|
ส่งลูกเรียนศิลปะกับศิลปินใหญ่ @ Ardel Workshop
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้าวันหยุดที่เป็นเหมือนวันแห่งความสุขของลูก กลายเป็นปัญหาหนักสมองของพ่อแม่หลายคน ด้วยเกรงว่าลูกจะใช้เวลาหมดไปกับเกมคอมพิวเตอร์ ละครโทรทัศน์ เดินเล่นในห้าง หรือสารพันกิจกรรมที่ไม่จรรโลงโลกในวัยเด็กของเขา...ศิลปะอาจเป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับลูกๆ ของคุณ
อาคารสี่หลี่ยมคล้ายกล่องดูเรียบง่ายสบายตา ภายในหมู่บ้านเบลล่าวิวล์ เป็นที่ตั้ง Ardel Workshop ห้องเรียนศิลปะสำหรับเด็กขนาด 80 ตร.ม. ที่มีผู้อำนวยการสร้างคนสำคัญคือ "ถาวร โกอุดมวิทย์" จิตรกรระดับปรมาจารย์ชั้นแนวหน้าของวงการศิลปะบ้านเรา
ทุกบ่าย 2 ของวันเสาร์และอาทิตย์ เสียงบรรเลงของเพลง Mozart แว่วมาจากเวิร์กชอปเป็นดังสัญญาณเข้าเรียน เปลี่ยนห้องทำงานของศิลปินใหญ่เป็นห้องเรียนของศิลปินรุ่นจิ๋วตั้งแต่ 4 ขวบ ถึง 12 ปี บ่อยครั้งที่ผลงานราคาเรือนแสนของ อ.ถาวร ถูกสร้างสรรค์พร้อมกับภาพวาดบูดเบี้ยวของศิลปินจอมยุ่งทั้งหลายภายในห้องนี้
อาจกล่าวได้ว่า ที่นี่เป็นโรงเรียนสอนศิลปะแห่งเดียวที่นำศิลปินเอกมาทำงานร่วมกับเด็ก เพราะนอกจาก อ.ถาวร ที่นี่ยังมี "อ.วิมลมาลย์ ขันธะชวะนะ" สุดยอดศิลปินทางด้านภาพพิมพ์ของเมืองไทยรับบทเป็นครูใหญ่ และอาจารย์และนักศึกษาศิลปะจากมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกหลายคนมาร่วมสอนเหล่าจอมแก่น
"ที่นี่ไม่ได้สอนวาดเขียน ไม่ได้ฝึกให้เขาเป็นช่างวาดรูป แต่เรากำลังสอนศิลปะ ฝึกให้เขาเป็นคนที่สนใจ เข้าใจ และกล้าแสดงออกทางศิลปะอย่างมีคุณค่า ฝึกให้เขาเป็นคนมีรสนิยม และมีสุนทรียภาพ ซึ่งไม่ว่าต่อไปเขาจะเป็นอะไร มันน่าจะเป็นสาระสำคัญสำหรับชีวิตเขา" อ.ถาวรเกริ่นถึงหลักการสอนของที่นี่
เมื่อพูดถึงศิลปะเด็ก หลายคนคงนึกถึงสีเทียน แต่เชื่อหรือไม่ ศิลปะเด็กที่นี่ประกอบด้วย เกรยอง สีน้ำ สีน้ำมัน สีอะคริลิก ประติมากรรม แสตมป์ วู้ดคัต การพิมพ์ภาพ การประดิษฐ์ ศิลปะบนพื้นที่สามมิติ และอีกสารพัดเทคนิคระดับเดียวกับนักศึกษามหาวิทยาลัย
ขณะที่อุปกรณ์อย่างดีก็เป็นอย่างเดียวกับที่ศิลปินมืออาชีพใช้กัน ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำมันยี่ห้อ "ศิลปากร" สีน้ำ "non-toxic" ดินสอ EE และแท่นพิมพ์เรือนแสนของ อ.ถาวร ฯลฯ
ทั้งนี้เพราะความหมายของการสอนศิลปะเด็กของที่นี่ หมายถึง ความพยายามทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และคุ้นเคยกับทักษะและเทคนิคต่างๆ ทางศิลปะ
"เราให้ใช้เกรยอง สอนวู้ดคัต สอนประดิษฐ์ ทำ "performance" เช่น เอาสีน้ำมันลอยน้ำเคาะให้เกิดการสั่นไหวของสีน้ำมันที่ลอยอยู่บนน้ำแล้วก็พิมพ์ ...เราสอนให้ทำทุกอย่างที่สามารถแสดงออกทางศิลปะได้ ผมว่าในประเทศนี้ไม่มีใครสอนศิลปะเด็กแบบเราอีกแล้ว"
คอนเซ็ปต์หลักในการสอนของที่นี่คือ การขจัดความกลัวและกระตุ้นความกล้าแสดงออกอย่างเต็มที่ บนพื้นฐานความจริงที่ว่า เด็กทุกคนล้วนมีความกล้าแสดงออกในการขีดเขียน แต่ระบบการเรียนการสอนศิลปะบ้านเราต่างหาก ที่สร้างความกลัว ความไม่มั่นใจให้กับเด็ก ด้วยการตีกรอบแล้วบอกให้เด็กอย่าระบายออกนอกกรอบ และยังบังคับให้วิ่งลู่เดียวกันหมด
"เคยเห็นไหม รูปภูเขาโค้งๆ แล้วมีพระอาทิตย์ตรงกลาง ต้นไม้เป็นแท่งแล้วมีกลมๆ ที่ปลายดอกไม้กลมๆ แล้วมีหยักๆ... เด็กเขียนรูปแนวเดียวกันหมด เพราะเราไปบอกว่ามันต้องเป็นอย่างนี้เป็นอย่างนั้น ไปตัดสินถูกผิด ไปปิดกั้นจินตนาการของเด็ก ซึ่งจริงๆ แล้วศิลปะไม่มีผิดถูก เราต้องให้อิสระเขาเต็มที่"
ขณะที่พ่อแม่บางคนอาจสงสัยกับความสวยงามของภาพ "ไดโนเสาร์หน้าเหลี่ยม" และ "ต้นไม้ทรงหนามทุเรียน" หรือภาพสีน้ำที่ถูกระบายออกนอกกรอบของลูกตัวเอง แต่คุณครูที่นี่ไม่ลังเลที่จะชื่นชมกับภาพเหล่านั้น หรือช่วยแนะให้เด็กแต่งแต้มเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ภาพที่ดีกว่า เพราะนี่คือวิถีทางกระตุ้นความมั่นใจในการแสดงออกซึ่งจินตนาการของเด็กๆ
ผลจากการสอนศิลปะเช่นนี้ไม่เพียงส่งผลต่อความมั่นใจในเส้นสายหรือสีสันที่ลงบนแผ่นกระดาษ แต่ยังนำไปสู่ความกล้าของเด็กในการนำเสนอผลงานหรือแรงบันดาลใจอีกด้วย
การแสดงออกทางศิลปะยังช่วยพัฒนาความมั่นใจ และเปลี่ยนแปลงบุคลิกของเด็กได้ด้วย เช่น จากเดิมที่เป็นเด็กขี้อาย ก็กลายเป็นเด็กที่พูดจาฉาดฉานและกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น
"สิ่งที่เขาได้ก็คือเขากล้าแสดงออก ความคิดเขาก็เป็นอีกระดับหนึ่ง อย่างแต่ก่อน พอบอกอะไรแม้จะไม่เห็นด้วยแต่เขาก็จะรับฟัง แต่พอเรียนที่นี่สัก 2 คอร์ส บอกอะไรมีเถียงกลับตามเหตุผลของเขาเอง" คุณพ่อน้องพริม ศิลปินตัวน้อยหน้าตาจิ้มลิ้มในวัยเพียง 6 ขวบ ยืนยัน
ที่นี่การสอนทุกคลาสจะมีเป้าหมายระบุและแจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่า วันนั้นลูกจะได้เรียนรู้อะไร เช่น เรียนรู้แม่สีและการผสมสี ธรรมชาติของสีน้ำ ความแตกต่างระหว่างศิลปะ 2 มิติ และ 3 มิติ การใช้จินตนาการเมื่อมองเห็นวัตถุรอบตัว การใช้กิ่งไผ่สร้างเส้น รูปทรงและน้ำหนัก การออกแบบในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
ทั้งนี้ในห้องเรียนเดียวกัน หลายครั้งที่นักเรียนตัวน้อยได้เรียนเรื่องเดียวกันในรูปแบบที่แตกต่าง ขึ้นกับทักษะและสิ่งที่เด็กแต่ละคนเคยเรียนผ่านมาแล้ว นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทุกคลาสมีนักเรียนไม่เกิน 20 คน
"เวลาสอนศิลปะเด็ก มันเหมือนมีพลังงานบางอย่างตลอดเวลา พลังงานที่ว่าก็คือความสนใจ ความอยากรู้ ความกระตือรือร้น ที่เราไม่อาจละเลยต่อพลังงานที่ดีงามนี้ เพราะอาจทำให้ความสนใจของเขาตรงนี้ไม่มีวันกลับมาอีกเลยก็ได้ ผมว่า สอนเด็ก 10 คนในห้องเรียนนี้ อาจเหนื่อยกว่าพูดบรรยายให้เด็ก 200 คนฟัง" อ.ถาวรตอบคำถามที่ว่า สอนศิลปะเด็กยากหรือไม่?
คำตอบข้างต้นยังเป็นเหตุผลว่า ทำไม Ardel ไม่ใช้ชื่อ "ถาวร โกอุดมวิทย์" ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี เพื่อการประชาสัมพันธ์โรงเรียนอย่างกว้างขวาง นั่นก็เพราะเกรงว่า ถ้ามีเด็กสมัครเรียนเยอะอาจไม่สามารถคุมมาตรฐานการตอบสนองต่อ "พลังเด็ก" ได้ดีเท่าที่ควร
Art Camp ช่วงปิดเทอมเกิดขึ้นเพื่อขยายจำนวนคลาสเรียน อันเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่ได้เรียนคอร์สปกติ ซึ่งเปิดสอนในบ่ายวันเสาร์และอาทิตย์ได้มาเรียน ถึงวันนี้มีเด็กมาเรียนแล้วราว 70 คน และเด็กหลายคนยังเรียนต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งคอร์สแรกเริ่มต้นเมื่อปลายเมษายนที่ผ่านมา
คล้ายพ่อแม่ส่วนใหญ่ที่ส่งลูกมาเรียนศิลปะก็เพื่อสนับสนุน ความชอบขีดเขียนของลูก คุณพ่อน้องพริมบอกถึงความคาดหวัง ที่ส่งน้องพริมมาเรียนศิลปะที่นี่ว่า "เพื่อเพิ่มอารมณ์สุนทรีย์ให้เขา อยากให้จิตใจเขางดงาม เวลามองอะไรจะได้เห็นความสวยงาม และอยากให้เขารู้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินแล้วศิลปะจึงจะสวย"
ขณะที่พ่อแม่บางคนที่มีลูกไฮเปอร์ไม่ค่อยอยู่นิ่ง ก็หวังจะให้ศิลปะทำให้ลูกมีสมาธิมากขึ้น จากเดิมที่ขยับทุก 5 นาที ก็เพิ่มเป็นสัก 15-20 นาที ส่วนพ่อแม่บางคนที่มีลูกชายหัวดื้อก็หวังเพียงจะแยกลูกออกจากเกมคอมพิวเตอร์ ...แม้เหตุผลจะแตกต่าง แต่ทุกคนเชื่อมั่นว่าศิลปะจะช่วยเสริมพัฒนาการวัยเด็ก ของลูกได้
"เด็กที่ได้เรียนรู้ศิลปะจะละเมียดละไม เพราะศิลปะช่วยให้เด็กรู้จักคิดอย่างละเอียดอ่อน ยกตัวอย่าง ถ้ามองแก้ว เขาจะไม่ได้เห็นแค่น้ำหรือแก้ว แต่จะรู้สึกไปถึงความเย็นและความชุ่มฉ่ำด้วยมโนทัศน์... แต่ถ้าเด็กไม่เคยได้เรียนรู้ศิลปะ สุนทรียภาพที่จะเกิดขึ้นในทุกย่างก้าวของชีวิตก็จะไม่มี"
อีกสิ่งที่ อ.ถาวรย้ำกับผู้ปกครองเสมอ คือ การเรียนศิลปะควรปล่อยให้เป็นความสนใจของเด็กเอง และไม่ควรมุ่งเน้นให้เด็กต้องเป็นศิลปิน เพราะอาจทำให้เด็กเข้าไม่ถึงคุณค่าและสุนทรียภาพของศิลปะอย่างแท้จริง
"ผมสอนศิลปะในมหาวิทยาลัยกว่า 20 ปี รู้ว่าคุณค่าของศิลปะอยู่ตรงไหน มันไม่ได้อยู่ที่ผลงาน แต่อยู่ที่ข้างใน (เอานิ้วชี้ที่หัวใจ) การเรียนศิลปะเป็นทฤษฎีทางจิตนิยม ไม่ใช่วัตถุนิยม เราไม่ต้องการชิ้นงานที่เป็นศิลปะในขณะที่เด็กยังไม่มีความรู้สึกแต่สังคม สอนศิลปะบ้านเรามักมองแต่สสารที่ได้ และตัดสินว่ามันสวยหรือไม่ สำหรับเด็กศิลปะก็จบลงตรงนั้น"
นอกจาก Ardel Workshop พื้นที่ผืนเดียวกันนี้ยังมีอาคารหลังใหญ่อีกแห่งเป็นที่ตั้งของ Ardel Gallery of Modern Art หอศิลป์สมัยใหม่จัดแสดงผลงานของศิลปินทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ ในบรรยากาศสบายๆ ที่เปิดให้ชมฟรี โดยจัดแสดงงานของ อ.ถาวร เป็นการประเดิม
เงินลงทุนกว่า 10 ล้านบาท ถูกใช้เนรมิตพื้นที่กว่า 700 ตร.ม. ผืนนี้ให้กลายเป็น "พื้นที่อุดมคติเล็กๆ ในทางศิลปะ" ที่ที่คนทั่วไปจะมีโอกาสเข้าใกล้และเข้าถึงสุนทรียภาพทางศิลปะ
"อย่างคุณเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เขาอาจจะสร้างวัด (ร่องขุ่น) เป็นพื้นที่อุดมคติ ส่วนผมก็อยากทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่ที่เมื่อทุกคนเข้ามาจะมีความสุข ได้เห็นสิ่งสวยงาม ทุกอย่างในนี้ ผมจึงค่อนข้างเลือกสรรเพื่อจัดให้เป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์ด้วยสุนทรียภาพ"
แง่ธุรกิจ ถ้า อ.ถาวรเอาเวลาไปวาดภาพ เพียง 1 ภาพ ในเวลาไม่กี่วันก็จะได้เงินเฉลี่ย แสนห้าบาท ขณะที่ต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าที่โรงเรียนสอนศิลปะแห่งนี้จะได้กำไรสุทธิมากเท่านั้น
"สิ่งที่เราพยายามทำก็คือ ใช้ศักยภาพและความแข็งแรงของเราเพื่อให้พื้นที่ตรงนี้เติบโต อย่างน้อยมันจะกลายเป็นแบบอย่าง และเราก็อยากให้คนที่ทำโรงเรียนสอนศิลปะมาดูรูปแบบนี้ แล้วถ้าเชื่อมั่นก็เอาแนวคิดไปทำได้เลย เพื่อที่จะได้เกิดพื้นที่อย่างนี้มากๆ จนเป็นสังคมศิลปะในที่สุด"
ปัจจุบัน นอกจากห้องเรียนศิลปะสำหรับเด็ก ที่นี่ยังเปิดสอนศิลปะสำหรับผู้ใหญ่ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองของเด็กที่เรียนที่นี่ โดยหวังจะเห็น Ardel กลายเป็นสถานที่พักผ่อนในวันหยุดของหลายๆ ครอบครัว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|