ผู้หญิงกับเพชร

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ด้วยความคิดไม่หยุดนิ่ง ผสมผสานกับโอกาสและ ไม่ต้องการเป็นลูกจ้างไปตลอดชีวิต ไดมอนด์ ทูเดย์ จึงถูกรังสรรค์ขึ้นภายใต้แรงผลักดันของ ชนัดดา จิราธิวัฒน์

เมื่อ 8 ปีที่ก่อน ไม่มีใครเชื่อว่าเครื่องประดับเพชร ชื่อ ไดมอนด์ ทูเดย์ ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้หญิงยุคใหม่วัยทำงาน รวมถึงผู้จุดประกายความคิด ชนัดดา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ไดมอนด์ มาสเตอร์ เจ้าของไดมอนด์ ทูเดย์

"ช่วงนั้นไม่ได้คิดว่าจะประสบความเร็จอย่างรวดเร็ว เธอเล่า แต่น่าจะไปได้และเป็นที่ยอมรับของลูกค้า"

ความรู้สึกดังกล่าวเกิดจากการ ทำงานหนัก เพราะในฐานะผู้บุกเบิก เหมือนกับชนัดดาเข้ามาทำงานเพื่อทดลองตลาดและทายใจผู้บริโภค ทำให้ ไม่สามารถยืนยันว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

"เราเหมือนหนูทดลอง แต่เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง"

ไดมอนด์ ทูเดย์ เป็นการเปลี่ยนความรู้สึกของผู้หญิงเกี่ยวกับเครื่องประดับเพชร โดยเฉพาะรูปแบบ และราคา เพราะในอดีตกลุ่มคนที่มีฐานะเท่านั้นจึงจะซื้อเครื่องประดับ เพชรได้ แม้แต่ร้านจำหน่ายก็ได้รับการตกแต่งหรูหรา มีการรักษาความปลอดภัยแน่นหนา ทำให้การตัดสินใจเข้าไปภายในร้านค่อนข้างลำบาก อีกทั้งเพชรแต่ละชิ้นไม่มีราคาติดเอาไว้

"นี่เป็นอุปสรรคในใจของผู้หญิง เราจึงนำปัญหาเหล่านี้มาสร้างสรรค์กับไดมอนด์ ทูเดย์ โดยวางจำหน่ายที่เคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า มีพนักงานขายคอยแนะนำในการเลือกซื้อ มีความแตกต่างไปจากร้านขายเพชรทั่วไป" ชนัดดาอธิบาย

ด้วยเหตุผลแสดงจุดยืนชัดเจนในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสะดวกสบายต่อการตัดสินใจซื้อ รวมถึงราคาไม่สูงเกินไป และการออกแบบผลิตภัณฑ์เรียบเก๋แต่มีความทันสมัยอยู่ในตัว ส่งผลให้ไดมอนด์ ทูเดย์ ได้รับการยอมรับจากผู้หญิงยุคใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ กิจการก็ยังเติบโตขึ้นปีละ 15% จนถึง ปัจจุบัน

"ซื้อเพชรก็เหมือนการลงทุนระยะยาวประเภทหนึ่ง และไม่มีเสื่อมค่า" เธอชี้ "ไม่มี สิ่งใดทดแทนเพชรได้แม้กระทั่งทอง และทุกวันนี้ผู้หญิงหันมานิยมใส่เพชรมากขึ้นซึ่งเป็นกระแสมาจากต่างชาติ"

นับตั้งแต่เครื่องประดับเพชร "ไดมอนด์ ทูเดย์" วางจำหน่ายจนถึงวันนี้ เป็นเครื่อง พิสูจน์ฝีมือของชนัดดาได้เป็นอย่างดี และแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จของการทำงานเก่งอย่างเดียวไม่พอ เพราะความตั้งใจเดิม หลังจากเรียนจบปริญญาตรี รัฐศาสตร์การทูต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วไปต่อปริญญาโทสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยบอสตัน คือการได้เข้าทำงาน ที่กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อกลับมาเมืองไทยเธอกลับพบว่าตัวเองไม่เหมาะสมกับงานราชการ ด้วยบุคลิกนิสัยไม่ค่อยอยู่นิ่ง ใจร้อน มีแนวคิดแปลกใหม่ รวมถึงรสนิยมด้านแฟชั่น จึงเปลี่ยนความตั้งใจไปทำงานด้านการตลาด ที่ Thai Factory Development บริษัทในเครือของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT)

หลังจากทำงานได้เพียง 2 ปี เป็นช่วงที่ชนัดดาแต่งงานกับธีรยุทธ์ จิราธิวัฒน์ บุตรชายคนที่สองของสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ จึงลาออกมาช่วยทำงานในเครือเซ็นทรัล โดยดูแลธุรกิจไอศกรีม Baskin Robin ในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป

จากนั้นได้รับโปรโมตให้ดูแลด้านการจัดซื้อกลุ่มธุรกิจฟาสต์ฟู้ดของเครือเซ็นทรัลทั้งหมด เมื่องานเริ่มอยู่ตัวและเดิน ไปได้ ชนัดดาจึงคิดทำกิจการส่วนตัว

"ช่วงนั้นถ้าเราได้ทำงานที่ตรงกับนิสัยของเราน่าจะมีความสุข" เธอเล่า

Watch Me บริการซัก อบ รีด ภายในห้างเซ็นทรัล ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และวิลล่ามาร์เก็ตเป็นกิจการส่วนตัวกิจการ แรกของชนัดดา จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาไดมอนด์ ทูเดย์ ขึ้นมาจนกระทั่งเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.