ธปท.จับตาNPLเพิ่ม1.2หมื่นล.จี้รัฐเร่งฟื้นฟูการออมรับลงทุน


ผู้จัดการรายวัน(13 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เผยหนี้เอ็นพีแอลแบงก์ขยับเพิ่ม 1.2 หมื่นล้าน อ้างเหตุแบงก์มีการจัดชั้นลูกหนี้เข้มงวดมากขึ้น แบงก์ชาติจับตายอด ไตรมาส 3 พร้อมจี้ภาครัฐเร่งฟื้นฟูการออม หลังรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาโหมกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพื่อดันจีดีพี จนสัดส่วนการออมลดฮวบเหลือ 3-4% จากที่อยู่ในระดับ 10% ระบุเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ การลงทุนกับการออมต้องมีความสมดุล

นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ในระบบสถาบันการเงินมียอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)เพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้านบาท จากในช่วงเดือนสิงหาคม 2549 ที่สถาบันการเงินในระบบมียอดเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 484,701.31 ล้านบาท คิดเป็น 8.23%ของสินเชื่อรวม โดยสาเหตุที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเกิดจากธนาคารพาณิชย์มีการจัดชั้นหนี้ตามเกณฑ์สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตามภาพรวมในช่วงไตรมาส 3 จะมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ธปท.ต้องรอดูข้อมูลก่อน

สำหรับในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคม นี้ ธปท.เตรียมประเมินภาพรวมการส่งออกและการลงทุนใหม่ หลังจากราคาพืชผลการเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง เพราะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาชะลอตัว เป็นผลจากราคาน้ำมันแพงเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม หลังมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ธปท.จะมีการเร่งรัดเรื่องของกฎหมายมากขึ้น โดยเฉพาะส่วนของกฎหมายที่ยังค้างอยู่ ทั้งเรื่องสถาบันประกันเงินฝาก สถาบันการเงิน และพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในการกำกับดูแลสถาบันการเงินและดำเนินตามนโยบายในระยะต่อไป

นางธาริษากล่าวอีกว่า จากในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีการกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนมากขึ้น เพื่อดันให้เศรษฐกิจขยายตัวอยู่ในระดับที่สูงนั้น ได้ส่งผลให้การออมลดลงอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากสัดส่วนการออมภาคครัวเรือนในขณะนี้อยู่ที่ระดับ 3-4%ของรายได้ประชาชาติ จากปกติแล้วต้องที่ต้องอยู่ในระดับ 10% ขึ้นไป

ทั้งนี้ หากการออมของภาคครัวเรือนยังน้อยอยู่ก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการลงทุนของประเทศด้วย เนื่องจากเงินออมในประเทศจะนำมาเป็นเม็ดเงินลงทุนต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกันหากมีเงินออมน้อยก็อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศมากขึ้น และจะส่งผลให้ประเทศต้องมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เหมือนเช่นช่วงที่เกิดวิกฤตที่ผ่านมาได้

นางธาริษา กล่าวว่า ปัจจุบันช่องว่างระหว่างการออมและการลงทุนมีมากขึ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้การลงทุนในประเทศมีปัญหาไปด้วย เพราะเม็ดเงินจากการออมจะเป็นเม็ดเงินเพื่อการลงทุนในอนาคต ดังนั้น การเติบโตเศรษฐกิจต้องให้อยู่ในระดับพอดี ขยายตัวในอัตราที่ไม่มากจนเกินไป และควรเน้นการออมด้วย จะทำให้ประเทศไทยเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพต่อไป

“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ภาครัฐควรมีการออกนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ออกมาจูงใจให้คนออมมากขึ้น เพื่อลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพและเน้นการส่งออกมากขึ้น การลงทุนและการออมจะเป็นตัวที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปในอนาคตด้วย”นางธาริษากล่าว

อย่างไรก็ตาม หากทุกส่วนของภาคธุรกิจดำเนินตามนโยบายเศรษฐกิจแบบพอเพียง จะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะของบริษัทหรือสถาบันการเงิน ซึ่งรวมไปถึงการดำเนินงานด้วย โดยเชื่อว่าในส่วนของสถาบันการเงินก็ยังคงปล่อยสินเชื่อได้ตามปกติ โดยไม่มีผลต่อเป้าหมายสินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงิน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโตได้ดี แม้ว่าจะมีการทำงบประมาณปี 2550 แบบขาดดุลก็ตาม

สำหรับกรณีที่หากรองผู้ว่าการธปท.ขึ้นมารับตำแหน่งผู้ว่าการธปท.คนต่อไป การสรรหาบุคคลที่จะมารับตำแหน่งรองผู้ว่าการธปท.คนใหม่นั้น นางธาริษา กล่าวว่า ผู้ว่าการธปท.คนใหม่จะเป็นคนที่จะเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งคาดว่าหากมีการสรรหาผู้ว่าการธปท.คนใหม่ได้แล้ว การแต่งตั้งตำแหน่งรองผู้ว่าการธปท.ขึ้นมาแทนจะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์หลังจากเสนอชื่อไปก็จะได้ผู้ที่จะมารับตำแหน่งรองผู้ว่าการธปท.คนต่อไปได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.