|
ปฐมบท ดิจิตอล มีเดีย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
“ไม่ว่าคุณจะจดลิขสิทธิ์งานวิจัยไว้มากเท่าใดก็ตาม แต่ถ้างานวิจัยนั้นไม่สามารถทำประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ หรืออย่างน้อยต้องแปลงมาเป็นสินค้า ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรของคุณ หรือเป็นประโยชน์ที่จับต้องได้จริงของสังคม ไม่เช่นนั้นแล้วงานเหล่านั้นก็เป็นแค่ข้อมูล แค่ความฝันของนักวิจัย” ดร.ปิยะ ตัณฑวิเชียร คุยกับผมตอนบ่ายแก่ๆของเดือนสิงหาคม
ดร.ปิยะเป็นนักวิจัยสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเป็นผู้ก่อตั้ง Truehits (http://truehits.net) บริการวัดความนิยมเว็บไทย เป็นบริการแรกและเจ้าเดียวในประเทศนี้ ซึ่งพ.ศ.นี้ (2549) มีเว็บไทยขนาดกลางใหญ่เพียงแค่ประมาณ 30,000 เว็บ และมากกว่าครึ่งหนึ่งของเว็บยอดนิยมในประเทศไทยนี้ติด Truehits เป็นเครื่องวัด
ทำไมผมต้องมาเล่าเรื่องพวกนี้ให้คุณๆฟัง ในเซ็กชั่นการตลาดว่าด้วยดิจิตอลมีเดีย ก็เพราะว่าผมได้เสนอความเห็นต่อบรรณาธิการฝ่ายการตลาดถึงเรื่องสื่อดิจิตอลว่า ผู้จัดการรายสัปดาห์ควรเริ่มสนใจดิจิตอลมีเดีย ด้วยว่าเป็นกระแสของโลก และเริ่มมีเครื่องบ่งชี้ว่าน่าจะมาแรงในประเทศไทย โดยคาดว่าตลาดสื่อดิจิตอลปัจจุบันมีประมาณ 600 ล้านบาท แบ่งเป็นพวกเซิร์ทเอ็นจิ้นมาร์เก็ตติ้ง (Search Engine Marketing – SEM) ซะ 300 ล้าน อีก 300 ล้านบาทเป็นสื่อที่ลงในเว็บต่างๆ
ตัวเลขนี้ไม่มากมายอะไรนะครับเมื่อเทียบกับ 60,000-70,000 ล้านบาทของทีวีต่อปี แต่ถ้าดูเฉพาะดิจิตอลมีเดีย ตัวเลขนี้กระโจนจากประมาณ 150-200 ล้านบาทเมื่อปีก่อน (ตัวเลขชัดๆ เก็บยากมากครับ ถ้าดูเฉพาะสื่อดิจิตอลที่เก็บกัน อยู่ที่ประมาณ 150 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา)
ตัวเลขแบบนี้ถือว่ามีนัยยะสำคัญเชิงการตลาด อีกทั้งเชื่อกันว่าดิจิตอลมีเดียจะเป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาดที่สำคัญในอนาคต
เมื่อบรรณาธิการอนุมัติความคิด ผมต้องไปเจอดร.ปิยะ เพื่อสัมภาษณ์ถึงความเคลื่อนไหวต่างๆในโลกดิจิตอลมีเดีย ทุกเดือนเดือนละครั้ง เพื่อมาให้ข้อมูลแก่ทุกท่าน ทำไมจึงต้องเป็นดร.ปิยะ ถามได้ ก็เพราะดร.เป็นนักวิจัยผู้ก่อตั้ง Truehits มากับมือ ตั้งแต่สมัยเว็บไทยยังไม่มีเครื่องวัด จนขณะนี้ผู้ที่จะวัดความนิยมของเว็บไทยทั้งหมดต้องใช้ Truehits เจ้าเดียว ไม่ใช่เพราะมีอยู่เจ้าเดียวนะครับ แต่เป็นเพราะความน่าเชื่อถือ
ดร.ปิยะกล่าวกับผมว่า ในสมัยแรกๆที่จะวัดว่าเว็บใดๆมีผู้เข้าชมมากเท่าใดนั้น มักใช้ 3 วิธี วิธีแรกคือการวัดจำนวนครั้งการเข้าชมมากเท่าใด (Page View) โดยวัดจากจำนวนคลิก ซึ่งไม่ได้บอกว่ามีผู้คนเข้ามาเท่าใด แต่บอกว่ามีจำนวนครั้งที่เข้าเยี่ยมชมเท่าใด ซึ่งวิธีนี้จะไม่รู้แน่ๆว่ามีจำนวนผู้คนเท่าใด แต่ถ้าเทียบเพจวิวต่อเพจวิวด้วยกัน ก็พอมองได้ว่าความนิยมเว็บใดมากกว่า
วิธีที่สองคือใช้การนับจำนวนไอพี (Internet Protocol Address – IP) เป็นวิธีที่อนุรักษ์นิยมที่สุด ด้วยว่าเป็นการนับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาใช้เว็บนั้นๆ Truehits ใช้วิธีนี้ พร้อมมีวิธีการเช็คว่าเป็น IP ที่จริงหรือหลอกอีกชั้นหนึ่ง เพื่อทำให้แน่ใจว่าเป็น IP ของแท้
ดังนั้นตัวเลขที่ได้จะเป็นจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เข้าไปใช้เว็บนั้นๆ คุณๆก็พอเดาได้ว่าจำนวนผู้คนที่เข้าไปใช้เว็บจริงๆ ต้องมากกว่า IP แน่ๆ และถ้าคุณใช้ IP เป็นตัวบอกว่าเว็บที่เป็นสื่อนั้นๆ มีการครอบคลุมเครื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ 5 แสนเครื่อง หรือสรุปว่ามีอย่างน้อย 500,000 คนที่เข้าชมเว็บที่ว่า ก็ไม่น่าที่จะผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพราะสิ่งที่ Truehits ใช้นั้นเป็นตัวเลขต่ำสุด อนุรักษ์นิยมที่สุด ซึ่งในเชิงการตลาด ตัวเลขแบบนี้น่าจะใช้อ้างอิงได้อย่างปลอดภัยสบายใจสำหรับนักการตลาด เพราะไม่โอเวอร์เหมือน Page View
วิธีที่สามคือใช้การฝัง Cookie (คุกกี้ – ไม่ใช่ขนมฝรั่งที่เขียนเหมือนกัน แต่คุกกี้ใช้เรียกสิ่งที่ใช้บันทึกตัวความจำลงไปในคอมพิวเตอร์ที่เข้าไปเยี่ยมชมเว็บต่างๆ โดยเจ้าของเว็บจะเขียนโปรแกรมเพื่อฝังคุกกี้ลงไป เพื่อจำว่าคอมพิวเตอร์นี้เคยเข้ามาใช้เว็บนี้) ตัวเลขที่ได้จากการฝัง Cookie ลงไปนี้ ก็ยังไม่แน่นอนครับ เพราะทั้งเจ้าของเว็บและผู้ใช้เว็บก็สามารถเขียนโปรแกรมลบการฝัง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จะทำให้เกิดการบิดเบือนตัวเลขที่มากเกินจริงได้ ตัวเลขการวัดจาก Cookie นี้จะเป็นตัวเลขที่อยู่ระหว่าง IP กับ Page View และอย่างที่ผมบอกข้างต้นว่าแนะนำให้ใช้ IP มากที่สุด
สิ่งที่เราพูดกันในคอลัมน์หนแรกนี้ อาจจะมีศัพท์แสงต่างๆมากมาย ทำให้คุณๆสับสนพาลจะไม่ศึกษา แต่เชื่อเถอะครับ ‘The future will catch you’ คุณอาจจะไม่สนใจดิจิตอลมีเดียในวันนี้ แต่ผมว่าไม่เกิน 2 ปี คุณจะต้องเข้ามาศึกษา เพราะคุณต้องใช้งาน โดยเฉพาะนักการตลาดและสื่อสารการตลาดทั้งหลาย ที่จะพูดกับคนรุ่นใหม่ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการหาข้อมูล ข่าวบันเทิง หรือเรื่องอื่นๆ ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้อาจมีเพียง 10 ล้านคน แต่ผมฝันถึงคน 30 ล้านคนใน 2 ปีนี้ ใครจะร่วมฝันกับผมบ้าง!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|