|
บลจ.เครือแบงก์ปรับกระบวนยุทธ์ชิงสูบเม็ดเงินกลางสมรภูมิเดือด
ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กองทุนรวมปรับโหมดรับยุคการแข่งขันสูง หวังเพิ่มผลตอบแทนพร้อมสินทรัพย์ในการบริหาร คู่การลดความเสี่ยง สร้างความพอใจให้ลูกค้า ทั้งไมเนอร์-เมเจอร์เชนจ์ ... "2 บลจ."ส่งสัญญาณนำ ปรับกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อยุธยา นโยบายทั้งตราสารทุน-ตราสารหนี้ ผลตอบแทนเต็ง 1 ด้าน บลจ.ไทยพาณิชย์ ดัน 17 กองทุนหุ้น ใช้ฟิวเจอร์ส ลดความเสี่ยง
ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจ นวัตกรรม และ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง นับได้ว่าเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความแตกต่างรวมทั้งความก้าวหน้าให้เหนือไปจากคู่แข่ง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความพอใจสูงสุดของลูกค้า
ปฐมเหตุของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนี้มีที่มาจาก 2 ประการด้วยกันคือ ปรับเพื่อรองรับความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ ปรับเนื่องจากถูกสภาพปัจจุบันบังคับ แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงจะมีมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และกาลเวลาที่เปลี่ยนไป
ในส่วนธุรกิจกองทุนรวม ปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกันเพื่อให้สามารถแข่งขันอยู่ได้ภายใต้โลกยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ซึ่งเงินไม่มีเขตแดนขวางกัน สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีตามข้อเสนอที่ว่าด้วยความมั่นคงและผลตอบแทนที่สูงกว่าจากการแข่งขันของ บลจ.ซึ่งมีอยู่ 24 แห่ง รวมถึงเพื่อเป็นรับมือกับการที่จะมีบริษัทจัดการกองทุนรวม(บลจ.)ใหม่ที่ได้ขออนุญาต สำนักงานกำกับหลังทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.)เรียบร้อยแล้ว และเตรียมเข้ามาแข่งขันอีกในเร็วๆนี้อีกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น บลจ.ซิกโก้, บลจ.แมนูไลฟ์, บลจ.ฟิลลิป เป็นต้น
ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาและเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การจัดการจากลูกค้าให้มีมูลค่ามากขึ้น อันจะนำมาซึ่งรายได้และผลกำไรในท้ายที่สุด ซึ่งขณะนี้หลาย บลจ.ได้เริ่มมีสัญญาณดังกล่าวให้เห็นบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น บลจ.อยุธยาที่มีได้การจัดทีมและปรับนโยบายการลงทุนใหม่ รวมถึง บลจ.ไทยพาณิชย์ที่มีการประกาศความพร้อมการลงทุนในตลาดอนุพันธ์(TFEX)แล้ว
หลังจากที่ เจเอฟ แอสเซทแมนเนจเมนท์ ในเครือ เจพี มอร์แกน ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บลจ.เอเจเอฟ(AJF) และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้เข้ามาถือหุ้น 77% ทำให้มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารลดลงจากกว่า 4.5 หมื่นล้าน เหลือราว 3.1หมื่นล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา บลจ.จึงได้มีการจัดทีมบริหารกองทุนและปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนใหม่ พร้อมกับได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น บลจ.อยุธยา(AYF)
ฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานกรรมการบริหาร บลจ.อยุธยากล่าวว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุน พัฒนาโครงสร้าง และ ระบบการบริหารจัดการกองทุนใหม่นี้มีจุดประสงค์ในการสร้างความเชื่อมั่น โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการการลงทุนเพิ่มอีก 2 คณะประกอบด้วย Asset Allocation Committee (AAC) และ Credit Committee เพื่อเน้นการลงทุนแบบระมัดระวังและบริหารกองทุนเพื่อให้มีผลตอบแทนสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน
ในส่วนของ กองทุนตราสารทุนก็ได้มีการคัดเลือกหุ้นรายตัวก่อนที่จะลงทุนโดยจะเน้นหุ้นประเภทที่ พื้นฐานดี ความเสี่ยงต่ำ มีอัตราการเจริญเติบโตสูง เห็นได้จากการติดอันดับ 1 ของกองทุนอยุธยาทุนทวี 5 ซึ่งเป็นกองทุนแบบผสม ที่ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 8.36% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 0.17% รวมทั้งกองทุนหุ้นระยะยาวอยุธยาปันผล 8.725% เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ -3.87% และ กองทุนเปิดอยุธยาทวีทรัพย์เพื่อการเลี้ยงชีพที่ทำได้ 6.64% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 0.17%
ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ก็ได้มีการปรับพอร์ตใหม่เช่นกัน โดยเพิ่มสัดส่วนลงทุนในพันธบัตรและตั๋วเงินคลังสูงขึ้น จากเดิม ที่พอร์ตจะมีหุ้นกู้เอกชนมากและเป็นหุ้นกู้ที่ขาดสภาพคล่องในการซื้อขาย โดย บลจ.ได้นำหุ้นกู้ไปรีไฟแนนซ์กับธนาคาร เนื่องจากฐานะบริษัทดี มีสินทรัพย์มากกว่ามูลค่าหุ้นกู้ เพียงแต่ขาดสภาพคล่องเท่านั้น ซึ่งหุ้นกู้ที่นำไปรีไฟแนนซ์มี 4 รายในกลุ่มสื่อสาร โรงพยาบาลและกลุ่มบริการ ซึ่งยังเหลือหุ้นกู้ที่ขาดสภาพคล่องในลักษณะนี้เพียง 1-2 รายเท่านั้น นอกจากนี้ บริษัทยังบริหารพอร์ตมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาอีกด้วย เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อปรับอายุกองทุนให้เหมาะสม ทำให้ผลตอบแทนกองทุนตราสารหนี้จึงดีขึ้น เช่น กองทุนอยุธยาตราสารอุดมทรัพย์ 2 ให้ผลตอบแทน 12.72% ตั้งแต่ต้นปี
ทั้งหมดของการเปลี่ยนแปลงนี้ก็เพื่อให้ บลจ.อยุธยา มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้นให้ติดอันดับมากสุดของธุรกิจ บลจ. 1 ใน 3 อีกครั้งหนึ่งภายใน 3 ปี ตามเป้าหมายที่วางไว้
ด้าน บลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งเพิ่งได้รับการอนุญาตจาก กลต. พร้อมกับ บลจ.อื่นๆอีก 8 แห่งในการลงทุนในตลาดอนุพันธ์(TFEX) แต่ก็ได้ฉวยโอกาสเป็นรายแรกที่การประกาศความพร้อมนำกองทุนกองทุนหุ้นที่มีอยู่ 17 กองมูลค่าประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทมาลงทุนในตราสารอนุพันธ์
ชูเกียรติ ธิติหิรัญเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการลงทุนในตราสารอนุพันธ์มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ทั้งลดความเสี่ยงจากการลงทุน ,ผลตอบแทนจากการลงทุน ลดต้นทุนในการลงทุนเพราะการลงทุนในตราสารอนุพันธ์จะมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าการซื้อขายหุ้น ,พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบใหม่ ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น และสุดท้ายคือ การขยายขนาดการลงทุนเนื่องจากการลงทุนในตลาดอนุพันธ์จะใช้เงินลงทุนขั้นต้นเพียง 10% เท่านั้น อย่างไรก็ตามการลงทุนในตราสารอนุพันธ์เพื่อขยายขนาดการลงทุนนั้น ในช่วงแรกบริษัทจะยังไม่ใช้การลงทุนเพื่อวิธีนี้ เพราะทาง ก.ล.ต.เองก็ค่อนข้างกังวลเนื่องจากการลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวมีความเสี่ยงในระดับที่ค่อนข้างสูง
กลยุทธ์หลักสำหรับการลงทุนในตราสารอนุพันธ์นั้น บริษัทจะนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนของกองทุนมีความผันผวนน้อยกว่าภาวะตลาด และทำให้กองทุนไม่จำเป็นต้องขายหลักทรัพย์ออกไปเมื่อดัชนีหุ้นปรับลดลง
ทั้งนี้ตราสารอนุพันธ์ยังช่วยในการลดความเสี่ยงจากการเบี่ยงเบนไปจากค่ามาตรฐาน ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้มักจะใช้กับกองทุนที่อ้างอิงกับดัชนีเซ็ท 50 เพราะทำให้ผลตอบแทนไม่เบี่ยงเบนไปจากผลตอบแทนของดัชนีเซ็ท 50 มากนัก รวมทั้งการลงทุนในอนุพันธ์ยังช่วยให้กองทุนให้ผลตอบแทนที่มาจากหลักทรัพย์ โดยไม่มีผลตอบแทนของตลาดหรือลดความผันผวนของตลาดออกไป
สำหรับการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนอนุพันธ์นั้น ก็จะมีหน่วยงานควบคุมดูแลความเสี่ยง และมีระบบงานควบคุมการลงทุนผ่านระบบก่อนการส่งคำสั่งซื้อขายและตรวจสอบหลังการซื้อขาย ซึ่งฝ่ายจัดการลงทุนมีการวางแผนการลงทุนและประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุนจริง รวมทั้งผู้จัดการกองทุนจะติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารอนุพันธ์อย่างใกล้ชิดและปรับกลยุทธ์ลงทุนต่อเนื่องเหมาะสมกับสภาพตลาด นอกจากนี้ มีการกำหนดเพดานความเสี่ยงในการลงทุนในตราสารอนุพันธ์และเกณฑ์ในการจำกัดขอบเขตความเสียหายไว้ชัดเจนด้วย
บลจ.ผู้ที่จะแข่งขันอยู่ในวงการต่อไป จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดนี้เพื่อการนำไปสู่ สินทรัพย์ภายใต้การจัดการที่มากขึ้น ความพอใจของลูกค้า การเจริญเติบโตก้าวหน้าของกองทุน และ ความได้เปรียบเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ และคงเป็นที่แน่นอนว่า บลจ.อื่นๆก็คงจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามมาเช่นเดียวกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|