Power of Music

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ทีมเวิร์ก" คำตอบง่ายๆ ที่ใครก็รู้ว่ามีคุณค่ามหาศาลสำหรับองค์กร แต่ที่ยากก็คือ บรรยากาศแบบไหนที่หล่อหลอมให้ทีมเป็นหนึ่งเดียว ถ้าห้องประชุมไม่ใช่คำตอบ ปาร์ตี้มื้อค่ำก็ยังไม่ช่วย... ลองเปลี่ยนห้องประชุมเป็นห้องซ้อมดนตรีดู บางทีทีมอาจจะ "เวิร์ก" เหมือนกรณีของ
บริษัท อิริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด บ้างก็ได้

เครื่องดนตรีครบชุดที่ล้วนแต่เป็นระดับมือโปร โดยเฉพาะเจ้ากีตาร์ไฟฟ้าราคาแสนห้าที่แสนสะดุดตา ลูกเล่นทางดนตรีของนักดนตรี และลีลาแพรวพราวของนักร้องนำ ที่สะกดผู้ชมให้โยกตัว เคาะโต๊ะ ร้องคลอ และลุกขึ้นมาเต้น รวมถึงเสียงปรบมือและเสียงผิวปากชอบใจ ที่ดังขึ้นเมื่อเพลงจบ และเสียงตะโกน "เอาอีกๆ" เมื่อการแสดงของนักดนตรีเตรียมจะสิ้นสุดลง

เหล่านี้อาจจะทำให้ยากที่จะเชื่อว่าพวกเขาไม่ใช่นักดนตรีมืออาชีพ

แต่เชื่อเถอะว่า นักดนตรีเหล่านี้ล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัททางด้านระบบโทรคมนาคม ที่หลายคนพากันมองว่าเป็นองค์กรที่เคร่งขรึม เครียด จืดชืด และไร้สีสันเป็นที่สุด

เสียงหัวเราะขบขันดังขึ้นทันทีที่นักร้องแนะนำชื่อวงตัวเอง "3 G-string Band" ซึ่งแปลได้ว่า วงนี้มีคนใส่จี-สตริงอยู่ 3 คน แต่หากเล่นในโอกาสที่เป็นทางการพวกเขาจะแนะนำชื่อวงตัวเองเสียใหม่ว่า "3G string Band" ซึ่งลิงก์ถึงตัวบริษัทต้นสังกัดได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ เทคโนโลยี 3G ของอีริคสัน (โอเปอเรเตอร์)

"วงเราเป็นนักดนตรีสมัครเล่นที่มีหลายคนเล่นได้ดี พวกเราเล่นด้วยความสุขและสนุกที่ได้เล่น และเล่นด้วย passion" แม้จะไม่ใช่หัวหน้าวง แต่คำกล่าวของ มร.ฮันส์ โอ คาร์ลสัน ในฐานะประธานและผู้จัดการบริษัท อิริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด และผู้ก่อตั้งวง ก็ฟังดูมี "พาวเวอร์" พอที่จะกล่าวแทนสมาชิกคนอื่น

การประลองดนตรีกับวงชั้นโปรอย่าง "The Executive Band" ในบาร์ Wine Bibber Sangrial ย่านทองหล่อ ครั้งนี้ถือเป็นการแสดงดนตรีครั้งที่ 6 แล้วของวงนี้

3G string Band ก่อตั้งโดย มร.ฮันส์ ราวเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หลังจากที่รับตำแหน่งในประเทศไทย ได้ราว 1 ปี มร.ฮันส์ค้นพบว่า มีพนักงานหลายคนที่เล่นดนตรี และหลายคนก็มีพรสวรรค์ระดับวงมหาวิทยาลัย จึงคิดว่าน่าจะรวมตัวกันเป็นวงเพื่อมาสนุกด้วยกัน และยังเป็นการเติมเต็มความฝันที่อยากจะมีวงดนตรี ซึ่งเขาเคยทำเช่นนี้มาแล้วเมื่อครั้งรับตำแหน่งอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์

มร.ฮันส์เริ่มเล่นดนตรีมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ โดยเครื่องดนตรีชิ้นแรกก็คือ ทรัมเป็ต จนอายุ 16 ปี เขาก็หันไปสนใจกับกีฬาฟุตบอล ก่อนจะกลับมาเล่นกีตาร์เมื่ออายุ 20 ปี และชอบดนตรีเรื่อยมา เขามีกีตาร์ราคาเรือนแสนอยู่หลายตัว เขาประกอบแอมพลิไฟเออร์ด้วยตัวเอง เขากำลังสร้างห้องสตูดิโอที่บ้าน และเขาก็ยังใช้โทรศัพท์ Sony Ericsson W800i ซึ่งเป็นรุ่นที่เอาใจคอดนตรีเป็นพิเศษ

สำหรับกระบวนการ "Star Search" เพื่อหาและรวบรวมพนักงานผู้มีความสามารถ (สูง) ทางดนตรี ให้มาร่วมวงกับเขา มร.ฮันส์ เริ่มต้นจากความพยายามทำ ความรู้จักไลฟ์สไตล์ของคนทำงานที่นี่

"เวลาทำงานที่ใหม่ ผมจะเชิญผู้จัดการ และสุ่มพนักงานทุกแผนกทั้งระดับจูเนียร์และซีเนียร์มาเป็นกลุ่มตัวอย่างสัก 1 ใน 4 ของพนักงานทั้งหมด เพื่อมานั่งคุยเป็นการส่วนตัวราว 1 ชั่วโมง เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของพวกเขา จึงได้รู้ว่าใครเล่นดนตรี เล่นกอล์ฟ หรือมีอะไรเป็นงานอดิเรก" มร.ฮันส์อธิบาย

สิ่งที่ไม่ธรรมดา ก็คือ สมาชิกของวงทั้งหมด 8 คน ล้วนแต่มีตำแหน่งสำคัญ ตั้งแต่ มร.ฮันส์ ประธานบริษัทฯ (กีตาร์ลีด) ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมธุรกิจ (คีย์บอร์ด) ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารการตลาด (ร้องนำ) ผู้จัดการฝ่ายลอจิสติกส์ (กีตาร์) ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบัญชี (กีตาร์เบสและหัวหน้าวง) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านระบบเน็ตเวิร์ค (ร้องนำ) ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ (ร้องนำ) และผู้ช่วยอาวุโสด้านลอจิสติกส์ (กลอง) นอกจากนี้ ยังมีนักร้อง "ขาแจม" ที่มีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานอาวุโส

ลองนึกเล่นๆ ถ้าวงนี้เกิดได้รับเชิญไปทัวร์คอนเสิร์ตต่างประเทศสักเดือน เชื่อว่าธุรกิจของบริษัทอาจถึงกับต้องสะดุดและหยุดชะงักไปบ้าง ไม่มากก็น้อย...

จากห้องซ้อมดนตรีแถวรัชดาภิเษก มาเป็นห้องซ้อมในออฟฟิศที่ยึดเอาห้องประชุมเป็นฐานที่ตั้ง เพราะไม่อยากเสียเวลาและอารมณ์กับการเดินทาง โดยเครื่องดนตรีเป็นภาระที่นักดนตรีต้องนำมาเองจากบ้าน

โดยปกติ ไม่วันพุธก็วันศุกร์ หลัง 5 โมงเย็น ชาวตึก "ซันทาวเวอร์ บี" จะได้ยินเสียงดนตรีกระหึ่มมาจากมุมหนึ่งของชั้นที่ 20 เป็นประจำ แต่ช่วงเกือบเดือนก่อนการแสดงครั้งหลังสุด รปภ. ของตึกซันทาวเวอร์อาจสงสัยที่ได้ฟังการซ้อมดนตรีถึงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง


สำหรับโชว์ครั้งแรกของวง เกิดขึ้นราว 3 เดือนหลังจากฟอร์มวง ซึ่งเป็นการเล่นโชว์อินเตอร์ฯ ในงานดินเนอร์ปาร์ตี้ของ "อิริคสัน" ระดับภูมิภาคที่เวียนมาจัดที่ประเทศไทย

"เราตั้งใจจะเช็กเรตติ้งก่อนเล่นในงานปีใหม่ของพนักงานอยู่แล้ว เผอิญมีประชุมระดับภูมิภาคฯ ที่กรุงเทพฯ เราก็เลยเล่นที่งานนี้ เพราะเห็นว่าเป็นพวกเรา (ชาวอิริคสันภูมิภาคเอเชีย) กันเอง พวกเขาก็แตกตื่นว่า คนไทยไม่ทำงานกันหรือไง เพราะเห็นว่าทั้งวงเป็นสตาฟฟ์หมดและเล่นกันโปรมาก"

ความสำเร็จในการแสดงครั้งแรก ส่งผลตามมาอย่างที่พวกเขาคาดไม่ถึง...

"อิริคสัน" ในหลายประเทศเริ่มกลับไปคิดจะทำอะไรบางอย่างที่คล้ายกันนี้ "อิริคสัน บังกลาเทศ" เอาไปตั้งเป็น KPI (Key Performance Index) ว่าต้องฟอร์มวงให้ได้ภายในกี่เดือน ส่วน "อิริคสัน มาเลเซีย" ก็มีจดหมายเวียนภายในรับสมัครคนที่เล่นดนตรีได้ให้รวมตัวกัน

"จริงจังกันถึงขนาดมีข่าวแว่วมาว่า สำนักงานอิริคสันระดับภูมิภาคที่มาเลเซียจะจัดรางวัล Ericsson Idol ขึ้นมาให้เกิดการแข่งกันนิดๆ เพราะเราจะมีการเวียนจัดสัมมนาระดับภูมิภาคสลับไปทุกประเทศ" แสงดี สีแดง ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารการตลาด เล่าพร้อมกับเสียงหัวเราะ

อาจฟังดูเป็นเรื่องขำ แต่น่าเชื่อได้ว่า กิจกรรมเช่นนี้คงมีนัยสำคัญต่อการบริหาร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงทำให้ มร.ฮันส์ ผู้บริหาร อิริคสันประเทศไทย และระดับผู้บริหารของประเทศอื่นๆ รวมทั้งผู้บริหารอิริคสันระดับภูมิภาค ต่างก็มองเห็นตรงกันว่า กิจกรรมนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับองค์กร "อิริคสัน"

"ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความพยายาม ผลักดันให้องค์กรเกิดความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่ผลการทำงานที่ดี" มร.ฮันส์สรุป แล้วกล่าวเพิ่มเติม "ไม่จำเป็นต้องเป็นดนตรี อาจเป็นจ๊อกกิ้ง ฟุตบอล โบว์ลิ่ง กอล์ฟ ฯลฯ สิ่งสำคัญอยู่ที่คุณทำกิจกรรมอะไรที่แตกต่างจากการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อที่จะได้รู้จักเขาในเรื่องอื่นๆ มากขึ้น รู้ว่าเขามีทักษะอะไร สนใจอะไร ฯลฯ การทำงานร่วมกันก็ง่ายขึ้น ก็สบายใจขึ้น"

หลังจากเรียนรู้ "ลูกน้อง" มาร่วม 2 ปี มร.ฮันส์ตระหนักแล้วว่า เขามีลูกน้องที่มีพรสวรรค์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นน้องโอเปอเรเตอร์ที่แสนเรียบร้อย แต่ถึงคราวเต้นก็เต้นเก่งราวกับสาวโคโยตี้ หรือป้าแม่บ้านที่รำไทย เก่งราวกับนางรำ และแน่นอน! สมาชิกในวง 3G string Band ที่สามารถเล่นเพลงได้ตั้งแต่ยุค 40's 50's ไล่มาจนถึงยุคมิลเลเนียม เล่นได้ทั้งเพลงป็อปแดนซ์ เพลงลูกทุ่ง และเพลงเพื่อชีวิต

นอกจาก 3G string Band ใน"อิริคสัน ประเทศไทย" ยังมีวงลูกทุ่งที่อลังการด้วยหางเครื่องที่เกิดจากการรวมตัวของพนักงานระดับปฏิบัติการแผนกต่างๆ ที่กลายเป็นคู่แข่งที่สูสีในงานเลี้ยงภายในของบริษัท ซึ่งการแสดงของวงดนตรี in-house ที่ตั้งกันขึ้นมาก็ทำให้บริษัทไม่ต้องง้อนักดนตรีภายนอก

ไม่เพียงสนับสนุนกิจกรรมดนตรี มร.ฮันส์ยังเป็นสปอนเซอร์ส่งทีมฟุตบอลอิริคสันไปแข่งกระชับมิตรกับทีมอื่น เช่น ลาวเทเลคอม และเป็นสปอนเซอร์ส่งพนักงานไปเรียนตีกอล์ฟ รวมทั้งยังเข้าร่วมแข่งกอล์ฟทุกควอเตอร์กับพนักงานและอดีตพนักงานด้วย

ยกตัวอย่าง สมัยที่อยู่อินโดนีเซีย ทุกวันศุกร์หลังเลิกงาน มร.ฮันส์เลือกทำกิจกรรมจ๊อกกิ้งกับพนักงานในแผนก ในเส้นทางออฟฟิศถึงบ้านของเขา เป็นระยะทาง 10 กม. เพื่อไปกินของว่างและปาร์ตี้เล็กๆ ซึ่งนี่ก็คือวิธีที่ทำให้เขารู้จักพนักงานมากขึ้น ขณะเดียวกันคนในแผนกก็รู้จักกันมากขึ้น

"การที่เราได้ทำกิจกรรมหลังเลิกงาน ได้ทำสิ่งที่ชอบ ที่สนุกร่วมกัน จะทำให้สนิทกันง่ายขึ้นและมากขึ้น และเข้าใจกันมากขึ้น ขณะที่การเจอกันเฉพาะเรื่องงาน แม้จะเจอกันทุกวัน แต่มันก็อาจจะเป็นความสัมพันธ์เพียงแค่หลวมๆ ดังนั้น พวกเราจึงเสริมสร้างกิจกรรมหลังเลิกงานเป็นประจำ เพราะมันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ ในบริษัทที่ดีมากๆ" มร.ฮันส์อธิบาย

ด้วยกุศโลบายเช่นนี้ไม่เพียงบรรยากาศ ความเป็น "ทีมเวิร์ค" จะเพิ่มขึ้น แต่ความสัมพันธ์อันดีที่เกิดขึ้นในองค์กรยังจะช่วยลดปัญหาการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน และปัญหาการไม่สื่อสารกัน ซึ่งมักเป็นปัญหาสำหรับทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน และทุกระดับ

เรียกได้ว่า ...มร.ฮันส์ยิงนัดเดียว ได้นกหลายตัวจริงๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.