Dwarrant วอร์แรนต์ที่ดี?

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อตลาดทุนเปิด เป็นโอกาสที่ดีของบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ในการออกผลิตภัณฑ์ตราสารอนุพันธ์แปลกใหม่ เสนอให้กับลูกค้าตนเองนอกเหนือไปจากการเล่นหุ้น แต่การเพิ่มความระมัดระวังต่อการลงทุนเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากคุณลงทุน 5 บาทในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือ Derivative Warrant ที่ให้สิทธิซื้อหุ้น A ในราคา 110 บาท (Exercise Price) เมื่อถึงวันครบกำหนด (Expiration) หุ้น A ราคา 120 บาท (in the money) คุณควรจะทำอย่าง?

หากคุณลงทุน 5 บาท ใน Deriva-tive Warrant ที่ให้สิทธิซื้อหุ้น A ในราคา 110 บาท เมื่อถึงวันครบกำหนด หุ้น A ราคา 90 บาท (out of the money) คุณควรจะทำอย่างไร?

คุณซื้อ Derivative Warrant บนดัชนีในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อถึงวันครบกำหนดให้ผลกำไร (in the money) อยาก ทราบว่าคุณมีความเสี่ยงต่อการไม่ได้รับชำระเงินกำไรตามที่พึงได้รับหรือไม่?

หากตอบคำถามถูกต้องทั้งสามข้อ สามารถลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้โดยไม่ต้องกังวล เพราะเป็นตราสารทางการเงินที่มีความซับซ้อนและค่อนข้างยุ่งยากต่อการทำความเข้าใจ ที่สำคัญเรื่องความเสี่ยง

หากเปรียบเทียบกับใบสำคัญแสดง สิทธิ (Warrant) ที่ผู้ออกจะเป็นบริษัทนั้นๆ ในแง่ความเสี่ยงของผู้ลงทุนไม่มี เพราะว่าถ้ามีใครมาใช้สิทธิ บริษัทดังกล่าวจะออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่

ขณะที่ Derivative Warrant ผู้ออกเป็นบริษัทที่ไม่ใช่เจ้าของหุ้นเหล่านั้น หรือที่เรียกว่า Third Party เมื่อนักลงทุนมาใช้สิทธิ จะต้องไปซื้อหุ้นในตลาดมาส่งมอบ ฉะนั้นความเสี่ยงจึงเป็นบุคคลที่สาม "พวกเขาสามารถเตรียมหุ้นมารองรับการใช้สิทธิเพียงพอหรือไม่ มีฐานะการเงินที่ดีในการซื้อหุ้น และความน่าเชื่อถือกรณีลูกค้ามาใช้สิทธิแล้วไม่ผิดสัญญา" ธนวัฒน์ พาณิชเกษม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายค้าหลักทรัพย์และอนุพันธ์ บล.เคจีไอ (ประเทศ ไทย) ชี้ "Derivative Warrant มีความ ยุ่งยากมากกว่าวอร์แรนต์ธรรมดา"

ที่สำคัญเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับตลาดทุนไทย เพราะโดยทั่วไปผู้ออกวอร์แรนต์ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าของหลักทรัพย์นั้นๆ แต่เมื่อมีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องความผิดพลาดอาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นในแง่นักลงทุนควรพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากตัดสินใจซื้อ Derivative Warrant ไปแล้ว

"ในทางที่ผิดก็เป็นโทษ ดังนั้นมันเป็นเครื่องทุ่นแรงทางการลงทุน" ธนวัฒน์บอก

หากพิจารณาถึง Derivative Warrant ทั่วโลกพบว่าตลาดทุนที่พัฒนาแล้วทั้งในอเมริกา ยุโรป เลิกสนใจกับผลิตภัณฑ์นี้ไปนานแล้ว "มันตายไปนานแล้วจากโครงสร้างนักลงทุนสถาบัน" ธน-วัฒน์เล่า "สินค้านี้มีความเหมาะสมกับตลาดทุนที่มีระบบโครงสร้างเป็นนักลงทุนรายย่อยและเก็งกำไร"

ดังนั้น ไม่แปลกใจเมื่อ Derivative Warrant ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายในตลาดทุนไต้หวัน ที่มีมาตั้งแต่ปี 1997 ฮ่องกงเริ่มขายตั้งแต่ปี 1999 รวมถึงเกาหลีใต้ด้วย และแน่นอนผู้เล่นที่นำผลิตภัณฑ์นี้เข้ามาเสนอให้กับนักลงทุนไทยแห่งแรก คือ บล.เคจีไอ ตามด้วยบล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ซึ่งทั้งสองรู้จักตลาดทุนในแถบภูมิภาคนี้เป็นอย่างดี

และพวกเขาได้รับการอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้สามารถทำธุรกรรมดังกล่าวได้ในฐานะบุคคลที่สาม และดูเหมือนว่ามีความกระตือรือร้นเป็นอย่างมากที่นำ Derivative Warrant เสนอขายให้กับลูกค้า ตนเอง "สินค้าตัวแรกที่เราจะออกด้านตรา สารอนุพันธ์และง่ายที่สุด คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ สามารถจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เพื่อขายให้กับนักลงทุนได้ เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด" ธนวัฒน์อธิบาย

หมายความว่าบุคคลที่สาม หรือ ผู้ออก (Issuer) Derivative Warrant จะต้องแสวงหาหลักทรัพย์อ้างอิง (Underlying Securities) มาทำการซื้อขาย อาจจะเป็นหลักทรัพย์หรือดัชนีหลักทรัพย์ โดย ก.ล.ต. กำหนดไว้ว่าหุ้นที่สามารถเป็นหลักทรัพย์อ้างอิงได้ต้องจดทะเบียนซื้อขายไม่ต่ำกว่า 1 ปี มี Market Cap เฉลี่ย 3 เดือนมากกว่า 10,000 ล้านบาท และมีปริมาณการซื้อขายมากกว่า 1%

โดยประมาณปลายปีที่ผ่านมาหลักทรัพย์ผ่านกฎเกณฑ์ดังกล่าวมี 26 บริษัท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธนาคาพาณิชย์ สถาบัน การเงิน พลังงาน วัสดุก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น ในฐานะผู้ออกอย่างเช่น บล.เคจีไอ หรือ บล.กิมเอ็ง สามารถแสวงหาหุ้นน่าสนใจและเป็นความต้องการของนักลงทุนได้มากพอสมควร ที่สำคัญพวกเขาไม่ต้องขออนุญาต จากบริษัทดังกล่าวสำหรับการออก Derivative Warrant

"ผู้ออกไม่มีความสัมพันธ์กับบริษัทนั้นเลย ดังนั้นพวกเราสามารถเลือกหุ้นที่ดีที่สุดมาทำ Derivative Warrant ออกขายให้กับลูกค้า" ธนวัฒน์ชี้

มีคำถามตามมาว่า บริษัทดังกล่าวได้รับประโยชน์อะไร ซึ่งจะไม่มีผลอะไรในทางตรง แต่ได้ประโยชน์ทางอ้อม โดยเฉพาะความเชื่อมั่นและมีภาพพจน์ที่ดีในสายตาสถาบันการเงินในฐานะผู้ออก เพราะ หลังจากนั้นพวกเขาจะต้องซื้อหุ้นสามัญมาเก็บไว้ กรณีนักลงทุนมาใช้สิทธิ นั่นหมายถึงการเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้นดังกล่าวอีกทางหนึ่ง ที่สำคัญ จะไม่มีผลกระทบด้าน Dilution เนื่องเพราะไม่มีการเพิ่มทุนเป็นหุ้นที่ซื้อขายบนกระดานอยู่แล้ว

นอกจากนี้ มีความน่าสนใจในเรื่อง ของการจำกัดการขาดทุน เพิ่มอัตราทดในการลงทุนและดีต่อหุ้น คือ หุ้นหลายบริษัทเป็นที่ต้องการของนักลงทุน แต่ขาดสภาพคล่องหรือไม่มีวอร์แรนต์ขาย ดังนั้น Derivative Warrant เป็นการอุดช่องว่างดังกล่าว

ด้วยรูปแบบที่น่าสนใจ ผสมผสานกับนักลงทุนไทยที่ไม่ค่อยมีทางเลือกมากนักและทางการสนับสนุนเต็มที่ ธนวัฒน์มั่นใจอย่างมากต่อการดำเนินธุรกรรมประเภทนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามอธิบายลักษณะของ Derivative Warrant เหมือนการออกหุ้นสามัญ เพื่อเสนอขายให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO)

"เป็นการออกหลักทรัพย์ใหม่และขายให้กับนักลงทุนได้ เราสามารถเลือกเวลาทำงานได้ และถ้าเกิดผิดพลาดพวกเขา ขาดทุนแค่จำนวนวอร์แรนต์ไม่ใช่จำนวนหุ้นนั้นทั้งหมด" เขากล่าว "เนื่องจากเป็นหุ้นที่ผู้ออกสามารถขายได้ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ราคาสมเหตุสมผล เพราะไม่ต้องไปเสนอราคาแข่งขันกับใครเช่นกับการเสนอตัวเป็น Underwriter"

แน่นอนการลงทุนไม่ว่ากรณีไหนย่อมมีความเสี่ยงตลอดเวลา เช่นเดียวกับ Derivative Warrant นอกเหนือจากความผันผวนของตลาดแล้ว ต้องพิจารณาความเสี่ยงด้านผู้ออกด้วยเพราะหากมีปัญหาจะเกิดหนี้สูญทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริหารความเสี่ยงจากความแม่นยำในการซื้อหุ้นสามัญผิดพลาด เพราะความสำเร็จในการทำธุรกรรมดังกล่าวคือ จังหวะ เวลา เนื่องจากจะมีกำไรก็ต่อเมื่อราคาหุ้นสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นกับนักลงทุน ก.ล.ต.กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ที่สนใจออก Derivative Warrant ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท มีสภาพคล่องขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่ต่ำกว่า 7% และมีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ Investment Grade ขึ้นไป

นี่คือ รูปแบบใหม่ที่บริษัทหลักทรัพย์ ต่างชาติพยายามนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้า มาดึงดูดนักลงทุนไทย ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าลักษณะแบบนี้เหมือนการแจกหุ้นให้กับลูกค้าที่เปิดบัญชีเล่นหุ้นกับโบรกเกอร์ตนเอง เพื่อจูงใจให้ทำธุรกรรมและเป็นเพียงแค่การ บริการให้พวกเขาซื้อหุ้นมากกว่าเท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.