|
"ดวงพร" นั่งแท่นเอ็มดีบตท.ลุยสางหนี้เน่ากว่า1.2พันล้าน
ผู้จัดการรายวัน(3 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
บตท.ได้ "ดวงพร อาภาศิลป์" นั่งแท่น กก.ผจก.คนใหม่ ระบุขณะนี้รอเพียงรมว.คลังคนใหม่ลงนาม ด้าน "สมบัติ ธำรงธัญวงศ์" ชี้ภารกิจที่ กก.ผจก. คนใหม่ต้องสานต่อสางหนี้เสียที่เหลือกว่า 1.2 พันล้าน ขายให้เอเอ็มซีหรือบริหารเองก่อน แจงหากบริหารเองลดสูญเสียได้มากกว่าขายเอเอ็มซี 20% ส่วนโครงการทำซีเคียวฯ "บ้านเอื้อ" ต้องดูผลสอบ สตง.ประกอบก่อนตัดสินใจทำด้วย
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหารบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เปิดเผยว่า คาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้ บตท. จะดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการคนใหม่ได้อย่างเป็นทางการ โดยขณะนี้รอเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ที่คาดว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี จะแต่งตั้งขึ้นมาภายในสัปดาห์นี้ เป็นผู้เข้ามาลงนามแต่งตั้ง นางดวงพร อาภาศิลป์ ที่เคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเงินทุน (บง.) สินเอเซีย จำกัด (มหาชน) เป็นกรรมการผู้จัดการ บตท. คนใหม่
สำหรับภารกิจที่กรรมการผู้จัดการคนใหม่จะต้องดำเนินการภายหลังได้รับแต่งตั้ง ได้แก่ การพิจารณาดำเนินโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทร์เซชั่น) ในโครงการบ้านเอื้ออาทร วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยจะต้องนำข้อมูลที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำลังตรวจสอบในเรื่องนี้อยู่ มาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณา ก่อนที่จะลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ด้วยอีกส่วนหนึ่ง คือ การแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยเฉพาะในส่วนที่คณะกรรมการ บตท. ได้เคยมีมติในเบื้องต้นว่า จะขายให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) จำนวน 1,203.87 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอ็นพีแอลที่เกิดจากกรณีการทุจริตในโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 30 ปี จากโครงการเอกสยาม และโครงการบ้านพนารี
"หลังจากที่บอร์ดได้เข้าไปบริหาร ทำให้เอ็นพีแอลที่เดิมมีอยู่ประมาณ 2 พันล้านบาท ลดลงไปมาก โดยเราได้ตั้งเป้าปรับเอ็นพีแอลให้ได้ 1 พันล้านบาท ส่วนอีก 1 พันล้านบาท จะขายให้เอเอ็มซี ซึ่งขณะนี้สามารถแก้ปัญหาไปได้กว่า 990 ล้านบาทแล้ว เหลืออีกกว่า 1,200 ล้านบาท อาจจะให้ กก.ผจก.คนใหม่รับไปพิจารณาอีกทีว่า จะขายให้เอเอ็มซีทั้งหมด หรือแก้ไขเองก่อน เพื่อให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด" นายสมบัติ กล่าว
อย่างไรก็ดี หากกรรมการผู้จัดการคนใหม่ เลือกแนวทางที่จะบริหารจัดการเอ็นพีแอลในส่วนที่เหลือเอง เชื่อว่าจะทำให้ บตท.สูญเสียน้อยที่สุด โดยอาจจะสูญเสียเพียง 30% ของมูลค่าเอ็นพีแอลทั้งหมด แต่หากตัดขายให้เอเอ็มซีเลย จะสูญเสียถึง 50%
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2549 บตท. มีเอ็นพีแอล 2,200.01 ล้านบาท จากจำนวนลูกหนี้ 1,117 ราย โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรกเป็นลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีและจะขายให้กับเอเอ็มซี 568 ราย จำนวน 1,203.87 ล้านบาท แบ่งเป็น ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี 282 ราย จำนวน 512.49 ล้านบาท ลูกหนี้ที่ต้องติดต่อใหม่ก่อนฟ้องหรือขายให้เอเอ็มซี 246 ราย จำนวน 388.72 ล้านบาท และลูกหนี้ที่เตรียมส่งฟ้องหรือขายเอเอ็มซี 40 ราย จำนวน 302.66 ล้านบาท
นายสมบัติ กล่าวว่า อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ บตท. แก้ไขได้แล้ว 549 ราย จำนวน 996.14 ล้านบาท แบ่งเป็น ลูกหนี้ขอปิดบัญชี 29 ราย จำนวน 49 ล้านบาท ลูกหนี้กลับมาชำระเป็นปกติ 25 ราย จำนวน 33.48 ล้านบาท ลูกหนี้ที่เซ็นสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 342 ราย จำนวน 697.18 ล้านบาท ลูกหนี้ที่กำลังนัดมาเซ็นสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ 105 ราย จำนวน 128.38 ล้านบาท และลูกหนี้ที่พิพากษาขอปรับโครงสร้างหนี้ 48 ราย จำนวน 88.1 ล้านบาท
"สถานะการดำเนินงานของ บตท. ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าดีขึ้นมาก สามารถควบคุมไม่ให้เกิดเอ็นพีแอลใหม่ขึ้นได้ ส่วนผลประกอบการก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าพอใจทุกเดือน ในทางบัญชีถือว่า ยังไม่มีความสูญเสียใดๆ เกิดขึ้น โดยหากสามารถบังคับคดีได้ทั้งหมด ก็จะไม่มีความสูญเสียเลย ทั้งนี้ สถานะขณะนี้ บตท. สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนแต่อย่างใด" นายสมบัติ กล่าว
นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า บตท. จะผลักดันให้มีการเร่งพิจารณาเกี่ยวกับการตรวจสอบทุจริต โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว เนื่องจากขณะนี้ได้มีการแต่งตั้ง ป.ป.ช. เข้ามาทำหน้าที่แล้ว
สำหรับฐานะทางการเงินของ บตท. ที่ผ่านการตรวจของ สตง. แล้วนั้น พบว่า ณ สิ้นเดือน มี.ค.2549 ประกอบด้วย ด้านงบดุล บตท. มีฐานะการเงิน มีสินทรัพย์รวม 5,746.92 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 4,730.74 ล้านบาท และส่วนของเงินกองทุน 1,016.18 ล้านบาท ขณะที่ด้านงบกำไรขาดทุน บตท. มีรายได้รวม 52.55 ล้านบาท (รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย 0.33 ล้านบาท) ค่าใช้จ่ายรวม 52.34 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายในการกู้ยืม 36.43 ล้านบาท ค่ากันสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ 3.57 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 12.34 ล้านบาท ทำให้ บตท. มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 0.21 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|