บลจ.กรุงไทยบุกหนักธุรกิจกองทุนรวม


ผู้จัดการรายวัน(2 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

KTAMตั้งเป้าเอ็นเอวีกองทุนรวมภายในสิ้นปีนี้แตะ 2 หมื่นล้านบาท เล็งออกกองทุนใหม่ๆตอบสนองความต้องการลูกค้า หลังปรับโครงสร้างการบริหาร ประธานกรรมการคนใหม่ "ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย" โชว์วิสัยทัศน์รักษาตำแหน่งผู้นำธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่เป็นยักษ์ใหญ่ครองมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่ง ขณะที่ธุรกิจกองทุนรวมผลการดำเนินงานต้องอยู่ในระดับแนวหน้า

นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTAM) เปิดเผยภายหลังเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบลจ.กรุงไทยว่า แผนการดำเนินงานของบริษัทจะให้ความสำคัญกับรักษาตำแหน่งผู้นำในธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งบริษัทครองส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์อับดับหนึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ภายใต้การบริหารจัดการ 6 หมื่นกว่าล้านบาท

สำหรับในส่วนของธุรกิจกองทุนรวมในปีนี้คาดว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา โดยเป้าหมายสำคัญของกองทุนรวมบริษัทให้น้ำหนักกับการเป็นบลจ.ที่บริหารพอร์ตกองทุนอยู่ในระดับแนวหน้า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTAM) เป็นอย่างดี เพราะเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญของบริษัท

นอกจากนี้ บริษัทยังมีพอร์ตกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ภายใต้การบริหารจำนวน 68,957.34 ล้านบาท

"ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะมีกองทุนใหม่ๆ ออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า และผลักดันให้เอ็นเอวีเพิ่มขึ้นตามเป้า"นายไกรฤทธิ์กล่าว

นายศรีภพ สารสาส กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (เอ็นเอวี) ณ สิ้นปี 2549 ไว้ที่ระดับ 2 แสนล้านบาท จากปัจจุบันซึ่งมีเอ็นเอวีอยู่ที่ระดับ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.6 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

สำหรับเป้าหมายซึ่งวางไว้ที่ 2 แสนล้านบาทนั้น บริษัทค่อนข้างมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้า เนื่องจากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทมีแผนออกกองทุนอีกจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนตราสารหนี้เป็นหลัก ขณะเดียวกันก็มีแผนออกกองทุนตราสารทุนเพิ่มอีก 1 กองทุนด้วย

"เดิมทีในช่วงเวลานี้เราจะออกเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนหุ้น แต่มาเจอรัฐประหารก่อน จึงต้องชะลอแผนการออกกองทุนเหล่านี้ไปก่อน เพราะไม่มั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อภาวะการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ขณะที่ตลาดหุ้นเองก็มีความผันผวนค่อนข้างมาก แต่เชื่อว่ากองทุนดังกล่าวน่าจะออกได้ทันภายในปีนี้"นายศรีภพกล่าว

สำหรับแผนการออกกองทุนอื่นๆ นั้น บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางรายเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) เพียงแต่ระบุระยะเวลาไม่ได้ว่าผลเจรจาจะแล้วเสร็จเมื่อไร เนื่องจากการออกพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ ให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีราคาที่เหมาะสม ผลตอบแทนที่เหมาะสม และมีสภาพคล่องการซื้อขายที่ดี

"ตอนนี้เราอยู่ระหว่างเจรจาในเรื่องของราคา เพราะหากราคาที่ซื้อสูงเกินไป ก็จะกระทบต่อผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนควรได้รับด้วย ดังนั้นในเรื่องของราคาซื้อจำเป็นต้องให้สอดคล้องกับผลตอบแทนที่ควรได้รับ ส่วนจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทใดนั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้"นายศรีภพกล่าว

ส่วนการทำรัฐประหารโดยคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นั้น ไม่ได้ส่งผลต่อธุรกิจ บลจ. มากนัก เพราะที่ผ่านมาก็ไม่มีนักลงทุนมาไถ่ถอนหน่วยลงทุนแต่อย่างใด ตรงข้ามกลับน่าจะทำให้บรรยากาศความอึมครึมทางการเมืองมีความชัดเจนขึ้นด้วย

สำหรับพอร์ตกองทุนรวมภายใต้การบริหารของบลจ.กรุงไทย ณ วันที่ 22 กันยายน 2549 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 99,049.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2548 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 89,552.64 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9,497.03 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10% ครองส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อันดับ 4

ขณะที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ภายใต้การบริหาร ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2549 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 68,334.04 ล้านบาท ครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ส่วนกองทุนส่วนบุคคล ภายใต้การบริหาร ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2549 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 293.31 ล้านบาท มาร์เก็ตแชร์อันดับ 20

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนชื่อมาจาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม มหานคร เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2542 ต่อมาได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 100 ล้านบาทเป็น 200 ล้านบาท เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแห่งเดียวที่มีสถานะเป็น รัฐวิสาหกิจ โดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 99.99 บริษัท รับจัดการบริหารสินทรัพย์ให้กับสถาบัน องค์กร และ รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ภายใต้ใบอนุญาตบริหารกองทุนรวม, กองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมจากกระทรวงการคลัง วันที่ 4 สิงหาคม 2542 เปลี่ยนชื่อจาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม มหานคร จำกัด เป็น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กรุงไทย จำกัด 23 ธันวาคม 2542 เพิ่มทุนจดทะเบียนและชำระแล้วจาก 100 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาท

26 ธันวาคม 2543 ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ กองทุนส่วนบุคคลจากกระทรวงการคลัง 3 พฤษภาคม 2544 เปลี่ยนชื่อจาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กรุงไทย จำกัด เป็น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด และเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด โดยใช้ชื่อว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.