|
"แบงก์กรุงไทย"ดิ้นหลุดจากกรอบ ปรับทิศเข็นรายได้บริการภาคเอกชน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"แบงก์กรุงไทย"ประกาศตัวเอาดีด้านบริการ"payment"ที่ถือเป็นความชำนาญไปแล้วเมื่อเทียบกับค่ายอื่น ด้วยฐานลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่โดยเฉพาะของภาครัฐที่ต่อระบบเชื่อมงานบริการในส่วนนี้ วางแผนอนาคตขยายฐานสู่ภาคเอกชน หวังเพิ่มค่าธรรมเนียม สร้างรายได้ให้แบงก์
"กรุงไทย" เป็นแบงก์รัฐที่ถูกวางตัวให้เข้ามาดูแลธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องกับการชำระค่าบริการผ่านแบงก์ด้วยการเชื่อมระบบดังกล่าวเข้ากับหน่วยงานรัฐที่มีความพร้อมจะเปิดบริการ "ชำระค่าบริการผ่านแบงก์" อันจะนำมาซึ่งความสะดวกสบายและรวดเร็วในกับประชาชนที่มาติดต่อทำธุรกรรมการเงินกับภาครัฐที่ไม่ใช่ธนาคาร
ฐานลูกค้าแบงก์กรุงไทยส่วนใหญ่เป็นองค์กรของภาครัฐ ด้วยความที่ กรุงไทยเป็นธนาคารรัฐด้วยเช่นกัน จึงต้องรองรับนโยบายตามที่รัฐประสงค์ ดังนั้นเรื่องส่วนแบ่งจากองค์กรรัฐอันนำมาซึ่งรายได้ธนาคารจึงอยู่ในอัตราที่ต่ำ หรือบางงานก็ไม่ได้ส่วนแบ่ง กระนั้นก็ตามเนื่องจากธุรกรรมดังกล่าวเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั่วไป ทำให้ธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้บริการจากประชาชน
อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เนื่องจากเป็นการสนองและรองรับนโยบายรัฐในฐานะที่องค์กรดังกล่าวก็มีสถานะเดียวกับกรุงไทย คือเป็นหน่วยงานรัฐ ทำให้การทำงานต้องเป็นไปอย่างเกื้อกูลและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ก่อนหน้านี้แบงก์กรุงไทยได้ให้บริการชำระค่าบริการในรูปแบบต่าง ๆ เช่น บริการรับชำระภาษีกับกรมศุลกากรผ่านทางระบบอิเล็คทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก ซึ่งไม่นานก็ได้พัฒนาระบบมาเป็นแบบ E-Paperless โดยสามารถเปิดรับชำระภาษีศุลกากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง
"และล่าสุดเราได้ลงนามบันทึกข้อตกลง การรับชำระค่าใช้จ่ายในการขอรับบริการของกรมที่ดินผ่านระบบกรุงไทยอีกด้วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรามีระบบเทคโนโลยีที่พร้อมและมีความชำนาญในด้านนี้เป็นอย่างดี"
อภิศักดิ์ บอกว่าการร่วมมือกับกรมที่ดินครั้งนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ประชาชน และลดการเสียเวลาเดินทางไปกรมที่ดินเพื่อใช้บริการด้านต่าง ๆ เช่นจ่ายค่าธรรมเนียม หรือนัดจดทะเบียนล่วงหน้า ซึ่งในแต่ละครั้งที่ไปจะต้องเสียเวลาและอย่างน้อยประชาชนก็ต้องไปกรมที่ดินถึง 2 ครั้งกว่าเรื่องจะดำเนินการเสร็จ ดังนั้นกรุงไทยจึงร่วมกับกรมที่ดินในการรับชำระค่าบริการในการทำรายการ 4 ประเภท คือ บริการนัดจดทะเบียนล่วงหน้า บริการตรวจสอบเอกสารสิทธิ บริการขอราบราคาประเมิน และบริการตรวจสอบค่าธรรมเนียม
"เมื่อประชาชนมาใช้บริการดังกล่าวด้วยการตรวจข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการจากธนาคารก็จะเสียค่าธรรมเนียมบริการตกประมาณครั้งละ 10 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับเดินทางไปที่กรมที่ดินเองนอกจากเสียค่ารถแล้วยังเสียเวลาที่สำคัญในบางรายต้องไปเพื่อทำการนัดจดทะเบียนล่วงหน้าทำให้ต้องเดินทางไปกรมที่ดิน 2ครั้ง ดังนั้นเมื่อเราให้บริการดังกล่าวเชื่อว่าประชาชนจะประหยัดเวลาได้มากขึ้น"
อภิศักดิ์ บอกอีกว่า ยังไม่ได้คาดหมายว่าบริการดังกล่าวจะมีจำนวนผู้ใช้มากน้อยแค่ไหน แต่อยากให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน และในอนาคตก็วางแผนไว้ว่าจะเพิ่มชำระค่าบริการผ่านแบงก์กับหน่วยงานเอกชนด้วย เพราะเชื่อในศักยภาพระบบของธนาคาร ซึ่งต่อไปจะทำให้แบงก์มีรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมนี้มากขึ้น
สำหรับผู้ที่ต้องการใช้บริการ เพียงแจ้งความประสงค์การใช้บริการ 4 ประเภทผ่านทางเว็บไซต์กรมที่ดิน www.dol.go.th หลังทำรายการเสร็จ ซึ่งผู้ใช้บริการจะได้รับใบแจ้งชำระเงินค่าบริการเพื่อนำไปชำระผ่านช่องทางของธนาคารที่ต้องการ จากนั้นนำหลักฐานการชำระเงินไปแสดงที่สำนักงานที่ดินเพื่อรับบริการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้บริการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่มกราคม 2550 เป็นต้นไป
แม้การทำหน้าที่คนกลางอย่างการชำระบริการผ่านแบงก์ในตอนนี้จะยังทำรายได้ให้กรุงไทยไม่มากก็ตาม เนื่องจากงานส่วนใหญ่เป็นการทำให้ฟรีหรือคิดผลประโยชน์ที่ต่ำ เพราะถือเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และพร้อมที่จะขยายบริการให้มากกว่านี้
กระนั้นก็ตามเป้าหมายของกรุงไทยไม่ได้หยุดที่การให้บริการเฉพาะองค์กรรัฐ กรุงไทยฝันว่าสักวันจะเข้าไปให้บริการกับหน่วยงานเอกชน ซึ่งนั่นหมายถึงรายและค่าธรรมเนียมที่จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหน่วยงานร่วมสถาบันเดียวกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|