'สมชาย' สั่งกวาดบ้านทีโอที


ผู้จัดการรายวัน(9 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

“พล.อ.ท.สมชาย” รักษาการซีอีโอ ทีโอที สั่งชะลอประมูลโครงการทั่วประเทศ เตรียมรื้อวิธีประมูลแบบพิเศษ แก้ปัญหาช็อตลิสต์ ทบทวนภาพรวมโครงการ NGN หลังช็อตลิสต์พ่นพิษ เอื้อประโยชน์หัวเหว่ยซัปพลายเออร์ระบอบทักษิณ กางตำราเสนาธิการ บริหารทีโอที เชิงรุก เริ่มสางปัญหาไทยโมบาย วันนี้นัด “พิศาล” ถกซื้อหุ้น 42% หลังพบบิ๊กเอไอเอส ดีแทค ชวนมาเป็นพันธมิตร ใช้ประโยชน์โรมมิ่งเครือข่าย 3G ยันไตรมาสแรกปีหน้าประเทศไทยมีบริการ 3G แน่

พลอากาศโท สมชาย เธียรอนันต์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที กล่าวว่าได้สั่งให้ทีโอทีชะลอการประกวดราคาทั่วประเทศออกไป หลังจากที่มีการร้องเรียนเรื่องการทำช็อตลิสต์เลือกซัปพลายเออร์เพียงบางรายเข้าประมูล โดยทีโอทีจะทำการทบทวนการประมูลให้รอบคอบอีกครั้งโดยเฉพาะการประมูลวิธีพิเศษ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบพัสดุของสำนักนายกฯ รวมทั้งจะให้มีการเลิกระบบช็อตลิสต์ที่ทำให้ทีโอทีเสียประโยชน์และถูกครหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ซัปพลายเออร์บางราย

“ทีโอทีจะดูภาพใหญ่โครงการ NGN ทั่วประเทศ รวมทั้งเลิกช็อตลิสต์ด้วย ส่วนการประมูลวิธีพิเศษมีระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว ซึ่งต้องยึดถืออย่างเคร่งครัด การอ้างเรื่องเทคนิคเพื่อกีดกั้น หรือหาประโยชน์ หลอกผมไม่ได้ เพราะผมมีความรู้ด้านนี้”

สางปัญหาไทยโมบาย

พล.อ.ท.สมชายกล่าวว่า ในวันนี้ (9 ต.ค.) จะเข้าหารือกับนายพิศาล จอโภชาอุดม รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท ถึงมูลค่าตัวเลขการซื้อขายกิจการร่วมค้าไทยโมบาย สัดส่วน 42% คืนจาก กสท เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับจากมูลค่าที่ประเมินเบื้องต้นภายหลังการประชุมร่วมกับนายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ 2,400 ล้านบาท โดยการเจรจาส่วนนี้เป็นเพียงของมูลค่าหุ้น แต่ยังไม่รวมปัญหาหนี้สิน ที่เกิดจากบริหารงาน ที่แต่ละฝ่ายมีตัวเลขที่ต่างกันถึงระดับกว่าพันล้านบาท ซึ่งจะต้องหาแนวทางให้เกิดความชัดเจนจากตัวมูลค่าหุ้น และหนี้สินที่ทั้งสองฝ่ายแบกรับ

“เป็นอีกเรื่องที่จะต้องให้มีข้อสรุปที่ชัดเจนซึ่งตอนนี้ไทยโมบายมีความชัดเจนในเรื่องสิทธิในการบริหารคลื่นแล้วจาก กทช. โดยการเจรจาครั้งนี้ เราจะเจรจากันแบบพี่น้อง พ่อแม่เดียวกัน เงินมาจากก้อนเดียวกันผมอยากให้ธุรกิจของไทยโมบายนั้นเดินหน้าต่อไปได้ ดีกว่าปล่อยให้เป็นแบบนี้”

นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังได้พาทีมผู้บริหารระดับสูงของทีโอทีเข้าหารือกับสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส และนายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ในการชักชวนเข้ามาเป็นพันธมิตรจากแผนธุรกิจของไทยโมบาย 1900 ที่วางตัวให้เป็นผู้ให้บริการโครงข่าย (Network Provider) ในการบริการโทรศัพท์มือถือยุคที่ 3 หรือ 3G

“ผลการเจรจา ทั้งคุณสมประสงค์ และคุณซิคเว่นั้นให้ความสนใจพร้อมที่ยินดีจะเข้ามาร่วม และแปลกใจต่อการเปลี่ยนแปลงของ ทีโอที ครั้งนี้ที่ผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้มาเจรจาด้วยตนเองพร้อมคณะซึ่งผมได้ใช้กลยุทธ์การบริหารแบบทหาร ในแบบเชิงรุกและหาพันธมิตร เข้ามาเป็นแนวทางเจรจา”

พล.อ.ท.สมชาย กล่าวว่า การเจรจากับผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย ทีโอที ต้องการให้ไทยโมบาย ดำเนินการในลักษณะผู้ให้บริการด้านโครงข่ายโดยจะให้บริการโรมมิ่งในคลื่นความถี่ 3Gซึ่ง ทีโอที ก็จะมีรายได้จากค่าใช้บริการโรมมิ่งรวมทั้งค่าเชื่อมโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเน็กชั่น ชาร์จ โดยผู้ให้บริการทั้ง 2 รายสามารถใช้บริการโรมมิ่งโดยไม่ต้องรอการจัดสรรใหม่จากกทช.และไม่ต้องลงทุนโครงข่ายด้วยตนเอง เพราะจะต้องใช้เงินการลงทุนไม่น้อยกว่าหมื่นล้าน

นอกจากประโยชน์จากรายได้ค่าโรมมิ่ง ค่าเชื่อมโครงข่ายแล้ว ขณะเดียวกันธุรกิจไทยโมบาย มีจำนวนผู้ใช้บริการเพียงระดับกว่าแสนรายหากมีการพัฒนาระบบไปเป็น 3G ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบมัลติมีเดียสมบูรณ์แบบที่เหมาะเฉพาะกับลูกค้าแค่บางกลุ่มไม่ใช่ลูกค้าทั่วไป เพื่อให้บริการเฉพาะกลุ่มลูกค้าไทยโมบายแค่นั้น อาจจะเป็นการลงทุนไม่คุ้มค่า แต่หากได้ทั้ง 2 โอเปอเรเตอร์มาเป็นพันธมิตร ก็มีโอกาสที่ลูกค้าจำนวนหนึ่งจากฐานลูกค้าเกือบ 30 ล้านราย จะมาใช้บริการจากโครงข่าย 3G เพราะเครื่องลูกข่ายปัจจุบันรองรับทั้งระบบ 2G และ 3G รวมทั้งเพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกันอันเป็นการเปลืองทรัพยากรและต้องเสียเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก

สำหรับเรื่องสิทธิคลื่นความถี่ พล.อ.ท. สมชาย กล่าวว่า ขณะนี้ ทีโอที ได้ทำหนังสือแจ้งไปให้กระทรวงไอซีทีและกระทรวงการคลังรับรองสิทธิการเป็นเจ้าของคลื่นเพื่อให้เกิดความชัดเจนและถูกต้องตามกฎหมายหลังจากที่ได้สอบถามไปทาง กทช.ถึงสิทธิบริหารคลื่นความถี่จากการที่ กสท โอนกลับคืนมาให้นั้น ทีโอทีมีสิทธิ์จะบริหารคลื่นดังกล่าวต่อไปเลยหรือว่าต้องให้กทช.เป็นคนจัดสรรคลื่นใหม่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ผิดพรบ.การจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่ง กทช.ได้ชี้แจงมาแล้วว่าทีโอทีมีสิทธิบริหารคลื่นดังกล่าวต่อไปได้แต่ต้องให้ทั้ง 2 กระทรวงคือกระทรวงไอซีทีในฐานะผู้กำกับดูแลและกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ยืนยันให้ชัดเจน หากทุกอย่างสามารถหาข้อสรุปได้ ไม่เกินภายในปีนี้ หรือไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 ทีโอที จะเริ่มดำเนินการปรับระบบให้บริการ ในรูปแบบ 3G ทันที โดยจะเริ่มในกทม. และปริมณฑลก่อน เนื่องจากก่อนหน้านี้ บอร์ดได้มีอนุมัติการจัดซื้ออุปกรณ์ 3G จำนวน 1,400 ล้านบาทและได้นำเข้ามาแล้วส่วนหนึ่งก่อนที่จะเข้าลงทุนขยายโครงข่ายส่วนต่างจังหวัดต่อไป

“ในปีหน้าไทยโมบาย ก็จะเปลี่ยนเป็น 3G ได้แน่นอนหากการเจรจาทุกอย่างลงตัวไม่มีปัญหา โดยในเขต กทม.และปริมณฑล จะเริ่มก่อนขยายไปจังหวัดหัวเมืองใหญ่แหล่งท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ โคราช ขอนแก่น อุบลราชธานี ชลบุรี ซึ่งจะดำเนินงานเป็นเฟส เหมือนกับโครงการซีดีเอ็มเอ ของ กสท”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.