เทมาเส็กเจ๊งหุ้นชิน มูลค่าวูบ 1.3 แสนล้าน


ผู้จัดการรายวัน(9 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เทมาเส็ก เจ๊งไม่เลิกหลังเข้ามาถือหุ้นใหญ่ "ชินคอร์ป" เจอสารพัดปัญหากระหน่ำทั้งหุ้นแม่และลูก ล่าสุดมหกรรมไล่เช็คบิล "พ.ต.ท.ทักษิณ" กดราคาหุ้นร่วงต่อ ทำให้รวม 9 เดือน มาร์เกตแคปกลุ่มชินคอร์ป สูญไปแล้วเกือบ 1.3 แสนล้านบาท และเทมาเส็กขาดทุนจากราคาหุ้นที่ลดลงแล้ว 6 หมื่นล้านบาท โดย "ITV" หนักสุด ราคารูด 80% ขณะที่หุ้นแม่ "SHIN" ร่วงไป 40% ด้านโบรกเกอร์ แนะหลีกเลี่ยงการลงทุน เหตุประเมินความเสี่ยงยาก บวกกับราคาหุ้นมีสิทธิรูดต่อ

การปรากฏชื่อ "เทมาเส็ก" กองทุนซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยรัฐบาลสิงค์โปร์ รวมถึง บริษัท ชีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนไทยค่อนข้างมากถึงการเข้ามารุกคืบสัมปทานภาคธุรกิจสำคัญของประเทศ การทุ่มเงินกว่า 7.3 หมื่นล้านบาท ในการเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN จากกลุ่มตระกูลชินวัตร

โดยการเข้ามาลงทุนครั้งนี้ เทมาเส็กได้ซื้อหุ้นจาก น.ส. พินทองทา ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ นายพานทองแท้ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนางบุษบา ดามาพงศ์ จำนวน 1,487,740,120 ล้านหุ้น คิดเป็น 49.595% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท ก่อนที่จะทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั่วไป (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ทำให้เทมาเส็กต้องใช้เงินรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท ในการเข้าถือหุ้นชินคอร์ปถึง 96.29% หรือ3,076,762,064 หุ้น

หลังจากเทมาเส็กเข้ามาถือหุ้น SHIN ทำให้เทมาเส็กกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทในเครือรวม 4 แห่ง คือ บ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC สัดส่วน 42.80% บ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL 42.80% บ.ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV 52.93% และบ.ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL 41.34%

ชินคอร์ปมาร์เกตแคปหาย 1.2 แสนล.

ผู้จัดการรายวัน ได้สำรวจและเปรียบเทียบราคาหุ้นและมูลค่าราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ของหุ้นในกลุ่มชินคอร์ป ณ วันที่ 23 มกราคม 2549 (วันที่มีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปให้กลุ่มเทมาเส็ก) กับวันล่าสุด (6 ต.ค. 49) ปรากฏว่าราคาหุ้นและมาร์เกตแคปได้ปรับตัวลดลงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง และปัจจัยลบต่างๆ ที่จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มชินคอร์ป

โดย ณ 23 ม.ค. 49 SHIN ราคาปิดที่ 48.25 บาท มาร์เกตแคป 144,741.96 ล้านบาท ADVANC ราคาปิด 104 บาท มาร์เกตแคป 306,917.66 ล้านบาท SATTEL ปิดที่ 15.50 บาท มาร์เกตแคป 16,906.75 ล้านบาท ITV ปิดที่ 11.90 บาท มาร์เกตแคป 14,355.94 ล้านบาท และหุ้น CSL ปิดที่ 4.04 บาท มาร์เกตแคป 2,525 ล้านบาท

ขณะที่ 6 ต.ค. 49 SHIN ราคาปิดที่ 29 บาท มาร์เกตแคป 92,673.57 ล้านบาท ADVANC ราคาปิด 85.50 บาท มาร์เกตแคป 252,482.42 ล้านบาท SATTEL ปิดที่ 7.05 บาท มาร์เกตแคป 7,692.04 ล้านบาท ITV ปิดที่ 2.76 บาท มาร์เกตแคป 3,330.48 ล้านบาท และหุ้น CSL ปิดที่ 3.60 บาท มาร์เกตแคป 2,250 ล้านบาท

เทมาเส็กขาดทุนแล้ว 6 หมื่นล้าน

จากการเปรียบเทียบ พบว่า SHIN มีราคาลดลง 19.25 บาท หรือ 39.90% มาร์เกตแคปลดลง 52,068.39 ล้านบาท หรือ 35.97% ADVANC ราคาลดลง 18.50 บาท หรือ 17.79% มาร์เกตแคปลดลง 54,435.24 ล้านบาท หรือ 17.73% SATTEL ราคาลดลง 8.45 บาท หรือ 54.52% มาร์เกตแคปลดลง 9,214.71 ล้านบาท หรือ 54.50% ITV ราคาลดลง 9.14 บาท หรือ 76.81% มาร์เกตแคปลดลง 11,025.46 ล้านบาท หรือ 76.80% และ CSL ราคาลดลง 0.44 บาท หรือ 10.89% มาร์เกตแคปลด 275 ล้านบาท หรือ 10.89% เมื่อรวมระยะเวลาเกือบ 9 เดือนมูลค่ามาร์เกตแคปกลุ่มชินคอร์ปลดลง127,018.80 ล้านบาท หรือ 26.16%

หากพิจารณาความสูญเสียของกลุ่มเทมาเส็กจากการเข้ามาซื้อหุ้น SHIN จำนวน 3,076,762,064 หุ้น ราคาหุ้นละ 49.25 บาท กับราคาหุ้น ณ วันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เทมาเสกขาดทุนจากการลงทุนรวม 59,227,669,732 บาท หรือเกือบ 6 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวจากนักวิเคราะห์ กล่าวถึงสาเหตุที่ราคาหุ้นกลุ่มชินคอร์ปปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเกิดจากสารพัดปัจจัยลบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฟ้องร้องให้มีการยึดใบอนุญาตประกอบธุรกิจ เนื่องจากผิดกฎหมายในเรื่องการถือครองของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งทางการได้เข้าตรวจสอบลักษณะการเข้ามาถือหุ้นว่าอาจจะบ่งชี้ได้ว่าเป็นการถือหุ้นแทน (นอมินี) ของนายพงส์ สารสินและนายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ที่ล่าสุดศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับฟ้องคดีดังกล่าว หลังจากที่ศาลปกครองพิจารณาไม่รับคำฟ้องไปก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน ยังมีการรวมตัวของกลุ่มผู้ต่อต้านทุนจากต่างประเทศด้วยการบอยคอตสินค้าและบริการในเครือเอไอเอส (AIS) รวมทั้งสงครามตัดราคาค่าบริการโทรศัพท์มือถือที่ทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ADVANC ผู้ให้บริการในเครือข่าย AIS โดยตรง

ส่วนไอทีวีเอง นอกจากจะได้รับผลลบจากการเข้ามาถือหุ้นของเทมาเส็กในสัดส่วนการถือครองหุ้นอาจจะเข้าข่ายสูงเกินกว่าที่กำหนดในกฎหมายเรื่องการถือครองหุ้นในธุรกิจบางประเภทของนักลงทุนต่างชาติแล้ว ยังเจอมรสุมใหญ่คือการที่ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำให้ไอทีวีต้องกลับไปปฏิบัติตามสัมปทานเดิม และต้องจ่ายเงินค่าชดเชยรวมค่าปรับกว่า 7.5 หมื่นล้านบาทอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนที่กลุ่มเทมาเส็กได้รับจากการลงทุนในหุ้น SHIN ที่เห็นไปรูปธรรมชัดเจน คือ เงินปันผลจาก SHIN ในอัตราหุ้นละ 1.35 บาท รวมเป็นเงินกว่า 4.4 พันล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารเทมาเส็กก่อนหน้านี้ ว่า การลงทุนครั้งนี้เป็นการลงทุนในระยะยาว เพื่อขยายเครือข่ายธุรกิจในประเทศไทย และรับเงินปันผลจากการลงทุน แม้ว่าราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปรับตัวลดลงก็ตาม

โบรกเกอร์แนะเลี่ยงกลุ่มชินคอร์ป

บทวิเคราะห์บล.กรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า การพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดเรื่องเพิกถอนสัมปทานกลุ่มชินคอร์ปอาจจะยืดเยื้อ ซึ่งหากผลการพิจารณาในขั้นต่อไปสรุปว่าหน่วยงานรัฐมีความผิด เท่ากับเป็นการตีความทางอ้อมว่ากุหลาบแก้วเป็นนอมินีของต่างชาติด้วย ดังนั้นนักลงทุนต้องพิจารณาการลงทุนหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปอย่างรอบคอบ เพราะราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวลดลงได้อีก

ทั้งนี้ หากศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดว่า สัดส่วนการถือหุ้นของนิติบุคคลต่างด้าวขัดต่อหลักเกณฑ์และอาจจะนำไปสู่การเพิกถอนสัมปทาน แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการยกเลิกสัญญาสัมปทานปัจจุบันของ ADVANC และ SATTEL เนื่องจากในสัญญาสัมปทานของผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของนิติบุคคลต่างด้าวที่จะอาจจะนำไปสู่การเพิกถอนสัมปทาน

อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจจะมีความเสี่ยงในแง่สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติเกิน 49% เช่น กรณี ADVANC และ SHIN หากกุหลาบแก้วถูกตีความเป็นนอมินี อาจจะต้องนำไปสู่การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้ใบอนุญาตใหม่ๆ เช่น 3G ที่สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติต้องไม่เกิน 49% ตาม พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยมีคำแนะนำซื้อหุ้น ADVANC และเก็งกำไร SHIN จากราคาตลาดที่ยัง Discount จากมูลค่าพื้นฐานที่ 37.57 บาท

ขณะที่ SATTEL คาดว่าจะเป็นหุ้นที่ปลอดภัยที่สุด แม้ว่ากุหลาบแก้วจะถูกตีความเป็นนอมินี ก็ไม่ทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติเกิน 49% (ปัจจุบันต่างชาติถืออยู่ 3%) ดังนั้นจึงแนะนำซื้อ มูลค่าพื้นฐาน 15 บาท

ส่วน ITV จะมีความเสี่ยงสูงที่สุด เพราะสัญญาสัมปทานระบุไว้ชัดเจนห้ามนิติบุคคลที่เป็นคนต่างด้าวถือหุ้นเกิน 25% ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเพิกถอนสัญญาสัมปทานในที่สุด ดังนั้นจึงแนะนำให้ขาย แม้ราคาปัจจุบันจะต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่ประเมินไว้หุ้นละ 4.40 บาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.