ภาพถ่ายโบราณ เป็นสื่อการถ่ายทอดข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่เข้าใจง่ายที่สุด
เมื่อได้รู้เรื่องราวความเป็นมาของสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพ ยิ่งทำให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์นั้นสนุกและมีชีวิตมากขึ้น
บนชั้น 4 ของเดอะสีลมแกลลอเรีย ถนนสีลม มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
จัดให้มีห้องแสดงถาวร ภาพถ่ายโบราณภาพมุมกว้างของกรุงเทพมหานคร ในสมัยรัชกาลที่
4 ไว้ประมาณ 60 ชิ้น แต่ละภาพล้วนมีอายุเก่าแก่ประมาณ 100-150 ปี
ต้นฉบับของภาพเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และส่วนหนึ่งเป็นภาพ
สะสมส่วนตัวของบุคคล โดยฝีมือการถ่ายภาพส่วนใหญ่เป็นผลงานของฟรันซิส จิต
ช่างภาพหลวงในสมัยรัชกาลที่ 4
ภาพส่วนใหญ่ที่จัดแสดงไว้ที่นี่เป็นภาพที่อาจจะเคยเห็นกันบ้างแล้ว แต่ทางมูลนิธิฯ
อาศัย เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพิ่มความละเอียดจนสามารถอัดขยายเป็นภาพขนาดใหญ่
โดยใหญ่ที่สุด สูงประมาณ 1 เมตรครึ่งและยาวประมาณ 7 เมตร ภาพใหญ่ขนาดนี้จะขายให้กับองค์กรของเอกชน
หรือรัฐบาลอย่างเดียวเท่านั้น เช่น วัดโพธิ์ ได้ซื้อภาพขนาดใหญ่เป็นภาพแม่น้ำเจ้าพระยา
ภาพหนึ่ง ไปไว้ในห้องสมุดของวัด
สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจ ทางมูลนิธิฯ ยังมีรูปเล็กๆ ขนาด 50 เซนติเมตร
ขายให้ด้วย รายได้ทั้งหมดจากการขายภาพก๊อบปี้เหล่านี้ จะเอามาจัดทำห้องแสดงภาพถ่ายให้ถาวร
และสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นไปอีก
ภาพเหล่านี้จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตให้คนรุ่นปัจจุบันศึกษาได้อย่างไม่รู้เบื่อ
และสนุกกับการที่จะได้ค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาพนั้นด้วยตนเองต่อไป
พิพัฒน์ พงศ์รพีพร นักวิจัยอิสระ ผู้เรียบเรียงโครงการภาพโบราณนี้ ได้เป็นผู้อธิบาย
ภาพตามข้อมูลที่ได้ใช้เวลาศึกษามานาน เช่น
ภาพแม่น้ำเจ้าพระยากับเรือสินค้า 100 ลำ พ.ศ.2407 ปรากฏการณ์เรือสินค้าที่มาจอดเรียงรายกันมากมายพร้อมกันเป็นร้อยลำในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น
เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างมากว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เมื่อเห็นจากภาพ
นักค้นคว้าก็พบว่ามีเรื่องราวบันทึกอยู่ในบางกอกคาลันเดอร์ ของหมอบรัดเลย์
ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน 2407 หลวงบริบาล บุรีพันธุ์ แปลลงในประชุมพงศาวดารภาคที่
12 ว่า เรือเหล่านี้มาซื้อข้าวสารจะไปขายเมือง จีน เป็นเหตุให้ราคาข้าวสารขึ้นราคาสูงทันที
ถึงเกวียนละ 120 บาท และเกวียนละ 125 บาท
ข้อความนี้ทำให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจประกาศในสมัยรัชกาลที่ 4 จำนวน 3 ฉบับ
ที่เกี่ยว เนื่องกันว่าทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านเศรษฐกิจและการปกครองอย่างยิ่ง
กล่าวคือ เมื่อต้นปีทรงทราบว่าฝนจะแล้งจึงประกาศเพื่อเตือนให้ประชาชนสะสมข้าวให้พอบริโภคทั้งปีจากนั้นเมื่อฝนแล้งจริงๆ
ก็ทรงออกประกาศ ฉบับที่ 2 แนะนำปัญหาข้าวสารขาดตลาด และมีราคาแพง ทรงแนะนำให้ซื้อข้าวเปลือกมาตำกินเองตามความจำเป็น
ไม่ต้องพึ่งโรงสีให้เดือดร้อน หลังจากนั้นพ่อค้าต่างประเทศก็เดินทางเข้ามาเร่งกว้านซื้อข้าว
จนอาจจะทำให้ข้าวขาดตลาด ทรงออกประกาศฉบับที่ 3 ปิดตลาดข้าวทันที
ภาพแม่น้ำเจ้าพระยาและโรงละครพระยาบุรุษฯ ปี 2407 เป็นภาพที่แสดงให้เห็นสภาพชุมชนที่สมบูรณ์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อสมัย
100 ปีก่อน ในภาพจะเห็นหมู่อาคารปูน ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่จรดฝั่งน้ำถึงแนวกำแพงเมือง
เป็นอาคารแบบตะวันตกชนิดที่มีลานภายใน (Court) เมื่อเทียบกับโฉนดที่ดินปัจจุบันพบว่าอาคารนี้ตรงกับวังของพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน-วโรดม
(ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว เหลือเพียงแต่ชื่อซอยเพ็ญพัฒ) จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบ้านของนายเพ็ง
นโปเลียน (2364-2437) เสด็จตาของพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒฯ บุตรเลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงได้รับบิณฑบาตมาตั้งแต่อายุ 12 ปี เมื่อครองราชย์โปรดฯ ให้เป็นหมื่นสรรเพชร
ภักดี หัวหมื่นมหาดเล็ก เป็นอุปทูตไปเจริญพระราชไมตรี กับประเทศอังกฤษ เมื่อปีพุทธศักราช
2400 และได้นำแบบอย่างของโรงละครสมัยใหม่ ของกรุงลอนดอน กลับมาสร้างที่ใต้ท่าเตียน
เรียกว่า Siamese Theatre (ต่อมาเปลี่ยนเป็น Prince Theatre) เป็นมหรสพสถานที่ขึ้นชื่อลือชาของบางกอก
นอกจากนั้นตรงริมน้ำใกล้อาคาร ยังมีโรงละครแบบเก่าตั้งอยู่เป็นอาคารสองหลังคู่กัน
ภาพแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเตียน พ.ศ.2407 ภาพนี้จะเห็นสภาพที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังก่อสร้างอยู่หลายรายการเช่น
ตึกหลวงราชทูต เป็นอาคารสองชั้น 3 หลังเรียงกัน ในพระบรมมหาราชวังมีการก่อสร้างอาคารจตุรมุขขนาดใหญ่ยังไม่แล้วเสร็จมีการมุงหลังคาไปแล้วบางส่วน
ที่ท่าน้ำท่าเตียนตรงประตูเมือง เป็นชุมชนสำคัญของพระนครในสมัยนั้น เต็มไปด้วยเรือนแพแน่นขนัด
ด้านเหนือของท่าน้ำ เป็นอาคารทรงปั้นหยาขนาดใหญ่ มีเสาธงปักเป็น เครื่องหมายคือ
อาคารศาลต่างประเทศ ส่วนฝั่งใต้ของท่าเป็นที่ว่างสำหรับพักสินค้า หรืออาจจะเป็นคลังเก็บฟืนไม้แสมสำหรับ
พระบรมมหาราชวังวางสุมกันนับไม่ถ้วน ในภาพนี้ยังเห็นสภาพเดิมของภูเขาทอง
พระบรมบรรพต ที่ทิ้งไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3
ภาพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานกฐิน การฉายพระรูปครั้งนี้มีบันทึกอยู่ในบางกอกเรคอร์เดอร์
(ปีที่ 1 หน้า 141) ว่าโปรดให้ จอห์น ทอมสัน เป็นผู้ฉาย
ภาพเรือนแพที่กระดีจีน ชุมชนวัดซางตาครู้ส หมู่บ้านกุฎีจีน ในสมัย 100
กว่าปีที่แล้วต้อง มีบ้านเรือนแพบนบกและเรือนแพในแม่น้ำหนาแน่นพอสมควร เพราะแถบนั้นมีคนอาศัยอยู่มาก
สตูดิโอ หรือร้านถ่ายรูปของ ฟรันซิส จิต ก็ตั้งอยู่บนเรือนแพหน้าวัดซางตาครู้สนี่เองมองเห็นพระปรางค์วัดอรุณฯ
และเรือนแพ ที่เรียงรายไปตามโค้งน้ำ ปากคลองบางหลวง รูปนี้อาจจะถ่าย จากห้องถ่ายภาพบนเรือนแพของนายจิตก็เป็นได้
นอกจากภาพต่างๆ ที่กล่าวถึงห้องแสดงภาพถ่ายถาวร ของภาพโบราณ ภาพมุมกว้าง
กรุงเทพมหานคร ในสมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว ยังมีภาพทางประวัติศาสตร์มากมายที่เปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชมทุกวัน
ตั้งแต่เวลา 10.30 น.-17.00 น. เป็นต้นไป
นับว่าเป็นความพยายามอย่างหนึ่งของมูลนิธิแห่งนี้เพื่อจะส่งมอบคุณค่าของอดีตสมัย
ที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างไว้ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษา
และสานต่อสืบไปไม่สิ้นสุด