|
'KBANK-SCB' คว้าแบงก์ดีเด่นชู 'ผลประกอบการ-บริหาร' เยี่ยม
ผู้จัดการรายวัน(10 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"KBANK-SCB" คว้าตำแหน่ง Bank of The Year 2006 ร่วมกัน ระบุผลประกอบการโดดเด่น มีอัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวมอยู่ในระดับ 24.07% และ 33.41% เบียดแชมป์เก่าแบงก์กรุงเทพร่วงมาอยู่อันดับ 3
รายงานข่าวจากวารสารการเงินธนาคาร ประกาศผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี ประจำปี 2549 หรือ Bank of The Year 2006 ปรากฏว่า ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ครองตำแหน่งธนาคารแห่งปี 2549 ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีแชมป์ธนาคารแห่งปีถึง 2 แห่งด้วยกัน โดยในส่วนของธนาคารกสิกรไทย มีผลประกอบการที่โดดเด่นอยู่ในอันดับต้นๆ ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย โดยมีอัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวม (Net Profit Margin) อยู่ในอันดับ 2 ที่ 24.07% สำหรับอัตราส่วนทางการเงินที่อยู่ในอันดับ 3 ได้แก่ อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) 1.59% อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) 17.23% และกำไรสุทธิต่อหุ้น 5.63 บาท รวมถึงประสิทธิภาพของพนักงานที่สามารถสร้างรายได้สูงเป็นอันดับ 2 ที่ 5.17 ล้านบาทต่อคน
ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ก็มีผลงานที่โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยมีกำไรสุทธิต่อรายได้รวมสูงเป็นอันดับ 1 ถึง 33.41% ส่วน ROA, ROE และกำไรสุทธิต่อหุ้นนั้นสูงเป็นอันดับ 2 ของระบบธนาคารพาณิชย์ คือ 2.18%, 20.20% และ 7.53 บาทตามลำดับ
สำหรับธนาคารกรุงเทพ แชมป์เก่าเมื่อปีที่แล้ว ตกไปอยู่อันดับ 3 ส่วนธนาคารนครหลวงไทย ยังรักษาอันดับ 4 ไว้ได้ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ด้านธนาคารกรุงไทยไต่จากอันดับ 6 ขึ้นมาอยู่อันดับ 5 เบียดให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ตกไปอยู่อันดับ 6 แทนที่ในปีนี้ อันดับ 7 ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งครองตำแหน่งนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว ธนาคารไทยธนาคารก้าวขึ้นมาอยู่อันดับ 8 จากอันดับ 9 เมื่อปีที่แล้ว เช่นเดียวกับธนาคารทหารไทยที่ก้าวจากอันดับ 11 มาอยู่อันดับ 9 ในปีนี้ ด้านธนาคารธนชาตตกจากอันดับ 7 ลงมาอยู่อันดับ 10 และปิดท้ายในอันดับ 11 ได้แก่ ธนาคารยูโอบี
ทั้งนี้ เกณฑ์ในการพิจารณาจัดอันดับธนาคารแห่งปี 2549 (Bank of The Year 2006) ยังคงใช้เกณฑ์การพิจารณาที่เป็นมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยนำผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 1 กรกฎาคม 2548-30 มิถุนายน 2549 มาคำนวณหาอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของธนาคารทั้ง 11 แห่ง
และสำหรับเกณฑ์การตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมก็ยังคงนำมาใช้เป็นปัจจัยวัดความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อของแต่ละธนาคาร นอกจากนี้ การตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญยังสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยง และความมั่นคงของธนาคารในอีกด้านหนึ่งด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|