|

ไทยเกรียงกรุ๊ปเล็งเพิ่มทุนจ่ายหนี้พร้อมลุยธุรกิจใหม่หลังขาดทุนสะสมพุ่ง 2.1 พันล.
ผู้จัดการรายวัน(3 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ไทยเกรียงกรุ๊ป ผลงานไตรมาสแรกขาดทุนกว่า 160 ล้านบาท หลังหยุดผลิตปั่นดายและทอผ้าทำให้ต้นทุนพุ่ง บวกกับยอดขายลด-จ่ายเงินชดเชยเลิกจ้างพนักงาน ส่งผลให้ยอดขาดทุนสะสมพุ่งเกิน 2.1 พันล้านบาท ขณะที่ผู้บริหาร เตรียมเพิ่มทุนเพื่อนำไปชำระหนี้ที่ผิดนัดและลุยลงทุนขยายธุรกิจใหม่ ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ เตือนนักลงทุนพิจารณางบอย่างรอบคอบ
นายชวลิต ทองหลิม กรรมการบริษัท ไทยเกรียงกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TDT กล่าวถึง ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2549 ว่า บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 160.95 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.32 บาท เทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 24.87 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 136.08 ล้านบาท โดยมียอดขายสุทธิ 45.57 ล้านบาท เทียบกับปีก่อน 154.93 ล้านบาท เกิดจากการหยุดการผลิตในส่วนของปั่นด้ายและทอผ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ส่งผลให้ต้นทุนขายสูงเป็น 84.10 ล้านบาท และขาดทุนขั้นต้น 38.53 ล้านบาท คิดเป็น 84.55%
ขณะเดียวกัน บริษัทมีค่าใช้จ่ายชดเชยการเลิกจ้างพนักงานจำนวน 690 คน รวม 49.91 ล้านบาท และตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์สำหรับสินค้าสำเร็จรูป 38.80 ล้านบาท ดอกเบี้ยจ่าย 21.98 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อนเนื่องจากเป็นดอกเบี้ยคิดจากอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระ
สำหรับส่วนผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 31 มีนาคม 2549 ติดลบ 535.28 ล้านบาท เนื่องจากส่วนเกินทุนจากการตีราคาที่ดินลดลง 793.33 ล้านบาท หลังจากการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การประกอบธุรกิจจากธุรกิจสิ่งทอเป็นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นบริษัทจึงได้ปรับปรุงโอนกลับที่ดินจำนวน 79 ไร่ 2 งาน 49 ตารางวา และส่วนเกินทุนจากการตีราคาที่ดิน และคงเหลือที่ดินที่ราคาทุนจำนวน 10.39 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ บริษัทได้แจ้งเพิ่มเติมว่า ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินประจำไตรมาส 1/49 เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนอยู่ใน 6 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก ผลขาดทุนจากมูลค่าสินค้าลดลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งบริษัทได้ชี้แจงว่า บริษัทมีสินค้าคงเหลือตามบัญชี 40.16 ล้านบาท หลังจากหักค่าเผื่อมูลค่าสินค้า 152.50 ล้านบาท โดยพิจารณาจากราคาที่ผู้เสนอซื้อภายนอกจำนวน 4 ราย ซึ่งบริษัทคาดว่าจะเป็นมูลค่าที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง
ประเด็นที่ 2 มูลค่าอาคารและอุปกรณ์ ไตรมาส 1/49 บริษัทได้ทำการปรับปรุงย้อนหลังเกี่ยวกับการตัดค่าเสื่อมราคาอาคารและอุปกรณ์ โดยคำนวณจากแต่ละรายการของสินทรัพย์ ณ วันที่ 1 มกราคม 2549 ค่าเสื่อมราคาสะสมตามบัญชีไม่ตรงกับทะเบียนทรัพย์สินจำนวนเงิน 3.95 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทจึงได้ปรับปรุงงบการเงินเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ประเด็นที่ 3 ผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต บริษัทได้บันทึกโอนกลับค่าเผื่อการด้อยค่าของเครื่องจักรและอุปกรณ์จำนวน 24.0 ล้านบาท และบันทึกเป็นรายได้และได้แสดงเป็นรายการแยกต่างหากในงบกำไรขาดทุน ทำให้ค่าเผื่อการด้อยค่าของเครื่องจักรและอุปกรณ์ดังกล่าวคงเหลือ 57.59 ล้านบาท
ประเด็นที่ 4 การโอนความเสี่ยงในตัวสินทรัพย์ที่ขายในระหว่างงวด และไม่สามารถหาต้นทุนของสินทรัพย์ที่ขายได้ ทำให้บริษัทไม่ได้รับรู้รายการกำไรขาดทุนจากการขายทรัพย์สิน โดยตั้งแต่ธันวาคม 2548 บริษัทได้ทยอยขายเครื่องจักรและอุปกรณ์บางส่วนในราคา 82.8 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งไม่สามารถหาต้นทุนสินทรัพย์ได้ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์เก่าที่ซื้อและใช้งานมานานแล้ว
ประเด็นที่ 5 ประมาณการรื้อถอนหรือขนไปทิ้งสำหรับทุบอาคารโรงงานที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต ซึ่งบริษัทได้บันทึกประมาณการรายจ่ายเป็นต้นทุนอาคารแล้ว 23 ล้านบาท แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการทำสัญญาจัดจ้าง จึงยังไม่อาจสรุปค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงได้
ประเด็นสุดท้าย การดำรงอยู่ของกิจการ บริษัทประสบปัญหาอย่างรุนแรง คือมีขาดทุนสะสมรวม 2,181.64 ล้านบาท กระแสเงินสดติดลบ 86.47 ล้านบาท หนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน 745.12 ล้านบาท รวมทั้งบริษัทไม่สามารถชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นและระยะยาวได้ รวมวงเงิน 273.8 ล้านบาท (รวมเงินต้นและดอกเบี้ยค้างจ่าย) ซึ่งผู้บริหารอยู่ระหว่างการเจรจาขอขยายระยะเวลาการจ่ายชำระหนี้เงินกู้ยืมกับธนาคารในประเทศอีกแห่งหนึ่ง
พร้อมกันนี้ บริษัทได้ลดการขาดทุนจากการผลิต ด้วยการหยุดผลิตในส่วนของปั่นด้ายและทอผ้าเป็นการถาวรตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 รวมทั้งอยู่ระหว่างการเพิ่มทุน เพื่อนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนมาชำระหนี้ที่ผิดนัดและเตรียมความพร้อมสำหรับเริ่มประกอบธุรกิจใหม่ของบริษัทในอนาคตต่อไป
ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ แจ้งเพิ่มเติมให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนพิจารณาความเห็นของผู้สอบบัญชีประกอบกับตัวเลขในงบการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงินอย่างระมัดระวัง เนื่องจากบริษัทอยู่ในกลุ่มที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด เมื่อผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน ทำให้ตัวเลขผลการดำเนินงานอาจจะไม่แสดงค่าที่แท้จริงได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|