โลว์คอสแอร์ไลน์ปรับตัวสู้วิกฤติ!...ช่วงชิงความเป็นหนึ่ง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ยุทธการเปิดศึกระหว่างสายการบินต้นทุนต่ำเริ่มร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้ง หลังเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในเชิงพาณิชย์ได้ไม่นานส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินไม่น้อย ทั้งในแง่ของจำนวนผู้โดยสารลดลงและต้นทุนของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการปรับตัวของแต่ละสายการบินเพื่อต่อสู้กับวิกฤติจึงเป็นช่วงจังหวะชนิดที่ใครดีใครได้

การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ทางการตลาดของสายการบินเริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเที่ยวบินไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่คาดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปเป็นจำนวนมาก อาทิ จังหวัดกระบี่ ที่ล่าสุดมีสายการบินทั้งในและต่างประเทศเดินทางเข้าไปถึง 8 สายการบิน

อุดม ตันติประสงค์ชัย ประธานกรรมการสายการบินวันทูโก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า นับจากนี้วันทูโกจะมุ่งกลยุทธ์สู่ความเป็นผู้นำเบอร์ 1 ในธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสท์แอร์ไลน์ ซึ่งจากเดิมที่เคยวางตัวเองไว้ที่โลว์แฟร์แอร์ไลน์ ที่ทำให้ปัจจุบันต้องการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารจาก 1 ล้านคนในปีนี้ เป็น 3 ล้านคนในปีหน้า

ทำไมเขาจึงคิดอย่างนั้น?และจะสามารถทำได้จริงหรือ?...นี่อาจจะไม่ใช่แค่คำโฆษณาแต่เป้าหมายที่แท้จริงของ อุดม ต้องการที่จะสร้างอิมเมจของแบรนด์ให้มีความชัดเจนมากขึ้นนั่นเอง

ล่าสุดได้ปรับแผนธุรกิจใหม่จากเดิม ดำเนินการโดยมีสายการบินหลักคือ โอเรียนท์ไทยแอร์ไลน์ ดำเนินธุรกิจต่างประเทศ และมีสายการบินวันทูโก บาย โอเรียนท์ไทย ดำเนินธุรกิจในประเทศ ซึ่งนับจากนี้เป็นต้นไปการแยกวัน ทูโก จะออกจากโอเรียนท์ไทยอย่างชัดเจน

ว่ากันว่าอุดมต้องการมุ่งให้วันทูโกเป็นสายการบินหลักในการแข่งขัน ซึ่งจะทำการบินทั้งในและต่างประเทศในระยะใกล้ๆ เช่น มาเก๊า สิงคโปร์ มาเลเซีย ส่วนโอเรียนท์ไทยจะเป็นเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำจากต่างประเทศ เช่น เกาหลีและฮ่องกง

ขณะเดียวกันการแข่งขันกับโลว์คอสท์แอร์ไลน์ในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็น ไทเกอร์แอร์ เจ็ทสตาร์แอร์เวย์ส และแอร์เอเชีย ที่มีอยู่ทำให้วันทูโกจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ในการเพิ่มจำนวนความถี่ของไฟต์บินเข้ามาแข่งขันแน่นอนเครื่องบินคือตัวแปรที่จะทำให้กลยุทธ์แบบนี้สำเร็จ ล่าสุด อุดมบอกว่าบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มเครื่องบินจาก 4 ลำ เป็น 8 ลำในสิ้นปี และเพิ่มเป็น 15 ลำในปีหน้า โดยเป็นการเช่า ขณะที่จำนวนเที่ยวบินจะเพิ่มจาก 24 เที่ยวในปีนี้ เป็น 36 เที่ยวในสิ้นปี และ 60 เที่ยวในปีหน้า

"หลังจากเราแยกวันทูโกออกมาจากโอเรียนท์ไทยแล้ว จะทำให้การเพิ่มเที่ยวบินทำได้ง่ายขึ้น จากนี้เราจะมุ่งกลยุทธ์เชิงรุกและแข่งขันทุกรูปแบบ" อุดมกล่าว

การออกมาปรับแผนยุทธศาสตร์การบินของวันทูโกอย่างชัดเจนครั้งนี้ ว่ากันว่าอุดมวางแผนที่จะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ภายในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้านั่นเอง

พร้อมเปิดเส้นทางทำกำไร

การปรับปรุงสนามบินกระบี่ให้เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลส่งผลให้ เส้นทางกรุงเทพฯ-กระบี่ ถูกจับตามองจากผู้ประกอบการธุรกิจการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ กอปรกับจังหวัดท่องเที่ยวหลักในประเทศก็มีการจราจรคับคั่งไปด้วยสายการบินจำนวนมาก

เกือบ 2 ปี หลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ การฟื้นฟูเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ด้านโรงแรมที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวกบนเกาะมีความคืบหน้าตามลำดับ ปัจจุบันมีจำนวนห้องพักเปิดให้บริการได้จำนวน 1,800 ห้อง จากเดิมที่มี 2,200 ห้องก่อนหน้าเหตุการณ์สึนามิ ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในปัจจุบันอยู่ที่ ร้อยละ 80- 90 ส่วนใหญ่เป็นตลาดอังกฤษ อิสราเอล และออสเตรเลีย

ในขณะที่ช่วงฤดูการท่องเที่ยว หรือ ไฮซีซั่น ผู้ประกอบการคาดว่ายอดจองน่าจะอยู่ที่ 90 – 100 % โดยมีกลุ่มตลาดใหม่ คือแอฟริกาใต้ สภาพปัจจุบันร้านค้า สถานบริการ และบริษัททัวร์ และกิจกรรมต่างๆ เป็นไปอย่างคึกคัก โดยในส่วนของหอเตือนภัยก่อสร้างแล้วเสร็จ สร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการบนเกาะได้เป็นอย่างดี

“การเลือกเส้นทางกระบี่ เพราะเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพสูง แม้จะมีการบินไทยและแอร์เอเชียเปิดบินอยู่แล้ว”อุดมกล่าวพร้อมกับเสริมอีกว่า สำหรับวันทูโกได้เริ่มเที่ยวบินแรกหลังการแยกตัวจากโอเรียนท์ไทย โดยเปลี่ยนมาใช้เที่ยวบิน OG แทน OX ซึ่งเริ่มไฟลต์แรกกรุงเทพฯ-กระบี่ ต้นเดือนตุลาคม 49 และจะเปิดบินทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน โดยช่วงนี้มีโปรโมชั่นราคาพิเศษจาก 1,950 บาท เหลือเพียง 1,700 บาท

ไทยแอร์เอเชียอัดแคมเปญสู้

แม้ว่าสายการบินไทยแอร์เอเชีย จะเป็นรายแรกที่เข้าไปเปิดให้บริการในสุวรรณภูมิก็ตาม แต่นั่นก็ใช่ว่าจะได้เปรียบคู่แข่งขัน การปรับตัวหลังเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิของไทยแอร์เอเชียจึงต้องเร่งทำอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเดินทาง

แน่นอนกลยุทธ์ที่ไทยแอร์เอเชียถนัดที่สุดคือการหั่นราคาลงมาภายใต้โปรโมชั่น แจ๊ม แจ่ม ที่มีราคาตั๋วเริ่มต้นเพียง 1 บาท ด้วยจำนวนที่นั่งถึง 6 แสนที่นั่งก็เป็นเพียงบทปฐมภูมิในการสร้างกระแสให้คนอยากเดินทางเท่านั้น และเส้นทางที่เปิดให้บริการอยู่แล้วก็หันมาสร้างพันธมิตรร่วมธุรกิจ

จะเห็นได้ว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-กระบี่ สายการบินไทยแอร์เอเชีย ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดกระบี่ สมาคมโรงแรม จังหวัดกระบี่ และนิตยสาร Travel Tips พร้อมใจผนึกกำลังทำแคมเปญขึ้นมาภายใต้ “ เที่ยวกระบี่ ช่วงกรีนซีซั่น ได้รางวัลกลับบ้าน”

ขณะที่เส้นทางใหม่ไทยแอร์เอเชียยังคงไม่มีการเพิ่มหรือเปิดให้บริการ อาจจะเป็นเพราะช่วงนี้การปรับตัวของธุรกิจการบินยังคงต้องให้อยู่ตัวเสียก่อน ซึ่งเชื่อได้ว่าไทยแอร์เอเชียคงจะไม่หยุดการทำตลาดไว้เพียงเท่านี้แน่นอน

นกแอร์คิดนอกกรอบ

การปรับตัวของสายการบินนกแอร์หลังเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิดูจะไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไรนัก จะมีเพียงแค่หยุดทำการบินในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเท่านั้น ซึ่งไม่เหมือนกับช่วงก่อนเปิดสนามบินสุวรรณภูมิประมาณต้นเดือนกันยายน 49 ที่ผ่านมาซีอีโอนกแอร์ อย่าง พาที สารสิน มุ่งมั่นสร้างสรรค์ประสบการณ์การเดินทางโดยเครื่องบิน เพื่อมอบให้กับนักเดินทาง สร้างความฮือฮาด้วยการประกาศความร่วมมือกับบริษัท สเปซ แอดเวนเจอร์ส (Space Adventures) บริษัทผู้นำด้านการท่องเที่ยวสู่อวกาศระดับโลก ในการนำสุดยอดประสบการณ์นวัตกรรมแห่งการท่องเที่ยวในอวกาศถึงหน้าประตูบ้านลูกค้า

“นกแอร์ มุ่งมั่นในการนำเสนอนวัตกรรมใหม่และริเริ่มให้บริการที่เป็น “ครั้งแรกของโลก” มากมายแก่ผู้โดยสาร และด้วยการร่วมงานกับบริษัท สเปซ แอดเวนเจอร์ส เราได้นำประสบการณ์ ”ออกนอกโลก” สู่ประเทศไทย” พาที กล่าว

การร่วมมือกันในครั้งนี้ นกแอร์ว่ากันว่าจะเป็นสายการบินเพียงแห่งเดียวที่นำเสนอบริการของ สเปซ แอดเวนเจอร์ส ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ประสบการณ์การเดินทางทางอากาศอย่างแท้จริงที่สายการบินต้นทุนต่ำไม่มีใครคิดนอกกรอบแบบนี้ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.