Risk management

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจมาตรฐานของไทยได้จัดตั้งหน่วยงาน Risk management ขึ้นมาอย่างเป็นระบบ หลังจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 แม้ว่าจะเริ่มต้นมาจากแรงกดดันว่าด้วยมาตรฐานธุรกิจของระบบทุนนิยมระดับโลก แต่ผมเชื่อว่า จากนี้ไปความหมายในเรื่อง Risk management เป็นความหมายที่มีนัยอย่างกว้างขวาง

ไม่เพียงประยุกต์ใช้กับธุรกิจเท่านั้น หากนำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ได้ด้วย และอีกแกนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องการบริหารองค์กรเท่านั้น หากหมายถึงการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ การทำงาน และการใช้ชีวิตระดับปัจเจกด้วย

พิจารณาอย่างเผินๆ Risk management เป็นแนวคิดของตะวันตก ซึ่งมีรากความคิดตะวันออกที่ว่าด้วย "ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท" แต่วิธีนำมาประยุกต์ใช้ ดูเหมือนจะแตกต่างกันในระดับเชิงโครงสร้างความคิดอยู่บ้างเหมือนกัน

แนวคิดทางตะวันออก ให้ความหมายกว้างในเชิงนามธรรมระดับปัจเจก ขึ้นอยู่กับผู้นำมาใช้มีความเข้าใจ มีความรู้ และความสามารถในการนำไปใช้

ส่วนแนวคิดตะวันตก พยายามเชื่อมโยงแนวคิดกับสถานการณ์ สภาพแวดล้อม ให้ชัดเจนขึ้น และพยายามสร้างกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานเป็นการทั่วไป ให้ผู้คนเข้าถึงได้อย่างง่าย ที่สำคัญสร้างกระบวนการขึ้นในความพยายามนำไปประยุกต์กับระบบทุนนิยม

แม้ว่าในเชิงวิชาการ คำว่า Risk และ Uncertainty ใช้ในนิยามทั่วไป ส่วน Risk management ใช้กับธุรกิจ แต่ผมคิดว่าชีวิตปัจเจกสังคมยุคใหม่ ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนอย่างมาก ผู้คนต้องเรียนรู้และปรับตัวที่จะจัดการกับสิ่งต่างๆ ในเชิงโครงสร้าง และมีกระบวนการที่แน่นอนมากขึ้น และคิดว่าคำว่า Management คงไม่มีใครหวงไว้ใช้กับวงการธุรกิจเท่านั้น

สิ่งที่ผมเชื่อ และให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้มี 2 มิติ

ความเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์

แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว ก็น่าจะมีความหมายกว้างขวาง ปัจจัยความเสี่ยงในยุคปัจจุบันมีความหมายกว้างขวางมากขึ้น สังคมไทยได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างมากมายในช่วงหลายปีมานี้ หลายสิ่งเราเชื่อกันว่า มันไม่มีทางจะเกิดในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นสึนามิเมื่อ 2 ปีก่อน หรือการรัฐประหารที่ห่างหายไปในช่วงยาว นานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถึง 15 ปี

ทั้งนี้ยังไม่นับสถานการณ์ที่เชื่อมกันทั้งโลก กระทบกันทั้งโลกมากขึ้นกว่าเดิม ชนบทกับเมืองสัมพันธ์กันมากขึ้นจากสื่อที่เป็นใยแมงมุม ที่สร้างขึ้นเพื่อเป้าหมายหลักทางธุรกิจ ในแง่นี้ ปัจจัยความเสี่ยงที่ควรศึกษา มีความหมายกว้างขวางอย่างมาก ขณะเดียวก็มีสิ่งที่เรียกว่า "ความเป็นไปได้" มีมากขึ้นด้วย

การจัดการกับ 'ความเสี่ยง' และ 'ความไม่แน่นอน'

สังคมไทยและผู้คนในสังคม มีวัฒนธรรมในการระแวดระวังในการดำเนินชีวิตต่ำกว่ากว่าสังคมอื่น ที่อยู่ในสังคมสมัยใหม่เช่นเดียวกัน หรือว่าอีกนัยก็คือ สังคมไทยมีปัจจัยความเสี่ยงค่อนข้างมาก คนไทยตายกันมากในการเดินทางวันหยุดเทศกาล บุคคลทั่วไปมีหนี้ทั้งในและนอกระบบอย่างมาก การจัดการธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงใหญ่ มีมาตรฐานทางบัญชีที่ต่ำมากประเทศหนึ่ง วิถีชีวิตสังคมเมืองและหัวเมือง ผันแปรตามกระแสที่ถูกปลุกอย่างรวดเร็ว ตามการโฆษณาของสินค้าหรือสื่อ

รวมทั้งยอมรับอิทธิพลความเชื่อที่ว่าด้วยรสนิยมได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้รวมทั้งความคิดง่ายๆ ทางการเมืองด้วย ซึ่งสามารถบ่งบอกระดับวุฒิทางปัญญาของนักการเมือง ผู้แวดล้อม ซึ่งควรจะรวมทั้งนักข่าวการเมืองด้วย เช่นเดียวกัน หลายคนเชื่อว่า หลักคิดของนักวิชาการไทยจำนวนหนึ่ง มีสถานะคล้ายๆ สสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ของเหลว" (Liquid) เป็นต้น

ปรากฏการณ์ข้างต้น อาจมาจากสภาพสังคมไทยไม่มีวิกฤติการณ์ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง คาดกันว่า จากนี้ไปความเสี่ยงจากสภาพการณ์ภายนอกในเรื่องนี้ อาจจะมีมากขึ้น

การจัดการเรื่องต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเรื่องความเสี่ยง ในแง่นี้มีเป้าหมายอย่างกว้างก็เพื่อสร้างความสมดุล ความสมดุลนี้มาจากปรัชญาวิถีชีวิตที่สมดุล มีพื้นฐานจากความมีเหตุผล ที่สำคัญที่สุด หากพูดระดับปัจเจกก็คือ เป้าหมายและวิถีของการดำเนินชีวิต รวมถึงการประกอบอาชีพ มักจะเชื่อมโยงกับอุดมคติด้วยเสมอ

หรืออย่างน้อย ผู้คนในสังคมควรมีความคิดระดับ Conceptual กับสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยนั่นเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.