อุ๋ยฝาก "ธาริษา" คุมธปท.


ผู้จัดการรายวัน(10 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ปรีดิยาธร" ฝากงาน "ธาริษา วัฒนเกส" ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่สานต่อนโยบายเดิม เน้นการควบคุมการขยายตัวของบัตรเครดิต จัดระเบียบธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้าระบบแบงก์พาณิชย์ ยันไม่กระทบนโยบายรัฐบาล ส่วนแบงก์ที่กองทุนฟื้นฟูถือหุ้นใหญ่ให้รอจังหวะที่ได้ราคาดีแล้วค่อยขาย เผยยังมีเวลาถึงปี 2554

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา สำหรับตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ จะสรรหาและแต่งตั้งได้ภายในสัปดาห์นี้จะรู้ตัว ทั้งนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยอมรับว่า นางธาริษา วัฒนเกส คือคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯ ธปท.แทนตน เนื่องจากมีความเหมาะสมทั้งด้านความรู้ ความสามารถและความอาวุโส หลังจากนั้นจะมีการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่แทนนางธาริษา

"ผมคิดว่าผู้ว่าแบงก์ชาติต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม และต้องมีความรู้นโยบายการเงินและดูแลสถาบันการเงินได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลสถาบันการเงิน เพราะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเคยเห็นประสบการณ์ที่สถาบันการเงินหลายแห่งต้องปิดตัวไป ดังนั้นการมีความรู้เกี่ยวกับดูแลสถาบันการเงินสำคัญกว่านโยบายการเงิน"

สำหรับแนวทางการบริหารงาน ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่จะดำเนินตามนโยบายเดิมทุกอย่าง จะดูแลบัตรเครดิตไม่ให้มีการเร่งตัวมากเกินไป ซึ่งในขณะนี้อัตราการขยายตัวของธุรกิจนี้อยู่ที่ 19% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 40% อย่างไรก็ตามจะดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น แต่ยังให้ผู้ประกอบการสามารถให้บริการแก่ลูกค้าต่อไปได้ ส่วนข้อเสนอการกำหนดอายุของผู้มีบัตรเสริม ในเบื้องต้นได้มีการพูดคุยบ้างแล้ว

ด้านนโยบายสถาบันการเงิน ในส่วนธนาคารเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและเอสเอ็มอีแบงก์ จะมีการปรับปรุงมาใช้เกณฑ์เดียวกับธนาคารพาณิชย์ไทย รวมไปถึงการจัดชั้นหนี้ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยหากสถาบันการเงินเฉพาะกิจแห่งใดมีปัญหาการจัดชั้นหนี้ไม่ได้มาตรฐานก็จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุน ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อโครงการภาครัฐต่างๆ ที่เคยดำเนินมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรองรับการประเมินด้านการเงินภายใต้ FSAP(Financial Sector Assessment Program) ซึ่งเป็นมาตรฐานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้วย

ส่วนนโยบายเกี่ยวกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ถือหุ้นให้ธนาคารกรุงไทย ไทยธนาคาร และธนาคารนครหลวงไทย ธปท.ยังคงดำเนินไปตามนโยบายเดิม คือ จะขายหุ้นของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวในช่วงที่ราคาและจังหวะที่ดี เพื่อให้ได้ผลกำไรพอสมควร ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ก่อนปี 2554 เพราะก่อนที่จะปิดกองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องรอให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ปิดตัวก่อนในปี 2553

"ไทยธนาคารที่จะมีหาพันธมิตรต่างชาติ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะไทยธนาคารมีทุนและเงินกองทุนที่น้อย เมื่อเทียบกับธนาคารนครหลวงไทยที่มีเงินกองทุนเหลือเยอะ จึงไม่จำเป็นต้องหาพันธมิตรรายใหม่เข้ามา" อดีตรองผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคม นี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรคาดว่ายังคงมีการประชุมต่อไป แม้ว่าจะมีคณะกรรมการบางคนมารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างนายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ ก็จะมีการสรรหาบุคคลเข้ามารับตำแหน่งแทน อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะปกติแล้วหากมีคณะกรรมการฯ แค่ 4 คน ก็สามารถเปิดการประชุมได้แล้ว แต่ในการประชุมครั้งนี้เชื่อว่าจะมีคณะกรรมการฯ ร่วมประชุม 5-6 คน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ธปท.เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2544 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนถึงปัจจุบัน

สำหรับนางธาริษาทำงานที่ ธปท.กว่า 30 ปี โดยเริ่มต้นเข้าทำงานที่ธปท.ในปี 2518 กับตำแหน่งนักเศรษฐกร ฝ่ายวิชาการทำงานที่ธปท.ได้ 5 ปี ก็กลับไปศึกษาต่อยังต่างประเทศในระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา และเมื่อช่วงปี 2527 ก็กลับมาทำงานที่ธปท.ในตำแหน่ง หัวหน้าผู้วิเคราะห์ ส่วนกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน และขยับมาอยู่ตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วน ส่วนกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายวิชาการ หรือแม้แต่ตำแหน่งในเวทีโลกอย่างตำแหน่งเศรษฐกรประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ก่อนจะขยับตำแหน่งมาเป็นรองผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ และก้าวมารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ทั้งในส่วนของสำนักงานพัฒนาระบบการชำระเงิน ฝ่ายระบบการชำระเงิน และฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน และในช่วงปี 2541-2545 ก็ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการทั้งสายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน, สายนโยบายการเงิน และสายตลาดการเงิน และตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.