|
เผยภาพรวมธุรกิจไตรมาส2ยอดทำกำไรหดเหตุต้นทุนพุ่ง
ผู้จัดการรายวัน(2 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติเผยภาพรวมธุรกิจช่วงไตรมาส 2 มีความสามารถในการทำกำไรลดลงอยู่ในระดับ 8.2% จากต้นทุนด้านต่างๆที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ขยับเพิ่ม คาดหลังการเมืองคลี่คลายมีโอกาสกระเตื้อง
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ภาคธุรกิจโดยรวมมีความสามารถในการทำกำไรลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8.2% ผลเกิดจากต้นทุนของบริษัทต่างๆ ในภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ทำให้อัตรากำไรเบื้องต้น(Gross Profit Margin) ลดลงมาอยู่ที่ 18.5% ซึ่งต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม แม้อัตราการทำกำไรสุทธิและอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวมลดลง ซึ่งวิเคราะห์จากอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี(EBIT) ต่อสินทรัพย์ลดลงอยู่ที่ระดับ 13.7% แต่ยังถือว่าสูงกว่าช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคธุรกิจยังมีประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ได้ดี
สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 3.4% เนื่องจากการขยายการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อหักการลงทุนดังกล่าวในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า ภาพรวมการขยายการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมีทิศทางที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น ทั้งในเรื่องราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ และภาวะการเมือง ทำให้ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานและตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ในระยะกลางถึงระยะยาวมีประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ที่ยังคงปรับตัวดีต่อเนื่อง รวมทั้งฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจโดยรวมที่แข็งแกร่ง และ Financial leverage ที่ลดลงช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น(D/E) ลดลงต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ 1.1 เท่า ทั้งนี้เป็นผลมาจากการลดลงของหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นปรับสูงขึ้นจากกำไรสะสมที่มีระดับสูง
ขณะที่รายได้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ความสามารถในการชำระหนี้จึงยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนให้เห็นว่าอัตราส่วนรายได้ต่อภาระดอกเบี้ยจ่ายที่อยู่ในระดับ 7.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจมาก ซึ่งช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ และหากภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น ภาคธุรกิจจะมีความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจและตัดสินใจลงทุนเพิ่มมากขึ้นได้
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 43 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการผลิตและการต้นทุนการผลิตปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ขณะที่ผลประกอบการ การจ้างงาน การลงทุน และคำสั่งซื้อลดลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในสาขาสาธารณูปโภค ก่อสร้าง การค้าและการขนส่ง มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นตามองค์ประกอบด้านผลประกอบการ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น จึงช่วยชดเชยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในสาขาอุตสาหกรรมและการเงินที่ลดลง
สำหรับภาคการผลิตมีกำลังการผลิตที่เพียงพอและมีปริมาณสินค้าคงคลังในรูปสินค้าสำเร็จรูปในระดับสูงทรงตัวใกล้เคยงกับเดือนก่อน สะท้อนยอดขายที่ลดลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ ขณะที่ปริมาณสินค้าในรูปวัตถุดิบอยู่ในระดับที่ค่อนข้างเหมาะสม
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ จำแนกตามสาขาการผลิต ล่าสุดในเดือนสิงหาคมเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2549 โดยสาขาอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 43 เทียบกับเดือนก่อนที่ 44.4 สาขาการเงินอยู่ที่ 48.8 จากเดือนก่อน 54.2 ขณะที่สาขาสาธารณูปโภคในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 53.4 เทียบเดือนก่อน 40 สาขาก่อสร้าง 44.2 เทียบเดือนก่อน 44 สาขาการค้า 40.9 จากเดือนก่อน 38.5 สาขาขนส่งอยู่ที่ระดับ 48.6 จากเดือนก่อน 39.6 และสาขาบริการในเดือนสิงหาคมทรงตัวจากเดือนก่อนที่ระดับ 62.5 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปัญหาการเมืองเริ่มคลี่คลายคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|