Netnomics

โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

การปรากฏตัวของวารสาร Netnomics สู่โลกวิชาการในปี 2542 นับเป็นประจักษ์พยานของการขยายพรมแดนแห่งความรู้ของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ภายหลังสงครามโลกครั้ง ที่สอง เศรษฐศาสตร์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และขยายพรมแดนอย่างกว้างขวาง โดยมิได้จำกัดการศึกษา และวิเคราะห์เฉพาะแต่ปรากฏการณ์ และประพฤติกรรมทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังรุกล้ำเข้าสู่ปริมณฑลแห่งความรู้ของสาขาวิชาการอื่นอีกด้วย

ในด้านการเมือง สำนัก Public Choice นำทฤษฎี และแนวความคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก (Classical Economic) และ นีโอคลาสสิก (Neoclassical Economic) มาเป็นพื้นฐานในการศึกษา และวิเคราะห์สถาบันการเมือง และประพฤติกรรมทางการเมือง ในขณะที่สำนัก Constitutional Political Economy นำทฤษฎี และแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์มาศึกษา และวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ

ในด้านสังคม นักเศรษฐศาสตร์นำความรู้ในสาขาวิชาของตนมาศึกษาสถาบันทางสังคม ประพฤติกรรมทางสังคม และวัฒนธรรม จนก่อให้เกิดเศรษฐศาสตร์หลากหลายสาขา ตั้งแต่เศรษฐศาสตร์สังคม (Social Economics) ไปจนถึงเศรษฐศาสตร์วัฒนธรรม (Cultural Economics) ซึ่งต่อมาแตกแขนงเป็น เศรษฐศาสตร์สถาบันสมัยใหม่ (New Institutional Economics=NIE)

ในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ มีการยอมรับกันมากขึ้นว่า การศึกษา และวิเคราะห์ปรากฏการณ์ และประพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ โดยพิจารณาเฉพาะแต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ (Economic Factors) นั้น ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยทางสถาบันด้วย ความเชื่อดังกล่าวนี้ยังผลให้ให้ เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) แตกแขนงเป็น เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงสถาบัน (Institutional Political Economy=IPE) ซึ่งกำลังแผ่ขยายอิทธิพลทั้งในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ และสาขาวิชารัฐศาสตร์

นักเศรษฐศาสตร์นำกรอบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มาใช้วิเคราะห์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วย เมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) รุดหน้าชนิดก้าวกระโดด จนมีเครือข่ายสารสนเทศผ่าน Internet โยงใยไปทั่วโลก นักเศรษฐศาสตร์ก้าวรุดไปเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ Internet รวมทั้งประเด็นทางนโยบาย พรมแดนแห่งความรู้ในเรื่องนี้ก่อให้เกิดเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยอินเทอร์เน็ต (Internet Economics) บางคนขนานนามว่า Webnomics อันเป็นคำผสม ซึ่งเกิดจากการผนวก Web กับ Economics เข้าด้วยกัน โดยมุ่งให้หมายถึง Economics of World Wide Web แต่บางคนก็ตั้งชื่อใหม่ว่า Netnomics อันเป็นคำผสม ซึ่งเกิดจากการผนวก Internet กับ Economics เข้าด้วยกัน โดยมุ่งให้หมายถึง Economics of Internet

Internet Economics หรือ Webnomics หรือ Netnomics เป็นแขนงวิชาใหม่ของเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีความรุดหน้าไล่ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะเศรษฐศาสตร์ต้องเสนออรรถาธิบายปรากฏการณ์ และประพฤติกรรมอันข้องเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งเกิดขึ้น และผันแปรอย่างรวดเร็ว ในประการสำคัญเศรษฐศาสตร์ต้องนำเสนอบทวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจ ที่เกิดจากอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งให้ข้อเสนอทางนโยบายในการแก้ปัญหาเหล่านั้น พรมแดนแห่งความรู้ของ Netnomics ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนต้องมีวารสารทางวิชาการโดยเฉพาะ ซึ่งในปัจจุบันศาสตราจารย์ฮันส์ อัมมัน (Hans M.Amman) แห่ง University of Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นบรรณาธิการ

ปริมณฑลของ Netnomics เห็นได้ชัดเจนจากหนังสือชื่อ Internet Economics (1997) ซึ่ง Lee W.McKnight และ Joseph P.Bailey เป็นบรรณาธิการ

บทบาทของคอมพิวเตอร์ ที่มีต่อการเพิ่มพูนประสิทธิภาพการผลิตในระบบเศรษฐกิจเป็นประเด็น ที่มีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวาง ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต โซโลว์ (Robert Solow) นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลแห่ง M.I.T เคยเอื้อนเอ่ยอมตพจน์ว่า เราได้พบยุคคอมพิวเตอร์ (Computer Age) ทุกแห่งหน แต่จะไม่ได้พบคอมพิวเตอร์ในสถิติประสิทธิภาพการผลิต (Productivity Statistius) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ภายหลังจาก ที่เกิดการปฏิวัติคอมพิวเตอร์ (Computer Revolution) นานนับทศวรรษ ประสิทธิภาพการผลิตในสหรัฐอเมริกาไม่มีการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญเลย (Challenge Magazine, January-Febuary 1998) งานวิจัยเรื่อง The Computer Revolution : An Economic Perpective (1997) ของ Danail E.Sichel จุดปะทุวิวาทะในประเด็นนี้ ในประการสำคัญ Sichel แสดงให้เห็นความยากลำบากในการพิสูจน์ให้เห็นว่า การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพการผลิตในระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร

ความสำคัญของเครือข่ายอิเล็กทรอนิก (Electronic Networking) ที่มีต่อโครงสร้างการผลิตเป็นอีกหัวข้อหนึ่ง ที่มีการศึกษาวิจัยกันอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า อินเทอร์เน็ตมีบทบาทในการเปลี่ยนโฉมหน้าของธุรกรรมในภาคเศรษฐกิจ ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเศรษฐกิจการเงิน และภาคการค้าระหว่างประเทศ การปริวรรตทางอิเล็กทรอนิก (Electronic Exchange) ช่วยเกื้อกูลให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และการค้าระหว่างประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว บัดนี้ ตลาดซื้อขายล่วงหน้าของเยอรมนี (German Futures Exchange) ไม่มีตัวตนทางกายภาพ เพราะการซื้อขายกระทำผ่านอินเทอร์เน็ต ยุโรปกับอเมริกาเหนือไม่ต้องซื้อขาย Music CDs ระหว่างกัน เพราะสามารถ download จากอินเทอร์เน็ต และชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ตได้

นักเศรษฐศาสตร์มองอินเทอร์เน็ตในฐานะระบบเศรษฐกิจ (Economic System) ประเภทหนึ่ง Internet Economics หรือ Webnomic หรือ Netnomics เป็นศาสตร์ ที่ศึกษาตลาดที่จัดสรรบริการอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตมิใช่บริการไร้ราคา (Free Good) เพราะอินเทอร์เน็ตมีอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) และมีตลาด ในตลาดบริการอินเทอร์เน็ต มีผู้เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ฝ่าย อันประกอบด้วย ผู้ประกอบการ (Operators) ผู้ใช้บริการ (Users) และผู้ควบคุมกำกับ (Regulators) ตลาดจะจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่ายนี้อย่างไร ราคาบริการอินเทอร์เน็ตกำหนดขึ้นอย่างไร รัฐบาลควรจะแทรกแซงหรือควบคุมกำกับระบบอินเทอร์เน็ตอย่างไร จึงจะก่อให้เกิดสวัสดิการสูงสุดแก่สังคม รัฐบาลจะป้องปราม และปราบปรามการฉ้อโกง ที่เกิดขึ้นในระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร หาก E-Commerce เติบใหญ่ จนเข้ามาแทน ที่การค้าตามปกติ รัฐบาลจะเก็บภาษีการค้าหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมตลอดจนภาษีเงินได้จาก E-Commerce ได้อย่างไร เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคำถาม ที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องหาคำตอบ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจอันเกิดจากการขยายตัวของระบบอินเทอร์เน็ต

ระบบอินเทอร์เน็ตทำให้โฉมหน้าของตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงด้วย มนุษย์มิจำต้องทำงานในสำนักงานหรือโรงงานอีกต่อไป หากสามารถทำงานในที่ห่างไกลจากสำนักงานหรือโรงงานได้ รวมทั้งนั่งทำงานในบ้านได้ด้วย ระบบการทำงานกำลังแปรเปลี่ยนเป็น Teleworking และคนงานกำลังแปรสภาพเป็น Teleworkers ทั้งหมดนี้ทำให้ระบบการแบ่งงานกันทำ (Division of Labour) แปรเปลี่ยนไปอย่างสำคัญ

การเติบโตของเครือข่ายอิเล็กทรอนิก และการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายต่างๆ (Networks Interconnection) นำมา ซึ่งฐานข้อมูลที่มีความถี่สูง (High-Frequency Data) ฐานข้อมูลอันมมหึมานี้ช่วยขยายช่องทางในการศึกษาวิจัยอย่างสำคัญ

ณ บัดนี้ Internet Economics หรือ Webnomics หรือ Netnomics เป็นแขนงวิชา ที่น่าจับตามอง และติดตามศึกษา

หนังสืออ้างอิง

McKnigh, Lee W.and Joseph P.Bailey (eds.),

Internet Economics

Cambridge, Mass : The M.I.T. Press, 1997

Sichel, Danial E.

The Computer Revolution : An Economic Perspective Washington D.C. : Brookings Institution Press, 1997



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.