เข้าร้าน 7-11 ไม่ต้องพกเงินสด

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คนไทยจะมีทางเลือกใหม่ ในการจับจ่ายใช้สอยด้วยการพกบัตรแทนเงินสด หรือSmart Card แทนการพกเงินสด เป็นอีกมิติหนึ่งของการปรับตัวให้ทันกับความกาวหน้าของเทคโนโลยี ที่นับเป็นหัวใจสำคัญของร้านสะดวกซื้อแห่งนี้

การมีสาขาจำนวนมากๆ ที่กำลังจะไปถึง 3,000 สาขาในปีหน้า แม้จะทำให้ เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือ การรับเฉพาะเงินสดกับลูกค้าเป็นภาระที่หนักหนาเอาการ ไหนจะปัญหาโจรกรรม จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นโครงการไทยสมาร์ท การ์ด ที่มีบริษัทซี.พี.เซเว่น อีเลฟเว่น เป็นโต้โผใหญ่ ร่วมกับพันธมิตรอีก 8 รายในแวดวงการเงิน และไอที

ความคาดหวังของพวกเขา คือ การนำบัตรเงินสด หรือ digital purse ที่ฝังชิปไว้ข้างในบัตร มาทดแทนเงินสดย่อย ไม่ได้จำกัดเฉพาะในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีอยู่ 2002 สาขาเท่านั้น แต่รวมไปถึงซื้อสินค้าในร้านค้าอื่นๆ จ่ายค่าจอดรถ ค่าผ่านทาง หรือบนรถไฟฟ้า

แม้ว่าสำนักงานอันเป็นที่ตั้งของ Thai Smart Card บนอาคารซี.พี.ทาวเวอร์ ยังเป็นเพียงห้องสี่เหลี่ยมขนาดย่อม ปราศจากระบบไอที แต่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าสถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์กลางของ transaction และเมื่อถึงเวลานั้น บัตรแทน เงินสดใบแรกจะเริ่มให้บริการ

ในฐานะของประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติงาน บริษัทไทยสมาร์ทการ์ด นฤมล วังศธรธนคุณ จัดเป็นกำลังสำคัญอีกคนที่ต้องผลักดัน Cash Card ให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกชนิดของการ์ด และแอพพลิเคชั่นที่เหมาะสมกับการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม ภาระของเธอในเวลานี้คือ การลงทุนสร้างเครือข่ายหลัก เริ่มตั้งแต่ การวางระบบงานหลังบ้าน ที่ต้องเป็นคอมพิวเตอร์เมนเฟรมขนาดใหญ่ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด เพื่อรองรับกับทรานแซกชั่นการใช้บัตรสมาร์ทการ์ด ที่มีขึ้นตลอด เวลา

ระบบหลังบ้านเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของบริษัท Network for Electronic Transfer Pte.Ltd (NETS) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไทยสมาร์ทการ์ดจะอาศัยประสบการณ์ของบริษัท NETS ที่ให้บริการทั้งในสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเกาหลี เป็นผู้ติดตั้งร่วมกับผู้รับเหมาระบบ ไอทีของไทย เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม รวมเวลา 7 เดือนเต็ม

"1 ปีแรกเราจะทำตามที่บริษัทเน็ท เทคโนโลยี กำหนดทุกอย่าง แต่หลังจากนั้น จะต้องทำ Localize ให้สอดคล้องกับความต้องการท้องถิ่น" นฤมลบอก ส่วนการวางเครือข่ายเพื่อเชื่อมต่อระหว่างร้านค้าที่เข้าร่วมในโครงการเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทไทยสมาร์ท การ์ด เป็นภารกิจอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะตกเป็น หน้าที่ของบริษัทเทเลคอมเอเซีย หรือทีเอ

นฤมลเชื่อว่า จุดสำเร็จของโครงการ นี้จะต้องประกอบด้วย 2 ส่วน คือ จุดเติมเงินใส่บัตร และจุดใช้บัตรที่ต้องมีมากพอ

ตามเป้าหมายที่วางไว้ เครื่องอ่านบัตร จำนวน 15,000 เครื่อง จะถูกติดตั้งตามร้านค้า สถานีรถไฟฟ้า ในขณะที่เครื่อง เติมเงิน 3,000 เครื่องจะติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งเครื่องเอทีเอ็ม ตู้โทรศัพท์สาธารณะ จะเพิ่มเติมคุณสมบัติให้เป็นเครื่องเติมเงินสด และเป็นจุดใช้บัตรได้ด้วย

"นอกจากร้านค้าที่ต้องติดตั้งเครื่องอ่านบัตรแล้ว ธนาคารจำเป็นต้อง upgrade เอทีเอ็มรองรับระบบ digital purse" นฤมลบอก

การทำงานของระบบจะเริ่มขึ้นเมื่อ ลูกค้านำบัตร digital purse มาใช้งานแทนเงินสด ข้อมูลจะถูกเก็บอยู่ในเครื่องอ่านบัตร ที่เป็นอุปกรณ์ที่ร้านค้าต้องติดตั้ง จนถึงช่วงค่ำทรานแซกชั่นจะถูกส่งมาที่ศูนย์แม่ข่ายกลางของบริษัทไทยสมาร์ท การ์ด เพื่อทำการเคลียริ่งในวันรุ่งขึ้น จากนั้นเงินจะถูกเข้าบัญชีธนาคารในช่วงสายวันเดียวกัน

"นี่คือข้อดีของ digital purse ตัวอ่านที่ติดตั้ง เก็บข้อมูลทรานแซกชั่นได้ ทำให้ร้านค้าไม่ต้องเสีย 3 บาท ทุกครั้งที่มีทรานแซกชั่น แต่จะรอจนกว่าข้อมูลถึงกำหนด หรือช่วงเวลาหนึ่ง จึงมีทรานแซก ชั่นเข้ามา" นฤมลเชื่อว่านี่คือจุดสำคัญที่ทำให้ร้านค้าให้ความสนใจ

บ่อยครั้งที่เธอต้องพบปะกับนักพัฒนาคนไทย เพื่อเลือกเฟ้นแอพพลิเคชั่น ที่พัฒนาจากฝีมือคนไทย นำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่สำหรับเธอ ยังอยู่ที่การเลือกประเภทของบัตร ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท คือ การ์ดแบบเสียบเข้าเครื่อง การ์ดแบบสัมผัส และการ์ดที่ผสมทั้ง 2 ระบบดังกล่าว

"ที่ยากคือจะเลือกระบบไหนให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด ถูกใจ และเหมาะกับผู้บริโภคได้มากที่สุด" นฤมลบอก "สิ่งที่ต้องทำ คือ การ com- bination ที่เราต้องทำงานร่วมกับฝ่ายการตลาด"

นฤมล Chief Operation Officer จบจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นบินลัดฟ้าไปคว้าปริญญาโทด้านวิศวกรรม ที่ University of Wisconsin สหรัฐอเมริกา แทนที่จะเรียนต่อปริญญาเอก เธอกลับเลือกเรียนต่อระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ ด้วยความชอบส่วนตัว ทำให้เธอกลายเป็นผู้มีความรู้ด้าน data communication เป็นโอกาสให้เธอเข้าทำงานในบริษัทลูกที่ทำทางด้าน network ของบริษัทแมค โดนัล ดักลาส

ทำได้ 5-6 ปี ย้ายไปทำงานที่บริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด จนกระทั่งเอชพี มีนโยบายขยายธุรกิจในไทย เธอเป็นหนึ่งในทีมงานที่ร่วมสร้างฝ่ายวิศวกรรม ให้กับบริษัทเอชพี ประเทศไทย ร่วมกับทีมงานในเอเชียแปซิฟิก 2 คน จากนั้นเปลี่ยนงาน มาอยู่ที่หลักทรัพย์นิธิภัทร ระหว่างนั้นเอง ก็ได้รับการทาบทามจากซี.พี. เซเว่น อีเลฟ เว่น ให้มาช่วยดูระบบไอที ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเปลี่ยนแปลงระบบไอที

"เวลานั้น เซเว่น-อีเลฟเว่น กำลังเปลี่ยนระบบตั้งแต่ระบบ network ระบบหลังร้าน หน้าร้าน ก็เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษา ให้ ยังไม่ได้ลาออก"

จนกระทั่งการรวมกิจการของนิธิภัทรกับบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้าเสร็จสิ้นลงเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว เธอจึงตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับซี.พี.เซเว่น อีเลฟเว่น มาเริ่มโครงการไทยสมาร์ทการ์ด

การคุ้นเคยกับเซเว่น อีเลฟเว่น ในฐานะของที่ปรึกษาปรับปรุงระบบไอที มาตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว ทำให้การเริ่มต้นในไทยสมาร์ทการ์ดไม่ใช่สิ่งที่ต้องเริ่มต้นใหม่ของนฤมลเสียทีเดียว

ความหวังของเธอคือ การทำให้ Smart Card เป็นทางเลือกใหม่ เป็นบัตรใบที่สองนอกเหนือจากบัตรประชาชน ที่จะรวมเอาบัตรเครดิต และเดบิต มารวมอยู่ในบัตร Smart Card ใบนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.