เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ธนาคารใหญ่ๆ จะต้องมีการแถลงข่าวร่วมกับการจัดเลี้ยงปีใหม่ให้กับสื่อมวลชน
เป็นการส่งท้ายปี ซึ่งปีนี้ธนาคารกสิกรไทย ก็ยังคงปฏิบัติและได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นจำนวนมากเช่นเคย
ต่างกันตรงที่ในปีนี้ การแถลงข่าวจัดขึ้นในวันเดียว กับที่ธนาคารกสิกรไทยเพิ่งจะเปลี่ยนรูปปั้น
ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ ด้านหน้าทางขึ้นอาคารสำนักงานใหญ่ใหม่ จากรูปราชสีห์หมอบ
มาเป็นรูปปั้นช้างคู่
บัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ถือเป็นนายธนาคารที่ได้รับความนิยมชมชอบ
จากนักข่าวสายการเงินมากที่สุดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ถอดแบบมาจากบัญชาผู้เป็นพ่อ
แม้บุคลิกของบัณฑูรจะดูเคร่งขรึม แต่ก็มีมุข หรือคำพูดเด็ดๆ ที่สามารถสร้างความฮือฮา
ให้นักข่าวสามารถนำไปใช้ในการพาดหัวข่าวในวันรุ่งขึ้นได้บ่อยครั้ง
ในงานแถลงข่าวคราวนี้ก็เช่นกัน บัณฑูรก้าวขึ้นบนเวทีด้วยท่าทีที่มาดมั่น
และสามารถดึงความสนใจของนักข่าว ด้วยลีลา การพูดในเรื่องหนัก ให้เป็นเรื่องเบา
โดยมีมุขขำขันเข้ามาแทรก
เรื่อง "เดรัจฉาน" เป็นหัวข้อที่ถูกตั้งขึ้น แทนที่จะเป็นเรื่อง เศรษฐกิจ
รูปปั้นช้างคู่ที่เพิ่งนำมาติดตั้ง ถูกกล่าวถึงเพื่อเป็นการนำเรื่องเข้าสู่หัวใจสำคัญ
ช้างคู่นี้ เป็นรูปปั้นดินเหนียว ขนาดความสูง 1.8 เมตร กว้าง 1.13 เมตร
ยาว 2.33 เมตร น้ำหนักรูปละ 1 ตัน
ศิลปินผู้ปั้น ได้แก่ อนุรักษ์ วัฒนากลาง ซึ่งก็มีชื่อเล่นว่าช้าง เป็นศิลปินอิสระที่เคยได้รับรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดศิลปกรรมเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ ครั้งที่
9 เมื่อปี 2541 ในผลงาน "ช้างไทยไชโย"
"ช้างคู่นี้ เป็นตัวผู้ รูปหนึ่งชื่อพลายปัญญา ส่วนอีกรูปหนึ่ง ชื่อพลายบารมี"
บัณฑูรเปรียบเทียบให้เห็นว่าในการบริหาร องค์กรใหญ่ๆ อย่างเช่นธนาคารกสิกรไทย
จำเป็นต้องใช้ทั้งปัญญา และบารมี และเปรียบเสมือนกับการสอนช้างให้เต้นรำ
ซึ่งไปพ้องกับชื่อหนังสือของอดีตประธานบริษัทไอบีเอ็ม ชื่อ Making Elephants
Dance ที่เพิ่งวางตลาด
นอกจากเรื่องของเดรัจฉานแล้ว หัวข้อต่างๆ ที่บัณฑูร ตั้งขึ้นมายังสามารถเรียกเสียงฮือฮาให้กับนักข่าวที่เข้ามาร่วมฟัง
อาทิ วาทะกระเซ้าบทบาทของนายกรัฐมนตรี ที่ว่าไม่ต้องการให้เมื่อเขาพูดแล้วจะทำให้มีคนหูฉีก
หรือมีชื่อเขาไปปรากฏอยู่ในรายการวิทยุช่วงเช้าวันเสาร์ เมื่อเขากล่าววิจารณ์ถึงเรื่องนโยบาย
ดอกเบี้ย และความพยายามที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ เข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น
"ที่ผ่านมา ธนาคารมีต้นทุนที่เป็นภาระทางสังคมมาก"
แต่โดยรวมแล้ว สิ่งที่บัณฑูรพูดในคราวนี้ ส่งสัญญาณในด้านดีต่อธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย
ในปี 2546
แม้จะมีบางประเด็นที่เขาพยายามจะสร้างกระแสใหม่ให้เกิดขึ้น เช่นสิ่งที่เขากำลังจะจัดการกับการคอร์รัปชั่น
ในบทบาท ผู้จัดการ มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งนักข่าวสายเศรษฐกิจ จับประเด็นไม่ทัน