|
ภารกิจครั้งใหม่เพื่อ "Save the Whales"
โดย
อนิรุต พิเสฏฐศลาศัย
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ปลาวาฬ คือยักษ์ใหญ่ใจดีของหนูน้อยทั้งหลายในภาพยนต์ฮอลลีวูดหลายเรื่อง นอกจากนั้นปลาวาฬยังเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เรามักแนะนำให้หนูน้อยรู้จักในหนังสือเล่มแรกของเขา ในวัยที่เขาเริ่มหัดออกเสียง
แต่หนูน้อยเหล่านี้คงไม่ทราบว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ในแต่ละปีปลาวาฬของพวกเขาเกือบนับ 2,000 ตัว ต้องโดนไล่ล่าอย่างเหี้ยมโหดโดยเรือล่าปลาวาฬที่ได้รับสัมปทานจากประเทศญี่ปุ่น นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ เพื่อนำเนื้อปลาวาฬไปสนองความ ต้องการของผู้บริโภคในประเทศเหล่านั้น
ในอดีตการล่าปลาวาฬเพื่อการค้า (Commercial Whaling) มีจุดประสงค์หลักเพื่อเอาน้ำมันจากปลาวาฬไปทำเทียนไข เครื่องสำอาง น้ำหอม รวมถึงนำเนื้อไปบริโภค ด้วยเช่นกัน Commercial Whaling ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จนเป็นสาเหตุให้จำนวนปลาวาฬทั่วโลก ลดลงอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดปลาวาฬบางชนิดอย่างเช่น Humpback Whale, Fin Whale และโดยเฉพาะ Blue Whale ก็เหลือ น้อยเต็มที จนกลายเป็นหนึ่งใน Endangered Species อย่างเช่นในปัจจุบัน
แคมเปญ "Save the Whales" ในระดับนานาชาติ เริ่มขึ้นในช่วงปี 1975 และประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อองค์การ International Whaling Commission (IWC) ได้ลงมติแบน Commercial Whaling อย่างถาวรในปี 1986 นับแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศ ตะวันตกโดยส่วนใหญ่ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศ "ผู้ล่า" ก็กลับกลายมาเป็น "ผู้ให้ความคุ้มครอง" ปลาวาฬมาจนกระทั่งในปัจจุบัน
ประเทศในกลุ่มพิทักษ์ปลาวาฬ (Anti-Whaling) เหล่านี้ อย่างเช่น อาร์เจน ตินา, ออสเตรเลีย, เบลเยียม, บราซิล, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, โปรตุเกส, สเปน, สวีเดน, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาแบน Commercial Whaling ฉบับนี้ก็เปิดช่องว่างให้สำหรับการล่าปลาวาฬไว้บางกรณีอย่างเช่น อนุญาตให้ชาวพื้นเมืองอลาสกาและกรีน แลนด์ ทำการล่าปลาวาฬเพื่อยังชีพ (Abori-ginal Subsistence Whaling) ได้ในจำนวนจำกัด ซึ่งการล่าประเภทนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันดี ในหมู่ประเทศสมาชิก IWC
แต่ช่องว่างของสนธิสัญญาฉบับนี้ ซึ่งกลายเป็นปัญหาหลักของ IWC มาจนกระทั่ง ปัจจุบัน ก็คือการอนุญาตให้ทำการล่าปลาวาฬ เพื่อการค้นคว้าและวิจัย (Scientific Whaling) ซึ่งอันที่จริงก็คงมีจุดประสงค์ที่ดี แต่กลับกลายเป็นช่องโหว่ให้ไอซ์แลนด์และโดยเฉพาะ ญี่ปุ่นนำไปใช้ล่าปลาวาฬเพื่อการบริโภค โดย ใช้ใบอนุญาตทางการวิจัยเป็นเครื่องมือบังหน้า
การล่าปลาวาฬ Scientific Whaling ของญี่ปุ่นนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีที่ผ่านมา กรมประมงของญี่ปุ่นให้สัมปทานล่าปลาวาฬไปมากกว่า 1,000 ตัวและในปีข้างหน้าคาดว่าจำนวนปลาวาฬทั้งหมดที่จะถูกล่าโดยเรือของญี่ปุ่นจะมีมากถึง 1,300 ตัว โดยจำนวน นี้รวมถึง Humpback Whale (25 ตัว) และ Fin Whale (25 ตัว) ถึงแม้ปลาวาฬทั้งสองชนิดจะเป็นหนึ่งใน Endangered Species ก็ตาม
ส่วนนอร์เวย์ก็ทำการล่าปลาวาฬ Mink Whale ราวๆ 750 ตัวในแต่ละปี โดยนอร์เวย์ ไม่ได้ทำการล่าตาม Scientific Whaling เหมือนญี่ปุ่นและไอซ์แลนด์ แต่นอร์เวย์ใช้สิทธิในการล่าตาม Objection Permit ของ IWC ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นอร์เวย์ทำการคัดค้านสนธิสัญญาฉบับนี้มาตั้งแต่แรก
หลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นและนอร์เวย์ก็เป็นแกนนำสำคัญของกลุ่มประเทศที่สนับสนุน การล่าปลาวาฬ (Pro-Whaling) ในการยกเลิก การแบน Commercial Whaling โดยญี่ปุ่นและนอร์เวย์ให้เหตุผลว่า ปลาวาฬบางชนิดมีจำนวนมากเกินพอที่จะเปิด Commercial Whaling ได้ เพียงแต่ต้องมีระบบการจัดการและควบคุมดูแลที่ดีเพียงพอ ซึ่งเหตุผลนี้เป็นเหตุผลที่ค้านสายตาประเทศ Anti-Whaling ทั้งหลาย และยังขัดกับงานวิจัยบางชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าจำนวนประชากรปลาวาฬในปัจจุบันเหลืออยู่น้อยเกินกว่าที่จะเปิด Commercial Whaling ได้อีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนั้นนักอนุรักษนิยมบางแขนง ยังอ้างว่า ในปัจจุบันจำนวนประชากรของปลาวาฬในทะเล Antarctic (แถบขั้วโลกใต้) ซึ่งเป็นแหล่งปลาวาฬขนาดใหญ่ของโลกนั้นเหลือเพียง 10% ของจำนวนทั้งหมด ที่คาดว่า มีในอดีตก่อนที่ยุค Commercial Whaling จะเริ่มขึ้น ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า Commercial Whaling ครั้งใหม่คงเป็นหายนะที่แท้จริงของปลาวาฬ
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของญี่ปุ่น ก็เริ่มส่อผลสำเร็จ เมื่อประเทศ Pro-Whaling ได้รับชัยชนะในการลงคะแนนเสียงของ IWC ที่ประเทศ Nevis and St.Kitts (ในหมู่เกาะแคริบเบียน) ไปด้วยคะแนน 33 ต่อ 32 ถึงแม้ชัยชนะครั้งนี้จะไม่สามารถยกเลิกสนธิสัญญาฉบับนี้ได้ เนื่องจากต้องได้รับคะแนนอย่างน้อย 3 ใน 4 ของเสียงทั้งหมด แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของกลุ่มประเทศ Pro-Whaling และยังเป็นชัยชนะครั้งแรกในรอบ 20 ปีอีกด้วย
ชัยชนะครั้งนี้ของญี่ปุ่น ก็ถูกชี้นิ้วไปที่การซื้อเสียงในรูปแบบของเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศ ที่ให้กับประเทศขนาดเล็กใน ทะเลแคริบเบียน และประเทศในทะเลแปซิฟิก อื่นๆ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ ในเอเชียและแอฟริกาด้วย ซึ่งเชื่อว่าหลายประเทศเหล่านี้สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของ IWC ด้วยการสนับสนุนของญี่ปุ่น โดยหลายประเทศในกลุ่มนี้ ไม่มีแม้กระทั่งความเกี่ยวพันทางประวัติศาสตร์กับปลาวาฬแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งพรมแดนที่ติดทะเลด้วยซ้ำ (อย่างเช่น มองโกเลีย และมาลี)
อันที่จริงแล้ว เหตุผลในการพิทักษ์ปลาวาฬคงไม่ได้มาจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว เพราะถ้ามองในแง่ความรู้สึก ภาพการล่าปลาวาฬจากทีวีและหนังสือพิมพ์ ที่มีเรือเหล็กขนาดใหญ่ พร้อมฉมวกขนาดน้องๆขีปนาวุธ ไล่ล่ายิงปลาวาฬเวลาที่มันขึ้นมาหายใจ จนเลือดแดง ฉานทั่วผิวน้ำ ก่อนที่มันจะถูกลากขึ้นเรือเพื่อทำการชำแหละและส่งเนื้อส่วนที่ดีที่สุดไปยังผู้บริโภคในญี่ปุ่น เห็นทีไรรู้สึกเหมือนกับว่า เป็นการ "ฆาตกรรม" มากว่า "การล่า" สัตว์ ซึ่งมีความผูกผันทางจิตใจกับมนุษย์ และยังเป็นสัตว์เลือดอุ่นเหมือนอย่างเราๆ ท่านๆอีกต่างหาก
นอกจากนั้น ภาพเหล่านี้ยังสะท้อนให้ เห็นถึง "วัฒนธรรมการใช้ความรุนแรง" ของ มนุษย์ ซึ่งในปัจจุบันหันไปมองทีวีหรือหนังสือ พิมพ์ทีไร ก็เต็มไปด้วยภาพสงคราม การก่อการร้าย และยังการล่าปลาวาฬที่โหดเหี้ยม อีกต่างหาก และเมื่อภาพเหล่านี้ถูกป้อนเข้ามาในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น มันทำให้มนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ สามารถยอมรับวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงได้มากขึ้นไปทุกทีโดยไม่รู้ตัว จนบางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าหนูน้อยของเราเห็นภาพเหล่านั้นบ่อยขึ้น จนวันหนึ่งตั้งคำถามกับเราว่า "การใช้ความรุนแรง" นั้นโอเค ใช่ไหม? แล้วท่านล่ะจะตอบ หนูน้อยเหล่านั้นว่าอย่างไร
ขอขอบคุณภาพประกอบบทความจาก
Whale Watch Kaikoura, New Zealand
(www.whalewatch.co.nz)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|