จีนอนาคต "นักล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ"

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อต้นเดือนกันยายนผมมีโอกาสไปนั่งฟังการบรรยายของ 'Mr.Strategy' เคนอิชิ โอมาเอะ (Kenichi Ohmae) ในหัวข้อ Thailand@the Next Global Stage ที่หอประชุมกองทัพเรือ

แม้หัวข้อในการบรรยายจะเน้นย้ำ ในเรื่องอนาคตของประเทศไทย แต่กูรูยุทธศาสตร์ชาวญี่ปุ่นผู้นี้ กลับใช้เวลาราวครึ่งหนึ่งของเวลาบรรยายทั้งหมดหนึ่งชั่วโมงสามสิบนาที เพื่อกล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจ-สังคมของประเทศจีนในปัจจุบันรวมไปถึงแนวโน้มการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา และที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

โอมาเอะกล่าวถึงการฟื้นคืนชีพของจีน และการเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจโลกว่า เกิดจากปัจจัยเด่นหลายๆ ประการของจีนเอง รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ระหว่างจีนกับต่างประเทศ อันเป็นผลมาจากนโยบายการเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิง และการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยจูหรงจี

โอมาเอะเห็นว่า แท้ที่จริงแล้วในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนได้อานิสงส์อย่างมากจากเทคนิคการบริหาร ธุรกิจของนักลงทุนไต้หวัน ได้เทคโนโลยีเครื่องจักรและส่วนประกอบของญี่ปุ่นได้ตลาดสินค้าจากโลก และที่สำคัญที่สุดก็คือเงินลงทุนจากนานาประเทศ

ข้อมูลจากการสัมมนาด้านการลงทุน-การค้าระดับนานาชาติของจีนครั้งที่ 10 ที่จัดขึ้น ณ เมืองเซี่ยเหมินระบุว่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้แล้วมากกว่า 622,400 ล้านเหรียญสหรัฐ และก็ด้วยสาเหตุที่ประเทศจีนต้องพึ่งพิงปัจจัยนานัปการจากต่างประเทศในการกระตุ้นการเติบโตเช่นนี้เอง ที่ทำให้ Mr.Strategy ชี้ให้ถึงจุดอ่อนของจีน

เขากล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศจีนพึ่งพาคู่อริอย่างไต้หวันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในแง่ของเงินลงทุน เทคนิคการ บริหาร ธุรกิจ ทรัพยากรด้านการบริหาร ฯลฯ โดยปัจจุบันมีคนไต้หวันย้ายไปทำงานในจีนแล้วกว่า 2 ล้านคน และบริษัทไต้หวันกว่า 90,000 แห่ง ที่ไปตั้งอยู่ในจีน ก็ถือเป็นแกนกลางที่ขับดันเศรษฐกิจจีนให้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

โอมาเอะพยายามชี้ให้เห็นว่า การที่ประเทศจีนพึ่งพิงการลงทุนกับต่างชาติโดยเฉพาะไต้หวันอย่างมากนี้ หากเกิดสงครามหรือวิกฤติเศรษฐกิจโลกขึ้น เศรษฐกิจของจีนก็จะประสบกับภาวะความชะงักงันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากประเทศคอมมิวนิสต์หลังม่านไม้ไผ่ ที่ตกอยู่ภายใต้ความวุ่นวายภายในประเทศ จากการปฏิวัติวัฒนธรรมถึง 10 ปี (พ.ศ.2509-2519) ใครจะคาดคิดว่า ณ ปัจจุบัน จีนได้ถูกผูกติดเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็วและแนบแน่นจนแยกกันไม่ออก

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ ในประเทศจีนเริ่มมีการพูดถึง 'ยุทธศาสตร์ก้าวออกไป' หรือในภาษาจีนกลางคือ "โจ่วชูชี่ว์" กันหนาหู

ในช่วง 25 ปีของการเปิดประเทศจีนใช้ 'ยุทธศาสตร์ดึงเข้ามา' หรือการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาในประเทศเป็นหลัก ในการพัฒนาเศรษฐกิจมาโดยตลอด ซึ่งผลจากยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็ประสบผลดังที่เราเห็น คือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยนั้นสูงถึงร้อยละ 8-9 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมีตัวเลขมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้บริหารของประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ยุทธศาสตร์การเติบโตด้วย 'เงินคนอื่น' นั้นยังถือว่า ไม่เพียงพอและไม่ยั่งยืนสำหรับโลกในอนาคต

เนื่องจากการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนยังไม่มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง จีนมีสถานะเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าให้กับบริษัทตะวันตก การสร้างนวัตกรรมของจีน ยังไม่อาจเทียบเท่ากับโลกตะวันตก-ญี่ปุ่น บริษัทจีนและยี่ห้อจีน ยังไม่เป็นที่ยอมรับในสายตาของชาวโลก ฯลฯ

ทั้งนี้เพื่อพิสูจน์ว่า เศรษฐกิจของจีนสามารถที่จะก้าวขึ้นไปทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ได้นั้น จึงมีการอภิปรายถึง 'ยุทธศาสตร์การก้าวออกไป' กันอย่างจริงจัง

สำหรับ 'ยุทธศาสตร์ก้าวออกไป' ของบริษัทจีนทั้งที่เป็นเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่รวดเร็วที่สุด ก็คือ ผ่านวิธีการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ดังเช่นที่เป็นข่าวหนาหูในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น กรณีบริษัท Lenovo ซื้อส่วน PC มาจากยักษ์ใหญ่ IBM หรือกรณีความพยายามเทกโอเวอร์บริษัทน้ำมัน UNOCAL ของ CNOOC (China National Offshore Oil Corp.) และกรณีความพยายามเข้าเทกโอเวอร์บริษัท Maytag ของบริษัท Haier เป็นต้น

ในช่วงที่ผ่านมา แม้ 'ยุทธศาสตร์ก้าวออกไป' ผ่านการซื้อและควบรวมกิจการของต่างประเทศส่วนใหญ่จะประสบกับภาวะล้มเหลว ดังที่ผมเคยเขียนวิเคราะห์ไว้แล้วในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกรกฎาคม (M&A เกมที่จีนเพิ่งหัดเล่น) แต่ความพยายามในการออกไปลงทุนในต่างประเทศของบริษัทจีนก็ยังดำเนินต่อไป และมีความคาดหมายกันว่า จะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งในช่วง 5-15 ปีข้างหน้านี้

หลายคนคงไม่รู้ว่า ในปัจจุบันบริษัทจีนจำนวนไม่น้อย ได้ก้าวออกไปตั้งศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศแล้ว

อย่างเช่น บริษัทหัวเหวย หรือที่ชาวไทยติดปากกันว่า 'หัวเหว่ย' นั้นมีศูนย์วิจัยครอบคลุมอยู่ในหลายทวีปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิจัยที่ซิลิคอน วัลเลย์ และดัลลัสในสหรัฐอเมริกา ศูนย์วิจัยบังกะลอร์ เมืองที่ได้รับฉายาว่าเป็นซิลิคอน วัลเลย์ของอินเดีย ศูนย์วิจัยสตอกโฮล์ม สวีเดน ศูนย์วิจัยมอสโก ที่รัสเซีย เป็นต้น

นอกจากยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมอย่างหัวเหวยแล้ว บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ที่สุดของจีนอย่าง Haier ก็มีศูนย์วิจัยผลิตภัณฑ์นอกประเทศจีนของตัวเองเช่นกัน คือในสหรัฐฯ และปากีสถาน โดยงบการวิจัยในแต่ละปีที่ถูกจัดสรรให้ศูนย์วิจัยเหล่านี้นั้น มีมูลค่าหลายพันล้านหยวน ขณะที่ผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่ของจีนอย่าง TCL ก็มีศูนย์วิจัยผลิตภัณฑ์ของตัวเองจำนวน 18 แห่งตั้งอยู่ใน 4 เมืองทั่วโลก คือ อินเดียน่า (สหรัฐฯ) Villingen (เยอรมนี) สิงคโปร์ และเซินเจิ้น

ทางด้าน ZTE ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน ก็มีศูนย์วิจัยของตัวเองที่ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สวีเดน และปากีสถาน

ส่วน Lenovo ที่แต่เดิมมีเพียงศูนย์วิจัยในประเทศ 4 แห่งคือที่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู และเซินเจิ้น หลังจากที่ซื้อกิจการส่วน PCของ IBM เข้ามา Lenovo ก็มีศูนย์วิจัยของตัวเอง เพิ่มมาอีกสองแห่ง คือในรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

การตั้งศูนย์วิจัยในต่างประเทศของบริษัทจีนเหล่านี้ บ่งชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีทางด้านโทรคมนาค เครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ พยายามที่จะก้าวข้ามขอบเขตของการแข่งขันด้านราคา มาเป็นการแข่งขันด้านคุณภาพ การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นการเสริมความสามารถทางการแข่งขันที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ การก้าวออกไปลงทุนยังต่างประเทศของบริษัทจีน ไม่เพียงกระจุกอยู่ในกลุ่มสินค้าและบริการด้านโทรคมนาคม เครื่องใช้ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปในแขนงอื่นๆ ด้วย เช่น การลงทุนเพื่อค้นหาทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมการก่อสร้างสาธารณูปโภค การขนส่งทางทะเล เป็นต้น

สำหรับประเทศที่นักลงทุนชาวจีนชื่นชอบมากที่สุดนั้น เป็นประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่กระจายอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา ยุโรปตะวันออกและอดีตสหภาพโซเวียต

แม้ว่าการลงทุนในประเทศ/ภูมิภาคเหล่านี้จะมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความเสี่ยงทางการเมืองและความเสี่ยงต่อการเกิดสงคราม อย่างไรก็ตามหลักของการลงทุนที่ว่า ที่ใดความเสี่ยงสูงที่นั่น ย่อมมีผลตอบแทนสูงตามไปด้วย (High -Risk, High-Return) ก็ยังคงติดตรึงอยู่ในหัวใจนักลงทุนจีนส่วนใหญ่อยู่

ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่รัฐบาลยังเป็นเผด็จการและพร้อมจะเกิดสงครามได้ทุกเมื่อ อย่างเช่นประเทศเกาหลีเหนือ ก็ยังมีบริษัทจากจีนไปลงทุน ทั้งบริษัทจีนเหล่านั้น ก็ยังได้รับอานิสงส์จากความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลเปียงยางเป็นการสนับสนุนการลงทุนอย่างดีจากรัฐบาลเกาหลีเหนือด้วย ไม่ว่าจะเป็นการให้สัมปทาน หรือการให้บริการด้านสาธารณูปโภคต่างๆ อย่างเต็มที่

ณ วันนี้แม้ "ยุทธศาสตร์การก้าวออกไป" ลงทุนยังต่างประเทศของบริษัทจีน จะเปรียบได้กับเด็กทารกที่อยู่ในขั้นตอนของการเดินเตาะแตะอยู่ โดยในแต่ละปี จีนมีเม็ดเงินไปลงทุนยังต่างประเทศราว 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ที่โปรยเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศถึงปีละ 50,000-60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่นที่ลงทุนในต่างประเทศจำนวน 35,000-40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯทุกๆปีแล้ว ประเทศจีนยังนับว่าห่างชั้นอยู่อีกมาก

นอกจากนี้ นักลงทุนจีนก็ยังประสบกับอุปสรรคอีกนานับประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่รัฐบาลจีนยังควบคุมอยู่อย่างเข้มงวด บริษัทจีนยังขาดความเชี่ยวชาญในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการหาแหล่งทุน ข้อกฎหมาย การบริหารทรัพยากรบุคคล รวมไปถึงปัญหาที่ยี่ห้อจีน ยังไม่สามารถสร้างชื่อเสียงความเชื่อถือในหมู่ผู้บริโภคได้เท่าที่ควร ฯลฯ

แต่กระนั้นก็ตาม เชื่อว่าอีกไม่นานหาก "ยุทธศาสตร์ก้าวออกไป" ยังคงเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง บริษัทจีนและคนจีนก็คงปรับตัวรับกับสภาวะแวดล้อม กติกาการแข่งขันระดับสากลได้ในไม่ช้า เมื่อวันนั้นมาถึง...คนไทยเราอาจต้องยกจีนให้เป็น "นักล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ" อีกประเทศหนึ่งก็ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.