จี้คลังเก็บภาษีเบียร์เต็มเพดาน


ผู้จัดการรายวัน(16 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สสส.เสนอคลังเก็บภาษีสุราเต็มเพดานโดยเฉพาะเหล้าขาว-เบียร์ ร่วมมาตรการห้ามโฆษณาเหล้าทุกสื่อ 24 ชั่วโมงลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งัดข้อมูลสู้บริษัทเหล้า ให้เลิกอ้างห้ามโฆษณาไม่ได้ผล ชี้ชัดนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มสัมพันธ์กับยอดโฆษณา ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ระบุโฆษณาเหล้าสร้างภาพเชิงบวกดึงเด็กดื่มเพราะมีค่านิยมผิด ด้านเครือข่ายงดเหล้าฯ บุกให้กำลังใจ รมว.สธ.วันนี้

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผอ.สำนักสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การที่กลุ่มธุรกิจสุรา อ้างว่า การห้ามโฆษณาจะไม่ได้ผล เพราะโฆษณาใช้เพื่อการแย่งส่วนแบ่งการตลาดระหว่างผู้ค้าด้วยกันเท่านั้น ไม่ได้เพิ่มการดื่ม และยังมีช่องทางสื่อที่ควบคุมไม่ได้นั้น ไม่เป็นความจริง หลักการที่นักวิชาการตลาดรู้ดี คือ การโฆษณาและการตลาดด้านอื่น เช่น ราคา การวางจำหน่าย มีผลทั้งการแย่งส่วนแบ่งตลาดและการขยายตลาดใหม่ อีกทั้งข้อเท็จจริงของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย ยืนยันเรื่องนี้ได้ชัดเจน คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวใน 14 ปี คือ ในช่วงปี 2532-2546 เฉพาะเบียร์เพิ่มถึง 8 เท่าตัวในช่วงเวลาเดียวกัน

“การเพิ่มจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ช่วงนั้นสัมพันธ์โดยตรงกับยอดโฆษณาสินค้าแอลกอฮอล์อย่างปฏิเสธไม่ได้ ส่วนสื่ออื่น เช่น จากการถ่ายทอดสด หรือจากอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ ที่ยังไม่ได้ห้าม เพราะไม่มีเทคโนโลยีเพียงพอ แต่จากประสบการณ์ห้ามโฆษณาบุหรี่ ชี้ชัดว่า เป็นเพียงช่องทางสื่อเล็กๆ ไม่ได้มีอิทธิพลสูง เปรียบเสมือนเรือรั่ว เราต้องอุดรูใหญ่ที่ทำได้ก่อน การมาชี้รูรั่วเล็กเพื่อไม่ให้แก้ปัญหาใหญ่ เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล

ส่วนที่ว่าเหล้าขาวขายได้มากโดยไม่ต้องโฆษณา เกิดจากการผูกขาด และมีราคาต่ำจากการกำหนดเพดานภาษีไว้ต่ำเกินไป ทางแก้คือ การขึ้นภาษี ปัญหาวิกฤตคนไทยเมาติดระดับโลก ต้องใช้หลายๆ มาตรการร่วมกัน นอกจากกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ออกมาตรการห้ามโฆษณาแล้ว กระทรวงการคลังควรได้ร่วมนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของนายกรัฐมนตรี ด้วยการพิจารณาขึ้นภาษีประเภทสุราที่ยังมีอัตราภาษีไม่เต็มเพดานตาม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 โดยเฉพาะสุราขาวและเบียร์ด้วย

ขณะที่ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลทำให้มีนักดื่มหน้าใหม่ที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งมีผลการวิจัยสนับสนุนชัดเจน นอกจากนี้การโฆษณาสินค้าที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ หรือผูกเรื่องด้วยด้านบวกนั้น ถือว่าการโฆษณามีผลต่อเด็กโดยตรง ปัจจุบันมีเบียร์ และสุราที่ใช้ความต้องการของเด็กวัยรุ่นมาผูกเรื่อง เช่น ดื่มแล้วมีความสนุกสนาน เฮฮา หรูหรามีระดับ มีเสน่ห์ทางเพศ มีความสำเร็จ มีมิตรภาพ เป็นการโฆษณาจูงใจ และสร้างค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง

หรือแม้แต่นำเสนอเรื่องเชิงทำความดี ให้เด็กรู้สึกว่าสินค้าชนิดนั้นทำความดี เด็กจะเกิดศรัทธากับตัวสินค้า เช่น การบริจาคผ้าห่ม หรือสนับสนุนฟุตบอลโลก ซึ่งมีการสำรวจพบว่าเด็กจะรู้สึกว่าควรสนับสนุนสินค้าเหล่านั้นเป็นการตอบแทนมากกว่าผู้ใหญ่หากห้ามไม่ให้มีการโฆษณา ก็จะทำให้ไม่มีแรงจูงใจกับเด็ก ความสนใจเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะลดน้อยลง

ส่วนการกำหนดอายุผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จาก 21 ปี เป็น 25 ปี ก็สำคัญเพราะเด็กไม่มีวิจารณญาณเพียงพอ เมื่อเด็กดื่มแล้วก็มีโอกาสไปก่อเหตุตีกัน ข่มขืน อุบัติเหตุมากกว่าวัยผู้ใหญ่ การกำหนดอายุจะทำให้การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลำบากขึ้น

ด้านนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวว่า ขอสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข เพราะจะช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้กลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ ตัดวงจรการรับรู้ ยั่วยุ ให้อยากรู้อยากลอง เนื่องจากเด็กถูกชักจูงได้ เนื่องจากสุรานำมาซึ่งความสูญเสีย ทำลายชีวิต ทำลายสถาบันครอบครัว ทั้งนี้ คงต้องดำเนินมาตรการทางกฎหมายและสังคมอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย

นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ แกนนำครอบครัวอาสาเคลื่อนไหวสังคม กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรงดเหล้า 84 องค์กรทั่วประเทศ อาทิ เครือข่ายลดอุบัติเหตุ เครือข่ายพ่อแม่ เครือข่ายมัธยมต้านภัยสุรายาสูบ เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์สังคม สถาบันบุญนิยม จะเดินทางไปที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข สนับสนุนให้ดำเนินมาตรการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขอให้มั่นใจ อย่าสนใจกับข้ออ้างของฝ่ายธุรกิจเหล้า ฝ่ายโฆษณา ขอให้เชื่อว่า พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ทั่วประเทศไทย ส่งกำลังใจให้อย่างเต็มที่

ภก.มานิตย์ อรุณากูร รองเลขาธิการสำนักงานอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการการเชิญผู้เชิญผู้เกี่ยวข้องมารับฟังนโยบายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วันนี้(16 ต.ค.) ว่า เป็นการชี้แจงสถานการให้ทราบ พร้อมทั้งพิจารณามาตรการจำกัดการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ โดยเชิญทั้งผู้ประกอบการ เอ็นจีโอ บุคลหน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอต่างๆ ที่เป็นโยชน์ เพื่อให้เขามีส่วนร่วมในการออกประกาศควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“แนวทางคงเป็นไปตามที่รัฐมนตรีได้ออกเป็นนโยบายไปแล้ว แต่ผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานก็สามารถที่จะเสนอได้เลย ช่วยกันดูว่ามีช่องโหว่ตรงไหนจุดใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบังคับใช้ที่อาจไม่คลอบคลุมสื่อทุกประเภท เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เราก็พยายามจะให้ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งก็ยินดีรับมาพิจารณา”ภก.มานิตย์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.