ปลิดชีพ "กุหลาบแก้ว" ฟัน 3 ร่างทรงต่างด้าว


ผู้จัดการรายวัน(3 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เด็ดกลีบกุหลาบแก้ว พาณิชย์ชี้หลักฐานมัดเป็นบริษัทต่างชาติ 1,000% แฉเส้นทางเงิน "กุหลาบแก้ว-ซีดาร์-ไซเพรส-แอสเพน" มาจากแหล่งเดียวกันคือ FULLERTON ของเทมาเส็ก ชี้ชัด “พงส์-ศุภเดช-สุรินทร์” ร่างทรงสิงคโปร์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีมติส่งตำรวจดำเนินคดี ผิดมาตรา 36 กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

นายดุสิต อุชุพงศ์อมร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ขอความร่วมมือไปยังพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อให้ดำเนินการต่อกับบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด เพราะพิจารณาในเบื้องต้นแล้วเห็นว่ามีมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีความผิดตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จึงส่งเรื่องให้ตำรวจรับไปดำเนินการต่อ โดยใช้ความเชี่ยวชาญในด้านการสืบสวนสอบสวนของตำรวจเพื่อพิจารณาว่ามีความผิดจริงหรือไม่ อย่างไร

“กรมฯ ดูแค่เบื้องต้น โดยพิจารณาเส้นทางของเงินเป็นประเด็นหลัก ซึ่งพบว่ามีแหล่งที่มาต่างกัน แต่มาจากต่างประเทศทั้งหมด จึงสรุปว่าน่าจะเข้าข่ายความผิดมาตรา 36 ส่วน แต่ละราย แต่ละท่านจะมีข้อต่อสู้ยังไง ก็ว่ากันไป และจากนี้คงเป็นหน้าที่ของตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวน น่าจะดำเนินการต่อได้ดีกว่า” นายดุสิตกล่าว

ทั้งนี้ บริษัท กุหลาบแก้ว เข้าไปเกี่ยวข้องกับบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด และซีดาร์ ได้เข้าไปซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ร่วมกับบริษัท แอสเพน โฮลดิ้ง จำกัด โดยมีการร้องเรียนว่าบริษัท กุหลาบแก้ว อาจมีคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ทำให้มีฐานะเป็นบริษัทคนไทย และทำให้ซีดาร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในชินคอร์ปเป็นนิติบุคคลไทยด้วย

สำหรับมาตรา 36 ระบุว่า ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามกฎหมายให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือร่วมประกอบธุรกิจของต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่ผู้เดียว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดหรือนิติบุคคลใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งคนต่างด้าวซึ่งยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้กระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้เลิกการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือสั่งให้เลิกร่วมประกอบธุรกิจ หรือสั่งให้เลิกการถือหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนนั้นเสีย แล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับวันละ 10,000-50,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

รายงานข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แจ้งว่า ผลการสอบกรณีการถือหุ้นแทน (นอมินี) ของบริษัท กุหลาบแก้ว ที่เข้าไปซื้อหุ้นชินคอร์ป ที่กรมฯ ได้สรุปเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2549 พบว่าเส้นทางเงินของผู้ถือหุ้นในบริษัท กุหลาบแก้ว อาจจะเป็นเงินของบริษัทต่างด้าว และผู้ถือหุ้นบางคนน่าเชื่อว่าจะเป็นนอมินีของต่างด้าว โดยเฉพาะกองทุนเทมาเส็ก จากสิงคโปร์

โดยผลการสอบสวนในเบื้องต้น พบว่า 4 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการซื้อหุ้นชินคอร์ป คือ บริษัท กุหลาบแก้ว บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ มีสำนักงานตั้งอยู่ในที่เดียวกันคือเลขที่ 21/125-128 อาคารไทยวาทาวเวอร์ 2 ชั้น 17 ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร

ส่วนเส้นทางของเงิน พบว่า หลักฐานการชำระเงินค่าหุ้นของบริษัท กุหลาบแก้ว มีเงินโอนเข้าบัญชีบริษัท กุหลาบแก้ว จำนวน 131,540,000 บาท (เป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นของบริษัท) เป็นเงินที่โอนมาจากบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 111-3-06044-0 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสำนักรัชโยธิน ของบริษัท ไซเพรสฯ และรายการบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 111-3-06044-0 ของบริษัท ไซเพรสฯ มียอดเงิน 32,860,000 บาท (ซึ่งเป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินที่นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ กู้ไปจากธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อไปชำระค่าหุ้นในบริษัท กุหลาบแก้ว) โอนไปเข้าบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 111-2-74724-3 ธนาคารสาขาเดียวกันของบริษัท ไซเพรสฯ

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ให้นายศุภเดชกู้เงินเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2549 จำนวน 32,860,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR +3.5 ต่อปี โดยจำนำสิทธิบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 111-2-74724-3 ของบริษัท ไซเพรสฯ และค้ำประกันเงินกู้โดยบริษัท ไซเพรสฯ โดยนายศุภเดชชี้แจงว่า เงินค่าหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นเงินส่วนตัว โดยกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ อัตราดอกเบี้ย MRR -3.3 ต่อปี โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และต้องชำระเงินกู้คืนภายใน 5 ปี แต่ต่อมาภายหลังนายศุภเดชมีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมว่าตัวเองไม่ทราบว่าเงินกู้ดังกล่าว มีบริษัท ไซเพรสฯเข้าค้ำประกัน และตนเองได้ชำระเงินกู้คืนไปทั้งหมดแล้ว เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2549

ส่วนนายพงส์ สารสิน ชี้แจงว่า ซื้อหุ้นจากนายสมยศ สุธีรพรชัย ทนายความของบริษัท ไซเพรสฯ จำนวน 3,000 หุ้น และชำระค่าหุ้นเป็นเงินสด ต่อมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกกว่า 50 ล้านบาท และชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนโดยจ่ายเป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนวิทยุ ลงวันที่ 20 ม.ค.2549 จำนวน 50,933,000 บาท คืนให้แก่บริษัท ไซเพรสฯในวันเดียวกันที่บริษัท ไซเพรสฯ ได้ทดรองจ่ายค่าหุ้นให้ไปก่อน แต่จากการตรวจสอบพบว่าเช็คฉบับดังกล่าวได้ตัดจ่ายจากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2549

สำหรับเงินค่าหุ้นของนายสุรินทร์ อุปพัทธกุล หรือดะโต๊ะสุรินทร์ จำนวน 2,720,000,100 บาท พบว่าเป็นเงินโอน BAHTNET TRN, LP BKHQ 48764 จากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด ตามคำสั่งของนายสุรินทร์ ต่อมาเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2549 โดยธนาคารได้รับคำสั่งโอนเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2549 จากชื่อบัญชี Fairmont Investments Group Inc. (บริษัท แฟร์มอนท์ อินเวสเมันท์ส กรุ๊ป จดทะเบียน ตู้ ปณ. 905 โร้ด ทาวน์, ทอร์โทลา หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์ โดยมีบริษัท กรีนแลนด์ จำกัด แต่ผู้เดียวมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท และได้มอบอำนาจให้นายสุรินทร์ เป็นผู้ดำเนินการกองทุนของบริษัท) โดยธนาคาร Credit Suisse, Singapore จำนวน 70 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (เท่ากับ 2,730 ล้านบาท) เพื่อเข้าบัญชีเลขที่ 001-446277-200 ของนายสุรินทร์ และในวันเดียวกับนายสุรินทร์ ได้สั่งโอนเงินจำนวน 2,720,000,100 บาท ผ่าน BAHTNET เข้าบัญชีบริษัท กุหลาบแก้ว เลขที่ 111-2-74644-1 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสำนักรัชโยธิน

จากการตรวจสอบเส้นทางเงินดังกล่าว สรุปได้ว่า แหล่งที่มาของเงินที่เข้ามาในบัญชีของบริษัท ไซเพรสฯ และบริษัท ไซเพรสฯ โอนไปเข้าบัญชีของบริษัท กุหลาบแก้ว และเงินที่บริษัท ไซเพรสฯ ใช้ค้ำประกันเงินกู้ของนายศุภเดช รวมทั้งเงินที่บริษัท ไซเพรสฯ จ่ายชำระค่าหุ้นในบริษัท ซีดาร์ฯ เป็นเงินโอนมาจากแหล่งเดียวกันคือ FULLERTON PRIVATE LIMITED ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม TEMASEK (เทมาเส็ก) ประเทศสิงคโปร์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.