้งนี้จะต้องไม่เป็นตัวแทนถือหุ้น (นอมินี) ของนักลงทุนรายใด

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวระบุว่าธนาคารไทยพาณิชย์อาจจะเป็นกลุ่มที่สนใจที่จะเข้ามาซื้อหุ้นบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ต่อจากเทมาเส็ก เรื่องดังกล่าวหากจะเกิดขึ้นจริงจะต้องให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์การถือหุ้นในบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย

**หากSCBซื้อต้องขออนุญาตธปท.**

นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และรักษาการแทนผู้ว่าการธปท. กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) อาจจะเข้ามาซื้อหุ้น SHIN ต่อจากเทมาเส็กว่า กรณีดังกล่าว ธปท.คงไม่ต้องเข้าไปทำอะไรเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ที่จะดูแลอยู่แล้ว แต่ในส่วนของธปท.จะดูแลในเรื่องสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งจะต้องมีขอบเขตตามที่ธปท.กำหนดไว้

ทั้งนี้ หากธนาคารไทยพาณิชย์ ถือหุ้นเกินกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนดไว้ก็จะต้องมาขออนุญาตธปท.อยู่แล้ว แต่ขณะนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยังไม่ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตเข้ามาแต่อย่างใด ซึ่งหากมีการขออนุญาตเข้ามาธปท.ก็จะพิจารณาไปตามความจำเป็นและความเหมาะสม

นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า กบข.ไม่ปิดกั้นการเข้าลงทุนในหุ้นบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น เพราะนโยบายการลงทุนของ กบข.ยังคงเน้นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนและคุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุด

ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนการถือหุ้นของกบข.ในบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น อยู่ที่ 0.93%

**เทมาเสกลดสัดส่วนจริง**

นายเอนก พนาอภิชน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานการเงินและบัญชี บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ถึงแถลงการณ์ของเทมาเส็ก โฮลดิ้ง หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ เกี่ยวกับการจะลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯในระยะเวลาและรูปแบบที่เหมาะสมนั้น

ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้รับแจ้งข้อมูลดังกล่าวจากผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่างไรก็ตามบริษัทฯได้สอบถามไปยังผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งแล้ว ได้รับการยืนยันว่าได้ออกแถลงการณ์ดังกล่าวจริง

**พาณิชย์ยันเอาผิดกุหลาบแก้วต่อ**

นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่กองทุนเทมาเสกจากสิงคโปร์ ออกแถลงการณ์ยินดีลดสัดส่วนการถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป ว่า กรณีนี้จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับผลการตรวจสอบการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ของบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด ซึ่งทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้สรุปว่าเข้าข่ายความเป็นนอมินี และได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทุ่งมหาเมฆ ดำเนินการต่อไปก่อนหน้านี้แล้ว

"สิ่งที่ทางกระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบ ก็ได้ส่งต่อให้ตำรวจไปแล้ว แก้ไขในอดีตไม่ได้ แต่ส่วนการปรับกฎหมาย พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ต้องมาทบทวนว่าหลักเกณฑ์ และวิธีการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น" นายการุณกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.