ชำแหละกม.ค้าปลีกอาวุธพิฆาตโมเดิร์นเทรดจริงหรือ?


ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

*ผ่าทางตันสงครามทุนค้าปลีกข้ามชาติฮุบค้าปลีกไทย
*วิโรจน์ จุนประทีปทอง แนะรัฐบาลใหม่ปัดฝุ่นกฎหมายควบคุม
*ชูธงทำประชาพิจารณ์ก่อนอนุญาตผุดสาขา ลดปัญหาชุมชนต่อต้าน
*ใช้เงื่อนไขเวลาเปิด-ปิดห้าง ลดผลกระทบโชห่วย

ความขัดแย้งในธุรกิจค้าปลีกระหว่างผู้ประกอบการไทยกับทุนต่างชาติที่ยืดเยื้อมานานนับ 10 ปี วันนี้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด การหาจุดลงตัวที่จะให้ทุกฝ่ายยอมรับ หันกลับไปทำธุรกิจโดยไม่มีการเอารัดเอาเปรียบในเชิง "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" กลายเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ยังไม่มีใครไขหาทางออกได้

ภาครัฐ ที่ดูเหมือนจะเป็นกลจักรสำคัญในการแก้ปัญหา โดยมีอาวุธสำคัญ คือการร่างกฎหมายขึ้นมาควบคุมการค้าให้ดำเนินไปอย่างเป็นธรรม แต่เหมือนอาวุธนี้กลับไม่มีโอกาสได้นำออกมาใช้ การร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย ปี 2542 ออกเป็นลายลักษณ์อักษณ์ 7 หมวด 57 มาตรา ที่เหมือนจะสอดคล้องกับการควบคุมทุนต่างชาติในระยะเพิ่งก่อตัว แต่ยังไม่ทันมีการประกาศใช้ รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำก็มีอันชิงลาโรงไปก่อน

มาถึงยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แม้ดูเหมือนมีความพยายามในการยกร่างพระราชบัญญัติค้าปลีก ค้าส่ง ขึ้นมาควบคุมการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกจากต่างชาติอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2545 แต่กลับเป็นเพียงปาหี่ฉากหนึ่ง ที่ความจริงรัฐบาลนี้เลือกที่จะเอื้ออาทรต่อการขยายธุรกิจของทุนต่างชาติมากกว่า กลายเป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจค้าปลีกของทุนต่างชาติขยายตัวในประเทศไทยได้รวดเร็วที่สุด โดยที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนั้น จับฝุ่นอยู่บนหิ้ง จนกระทั่งถึงปีที่บารมีทักษิณเริ่มเสื่อม กระแสความเดือดร้อนของผู้ประกอบการไทยลุกลามมากขึ้น พ.ร.บ.ปาหี่ จึงถูกหยิบมาพิจารณาอีกครั้ง โดยมี ความพยายามที่จะยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะห่างจากชุมชน 3.5 กิโลเมตร และต้องมีความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่อย่างน้อย 3.5 แสนคน รวมถึงการกำหนดให้ธุรกิจที่จะทำร้านค้ารูปแบบใหม่ต้องขอใบอนุญาตเพิ่มเติม เช่น ตอนแรกที่ขอใบอนุญาตระบุว่าจะดำเนินธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต แต่เมื่อมีการขยายธุรกิจไปสู่มินิมาร์ท มินิซูเปอร์มาร์เก็ตหรือเอ็กซ์เพรสก็ต้องขอใบอนุญาตเพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้พระราชบัญญัติฉบับเดิมกำหนดให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่มีระยะห่างจากชุมชน 15 กิโลเมตร ซึ่งโดยลักษณะธรรมชาติของผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ที่อยู่รอบนอกจะเป็นตลาดระดับล่าง ทำให้ข้อกำหนดดังกล่าวดูเหมือนเป็นการเอื้อต่อดิสเคาน์สโตร์เพราะสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ที่เป็นดีพาร์ตเมนต์สโตร์ หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ที่จับตลาดคนเมืองไม่สามารถเข้าสู่ชุมชนได้

สำหรับข้อกำหนดที่เพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติค้าปลีก ค้าส่ง ปี 2545 นั้น เป็นการอิงกับกฎหมายควบคุมการค้าปลีกค้าส่ง (Distributive Trade) ของมาเลเซีย ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีภายใต้การใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาของรัฐบาลมาเลเซีย ทั้งที่เบื้องหลังของการร่างกฎหมาย Distributive Trade ฉบับนี้ คณะทำงานของมาเลเซียได้เดินทางมาศึกษาข้อมูลและขอคำแนะนำจาก วิโรจน์ จุนประทีปทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ สรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา

ประชาพิจารณ์ก่อนผุดสาขา ลดปัญหาชุมชนต่อต้าน

วิโรจน์ จุนประทีปทอง กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า ข้อกำหนดต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระยะห่างจากชุมชน ความหนาแน่นของประชากรไม่ได้มีสูตรตายตัวควรต้องเป็นตัวเลขใดแต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละที่ เช่นที่สหรัฐเมื่อ 10 ปีที่แล้วได้กำหนดให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ตั้งห่างจากชุมชนเป็นระยะทาง 6 ไมล์ หรือ 9 กิโลเมตร โดยจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์จากชุมชนก่อนว่าจะให้ตั้งหรือไม่ เช่น กรณีการเข้ามาของวอลมาร์ทซึ่งได้รับฉายาว่าเป็นแฟรงเกนสไตน์ เนื่องจากไปตั้งที่ใด ธุรกิจท้องถิ่นที่นั่นมักจะตายกันหมด ทั้งนี้ในแต่ละรัฐจะมีการกำหนดในรายละเอียดที่แตกต่างกันไป

ระยะห่างชุมชน 3.5 กิโลเมตรทำให้โชห่วยตาย ผู้บริโภคสะดวก แต่ถ้าเป็น 15 กิโลเมตร ดิสเคาน์สโตร์อาจลำบาก คนในเมืองก็ลำบากถ้าต้องเดินทางไปซื้อของไกลๆ เพราะฉะนั้นต้องหาจุดสมดุลร่วมกัน ทั้งนี้นอกจากจะกำหนดระยะห่างจากชุมชนแล้ว จำเป็นที่จะต้องพิจารณาด้านอื่นด้วยเช่น สภาพถนน ปัญหาการจราจรที่จะตาม ห้างใหญ่ ถนนเล็ก การจราจรติดขัด ไม่ควรอยู่ปากซอย รวมถึงเรื่องภาษีบำรุงท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมา พวกห้างสรรพสินค้าไม่มีใครออกไป จะมีก็แต่ดิสเคาน์สโตร์ แต่ก็เหมือนน้ำท่วมปาก เขามองในเมืองยังมีศักยภาพเขาก็ลดขนาดเพื่อเลี่ยงกฎหมาย อย่างเช่นที่แม่สายมีการกำหนดให้ห้างที่มีพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร หรือมีความสูงเกิน 10 เมตรต้องอยู่นอกเมือง เขาก็ทำให้สูง 9.90 เมตร ดังนั้นหน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่นจะต้องมีจิตสำนึกในเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเนื่องจากบางกรณีปรากฏว่าดิสเคาน์สโตร์มีการเช่าหรือซื้อที่ดินจากนักการเมืองท้องถิ่นทำให้ได้รับอนุญาตโดยง่าย ส่วนการกำหนดความหนาแน่นของประชากรก็ต้องมาดูกันว่า 3.5 แสนคนนั้นใช่คำตอบสำหรับประเทศไทยหรือไม่

"เซ็นทรัลที่ว่าแข็งพอไปอยู่รอบนอกยังต้องเปลี่ยนเป็นบิ๊กซี อย่างย่านหัวหมาก รามอินทรา หรือกรณีของท็อปส์ ฟู้ดแลนด์ และตั้งฮั่วเส็งก็ดีเราไม่ขยายสาขาไปรอบนอกเพราะเราจับไลฟ์สไตล์คนเมือง ถ้าไปตั้งไกลๆก็ขายไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นว่าข้อกำหนดระยะห่างชุมชน 15 กิโลเมตรนอกจากจะไม่ได้ช่วยโชห่วยแล้วยังทำให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดกลาง-ใหญ่ของคนไทยถูกทำลายไปด้วย ที่สำคัญซูเปอร์มาร์เก็ตขนาด 1-2 พันตารางเมตรจะเอาอะไรมาดึงดูดลูกค้าได้ ในขณะที่ดิสเคาน์สโตร์ใช้พื้นที่เป็นหมื่นตารางเมตรย่อมมีแมกเนตในการดึงดูดลูกค้าได้มากกว่า" วิโรจน์ กล่าว

อย่างไรก็ดีเมื่อมีการออกกฎมาแล้วก็ควรจะต้องมีขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์ด้วย เช่นที่ญี่ปุ่นกำหนดรัศมี 500 เมตร โดยมี 3 ฝ่ายคือเจ้าหน้าที่รัฐ ร้านค้าย่อย และดิสเคาน์สโตร์ร่วมแสดงความเห็นกัน

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาวอลมาร์ทได้เข้าไปซื้อที่ดินในเมืองบอสตันเพื่อเปิดห้างที่มีขนาด 4,000 ตารางเมตร ซึ่งแต่เดิมวอลมาร์ททำธุรกิจค้าปลีกบนพื้นที่นับหมื่นตารางเมตร ต่อมาก็มีการย่อส่วนเหลือ 7,000 ตารางเมตร ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ดีการทำประชาพิจารณ์ในชุมชนที่ไม่สนับสนุนให้วอลมาร์ทมาตั้งในเมืองเพราะเห็นว่าคนบอสตันเป็นคนที่มีการศึกษาสูงมีไลฟ์สไตล์ที่ดี ควรมีห้างสรรพสินค้าเป็นแหล่งชอปปิ้งเพื่อเชิดหน้าชูตา ดีกว่าจะให้ไฮเปอร์มาร์ทเข้ามาตั้ง ซึ่งสุดท้ายวอลมาร์ทก็ต้องยอมถอยทั้งที่ซื้อที่ดินเรียบร้อยแล้ว

"การที่โลตัสเข้ามาตั้งในเมืองถือเป็นการทำลายวิถีชีวิตชาวบ้านจากเดิมที่เคยพึ่งพาซึ่งกันและกันคนโน้นซื้อของคนนี้คนนี้ก็ไปซื้อของของคนนั้น ร้านชำ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ ร้านข้างแกง จากที่เคยมีเงินหมุนเวียนกันหลายรอบก็กลายเป็นว่าเงินหมุนอยู่แต่ในดิสเคาน์สโตร์รอบเดียว ในสมัยก่อนเราจะเห็นร้านทีวี วิทยุ อุปกรณ์กีฬา เครื่องเขียน ริมถนน แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็น ภาพเหล่านี้ก็ถือเป็นผลกระทบจากดิสเคาน์สโตร์ที่ทำลายธุรกิจในรัศมีกว้าง ขณะที่คอนวีเนี่ยนสโตร์เป็นการกระบแบบตัวต่อตัว แต่ทั้งนี้ถ้าโชห่วยไทยห่างจากเซเว่นเกิน 100 เมตรก็อยู่รอดได้ แต่ก็ต้องมีการปรับตัวและภาครัฐก็ต้องให้ความช่วยเหลือด้วย

อย่างไรก็ดียังมีทางออกสำหรับผู้ประกอบการไทยเพราะมีเมืองใหม่ๆ ชุมชนใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย เช่นในอดีตเราเริ่มต้นจากย่านเยาวราช วังบูรพาขยายไปบางลำภู ประตูน้ำ สะพานควาย รามคำแหง เมืองขยายไปเรื่อยๆ การค้าก็ขยายตามไปด้วย โชห่วยก็อาจต้องหนีไปยังชุมชนใหม่เพราะถ้าติดอยู่ที่เดิมก็คงตาย อย่างน้อยความหนาแน่นของประชากรในชุมชนใหม่ๆคงไม่มากพอที่ดิสเคาน์สโตร์จะเข้าไปได้ นั่นก็เป็นหลักประกันได้ในระยะหนึ่ง

ดึงเงื่อนเวลาคุมดิสเคาน์ฯกินโชห่วย

ในแง่ความช่วยเหลือของภาครัฐก็มีให้เห็นมากมายในต่างประเทศอย่างเช่นที่เนเธอร์แลนด์มีการกำหนดห้ามขายราคาต่ำกว่าทุน ที่เยอรมันให้ขายราคาต่ำได้แต่ต้องขายราคานั้นตลอดทั้งปี ส่วนที่ฝรั่งเศสห้ามขายราคาต่ำกว่าอินวอย โดยมีการกำหนดโทษปรับ 2.5 ล้านฟรัง หรือในอังกฤษใครจำหน่ายสินค้า OTOP ก็จะได้รับการลดภาษี ขณะที่เมืองดับลินของไอร์แลนด์ ซึ่งมีประชากร 1 ล้านคนได้ให้อำนาจรัฐมนตรีวิ่งแวดล้อมในการออกกฎให้ดิสเคาน์สโตร์ออกไปตั้งนอกเมืองและห้ามใช้พื้นที่เกิน 3,000 ตารางเมตร

กรณีการเกิดขึ้นของดิสเคาน์สโตร์หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตจะมีการพิจารณากันอย่างไรระหว่างห้างที่เกิดขึ้นแล้ว ลงเสาเข็มแล้ว ควรมีการควบคุมแค่ไหน

8-9 ปีก่อนที่ไต้หวันมีห้างแม็คโคร 2 สาขาในพื้นที่อุตสาหกรรมหรือ Industry Area เทศมนตรีไต้หวันมีมติให้แม็คโครย้ายไปตั้งในเขตการค้า Commercial Area ก็ยังทำกันได้ แต่ถ้าจะประนีประนอมก็อาจขอให้ดิสเคาน์สโตร์เหล่านั้นช่วยเหลือสังคม หรือกำหนดเวลาเปิดปิดให้เหมาะสม

ในบ้านเราช่วงที่มีการรณรงค์ประหยัดพลังงานและให้ห้างปิดไวขึ้นนั้นปรากฎว่ามีการกำหนดให้ดิสเคาน์สโตร์ปิด 4 ทุ่มจากเดิมที่ปิดเที่ยงคืน ห้างสรรพสินค้าปิด 2 ทุ่มจากเดิมที่ปิด 4 ทุ่ม ซึ่งหากพิจารณาพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้วจะเห็นว่าไม่ใช่การกำหนดเวลาที่เหมาะสมเนื่องจากผู้บริโภคในเมืองทำงานเลิก 5-6 โมงเย็น ผู้หญิงที่จะไปเดินซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าจะใช้เวลาในการเลือกซื้อนาน ลิปสติกต้องมีการทดลองหลายๆสี น้ำหอมก็ต้องทดลองหลายๆกลิ่น เสื้อผ้าก็ต้องลองหลายๆแบบ แต่ถ้าห้างปิด 2 ทุ่มแล้วกว่าจะเดินทางจากที่ทำงานมาถึงห้างก็เหลือเวลาไม่มากทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะไม่มาซื้อ ในขณะที่ดิสเคาน์สโตร์ไม่ได้เน้นวางสินค้าให้ลูกค้าได้ทดลองใช้มากมายนักเพราะเน้นการขาย อีกทั้งผู้บริโภคที่มาซื้อก็เน้นราคามากกว่าทำให้การใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อสินค้าน้อยกว่าคนที่ซื้อในห้างสรรพสินค้า จึงกลายเป็นว่าห้างที่ใช้เวลาในการชอปปิ้งน้อยกลับเปิดได้นาน แต่ห้างที่ใช้เวลาในการชอปปิ้งนานๆกลับให้ปิดเร็ว ซึ่งหลังจากถูกวิจารณ์ทางภาครัฐก็ขยายเวลาปิดของห้างสรรพสินค้าออกไปอีก 1-2 ชั่วโมง อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการก็ต้องศึกษาธรรมชาติของคนทำงานว่าเลิกงานกี่โมง กลับกี่โมง ใช้เวลาในการชอปปิ้งกี่โมง อย่างห้างสรรพสินค้าย่านวังบูรพาหรือย่านบางลำพู ถ้าให้เปิดถึง 4 ทุ่ม ก็คงไม่มีรายไหนเอาเพราะนอกจากจะไม่มีลูกค้าช่วงดึกๆแล้ว ยังต้องเสียค่าน้ำค่าไฟและค่าจ้างพนักงานซึ่งไม่คุ้ม

กรณีที่ดิสเคาน์สโตร์เข้ามาอยู่ในเมืองแล้วจะทำอย่างไร ก็มีตัวอย่างของการวางกรอบในการแบ่งการขายเช่นที่ฝรั่งเศสและเยอรมันอนุญาตให้สาขาของห้างที่อยู่ในเขตรถไฟฟ้าปิดห้างได้ถึง 4 ทุ่ม นอกนั้นให้ปิด 1 ทุ่ม ประเทศไทยเองให้เซเว่นอีเลฟเว่นเปิด 24 ชั่วโมง แต่เขามี 3 กะ จะให้ผู้ประกอบการไทยอยู่เฝ้าร้านจนตายก็ใช่ที่

"ดิสเคาน์สโตร์ที่เข้ามาตั้งสาขาในเขตชุมชนแล้วจะทำอย่างไร เราก็ควบคุมเวลาเปิดปิดของเขา ให้เขาหยุด 1 วันต่อสัปดาห์ ก็จะช่วยให้ค้าปลีกอื่นอยู่ได้ เป็นการแลกกับการได้ตั้งในเขตชุมชน ซึ่งในต่างประเทศก็ทำกันมาก่อนหน้านี้ แล้วทำไมจะต้องมากินรวบที่เมืองไทยด้วย" วิโรจน์ กล่าว

ซัปพลายเออร์อุ้มโชห่วยคานอำนาจค้าปลีกยักษ์

นอกจากนี้ควรมีการให้คำจำกัดความของดิสเคาน์สโตร์ว่าคืออะไร และแค่ไหนที่จะต้องอยู่นอกเมือง ส่วนซัปพลายเออร์เองก็ควรช่วยเรื่องราคาให้กับผู้ประกอบการรายย่อยด้วย

กรณีของ รวมค้าปลีกเข้มแข็ง หรือ ART ถ้าทำตามหลักการคือขายของให้ยี่ปั๊วในราคาถูกเพื่อที่ยี่ปั๊วจะได้ขายราคาถูกให้โชห่วยอีกทีซึ่งจะทำให้อยู่กันได้ทั้งระบบ แต่เวลาปฏิบัติกันจริงกลับขายราคาถูกไปถึงโชห่วยโดยตรง ยี่ปั๊วก็เลยไม่มีลูกค้ามาซื้อต่อเพราะโชห่วยซื้อตรงจาก ART แล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการบริหารจัดการที่เกิดต้นทุน เช่นการติดตั้งคอมพิวเตอร์ ค่าวิทยากรซึ่งจริงๆเรื่องนี้ให้ยี่ปั๊วสอนโชห่วยก็ได้ ไม่ต้องเสียงบจ้างคนจบปริญญามาสอน

การออกคาราวานของยูนิลีเวอร์ถือได้ว่ามีส่วนช่วยโชห่วยได้บ้าง แต่พอยูนิลีเวอร์หรือซัปพลายเออร์รายอื่นคิดจะทำอะไรให้กับโชห่วย ทางฟากดิสเคาน์สโตร์ก็มักกดราคาซัปพลายเออร์โดยอ้างว่าสั่งสินค้ามากกว่าก็น่าจะได้สิทธิพิเศษกว่า ซึ่งยูนิลีเวอร์ก็มีการแก้เกมด้วยการออกสินค้าคนละรุ่นคนละไซส์ในการจำหน่ายในแต่ละช่องทาง

สิ่งต่างๆเหล่านี้ถือเป็นความจำเป็นที่ซัปพลายเออร์จะต้องให้ความช่วยเหลือโชห่วย หรือยี่ปั๊ว เพราะถ้าช่องทางเหล่านี้ลดน้อยหรือหายไปจากตลาดก็จะไม่มีใครคานอำนาจของดิสเคาน์สโตร์ได้ สุดท้ายซัปพลายเออร์เองก็ลำบากด้วย ทั้งนี้วิโรจน์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขของร้านโชห่วยที่เคยมี 7-8 แสนรายเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันลดเหลือไม่ถึง 3 แสนราย

ย้ำรัฐเพิ่มกฎตั้งสาขาผุด 100 สาขาก็ต้อง 100 ใบอนุญาต

สำหรับเงื่อนไขในการขออนุญาตเพื่อดำเนินธุรกิจค้าปลีกก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณากันใหม่ อย่างที่ประเทศจีนเวลาจะเปิดแต่ละสาขาต้องขออนุญาตทั้งจากรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง ที่มาเลเซียก็กำหนดให้พื้นที่ใน 5 รัฐห้ามการตั้งธุรกิจค้าปลีกขนาดยักษ์เป็นเวลา 5 ปี และหลังจากนั้นจะต้องขออนุญาตการตั้งสาขาล่วงหน้า 2 ปี ในขณะที่อิตาลีต้องใช้เวลาขออนุญาติ 3 ปี แต่ก็จะมีการดึงให้ช้าออกไปอีก

"ข้อกำหนดที่ผู้ประกอบการขออนุญาตเพิ่มเวลามีการขยายรูปแบบร้านค้าปลีกใหม่ๆนั้นไม่ได้เป็นการชะลอการขยายตัวอขงธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้เลย เนื่องจากใช้เวลาขออนุญาตไม่ถึงเดือน แต่ถ้าให้ขออนุญาตทุกครั้งที่มีการตั้งสาขาใหม่ก็จะเป็นการชะลอการเกิดขึ้นของแต่ละสาขาและทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้มีเวลาปรับตัว"

นอกจากการปรับตัวในส่วนของห้างร้านแล้ว สินค้าที่จะนำมาจำหน่ายก็เป็นอีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งสินค้าโอทอปก็ถือเป็นอีกโอกาสหนึ่งในการสร้างความแตกต่างให้กับร้านค้าปลีกของไทย โอทอปดีๆทำให้แข่งกับดิสเคาน์สโตร์ได้ แต่ทุกวันนี้โอทอปดีๆถูกซื้อไปหมดแล้ว ดังนั้นภาครัฐก็ควรให้การสนับสนุนโอทอปของไทยให้สามารถพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด รวมถึงการให้ความรู้ด้านการตลาดด้วย โอทอปบางรายอาจจะผลิตได้ไม่มาก สามารถจำหน่ายในห้างร้านคนไทย มีกำไรอยู่ได้ แต่ถ้าจะเข้าดิสเคาน์สโตร์หรือห้างใหญ่ๆก็ต้องเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อป้อนดิสเคาน์สโตร์ให้ครบทุกสาขาแต่ก็มีค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่ช่องทางดังกล่าวซึ่งท้ายที่สุดแล้วกำไรต่อหน่วยอาจจะน้อยกว่าตอนที่ผลิตน้อยๆ ขายผ่านห้างร้านของคนไทยก็ได้ สิ่งเหล่านี้ต้องถ่ายทอดให้โอทอปได้พิจารณา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.