Trend setter

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

การย้ายทรงศักดิ์ เปรมสุข จากรองกรรมการ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เป็นการ "สานต่อ" งานจากสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล ที่ได้ลงหลักปักฐานไปมากแล้ว

สิ่งที่ทรงศักดิ์ต้องทำคือ การเพิ่มโทนสีสัน รูปแบบการนำเสนอ ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นผู้ชมในระดับ mass เป็นเป้าหมายหลักที่ไอทีวีกำลังจะฉีกบุคลิกเดิมๆ ของไอทีวี

ทรงศักดิ์ มาจากพื้นฐานครอบครัวธรรมดา เกิดและโตในย่านคลองสาน ฝั่งธนบุรี พ่อรับราชการ บ้านเปิดขายของชำ แม้จะคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงเอเยนซี่หลายสิบปี แต่บุคลิกของทรงศักดิ์จะค่อนข้างจะเรียบง่ายไม่หวือหวา ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับท่องเที่ยว ตกแต่งบ้าน ทำอาหาร ฟังเพลงแจ๊ซ มีบ้านทาวน์เฮาส์ในบ้านสวนริมคลองบางมด ของแปลนเอสเตท ซึ่งคนที่อยู่ส่วนใหญ่เป็นคนในแวดวง ทำงานศิลปะ เอเยนซี่ อยู่กับภรรยาที่เป็นแม่บ้าน และลูกสาว 2 คน คบหาเพื่อนกลุ่มเดิมๆ ที่คบหากันมาตั้งแต่เด็ก

ทรงศักดิ์ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพื่อนสมัยเรียนที่นั่นก็ยังคบหาอยู่จนทุกวันนี้ สำหรับเขาแล้ว ที่นี่นอกจากจะเป็นแหล่งบ่มเพาะทางความคิดที่มีอิทธิพลต่อ การเรียนรู้ของเขาในเวลาต่อมา

"เป็นสถานที่แรกที่ทำให้ผมเติบโตทางความคิด โรงเรียนสวนกุหลาบในช่วงนั้นถือเป็นช่วงที่ดีมาก ที่สนับสนุนให้เด็กกล้าแสดงออก ผมรู้สึกสนุกมาก ผมไม่เคยเห็นโรงเรียนไหน ที่มีบอร์ดเป็น 100 บอร์ด ให้เด็กเขียนอะไรก็ได้" ทรงศักดิ์ย้อนอดีตอย่างมีความสุข

บทความวิจารณ์ภาพยนตร์ และหนังสือของทรงศักดิ์ เป็นหนึ่งในข้อความที่ได้ติดลงในบอร์ดเหล่านี้ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงออกทางความคิดครั้งแรกของเขา ก่อนจะมาแสดงออกในงานละคร ที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษ

เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย คณะสถาปัตยกรรม เอก Industrial Design สถาบันพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ทรงศักดิ์เข้าร่วมในชมรมละครทั้งในรั้วมหาวิทยาลัย และยังร่วมกับกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว ที่โด่งดังมากๆ ในเวลานั้น และยังร่วมอยู่ใน กลุ่มทำละครให้กับสถาบันเกอเต้ ซึ่งทำให้เขาต้องใช้เวลาเรียน 5 ปี แทนที่จะเป็น 4 ปีเหมือนปกติ

ทรงศักดิ์ไม่ได้ทำงานเป็นนักออกแบบอุตสาหกรรมตามที่ร่ำเรียนมา กิจกรรมในวัยเรียนส่งผลให้ทรงศักดิ์ ผันตัวเองไปทำงานด้านกราฟิกดีไซน์ และงานด้านครีเอทีฟ โดยร่วมกับเพื่อนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงหนังสือ เปิดบริษัทแมทช์บ็อกซ์ขึ้นมา เริ่มต้นจากงานด้านกราฟิกดีไซน์ และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาใช้ชีวิตในงานด้านโฆษณามาตลอดในช่วงการทำงาน

งานแรกที่ถือเป็นใบเบิกทางสำหรับพวกเขา คือ การออกแบบรายงานประจำปีให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นผลงานทำให้แมทช์บ็อกซ์แจ้งเกิดในเวลาอันรวดเร็ว

แต่ทำได้พักใหญ่ เริ่มมีหนี้สิน ลูกค้าไม่จ่ายเงิน ทรงศักดิ์ บอกตัวเองว่า "ถ้าจะไม่ดี ทำงานแล้วมีหนี้" หลังเคลียร์หนี้สินเสร็จ เขาขอแยกตัวออกไปหาประสบการณ์จากภายนอก เริ่มชีวิตการเป็นลูกจ้างครั้งแรกที่บริษัทสตูดิโอ เท็น จากนั้นมาเริ่มงานที่บริษัทพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง ที่มีไพบูลย์ ดำรงชัยธรรมเป็นผู้ก่อตั้ง นับเป็นอีกช่วงหนึ่งชีวิตการทำงานที่ทำให้เขาได้ทำงานด้านการตลาด เป็นมิติใหม่ของการเรียนรู้

แต่ด้วยความชื่นชอบงานด้านโฆษณา ทรงศักดิ์หวนกลับมาสู่แวดวงเอเยนซี่อีกครั้ง คราวนี้เขาก้าวไปเป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์ ดีดีบี นีทแฮล์ม ถือเป็นครั้งแรกของการเข้าร่วมกับบริษัทโฆษณาข้ามชาติ ทำอยู่ 3-4 ปี ย้ายไปอยู่ดีวายอาร์ คราวนี้ไต่เต้าจนได้เป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์

แม้จะออกไปหาประสบการณ์จากภายนอก แต่เขายังติดต่อกับเพื่อนกลุ่มเอสซี แมทช์บ็อกซ์เป็นประจำ ซึ่งเป็นช่วงที่กิจการกำลังไปได้ดี จากการจับจุดขายที่ถูกต้อง โดยมุ่งเน้นการออกแบบที่เนื้อหาสาระทำให้แมทช์บ็อกซ์ เป็น 1 ใน top 5 ของบริษัทรับทำรายงานประจำปี

และข้อดีที่มากไปกว่านั้น คือ การได้สัมผัสกับผู้บริหารระดับสูง ที่ต้องให้วิสัยทัศน์ในการทำงาน เป็นการเรียนรู้ในอีกด้านหนึ่งของเขา

ว่าไปแล้ว การเติบโตในช่วงหลังของเอสซี แมทช์บอกซ์ จำกัด ถือว่าเกิดมาในจังหวะที่ดี เป็นช่วงรุ่งโรจน์ของเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นของไทย ก่อให้เกิดกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมากมาย และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ชินคอร์ปอเรชั่น

การทำรายงานประจำปีให้กับกลุ่มชินคอร์ป นับเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญ ไม่เพียงแต่ทำให้เอสซี แมทช์บ็อกซ์ ขยายตัวเองมาเป็น เอเยนซี่ ทำงานโฆษณา ที่มีลูกค้ารายแรกคือ ไอบีซีเคเบิลทีวี แต่เป็นจุดเปลี่ยนของการเข้าไปเป็นเอเยนซี่เฮาส์ภายในให้กับบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น ซึ่งกำลังขยายธุรกิจด้านสื่อสารออกไปอย่างมากมาย

"เพื่อนชวนผมกลับมาทำ ผมเองก็สนใจมาก เพราะไอบีซี เป็นสินค้าที่เป็น trend setter มากๆ พอดีตอนไปพรีเซ็นต์งานได้เจอ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก็ชวนมาทำงานโฆษณาให้ ผมเลยลาออกจากดีวายอาร์ กลับมาที่เอสซีแมทช์บ็อกซ์อีกครั้ง"

10 ปี ของการอยู่ร่วมกับกลุ่มชินวัตร ตั้งแต่ 2534 ที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น เอสซี แมทช์บ็อกซ์ จนถึงปี 2544 ถือเป็นประสบการณ์ ที่ดีสำหรับเขา ทำให้เขาไม่เพียงแต่รู้เรื่องราว ธุรกิจของกลุ่มชินคอร์ปมาตั้งแต่ต้น ซึ่งล้วน แต่เป็นธุรกิจที่เป็นแนวโน้มใหม่ของสังคมไทย ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเคเบิลทีวี โทรศัพท์ มือถือ

การกระโดดข้ามไปเป็นรองกรรมการ ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาด บริษัทเอไอเอส ถือว่ามีค่าสำหรับทรงศักดิ์มาก นอกจากทำให้เขาเรียนรู้งานด้านการตลาดอย่างแท้จริง ในยุคที่โทรศัพท์มือถือได้ก้าวสู่ความเป็นตลาด mass ที่ต้องแข่งขันอย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ ระดับพันคนอย่างเอไอเอส ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับองค์กร เอเยนซี่ที่มีคนไม่กี่สิบคน

"ช่วงนั้นเป็นการเปลี่ยน paradigm ทางความคิดใหม่หมด ทำให้เรียนรู้กว้างมากขึ้น การมาอยู่องค์กรระดับพันคนอย่างไอทีวี จึงไม่ต่างไปจากที่เคยอยู่ในองค์กร เอไอเอสมาก่อนหน้านี้" ทรงศักดิ์บอก

ในกลุ่มชินคอร์ป แม้จะมีผู้บริหารเป็นจำนวนมาก แต่ประสบการณ์ส่วนใหญ่เป็นงานการตลาดและการจัดการ ประสบการณ์ในงานครีเอทีฟของทรงศักดิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสรรค์งานโฆษณาที่สร้างบุคลิกให้โทรศัพท์มือถือมาตั้งแต่เริ่มต้น จึงทำให้เขาเหมาะสมกับสถานการณ์ของ ไอทีวีในเวลานี้ ที่จำเป็นต้องสร้างบุคลิกของความเป็น trend setter ให้เด่นชัดมากขึ้น

การเข้ามาในไอทีวีในช่วงเวลานี้จึงเป็นการสานต่อจากงานของสรรค์ชัย ที่ได้สร้างให้ไอทีวีมีทิศทางที่ชัดเจน ในระดับหนึ่งแล้ว เป็นเรื่องการสร้างบุคลิกใหม่ของการเป็นสถานีข่าวไอทีวี ในการขยายเข้าสู่ตลาดผู้ชมในระดับ mass ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีเนื้อหา และรูปแบบของการนำเสนอแตกต่างออกไปจากเดิม

"มิติของไอทีวีที่จะเห็นต่อจากนี้คือ มิติของการนำเสนอที่กว้างขึ้น เป็น mass media ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่า คนที่บริโภคเป็นใครบ้าง และประเด็นของผมคือ การเปลี่ยนแปลงต้องเกิด และต้องใหญ่พอที่จับต้องได้"

นอกจากนี้ การคลุกคลีอยู่ในแวดวงโฆษณา ทำให้เชื่อว่า ทรงศักดิ์น่าจะเข้าใจความต้องการของเอเยนซี่ ที่เป็นลูกค้าหลักที่สำคัญที่มีผลต่อรายได้โฆษณาได้ไม่ยากนัก

ด้วยภารกิจใหม่ ทำให้เขาต้องฉีกตัวเอง แบ่งเวลา มาดูรายการโทรทัศน์ อ่านหนังสือวัยรุ่น ฟังเพลงยอดนิยม 10 อันดับของวัยรุ่น ที่ไม่ใช่เพลงแจ๊ซ และนิตยสารท่องเที่ยว ตกแต่งบ้าน ทำอาหาร ที่เขาชื่นชอบมาตลอด และต้อง นั่งชมรายการในเคเบิลทีวีบางรายการ ที่เขาไม่เคยชอบ เพื่อเรียนรู้แนวโน้มของความนิยม ภารกิจหนึ่งของผู้นำในสถานีโทรทัศน์ที่ต้องก้าวไปสู่ความเป็น trend setter



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.