โรงงาน TEA ที่ไม่ผลิตชา


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ปตท.ปิโตรเคมีคอล (PTTCH) เพิ่งจะประกาศตั้งบริษัท ไทยเอทานอลเอมีน หรือ TEA เพื่อผลิตสารโมโนเอทานอลเอมีน ไดเอทานอลเอมีน และไตรเอทา นอลเอมีน เมื่อช่วงต้นปีก่อน จนมาถึงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา PTTCH จึงได้ตกลงเลือก Huntsnan Pretrochemical Corporation บริษัทสัญชาติอเมริกันเข้าทำหน้าที่ออกแบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับก่อสร้างและการเดินเครื่องในโรงงานให้ TEA โดยงานนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณ 35-45 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับสารเอทานอลเอมีน เป็นสารที่นำไปใช้ในการผลิตสินค้าประเภทแชมพู สบู่เหลว น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักล้างทั้งในครัวเรือนและอุตสาหกรรม ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีผู้ผลิตสารชนิดนี้ได้เอง ค่ายผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลแต่ละค่าย อย่างเช่น ยูนิลีเวอร์ จึงต้องนำเข้าปีๆ หนึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมกันได้ราว 200 ล้านบาท

ยังเป็นที่คาดหมายจาก PTTCH ฐานะที่เป็นบริษัทแม่ TEA ว่า การก่อสร้างโรงงานผู้ผลิตเอทานอลเอมีนรายแรกในประเทศ บนเนื้อที่ 20 ไร่ในอำเภอมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งจะมีกำลังการผลิตรวมกัน 50,000 ตันต่อปี น่าจะเริ่มลงมือได้ราวปลายๆ ไตรมาส 4 ของปี 2549 และเริ่มเดินเครื่องได้ในไตรมาสแรกของปี 2551

โดยในกำลังการผลิตรวมที่สูงถึง 50,000 ตันต่อปี ซึ่งจะแบ่งเป็นการสารโมโนเอทานอลเอมีน ไดเอทานอลเอมีน และไตรเอทานอลเอมีน ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน คืออย่างละ 16,650 ตันต่อปี ไม่ได้มีไว้เพื่อรองรับความต้องการแต่เฉพาะจากในประเทศ ซึ่งมีดีมานด์อยู่ 8,000-10,000 ตันต่อปีแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ยังเป็นการกำหนดขนาดกำลังการผลิตที่มองถึงภาพรวมดีมานด์ในผลิตภัณฑ์สารเอทานอลเอมีน ซึ่งนำไปใช้ผลิตสินค้าสุขอนามัยส่วนบุคคลภายในตลาดเอเชีย ซึ่งขยายตัวสูงถึง 14% ในเวลานี้ โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างจีน ซึ่งถือเป็นแหล่งที่ PTTCH กำลังหมายตาว่าจะให้ TEA ส่งสินค้าของเครือเข้าไปเปิดตัวที่นั่น

ทั้งนี้ TEA มีทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท และเป็นผู้ถือหุ้นในโรงงานเอทานอลเอมีน 100% โดยโครงการผลิตสารเอทานอลเอมีน ของ TEA จะสามารถรับวัตถุดิบ EO ได้โดยตรงจากโรงงาน EO/EG 1 ของบริษัท ทีโอซี ไกลคอล ซึ่งถือหุ้นโดย PTTCH ด้วย

ส่วนตัว PTTCH นั้น เป็นบริษัทซึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการเข้าบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ หรือ NPC และบริษัท ไทยโอเลฟินส์ หรือ TOC เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2548 ในปัจจุบัน PTTCH เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีต่อเนื่องอื่นอย่างครบวงจร มีกำลังการผลิต 1,523,000 ตันต่อปี และเป็นผู้ผลิตโอเลฟินส์รายใหญ่เป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชีย

โดยธุรกิจในเครือประกอบไปด้วย 5 กลุ่มหลัก คือ

1. ธุรกิจโอเลฟินส์

2. ธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่องในเม็ดพลาสติกชนิดหนาแน่นสูงและหนาแน่นเบา รวมถึงผลิตภัณฑ์ อีโอ/อีจี EO Derivatives ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลักอยู่ในรูป MEG ที่เป็นวัตถุดิบใช้ผลิตเส้นใยเครื่องนุ่งห่ม โพลีเอสเตอร์ และบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติกใสหรือพลาสติก

3. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สาธารณูปการ เช่น ไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วยน้ำใส น้ำประปา และน้ำปราศจากแร่ธาตุ

4. ธุรกิจให้บริการท่าเทียบเรือและขนถ่ายเคมีภัณฑ์

5. ธุรกิจให้บริการบำรุงรักษาโรงงานและบริการอื่นๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.