|

เปิดกลยุทธ์ รี-แบรนด์ กรุงเทพ ฯ บูรณาการ Bangkok Brand สู่อินเตอร์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้จะประสบความสำเร็จในการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือน สร้างความประทับใจให้คนทั่วโลก จนได้รับรางวัลจากนิตยสารท่องเที่ยวชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา Travel+Leisure ยกให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของเอเชีย ในความเห็นของผู้อ่าน คว้ารางวัล Asia's Best City เป็นปีที่ 5 แถมพ่วงด้วยตำแหน่งเมืองท่องเที่ยวอันดับ 3 ของโลก แต่กรุงเทพมหานคร ในความคิดของอดีตนักการตลาดมือดี อภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็ไม่ต่างอะไรจากสินค้าแบรนด์หนึ่งที่อยู่ท่ามกลางสงครามการตลาดของสินค้าประเภทเดียวกัน ยังต้องมีการปรับกลยุทธรับการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา
การแข่งขันของเมือง เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในวันนี้ ลำพังการชูจุดขายเป็นจุด ๆ มีสถานท่องเที่ยวน่าสนใจ มีค่าครองชีพต่ำ หรือมีโปรโมชั่น ของกรุงเทพฯ คงไม่ใช่อาวุธที่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการแข่งขันอีกต่อไป ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประสบการณ์ในการสร้างแบรนด์สินค้าเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มาโดยตลอด ตั้งแต่ ขนมขบเคี้ยว ธุรกิจบันเทิง จนถึงธุรกิจสื่อสารโทรศัพท์มือถือ มองว่า ต้องนำจุดขายทั้งหมดบูรณาการ สอดประสานความโดดเด่นของเมืองในด้านต่าง ๆ สู่การสร้างแบรนด์ กรุงเทพฯ ที่แข็งแกร่ง คอนเซปต์ กรุงเทพฯ ...ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว จึงเกิดขึ้น
หลายเมืองใหญ่ของโลกมีการนำแนวคิดการรีแบรนด์ พร้อมปรับภาพลักษณ์ของเมืองที่อยู่มาหลายทศวรรษจนถึงกว่าศตวรรษ ให้มีความทันต่อสมัย สร้างลุกส์ใหม่ให้กับเมืองได้ หากแต่ความสำเร็จที่จะเรียกนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้าไปสัมผัสมากน้อยต่างกันไป อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยกตัวอย่างความสำเร็จของเมืองที่เป็นต้นแบบ ให้คณะทำงานของตนออกไปศึกษา อาทิ คอนเซปต์ Hi Seoul ของกรุงโซล เกาหลีใต้ Everyone's London ของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ Barcelona Batega ของเมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน และ Uniquely Singapore ของสิงคโปร์ ล้วนแต่เป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งในการบูรณาการจุดขาย
สำหรับแบรนด์กรุงเทพฯ แม้จะเริ่มเผยโฉมให้เห็นด้วยการประชาสัมพันธ์โลโก้ดอกไม้ 4 กลีบ พร้อมสโลแกน กรุงเทพฯ ...ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว ผ่านสื่อกลางแจ้ง มาราว 2 เดือน แต่รายละเอียดของแคมเปญจะทยอยออกมาในปี หน้าให้เห็นใน 4 มิติ คือ ด้านคุณภาพชีวิต ที่จะทำให้คนกรุงเทพฯ มีความสุขแบบพอเพียง มีความมั่นคงในชีวิต สามารถกำหนดวิถีชุมชนของตนเอง ด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สวยงาม สะอาด เขียวชอุ่ม ร่มรื่น ลดมลภาวะทางน้ำ อากาศ เสียง และขยะ ด้านวัฒนธรรม ชูความเป็นเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมอันล้ำค่า นครแห่งประวัติศาสตร์ ศูนย์กลางแห่งการท่องเที่ยว และด้านเศรษฐกิจ สร้างกรุงเทพฯให้เป็นเมืองหลวงแห่งเศรษฐกิจสมดุลภายใต้พื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงสร้าง Bangkok Brand เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน หรือผู้ประกอบการรายย่อย สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนชานเมือง พัฒนายกระดับฝีมือแรงงาน และอำนวยบริการขั้นพื้นฐานแก่นักลงทุนและนักธุรกิจต่างประเทศ
โดย Bangkok Brand ที่จะเผยโฉมในปี 2550 จะประกอบด้วย จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการ Bangkok Selection เพื่อสร้าง Bangkok Brand ให้เป็นมูลค่าเพิ่มกับสินค้าคุณภาพที่ผลิตในกรุงเทพฯ ตลอดจนร้านอาหารที่เลือกสรร การันตีคุณภาพด้วยป้าย Bangkok Taste และรถ Bangkok Taxi ที่จะมีการอบรมพนักงานขับรถให้มีทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี แต่งตัวดี สุขภาพดี สร้างความประทับใจไม่แพ้ London Taxi
หลังจากใช้เวลาตั้งรับกับปัญหาของกรุงเทพมหานครมาร่วม 2 ปี ขึ้นปีที่ 3 คนกรุงเทพฯ ก็จะได้เห็นผลงานเข็น แบรนด์กรุงเทพฯ รุกก้าวเข้าแข่งขันกับแบรนด์ทั่วโลก ของ อภิรักษ์ โกษะโยธิน อย่างเต็มตา ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยืนยันว่า ไม่ใช่แผนงานที่ล่องลอยแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|