|
สทท.ชู 7 ทางออกแก้ยุทธศาสตร์ “หลงทาง” ได้เวลายกเครื่องกระทรวงท่องเที่ยวฯ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
- ต้อนรับรมต.ใหม่ ทบทวนกระบวนยุทธ์บริหารท่องเที่ยวไทยที่ยังหลงทาง
- ปรับใหญ่ทั้งยุทธศาสตร์ โครงสร้าง กระทรวงที่รับผิดชอบ และกลไกที่เกี่ยวข้อง
- สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ เตรียมยื่น 7 ทางออกด่วนให้รมต.ท่องเที่ยวและกีฬาคนใหม่ เร่งสางปัญหา และฟื้นท่องเที่ยวให้แข่งกับต่างชาติได้อย่างยั่งยืน
- จับตาการปรับกระบวนยุทธ์เที่ยวนี้จะพาการท่องเที่ยวไทยไปสู่แสงสว่างได้หรือไม่
ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ระบบโครงการของการท่องเที่ยวได้ถูกปรับเปลี่ยนไปทั้งหมดอย่างสิ้นเชิงภายใต้การบริหารจัดการของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จนทำให้หน่วยงานเดิมอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ต้องถูกลดบทบาทลงมามีหน้าทีเพียงแค่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเท่านั้น
เมื่อหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอยู่ใต้การบริหารจัดการของหน่วยงานราชการ...แน่นอนกระบวนการขับเคลื่อนทางการตลาดย่อมต้องเดินล่าช้าโดยเฉพาะเรื่องของการของบประมาณประจำปี ขณะที่ผู้บริหารภายในกระทรวงท่องเที่ยวฯกลับเป็นข้าราชการที่มาจากกรมพละศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านกีฬาแทบทั้งสิ้น แต่ไม่มีผู้บริหารจาก ททท.ย้ายสังกัดเข้าไปทำงานในกระทรวงท่องเที่ยวฯเลยสักคน
ว่ากันว่า ระบบข้าราชการกับรัฐวิสาหกิจให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้คนในกระทรวงท่องเที่ยวฯไม่มีคนของ ททท.เข้าไปร่วมอยู่ด้วยนั่นเอง
ในที่สุดก็ส่งผลกระทบต่อกระบวนการจัดการด้านท่องเที่ยวขึ้นมาทันที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างบุคลากรขึ้นมาใหม่ซึ่งในวันนี้กระทรวงท่องเที่ยวฯยอมรับว่าสร้างไม่ทัน ขณะที่ผู้บริหารจัดการเป็นหน่วยงานราชการที่อยู่ในแวดวงกีฬาแต่กลับมีอำนาจนำเสนองบประมาณประจำปีให้กับการท่องเที่ยวฯ ซึ่งบางครั้งแนวทางความคิดอาจจะไม่ตรงกันส่งผลให้เรื่องบางอย่างที่ ททท. เสนองบประมาณผ่านกระทรวงท่องเที่ยวไปต้องถูกตีเรื่องส่งกลับมา
สร้างความลำบากใจให้กับหน่วยงานของ ททท.เป็นยิ่งนัก แผนการตลาดที่วางไว้ต้องถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ถูกจำกัด ภายใต้แรงกดดันที่จะเพิ่มยอดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้า งานนี้การท่องเที่ยวฯจึงถูกขีดเส้นตีกรอบไม่สามารถทำอะไรได้มากนักเหมือนแต่ก่อน
เรื่องนี้ กงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ระบบโครงสร้างท่องเที่ยวของไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องต่อความเป็นจริง โดยเฉพาะกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาต้องแยกออกจากกัน
เพราะท่องเที่ยวเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตทุกปีๆละ 8% สามารถสร้างเม็ดเงินให้เข้าสู่ประเทศไทยปีละไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท ขณะที่กีฬาเป็นเรื่องของสังคมที่ไม่สร้างรายได้ให้กับประเทศทุกปีเหมือนท่องเที่ยว
ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้งบประมาณประจำปีของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาจึงนำมารวมกัน และส่งผลให้เรื่องของท่องเที่ยวที่มีความจำเป็นใช้งบประมาณในการทำตลาดต้องถูกแบ่งออกไป
“นโยบายภาครัฐที่ออกมามักสวนทางกับการทำงานของรัฐวิสาหกิจ เราจึงไม่เห็นท่องเที่ยวไทยพัฒนาเท่าที่ควร”ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯกล่าว และว่า เร็วๆนี้ทาง สทท.จะส่งข้อเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อนำไปศึกษา และเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต่อไป (อ่านรายละเอียดในกรอบเรื่อง สทท.เตรียมยื่น 7 ข้อเสนอหวังพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน)
ทางเลือกใหม่ของท่องเที่ยวไทย
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีจุดแข็งมากมายที่จะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งคนไทยด้วยกันอยากเดินทางไปเที่ยว ว่ากันว่ามีแต่เพิ่มดีมานด์ของนักท่องเที่ยว ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวยังไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร
การผลักดันให้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯเข้าไปอยู่ใน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุน(บีโอไอ) และจัดตั้งเป็นการนิคมการท่องเที่ยวขึ้นมา จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาให้การท่องเที่ยวของไทยเป็นรูปธรรมชัดเจนที่จะสามารถแข่งขันต่อสู้กับต่างประเทศได้
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะบีโอไอ และการจัดตั้งการนิคมการท่องเที่ยว จะสามารถช่วยให้การพัฒนาการท่องเที่ยวไทยเดินไปสู่เป้าหมายที่ถูกทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประกาศเขตพื้นที่ท่องเที่ยว รวมไปถึงการหาเงินเข้ามาลงทุนในด้านท่องเที่ยวโดยมีบีโอไอเข้ามาสนับสนุนด้านการเงิน และพร้อมกับพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น
“ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของกลไกที่จะสามารถขับเคลื่อนไปสู่จุดหมายที่วางไว้”ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กล่าว
ขณะเดียวกันฐานข้อมูลที่ออกมาจากภาครัฐในบางอย่างเกี่ยวกับตัวเลขของนักท่องเที่ยวอาจจะสวนทางกับข้อมูลของผู้ประกอบการ จนทำให้ไม่มีการยืนยันว่าข้อมูลของใครเป็นข้อมูลจริงและส่งผลให้การทำตลาดในปัจจุบันต้องยอมรับว่า ไม่มีการพูดคุยกันหรือสร้างความใกล้ชิด แม้งบประมาณที่ภาครัฐลงทุนไปจะพอๆกับการลงทุนในการทำตลาดของเอกชนก็ตาม แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือนักท่องเที่ยวจำนวนมากแต่ไม่มีคุณภาพ
การสร้างแบรนด์ท่องเที่ยวไทย
ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวของไทยแม้จะเกิดขึ้นมายาวนานและต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวของไทยตกลงไป ตรงกันข้ามมีอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต่อปี ทำให้เชื่อว่าการท่องเที่ยวของไทยยังไม่สายที่จะปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพของความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
แหล่งท่องเที่ยวของไทยมีความหลากหลาย หากที่จะเน้นไปยังจุดใดจุดหนึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างทำได้ยาก ไม่เหมือนกับต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ที่อีก 10 ปีนับจากนี้ไป ตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเป็น 30,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจและ Mice เป็นอย่างน้อย 35%ของรายได้รวมทั้งหมด นั่นก็หมายความว่าสิงคโปร์จะมีการขยายตัวด้านท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละ 15%ในระยะเวลา 10 ปี
ขณะที่ มาเลเซีย เป็นกลุ่มประเทศที่อิสลามหรือ ไอโอซี ที่ค่อนข้างเป็นปึกแผ่น และมีนักท่องเที่ยว 18 ล้านคนที่เดินทางท่องเที่ยวระหว่างกลุ่มประเทศด้วยกัน ทำให้ปีค.ศ.2010 มาเลเซียวางโฟกัสไว้ว่าจะเป็นปีท่องเที่ยวอิสลาม นอกจากนี้ในปี 2007 มาเลเซียจัดแคมเปญให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกไม่ต้องยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศ ณ สถานทูต แต่สามารถขอวีซ่าได้ทันทีเมื่อถึงท่าอากาศยานในประเทศมาเลเซีย และวางเป้าหมายนักท่องเที่ยวไว้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน
หากเมืองไทยจะเน้นการตลาดแบบสิงคโปร์ หรือทำการท่องเที่ยวแบบมาเลเซีย ก็สามารถทำได้และจะทำได้มากกว่าทั้งสองประเทศด้วยซ้ำ เนื่องจากประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่รวบรวมความหลากหลายทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรม รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และเต็มไปด้วยศักยภาพความพร้อมทั้งสถานที่พักและห้องประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ โดยเฉพาะปัจจุบันการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิที่สามารถรองรับผู้โดยสารมากถึง 45 ล้านคนก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก
หากแต่ว่าความชัดเจนของการสร้างแบรนด์ท่องเที่ยวไทยยังคงติดขัดในหลายๆเรื่องเพราะภาครัฐบาลมีหน้าที่เป็นเพียงแค่สนับสนุนส่งเสริมเท่านั้น ในขณะที่ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนและบางโครงการต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งแตกต่างจากสิงคโปร์และมาเลเซียที่ภาครัฐให้การลงทุนและสนับสนุนเต็มที่ ทำให้ภาพรวมของการพัฒนาการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศจึงเดินหน้าและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากกว่าประเทศไทย
ขณะเดียวกันโครงการบางอย่างที่ภาครัฐลงทุนสมัยช่วงรัฐบาลชุดเก่าและไม่ก่อให้เกิดรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน อาทิ ไทยแลนด์พาวิลเลจหรืออีลิท การ์ด และ ไทยลองสเตย์ เป็นเรื่องที่ต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าคุ้มหรือไม่ (อ่านล้อมกรอบโครงการขายฝันท่องเที่ยวไทย)
หรืออย่างโครงการไนท์ ซาฟารี ที่แม้แต่ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเห็นด้วยในหลักการเพราะจะทำให้เมืองไทยเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เห็นด้วยเนื่องจากภาครัฐไม่มีประสบการในการบริหารจัดการ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือหาภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการจะทำให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ
การสร้างแบรนด์ท่องเที่ยวไทยจึงไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาของภาครัฐอย่างเดียว แต่ยังต้องพึ่งพาภาคเอกชนด้วยเช่นกัน การร่วมกันแก้ไขปัญหาท่องเที่ยวของไทยเพื่อผลักดันให้สามารถต่อสู้กับตลาดโลกได้นั้นจำเป็นต้องใกล้ชิดกันมากขึ้นและที่สำคัญคือทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน
เชื่อได้ว่าประเทศไทยยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจไม่แพ้ประเทศอื่นๆ เพียงแต่การแก้ไขภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาอยู่ในจุดยืนที่เหมือนกันคือเป้าหมายที่จะทำให้แบรนด์ท่องเที่ยวไทยรอดพ้นจากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและสะสมมานานซึ่งเริ่มแต่วันนี้ก็ยังไม่สาย
อีลิท การ์ด-ลองสเตย์ สานต่อหรือโละทิ้ง
ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมามีแนวคิดที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และเพิ่มเม็ดเงินให้กับประเทศไทยผ่านโครงการต่างๆ แต่หลายโครงการที่รัฐบาลคิดใหม่ ทำใหม่ ผุดขึ้น คนในแวดวงท่องเที่ยวกลับมองแล้วว่าไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเลย อย่างเช่น โครงการไทยแลนด์ ลองสเตย์ ของบริษัทไทยจัดการลองสเตย์ (ทีแอลเอ็ม) โครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ดำเนินการโดยบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด และบางกอก ฟิล์ม เฟสติวัล
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวอีกว่า ควรทบทวนพิจารณาใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งสองโครงการ ไม่สามารถตรวจสอบ และสามารถวัดการทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่บางกอกฟิล์มฯนั้นนอกจากไม่ก่อให้เกิดรายได้ และไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้ว ยังต้องเสียเงินจ้างดาราฮอลลีวู้ดเดินทางมาประเทศไทยอีกด้วย
แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับ อภิชาติ สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) และอเนก ศรีชีวะชาติ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) ที่เห็นว่า ทั้งโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด และโครงการบัตรไทยจัดการลองสเตย์ ได้ผลาญงบประมาณประเทศไปจำนวนมาก แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดหรือตรวจสอบได้ว่านำงบประมาณหรือลงทุนอะไรบ้าง โดยต้องการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาพิจารณายกเลิกดำเนินงาน แม้จะเป็นโครงการที่มีแนวคิดดี แต่ไม่สามารถประสานงานให้ลงตัวกับภาคเอกชนได้
“ทั้งสองโครงการไม่เห็นทำประโยชน์ให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ควรล้มเลิก แม้ว่าอีลิทการ์ดต้องหาเงินมาใช้คืนสมาชิกกว่า 2 พันล้านบาทก็ควรทำ เพราะดีกว่าจะทำให้ประเทศชาติเสียหายไปมากกว่านี้” นายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว ให้ความเห็น
ทั้งนี้ เป็นเพราะผู้ที่จะดำเนินโครงการลักษณะนี้ได้ต้องเป็นเจ้าของการบริการที่จะมอบให้กับผู้ถือบัตร เช่น สนามกอล์ฟ สปา หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ในมือทำให้ไม่สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะส่วนใหญ่เจ้าของสนามกอล์ฟ ร้านสปาต้องเลือกให้บริการสมาชิกตัวเองก่อน
แม้ว่า สุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวเมื่อวันอังคารที่ 10 ตุลาคม หลังมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการ และหน่วยงานในกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ถึงโครงการที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวจะไม่มีการยุบหรือเลิกดำเนินการ โดยเฉพาะโครงการไทยแลนด์ ลองสเตย์ ของบริษัทไทยจัดการลองสเตย์ (ทีแอลเอ็ม) และโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ดำเนินการโดยบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด เนื่องจากโครงการทั้งสองมีประโยชน์และสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับประเทศได้ รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ตอนบน หรือไทยแลนด์ริเวียร่าก็เห็นสมควรให้เดินหน้าโครงการต่อไปได้ เพราะเป็นโครงการที่ดี
แต่เชื่อว่าหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคนใหม่ ได้รับฟังปัญหาของโครงการต่างๆจากคนในวงการท่องเที่ยวแล้วคงจะเปลี่ยนใจ และยกเลิกบางโครงการในที่สุดเหมือนกับที่มีการยกเลิกโครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น ที่ใช้เงินไปอย่างเปล่าประโยชน์ไปกว่าพันล้านบาท โดยไม่ได้อะไรกลับคืนมาสู่ประเทศเลย
บุคลากรมีปัญหา ปัญหาใหญ่แต่ไม่มีใครรู้
ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวบ้านเราคิดทำเฉพาะเรื่องการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว กับการตลาด โดยเฉพาะการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทั้งที่ปัญหาที่แท้จริงของการท่องเที่ยวในบ้านเราก็คือ เรื่องซัปพลาย และสินค้า ซึ่งสินค้านี้ไม่ใช่เรื่องแหล่งท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องบุคลากร คุณภาพของคน ไม่มีการประกันคุณภาพ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ไม่ว่าจะทำตลาดอย่างไร จะโปรโมชั่นอย่างไร แต่ท้ายที่สุดแล้วสินค้าไม่สามารถขายตัวเองได้ จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และทำท่าจะลุกลามต่อไปหากไม่รีบแก้ไขโดยด่วน
ก่อนหน้านี้การท่องเที่ยวทั้งหมดดูแลโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทั้งเรื่องศึกษา วางแผน พัฒนา ประสานการพัฒนา ส่งเสริม กำกับดุแล แต่เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้น-มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หน่วยงานเล็กๆไม่สามารถดูแลได้หวาดไหว
จากนั้นจึงได้จัดตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขึ้นในปี 2545 พร้อมกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาคในลักษณะของผู้ว่าซีอีโอ และกลุ่มจังหวัด ซึ่งการตั้งกระทรวงท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจ กับกีฬาที่เป็นเรื่องสังคมเข้าไว้ด้วยกันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใด เพราะในหลายประเทศก็ทำเช่นนี้ แต่สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาคือ การโอนคนจำนวนมากที่ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องการท่องเที่ยวมาอยู่ที่กระทรวงฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากกรมพละ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนกลุ่มนี้ใช้เวลาเพียง 1-2 ปีสามารถเรียนรู้งานเรื่องการท่องเที่ยว ขณะที่คนในททท. มีประสบการณ์ถึง 8-10 ปี และมีจำนวนมากกว่ากระทรวงถึง 3 เท่ากลับไม่ได้ทำงาน
นอกจากนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่มีหน่วยวิจัย และพัฒนาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ผ่านมาทำงานโดยอ่าศัยประสบการณ์ จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับท่องเที่ยวเชิงนโยบาย เป็นไกด์ไลน์ที่บูรณาการให้ซีอีโอแต่ละจังหวัดมาพัฒนา
อย่างไรก็ตาม แม้หน้าที่ของททท.จะเหลือเพียงการทำตลาด และโปรโมชั่น แต่ไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ ปัญหาสำคัญคือโครงสร้างคณะกรรมการททท. ที่เป็นผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องถึง 90-99% ทำให้การทำงานไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวไปกับภาคเอกชน อีกทั้งการใช้เงินต่างคนต่างใช้ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผิดกับมาเลเซีย ฮ่องกง ที่บอร์ดการท่องเที่ยวจะมาจากภาคธุรกิจเป็นส่วนใหญ่
สทท.เตรียมยื่น 7 ข้อเสนอหวังพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน
สรุปประเด็นข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่เตรียมเสนอต่อ สุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
1. ข้อเสนอให้แยกกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างของกระทรวงให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเป็นการพัฒนาที่มีเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในขณะที่การพัฒนาด้านการกีฬาเป็นการพัฒนาเป้าหมายด้านสังคม ทำให้ผู้บริหารในระดับนโยบายส่วนกลางและระดับภูมิภาค ซึ่งส่วนมากมีความถนัดเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ไม่สามารถบริหารงานทั้ง 2 ด้านให้มีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิผลควบคู่กันได้
2. ข้อเสนอให้มีการประเมินโครงการด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลชุดก่อน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันโดยเฉพาะหลักการของรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีโครงการที่เห็นควรเสนอดังนี้
2.1 โครงการที่ควรสนับสนุนให้ดำเนินการต่อ อาทิ การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
2.2 โครงการที่สมควรทบทวน และมีปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น โครงการไทยแลนด์พริวิเลจการ์ดจำกัด และโครงการไทยลองสเตย์จัดการ จำกัด
2.3 โครงการที่ไม่สนับสนุนการนำรายได้เพื่อการท่องเที่ยวโดยตรง อาทิ การจัดงาน บางกอก ฟิล์ม เฟสติวัล การสนับสนุนกิจกรรมสันทนาการจากต่างประเทศ ซึ่งควรไปใช้งบประมาณทางด้านอื่นแทน
2.4 โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่เน้นการก่อสร้าง โดยอาจมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการกระจุกตัวของรายได้ เช่น โครงการไทยแลนด์ริเวียร่า ขอให้มีการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมีคุณภาพในระยะยาวในรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง
3. ขอให้ช่วยสนับสนุนนโยบายของสทท. เพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศดังนี้
3.1 การพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยพัฒนาความรู้และทักษะ รวมทั้งจรรยาบรรณของผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
3.2 ผลักดันให้เกิดการเสริมสร้างแหล่งท่อง
เที่ยวใหม่ และบูรณะแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิมที่เสื่อมโทรมให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยเน้นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพเพื่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนและรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่สูงขึ้น โดยจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขึ้นเป็นการเฉพาะ
3.3 การส่งเสริมการตลาดเชิงรุกทั้งต่างประเทศและในประเทศ โดยการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและสทท. เพื่อดำเนินการด้านการตลาดและงานประชาสัมพันธ์ร่วมกัน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและระหว่างประเทศ
3.4 พัฒนาศูนย์ข้อมูลเพื่อเป็นฐานรองรับการสนับสนุนการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ และเพื่อเป็นระบบป้องกันการเกิดวิกฤต และปัญหาสำหรับผู้ประกอบการในอนาคต รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการทำวิจัยเพื่อการพัฒนาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้สทท.ดำเนินการร่วมกับสถาบันการศึกษาของรัฐ
4. ขอให้มีการเสริมสร้างการทำงานอย่างมีบูรณาการระหว่างภาครัฐด้วยกันเอง อาทิ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ อาทิ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด เป็นต้น และระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดเอกภาพ โดยขอให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจด้านท่องเที่ยวทำงานอย่างใกล้ชิดกับสทท. และ
4.1 ให้คงการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่มีผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนโดยสทท.เป็นแกนกลางประสานงานของภาคเอกชนในคณะกรรมการ โดยให้มีการประชุมสม่ำเสมอกำหนดทุกๆ 1-2 เดือน
4.2 ให้คณะกรรมการในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทุกองค์กรดังกล่าวข้างต้นมีผู้แทนของภาครัฐจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือภาคเอกชนจากสทท. เข้าร่วมเป็นกรรมการเพื่อการประสานนโยบายให้สอดคล้อง และเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวสูงสุด
5.ขอให้มีการผลักดันร่างกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่อยู่ระหว่างการแก้ไข อาทิ พรบ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พรบ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
6. ขอให้ใช้มาตาการขั้นรุนแรงเพื่อปราบปรามผู้ประกอบการที่หลอกลวงนักท่องเที่ยว โดยให้รัฐใช้กฎหมายอื่นลงโทษประกอบกับกฏหมายอาญา เช่น กฎหมาย ปปง. เป็นต้น
7. สำหรับระยะเร่งด่วน
7.1 ขอให้ยกเลิกการห้ามประชุมสัมมนาของหน่วยงานราชการโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวในต่างจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากประกาศดังกล่าว
7.2 ขอให้เร่งกำหนดมาตรการในการรักษาความปลอดภัยและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศถึงความปลอดภัยในกรณีสถานการณ์ระเบิดที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และสร้างความเข้าใจถึงสถานการณ์ของการปฏิรูปการปกครองว่ามีความสงบเรียบร้อย และกำลังอยู่ในกระบวนการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยภายใน 1 ปี รวมทั้งหามาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว อาทิ การจัดการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษระยะยาว
**************
โครงการขายฝันท่องเที่ยวไทยบัตรเทวดา อิลิทการ์ด
โครงการ ไทยแลนด์อีลิทการ์ด หรือบัตรเทาวดาที่อนุมัติโดยรัฐบาล "ไทยรักไทย" นับเป็นโครงการดี แต่ปัญหเพียบฝ่ายปฏิบัติงานตีโจทย์ไม่แตกนับตั้งแต่เปิดตัวจนถึงปัจจุบันแต่ทำยอดได้แค่ 1,700 ใบจากเป้าเดิมที่วางไว้เป็นแสนใบต่อปี โดยวางเป้าหมายมุ่งจับตลาดกลุ่มไฮไซ ต่างชาติ
ปัญหาได้รับการแก้ไขเฉพาะหน้า จนทำให้บัตรเทวดา ยอดขายไม่ได้สวยหรูเหมือนในการกระดาษตอนพรีเซ็นท์กับรัฐบาล
ความล้มเหลวดังกล่าว วิเคราะห์ง่าย ๆ ก็คือ การบริหาร จัดการที่เหมือนการลองผิดลองถูกโดยไม่ได้มีการศึกษาถึงความเป็นไปได้อย่างจริงจังตั้งแต่แรก เพียงแต่ต้องการเอาใจรัฐบาลในขณะนั้น ปล่อยให้เสียงทักทวงของภาคเอกชนเหมือนเสียงนก เสียงกา
ขณะที่ตัวเลขเป้าหมายที่พยายามปั้นกัน ต้องพึ่งพา เอเย่นต์ตัวแทนขาย เป็นหลักแม้ราคาบัตรจะขายใบละ 1 ล้านบาท แลกกับเอกสิทธิ์ตลอดชีวิต ซึ่งหลายคนมองว่า ถูกมาก ถ้าเทียบกับสิทธิ์พิเศษที่จะได้รับ โดยเฉพาะในประเด็นวีซ่า ที่ถ้าจะให้ได้วีซ่าถาวรนั้นต้องใช้เงินไม่ใช่น้อยสำหรับต่างชาติ
"โชคศิริ รอดบุญพา" ศิษย์เก่าค่ายสื่อสารยักษ์ " เอไอเอส" ถูกดึงมาบริหารพร้อมทีมงานการตลาดหลายคนที่มาจาก เอไอเอส นโยบายจากขายเพื่อให้ได้สมาชิกก็แปรเปลี่ยนมาเป็นการต่อยอดให้สมาชิกเข้ามาลงทุนในเมืองไทย เท่ากับดึงให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน
ตามนโยบายของภาครัฐนี้ที่หวังพึ่งพาทุนนอกเต็มที และมีการปรับเปลี่ยน รูปแบบการขายมีการโล๊ะเอเย่นต์ที่ตั้งขึ้นในยุคแรกมาเป็นคันทรีเรฟ หรือเรียกขานกันว่า ดีพี 1 คุมการขายโดยแบ่งออกเป็นรายภูมิภาค เป็น พื้นที่เฉพาะให้คุมเป็นรายประเทศตั้งเป็นเน็ตเวิร์ค และตั้งซับเอเย่นต์ขึ้นมารับลูกต่อไม่ต่างจาก กลยุทธ์แบบลูกโซ่
แต่ที่น่าคิดคือคอมมิชั่นที่ต้องจ่ายให้กับ เอเย่นต์นี่ซิ !น่าสนใจทีเดียวเพราะ เขาแบ่งกัน 15 % จากยอดขายใบหนึ่งใบ 5 % เป็นค่าการตลาด 5 % เป็นค่าโฆษณาและถ้ายังมีโบนัสพิเศษแถมอีก 5 % ถ้าทำเป้าได้ 100 ใบ…ดังนั้นถ้าใครทำเป็นมือทองในการขายก็ฟันเน๊าะ ๆ 30 % หัก กลบ ลบกันจากค่าบัตร
ใบละ 1 ล้านบาท เท่ากับ เอเย่นต์ฟันค่าเหนื่อย 300,000 บาทขาดตัว แถมเวลาทำพีอาร์ยังได้ระดับสถานทูต และผอ.สำนักงานททท.ในต่างประเทศเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ ส่วนรัฐบาลในฐานะเจ้าของโปรเจ็กส์เหลือรับเน็ต ๆ เข้ากระเป๋าแค่ 700,000 บาท
แลกกับการที่ต้องดูแลสมาชิกต่างชาติไปตลอดชีวิต คิดดูเอาเองแล้วกันว่าใคร"คุ้ม" กันแน่!...ประเทศชาติหรือนักท่องเที่ยว
ไทยลองสเตย์
บริษัท ไทยจัดการลองสเตย์ จำกัด เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีรูปแบบการบริหารของภาคเอกชน แต่เป็นแนวคิดที่รัฐบาล ไทยรักไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)คิดขึ้นมาเพื่อขยายฐานนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูง โดยมีวันพักที่ยาวนาน
และเพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่จากเดิมทุนจดทะเบียนบริษัท 100 ล้านบาท ล่าสุดมีการประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 200 ล้านบาท โดยมี พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไชย เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ไทยลองสเตย์ได้ตั้งเป้าหมายจำหน่ายบัตรสูงถึง 6 หมื่นใบภายในสิ้นปี 49 ด้วยรูปแบบการขายบัตรสมาชิกลองสเตย์ ที่ถูกกำหนดขึ้นมา ภายใต้สิทธิพิเศษที่จะแตกต่างกันไปตามมูลค่าบัตรสมาชิก เริ่มตั้งแต่สิทธิพิเศษฟาสต์แทรกในขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง การขอวีซ่าและอายุการให้วีซ่า การทำประกันภัย รวมถึงสิทธิส่วนลด 5-50%ในที่พัก ร้านอาหาร โรงพยาบาล สนามกอล์ฟ สปา การถือครองที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ และเริ่มทำตลาดโดยผ่านตัวแทนขายกว่า 22 ประเทศ
เป้าหมายตัวเลขที่ตั้งไว้กับสิทธิพิเศษที่มอบให้สมาชิกจะสามารถเข้าถึงแนวทางปฏิบัติได้จริงหรือไม่?...ขณะที่เม็ดเงินจะไหลเข้าสู่ประเทศไทยได้เป็นกอบเป็นกำได้จริงหรือ...กำลังถูกจับตามองจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกือบทั้งหมดต่างส่งเสียงไปยังรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีให้กลับมาทบทวนโครงการนี้อีกครั้งว่าควรจะยุบไปหรือไม่?...
*************
อภิรักษ์ขยับแผนกรุงเทพเมืองน่าเที่ยว
ภายหลังการล่มสลายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ดูเหมือนว่าแผนการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ของคนกรุง และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ วาดฝันไว้ ดูจะมีแนวโน้มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
ภายใต้แผนงาน กรุงเทพฯ ...ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว พร้อม ๆ กับสัญลักษณ์ ดอกไม้ 4 กลีบ ที่ปรากฏให้คนเมืองหลวงได้เห็นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม มีโครงการพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ ในหลาย ๆ โครงการ ทั่วพื้นที่ 1,562.2 ตารางกิโลเมตร โดยคณะทำงานของ กทม. ได้ตระเวนศึกษาเมืองต้นแบบ ทั้งเมืองท่องเที่ยวอย่าง นิวยอร์ค ลอนดอน โตเกียว หรือสิงคโปร์ จนถึงเมืองน่าอยู่ที่สุดในเอเชีย 3 ปีซ้อน อย่าง ฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น นำข้อมูลมาวางแนวทางในพัฒนากรุงเทพฯ ที่นอกเหนือจากจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนเมืองแล้ว ยังเป็นการรักษาตำแหน่งเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงสุดของเอเชีย และท๊อป ทรี ของโลก อย่างยั่งยืน
โครงการนำร่องที่ผู้ว่าฯ กทม. เตรียมเดินเครื่อง คือการพัฒนาพื้นเขตด้านฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ อันประกอบด้วย เขตประเวศ ลาดกระบัง มีนบุรี หนองจอก และคลองสามวา ซึ่งก่อนหน้ามีบางเขตเคยถูกรัฐบาลชุดก่อนวางแผนจับแยกออกไปรวมกับบางเขตของจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งเป็นจังหวัดใหม่ สุวรรณภูมินคร แต่ก็มีอันต้องล้มเลิกตามรัฐบาลชุดนั้นไปในที่สุด ทำให้โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบ ในชื่อ อุทยานนคร หรือ Garden City ที่เกือบพับฐานไปด้วยแรงต้านทางการเมือง กลับมาเดินหน้าอีกครั้ง
อุทยานนคร ประกอบด้วยพื้นที่ 5 เขต 587 ตารางกิโลเมตร รายรอบสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่ได้รับการจับตามองสูงสุด ทั้งการเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ รวมไปถึงเป็นพื้นที่ที่รวมอยู่ระหว่างพื้นที่เกษตรกรรม ย่านที่พักอาศัย ย่านธุรกิจการค้าขนาดใหญ่ ตลอดจนสวนสาธารณะแห่งสำคัญก็ประเทศ แต่ก็มีปัญหาน้ำท่วมขังทุกครั้งที่ฝนตกหนัก อภิรักษ์ เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างเมืองต้นแบบ ก่อนจะขยายไปสู่เมืองชั้นใน โดยมีการวางแผนที่จะพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์ชุมชนใหม่ 5 ศูนย์ ประกอบด้วย
ศูนย์ชุมชนหนองจอก หรือ Eco-city ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม จะถูกพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้า และธุรกิจเกี่ยวกับเกษตร มีการจัดตั้งโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ และเป็นพื้นที่หลักอีกจุดที่กรุงเทพมหานครจะจั้งตั้งศูนย์การเรียนรู้และการพัฒนาเมืองขึ้น ตลาดหนองจอกจะถูกพัฒนาขึ้นเป็นตลาดเกษตรอินทรีย์ เป็นศูนย์กลางการส่งออกพืชผักการเกษตร ภูมิทัศน์บริเวณริมคลองแสนแสบจะถูกปรับปรุงให้มีเส้นทางเดินเลียบคลอง ฟื้นฟูลำคลองให้มีความใสสะอาด มีการปลูกต้นไม้จำนวนมาก รักษาสภาพแวดล้อม และเป็นจุดรับน้ำแห่งหนึ่งของพื้นที่ฝั่งตะวันออก
ศูนย์ชุมชนลาดกระบังเดิม หรือ Gateway บริเวณตลาดหัวตะเข้ พื้นที่เกตเวย์ของสนามบินสุวรรณภูมิ จะถูกพัฒนาเป็นเมืองวัฒนธรรม ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตแบบไทย มีการออกแบบพัฒนาสถานที่ในเชิงอนุรักษ์ สร้างเป็นแหล่งที่พักและเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ โดยมีตลาดน้ำ และคลองประเวศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นจุดขายสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาแวะสนามบินสุวรรณภูมิ หรือมีเวลาอยู่ในเมืองไทยไม่มากไม่ต้องเดินไปไกล แต่สามารถท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตไทยริมน้ำได้ในบริเวณนี้
ศูนย์ชุมชนลาดกระบังใหม่ หรือ Logistic R&D ซึ่งเป็นพื้นที่ติดถนนมอเตอร์เวย์ จะถูกพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์ Logistic ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน รวมถึงเป็นศูนย์วิจัยพัฒนาออกแบบ คล้ายกับเมืองใหม่ในหลาย ๆ ประเทศ ที่ถูกใช้เป็นเกตเวย์ติดสนามบิน โดยการพัฒนาได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น โดยส่งคณะที่ปรึกษา JICA เข้าศึกษาการพัฒนาพื้นที่เพื่อความคุ้มค่าและสมดุลกับสภาพแวดล้อม
ศูนย์ชุมชนประเวศ หรือ High-end Residential ที่ประกอบด้วยที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงระดับบน สวนหลวง ร.9 สวนสาธารณะขนาดใหญ่ จะถูกพัฒนาเป็นเขตที่อยู่อาศัยไม่หนาแน่น แต่มีคุณภาพ ทั้งความสะดวกสบายด้านการคมนาคมขนส่ง ทางบก ทางน้ำ พื้นที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ เป็นปอดของกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก
ศูนย์ชุมชนมีนบุรี หรือ Commercial ศูนย์กลางธุรกิจการค้า การบริการของฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย ย่านธุรกิจ สำนักงาน ศูนย์กลางการแพทย์และสาธารณสุข ศูนย์บริการคมนาคมและขนส่งรองรับการขยายตัวออกจากใจกลางกรุงเทพฯ และเป็นจุดเปลี่ยนการสัญจรและเชื่อมโยงการพัฒนาสู่พื้นที่ปริมณโล เพื่อช่วยสร้างความสมดุลด้านที่ตั้งของที่อยู่อาศัยกับที่ทำงาน ลดการเดินทางไปทำงานไกล โดยจัดให้ที่ตั้งสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม ร้านค้า และเขตที่อยู่อาศัย ให้อยู่ในบริเวณเดียวกัน ตั้งเป็นศูนย์ชุมชนชานเมืองที่สามารถขยายระบบขนส่งมวลชนออกไปรองรับได้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและลดปัญหาการจราจร
แผนงานอุทยานนครถูกแบ่งเป็น 2 ระยะ ช่วงแรก ใช้เวลา 2 ปี จะดำเนินการในชุมชนหนองจอก และประเวศ เป็นลำดับแรก ใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท ส่วนระยะต่อไปอีก 4 ปี ใน 3 เขตที่เหลือ จะใช้งบประมาณอีก 8,500 ล้านบาท รวมเป็น 12,700 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากการจัดตั้งสำนักงานกองทุนพัฒนาเมือง หรือ Urban Development Corporation และการสนับสนุนจากรัฐบาลบางส่วน
ทั้งหมดเป็นเพียงโครงการนำร่องที่จะพัฒนากรุงเทพฯให้นอกจากเป็นเมืองยอดนิยมของนักท่องเที่ยวแล้ว ยังจะเป็นเมืองน่าอยู่ของผู้มาเยียน เทียบเท่ามหานครระดับโลก แต่สำหรับแผนรวมของการพัฒนากรุงเทพฯ นั้น แม้ยังเป็นเพียงแนวคิด แต่ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็นำมาต่อยอดแนวคิดสร้างเป็นศูนย์นิทรรศการเมืองกรุงเทพมหานคร ที่จะเป็นสถานที่จัดแสดงให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาเมืองในระยะ 5-20 ปีของกรุงเทพฯ ขึ้น คล้ายกับศูนย์เอ็กซิบิชั่นที่มีอยู่ในสิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดทั้งคนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้
ศูนย์นิทรรศการเมือง หรือในชื่อ Eye of Bangkok ใช้งบประมาณ 320 ล้านบาท สร้างขึ้นอยู่ในบริเวณศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แห่งใหม่ ถนนมิตรไมตรี ดินแดง โดยเป็นศูนย์ที่จะแสดงทิศทางของกรุงเทพฯในอนาคตว่าจะพัฒนาไปทางใด ผ่านสื่อทันสมัยทั้ง มิลติมีเดีย ดิจิตอลมีเดีย วิดีโอวอลล์ สร้างอินเตอร์แอคทีฟ โมเดล ของกรุงเทพฯ ที่สามารถเดินเข้าไปได้ มีอาคาร สถานที่ และถนนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นว่าจะถูกพัฒนาไปในทางใด รวมถึงมีห้องรวบรวมโครงการพระราชดำริในการพัฒนากรุงเทพฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
อภิรักษ์ คาดว่าแม้ภายใน 1 ปี โครงการพัฒนาเมืองจะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างให้เห็นชัดเจน เพียงพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ Eye of Bangkok ที่เป็นศูนย์แสดงแผนงานการพัฒนาเมือง โดยใช้สื่อสมัยใหม่ ก็จะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแม่เหล็กแห่งใหม่ ของกรุงเทพฯ ได้อย่างแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|