BTคาดเศรษฐกิจปี50โต3.1-4.1%


ผู้จัดการรายวัน(2 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สำนักวิจัยไทยธนาคารประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจปี 50 ขยายตัว 3.1-4.1% ชะลอตัวจากปี 49 เล็กน้อย โดยภาคการส่งออกจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯจะชะลอตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยจะลดลงตามราคาน้ำมัน ทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพที่ดีขึ้น

สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคารประเมินทิศทางเศรษฐกิจในปี 2550 จากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2549 เพราะปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยมากขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลกโดยเฉลี่ยจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2549 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับลดลง เนื่องจากการปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อ ประกอบกับระดับการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกันที่มีมากขึ้น เช่นการจัดทำ FTA ของประเทศต่างๆช่วยเพิ่มปริมาณการค้าของโลกให้ขยายตัวสูงต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจโลกในปี 2550 แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจน ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและอินเดียที่ยังเติบโตสูงต่อเนื่อง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร และ กรรมการผู้จัดการ บลจ.บีที จำกัด ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2549 เล็กน้อย โดยคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3.1–4.1% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่น่าพอใจ เพราะแม้ว่ามีเหตุการณ์รัฐประหารโดยไม่มีความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเพียงระยะสั้น ระยะกลาง ในขณะที่การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น และงบประมาณรายจ่ายปี 2550 ที่จะมีการเบิกจ่ายงบประมาณได้เร็วกว่าเดิม ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมากขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันในประเทศที่จะต่ำกว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 2549 รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับลดลง ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและนักลงทุนในประเทศระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารอาจทำให้การลงทุนของต่างชาติบางส่วนชะลอตัวออกไปก่อนจนกว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งมีการตัดงบประมาณความช่วยเหลือทางการทหาร และภาคส่งออกอาจจะเผชิญกับการกีดกันทางการค้ามากขึ้น มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับต่ำกว่า 4%

อย่างไรก็ตาม การส่งออกจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกที่ยังขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ ประกอบกับการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจน ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวประมาณ 2.8–3.8% ใกล้เคียงกับปี 2549 โดยได้แรงหนุนจากราคาขายปลีกน้ำมันเฉลี่ยที่จะต่ำกว่าปี 2549 และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับลดลง ทำให้อัตราค่าครองชีพชะลอตัวลง

ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในปี 2550 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทั้งเสถียรภาพในประเทศและภายนอกประเทศ โดยที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงตั้งแต่ปลายปี 2549 เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 3.0–4.0% ในขณะที่ดุลการค้าจะเกินดุลเป็นปีแรกหลังจากที่ขาดดุลการค้าติดต่อกัน 2 ปีคือในปี 2548 และ 2549 โดยการเกินดุลการค้าดังกล่าว ประกอบกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และจะมีผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันอาจปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้อีก เป็นประเด็นที่ผู้บริหารด้านเศรษฐกิจจะต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด และส่งสัญญาณเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายประธาน จิวจินดา หัวหน้าวิจัยเศรษฐกิจมหภาคและตลาดเงิน สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร คาดว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จะทรงตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2549 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ระยะ 14 วันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับลดลงในช่วงตั้งแต่ไตรมาส 1-2 ของปี 2550 ในขณะที่สภาพคล่องในระบบยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.