บังคับคดีโยกอสังหาฯ4หมื่นล้านพักนอกบัญชีเป้าขายทรัพย์ปี'50-เหตุระบายยาก


ผู้จัดการรายวัน(2 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

กรมบังคับคดีปรับสูตรการขายทรัพย์ปีงบประมาณ 50 เสนอกระทรวงขอตัดทรัพย์ที่ขายยากกว่า 40,000 ล้านบาท มาพักไว้ต่างหากกับเป้าการขายทรัพย์ที่วางไว้ 1.9 แสนล้านบาท ส่งผลตัวเลขที่ต้องผลักดันทรัพย์ประมาณ 1.4-1.5 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในวิสัยที่กระทำได้ ระบุปีงบประมาณ 49 คาดทำได้ตามเป้า 1.8 แสนล้านบาท เดินหน้าสื่อมวลชนสัญจร ครั้งที่ 4 จ.ภูเก็ต เพื่อส่งเสริมทรัพย์เด่นให้แก่นักลงทุน

นายสิรวัต จันทรัฐ อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยถึงแนวทางการผลักดันทรัพย์สินของกรมฯว่า ขณะนี้ทางกรมฯพยายามดำเนินการผลักดันทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ตลอดทั้งปีงบประมาณ 2549 (ต.ค.48- ก.ย.49) ที่ 1.8 แสนล้านบาท(เป้าดังกล่าวรวมถึงการจำหน่ายสิทธิเรียกร้องลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ที่มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ) โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามที่วางนโยบายไว้ ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 49 มีการผลักดันทรัพย์สินออกไป 1.6 แสนล้านบาท แต่ที่สามารถขายได้ในช่วงระยะ 10 เดือนจำนวน 40,705 คดี ราคาประเมิน 63,384.18 ล้านบาท ราคาที่ขายได้ 48,386.69 ล้านบาท (พิจารณาตารางประกอบ)

ส่วนที่ไม่สามารถขายได้ ก็จะคงค้างมายังปีงบประมาณ 2550 (ต.ค.49-ก.ย.50) ขณะเดียวกันในแต่ละเดือนจะมีคดีเกิดขึ้นเข้าสู่กรมบังคับคดี แต่ในช่วง1-2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขไหลเข้ามามีปริมาณไม่มากเท่ากับกับในช่วงปี 2547 ถอยไป เนื่องจากในตอนนั้นธนาคารพาณิชย์ต่างเร่งดำเนินการคดีกับลูกหนี้ ประกอบกับนโยบายของกระทรวงการคลัง ได้กำชับให้เร่งจำหน่ายคดีออกไป ส่งผลให้การผลักดันทรัพย์มีตัวเลขค่อนข้างสูง เช่น ตามรายงานสถิติการผลักดันทรัพย์ประจำปีงบประมาณ 2548 (ต.ค.47-ก.ย.48) ผลักดันทรัพย์ได้ 95,699 คดี ราคาประเมิน 205,262.2 ล้านบาท

"เราต้องเร่งรัดขายทรัพย์สินออกไป เพื่อให้ทรัพย์เหล่านั้นมีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุด ขณะเดียวกันยังช่วยลดความสูญเสียให้แก่เจ้าหนี้ แต่ก็มีทรัพย์บางรายการที่ประมูลเกินกว่า 6 ครั้งแล้ว ก็ยังไม่สามารถผลักดันออกไปได้ ทางกรมบังคับคดีคงต้องหาวิธีที่จะลดปริมาณทรัพย์ประเภทดังกล่าว ซึ่งเมื่อรวมทรัพย์สินที่ขายลำบากสะสมกันแล้วมีไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท ส่วนนี้คงต้องทำเรื่องให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับบริษัท ทริสเรตติ้ง จำกัด ที่จะเข้ามาประเมินผลงานของกรมฯให้เข้าใจ"นายสิรวัตกล่าว

โดยตามแผนของการผลักดันทรัพย์ในปีงบประมาณ 50 ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 196,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากในส่วนนี้มิได้ตัดทรัพย์สินที่ขายลำบากออกไป ดังนั้นทางกรมฯจะเสนอเป้าหมายการผลักดันทรัพย์สินใหม่อยู่ที่ 140,000-150,000 ล้านบาท แทน แต่ทั้งนี้ คงต้องรอให้มีการอนุมัติก่อน คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน

ก่อนหน้านี้ ทางกรมฯได้จัดรายการสื่อมวลชนสัญจร 3 ครั้ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการประชาสัมพันธ์ทรัพย์ที่เด่นให้แก่ผู้ที่สนใจได้รับทราบ และในครั้งสุดท้ายจะเป็นการสัญจรไปยังจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองไทย โดยมีการลงทุนจากภาคเอกชนไทยทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่น รวมถึงนักลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับความคืบหน้าของการแก้กฎกระทรวง เพื่อให้เอกชนสามารถขายทรัพย์ที่กรมบังคับคดีได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา ซึ่งได้เรียกกรมบังคับคดีเข้าชี้แจงรายละเอียดของร่างดังกล่าวในวันที่31 สิงหาคมนี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาและสามารถประกาศใช้เป็นกฎกระทรวงได้ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะแล้วเสร็จและประกาศใช้ได้เมื่อใด ทั้งนี้ หากกฎกระทรวงดังกล่าวประกาศใช้ก็เชื่อว่าจะทำให้กรมบังคับคดีสามารถระบายทรัพย์ออกไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่

อนึ่ง ในช่วงที่ผ่านมา มีกระแสข่าวจากธนาคารพาณิชย์ในฐานะเจ้าหนี้ ยื่นเรื่องต่อสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้ประสานกับกรมบังคับคดี เกี่ยวกับชำระหนี้จากการขายทรัพย์สินได้ ซึ่งทางธนาคารมองว่าเป็นความสูญแก่ธนาคาร ขณะที่ทางกรมฯต้องใช้เวลาในการพิจารณาความถูกต้องของการชำระคืน และความชัดเจนจากฝ่ายบัญชี อย่างไรก็ตาม อธิบดีฯได้มีการกำชับให้แต่ละภาคเร่งรัดกระบวนการชำระคืนรายได้จาการจำหน่ายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้โดยเร็ว ก่อนหน้านี้ ทางอธิบดีกรมบังคับคดีฯระบุว่า ทางกรมฯมีเงินที่ได้จากการจำหน่ายทรัพย์ รายได้จากค่าธรรมเนียมการเบิกถอนคดีและอื่นๆ รวมเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท ที่วางไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.