"Made by Global Honda" หรือแนวคิด "ผลิตโดยฮอนด้า คุณภาพเดียวกันทั่วโลก"
ถือเป็นนโยบายหลักที่ฮอนด้าจะนำมาใช้ในปี 2546 ซึ่งเป็นปีที่นโยบายเขตการค้าเสรีอาเซียน
(AFTA) ได้เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการปีแรก
แนวคิดดังกล่าว ได้ถูกชูขึ้นมาในงานแถลงข่าว "Honda's Year-End Press
Briefing" ซึ่งเป็นการแถลงข่าวส่งท้ายปี 2545 ของบริษัทเอเชี่ยนฮอนด้า
มอเตอร์ สำนักงานใหญ่ของฮอนด้า ประจำภูมิภาคอาเซียน ที่ถูกจัดขึ้นเมื่อปลายปีก่อน
จุดเด่นของงานนี้ นอกจากจะพูดถึงสิ่งที่ฮอนด้าได้ดำเนิน การมาตลอดปี 2545
แล้ว ยังได้ย้ำถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับฮอนด้าต่อไปในปีนี้ โดยเฉพาะด้านการผลิต
ซึ่งฮอนด้าให้ความสำคัญกับฐานการผลิตในทวีปเอเชีย และย่านอาเซียนเป็นพิเศษ
"ในปีนี้ ฐานการผลิตของฮอนด้าในเอเชีย และอาเซียนจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้อย่างจริงจัง
เพื่อสนับสนุนนโยบาย Made by Global Honda ที่ทำให้การจัดส่งชิ้นส่วนเพื่อป้อนสายการผลิต
ต่างๆ มีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น" ซาโตชิ โตชิดะ ประธานกรรมการบริหาร
และ CEO เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ กล่าว
ฐานการผลิตที่ว่า ประกอบด้วยโรงงานประกอบรถยนต์ในจีน ไต้หวัน ไทย มาเลเซีย
อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ในจีน อินเดีย และไทย
และโรงงานผลิตเครื่องยนต์อเนกประสงค์ในไทย อินโด- นีเซีย และฟิลิปปินส์
ในปีนี้ ฮอนด้ามีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ในอินเดีย จีนและไทย
เพื่อเพิ่มสัดส่วนการส่งออกรถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วน
โดยในไทย กำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ของโรงงานไทย ฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จะเพิ่มจาก
1 ล้านคัน ขึ้นเป็น 1.4 ล้านคัน และจะหยุดการผลิตรถจักรยานยนต์ 2 จังหวะลงโดยสิ้นเชิง
ทางด้านรถยนต์ ซึ่งฮอนด้าตั้งเป้ายอดขายทั่วโลกไว้ถึง 3.15 ล้านคันนั้น
โรงงานประกอบรถยนต์ใหม่ 3 แห่งจะเริ่มเดินเครื่องได้ในปีนี้ เริ่มจากไต้หวันในเดือนมกราคม
ซึ่งมีกำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี ตามด้วยมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่จะเปิดในเดือนมีนาคม
ส่วนในประเทศไทย โรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จะขยายกำลังการผลิต จาก 1 แสนคันต่อปี ขึ้นเป็น 1.2 แสนคันต่อปี
ขณะที่การผลิตเครื่องยนต์ โรงงานในประเทศไทย จะขยายกำลังการผลิตขึ้นจาก
1 ล้านเครื่อง เป็น 1.2 ล้านเครื่อง ไม่รวมโรงงานใหม่ ในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ที่จะเริ่มการส่งออกไปยังตลาดยุโรป และภูมิภาคอื่น ในไตรมาส 3 ของปีนี้
"การเพิ่มกำลังการผลิตตามฐานการผลิตแต่ละแห่ง ทั้งในไทยและจีน จะทำให้ฮอนด้ากลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนที่มีเครือข่ายการผลิตที่เข้มแข็งที่สุด
ซึ่งจะเห็นภาพชัดเจนได้โดยเฉพาะในอาเซียน"
ปี 2545 ฮอนด้ามีแผนจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์รถจักรยานยนต์ รถยนต์ และครื่องยนต์อเนกประสงค์
จำนวน 17.4 ล้านราย ทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 2.72 ล้านหน่วย หรือเท่ากับร้อยละ
15 เป็นการผลิตจากฐานการผลิตของฮอนด้าในประเทศไทย
มองทางด้านตัวเงิน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ของฮอนด้าในประเทศไทย
จะเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 เท่าตัว คือจากในปี 2545 ที่มียอดส่งออกผลิตภัณฑ์จาก
ประเทศไทยเป็นเงินประมาณ 19,000 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านบาทในปี
2546
สำหรับผลการดำเนินงานของฮอนด้า ทั่วโลกในปี 2545 สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์
ได้เป็นจำนวนรวม 15.2 ล้านหน่วย
เฉพาะในประเทศไทย ยอดจำหน่ายของฮอนด้าเพิ่มสูงขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ โดยเครื่องยนต์อเนกประสงค์
สามารถขายได้ 135,000 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 15% ขณะที่จักรยานยนต์
ที่สามารถขายได้ถึง 1 ล้านคัน เพิ่มจากปีก่อนหน้า 40% ส่วนยอด จำหน่ายรถยนต์
สามารถทำได้ถึง 54,000 คัน เพิ่มขึ้น 39% และที่สำคัญสามารถ ทำลายสถิติยอดขาย
42,387 คัน ที่เคยสูงสุด ในปี 2539 ลงได้อย่างราบคาบ
ตัวเลขเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของฐานการผลิต ในประเทศไทยที่มีพอสมควรเลยทีเดียว
(รายละเอียดดูจากแผนภูมิยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ และบทบาทของฮอนด้าประเทศไทย)