|
กองทุนแหยงหุ้นกลุ่มชินฯ AYF เผยไม่มีอยู่ในพอร์ต
ผู้จัดการรายวัน(10 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้จัดการกองทุนแหยงหุ้นกลุ่มชินคอร์ป "เอวายเอฟ" เผยตัดขายทิ้งไม่มีเหลือในพอร์ตแล้ว เหตุพื้นฐานหุ้นไม่น่าสนใจลงทุน ด้าน "ยูโอบี-เอ็มเอฟซี" กัดฟันถือแอดวานซ์ฯ ไว้ แต่ยังให้น้ำหนักต่ำกว่าตลาด ระบุขอรอดูความชัดเจนการพิจารณาของศาลปกครอง ก่อนตัดสินใจขายทิ้งหรือถือต่อ
นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด (เอวายเอฟ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันพอร์ตการลงทุนของบริษัทไม่มีการลงทุนในหุ้นกลุ่มชินแต่อย่างใด เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทได้ขายทำกำไรออกไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้านี้ บริษัทได้เข้าไปลงทุนในบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS หนึ่งในหุ้นกลุ่มชินคอร์ป เนื่องจากเป็นจังหวะที่ราคาได้ปรับลดลงไปค่อนข้างมาก แต่ภายหลังจากตลาดหุ้นดีดตัวขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้เราตัดขายออกไป หลังจากนั้นก็ไม่มีการลงทุนในหุ้นกลุ่มชินคอร์ปอีกเลย
อย่างไรก็ตาม การที่เราไม่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่มชินคอร์ปนั้น ไม่ใช่สาเหตุจากปัญหาทางการเมือง แต่นโยบายการลงทุนของบลจ.เอวายเอฟ จะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงเป็นหลัก
ทั้งนี้ แนวโน้มหุ้นแต่ละตัวที่อยู่ในกลุ่มชินคอร์ปมีความแตกต่างกัน โดยหุ้นแอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส ถือเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีที่สุด ทั้งในแง่ของกระแสเงินสด การจ่ายเงินปันผล รวมถึง P/E ในระดับ 11-12 เท่า ซึ่งสูงกว่าตลาดอยู่ประมาณ 2 เท่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าหุ้นในกลุ่มนี้จะได้รับผลดีจากการเกิดคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในปีหน้าก็ตาม เพราะเราต้องการให้พื้นฐานของหุ้นดีในระดับที่น่าพอใจก่อน
นายประภาสกล่าวว่า ในช่วงปลายปีนี้ บริษัทมีแผนจะปิดกองทุนเปิดอยุธยาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นทุนอย่างน้อยร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีแนวโน้มการเติบโตของผลการดำเนินงานสูงในระยะยาว ทั้งนี้เนื่องจากหุ้นในกลุ่มดังกล่าวที่มีศักยภาพการเจริญเติบโตในอนาคตมีค่อนข้างน้อยสำหรับตลาดหุ้นไทย ซึ่งจะทำให้มีผลต่อผลการดำเนินงานของกองทุนด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งก็ตอบรับและได้สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนดังกล่าวไปลงทุนในกองทุนหุ้นกองอื่นๆ ของเอวายเอฟแทน ซึ่งบริษัทไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มแต่อย่างใด โดยปัจจุบันกองทุนเปิดอยุธยาเทคโนโลยีมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เอ็นเอวี) อยู่ประมาณ 100 ล้านบาท จากจำนวน 200-300 ล้านบาท ในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งหากกองทุนดังกล่าวมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงต่ำกว่า 50 ล้านบาท ก็สามารถปิดกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
นายกรวุฒิ ลีนะบรรจง หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่มชินคอร์ปเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น นั่นคือ บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส ซึ่งเราเองก็ให้น้ำหนักต่ำกว่าตลาด หรือน้อยกว่า 5.3% ซึ่งเป็นสัดส่วนมาร์เกตแคปของตลาด ส่วนหุ้นของบริษัทชินคอร์ปเรชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น บริษัทได้ทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ออกไปหมดแล้วตั้งแต่ช่วงที่เทมาเสกเข้ามาซื้อหุ้นก่อนหน้านี้ และเชื่อว่าบริษัทจัดการกองทุนรายอื่นๆ ก็น่าจะขายหุ้นดังกล่าวออกไปหมดแล้วเช่นกัน จะยังมีนักลงทุนเพียงบางส่วนที่อยากถือหุ้นไว้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับหุ้นแอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส ในขณะนี้ บริษัทยังไม่มีแผนที่จะขายออกหรือซื้อเพิ่ม ถึงแม้ราคาจะมีผลกระทบจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดรับคำฟ้องเกี่ยวกับให้สัมปทานของกลุ่มชินคอร์ป โดยต้องการรอดูความชัดเจนที่จะเกิดขึ้นก่อน ทั้งในเรื่องของหลักเกณฑ์ที่จะเอามาพิจารณาว่าจะมีมูลหรือมีน้ำหนักน่าเชื่อถือแค่ไหน หรือหลังจากนั้นจะมีการอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็คล้ายกับเหตุการณ์ของ ปตท. ซึ่งเราจะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างใกล้ชิด
นายศุภกร สุนทรกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับบลจ.เอ็มเอฟซีมีพอร์ตการลงทุนในหุ้นกลุ่มชินคอร์ปเพียง 2 ตัว คือ บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส และบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SETTEL โดยหุ้นทั้ง 2 ตัวมีสัดส่วนการลงทุนอยู่ไม่มากนัก ซึ่งเราเองก็ให้น้ำหนักต่ำกว่าน้ำหนักตลาดด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากราคาของหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปปรับตัวลงมาค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ของเราก็ติดตามข้อมูลอยู่อย่างใกล้ชิด ซึ่งหลังจากนี้คงจะต้องรอดูความชัดเจนก่อนว่าหุ้นทั้ง 2 ตัวจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างจากกรณีที่เกิดขึ้น รวมทั้งประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นดังกล่าวก่อนตัดสินใจว่าจะตัดขายออกไปหรือไม่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|