|
GPS in car
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อเริ่มแรกที่เจริญโภคภัณฑ์อาหารเลือกใช้อุปกรณ์ระบุพิกัดหรือระบุตำแหน่งผ่านดาวเทียมในรถขนส่งอาหารสัตว์ที่ทำหน้าที่รับส่งอาหารสัตว์จากโรงงานผลิตไปยังฟาร์มในเครือนั้น เพียงเพราะว่าจะแก้ปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าอย่าง "อุบัติเหตุ" ที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละอาทิตย์เพียงเท่านั้น
สายเข้าโทรศัพท์มือถือของวิโรจน์ คัมภีระ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ซึ่งนอกจากจะดูแลโรงงานผลิตอาหารสัตว์บกแล้ว ยังต้องรับผิดชอบเรื่องการขนส่ง ซึ่งประกอบด้วยคาราวานรถไซโลเกือบ 100 คันด้วย มักไม่พ้นการรายงานข่าวการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเสียชีวิตของทั้งพนักงานและคู่กรณี
"พี่ครับ งวดนี้มีตายอีกแล้วครับ พี่ครับ เที่ยวนี้มีบาดเจ็บสาหัส 3 คนเลยครับพี่ บางทีก็ 4-5 ทุ่มโทรฯ มาหาผมตลอด เราก็ได้แต่คิดว่าทำไมเรามาดูรถแล้วเหนื่อยและยุ่งยากกว่าการดูโรงงานเสียอีก" นี่คือคำพูดที่เปรยออกมาของวิโรจน์ เมื่อหลายปีที่แล้ว
รถขนส่งของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของ ซี.พี.ทั้งหมดทั่วประเทศ 11 โรงงาน ต้องเสียค่าเคลมประกันชีวิตกับคู่กรณีจากอุบัติเหตุถึงปีละกว่า 3 ล้านบาท ไม่นับรวมการหยุดทำงานของพนักงาน พักรถเพื่อซ่อมในอู่เฉลี่ยเดือนละหลายคัน
ยิ่งธรรมชาติของคนขับรถสิบล้อของไทย อย่างที่วิโรจน์บอกคือ มักแวะกลับบ้านหรือแวะกลางทางขากลับหลังจากส่งอาหารเสร็จ ซึ่งตีรถเปล่ากลับมาเสมอ ทำให้หลายครั้งคาดเดาไม่ได้ว่าเส้นทางไหนคือเส้นทางที่คนขับใช้ขับกลับมาโรงงาน
ปี 2546 วิโรจน์ตัดสินใจขอเข้ารับชมและดูงานในบริษัทที่มีลักษณะการขนส่งคล้ายคลึงกัน เพื่อหวังจะได้เป็นแนวทางในการดูแลระบบการขนส่งรถขนอาหารของตนต่อไป
"ผมให้พนักงานไปหาตัวอย่างจากบริษัทใหญ่ๆ ที่มีลักษณะการขนส่งคล้ายคลึงกัน ว่าเขาทำอย่างไรในการดูแลรถของเขา และพบว่ามีบริษัทน้ำมัน ที่บรรทุกน้ำมันไป และขากลับบรรทุกถังเปล่ากลับ เหมือนเราทุกประการที่ขาไปบรรทุกอาหารสัตว์ไป แต่ขากลับมีแต่ถังเปล่ากลับมา เราก็ไปดูว่าเขาบริหารจัดการคนขับและรถขนส่งน้ำมันของเขาอย่างไร จึงขอเข้าไปดูงานทั้ง เชลล์ เอสโซ่ ปตท. และคาลเท็กซ์ และก็พบว่าบริษัทน้ำมันเหล่านี้ใช้ระบบระบุตำแหน่งจากดาวเทียมหรืออุปกรณ์จีพีเอสในการติดตามรถยนต์ ตอนแรกเราก็คิดว่า มันจะช่วยได้หรือ แค่ติดกล่องสีดำเข้าไปในรถยนต์ จะเอาคนขับรถอยู่หรือ แต่เมื่อเห็นข้อมูลของบริษัทเหล่านั้นก็พบว่ามันใช้ได้จริงๆ" วิโรจน์กล่าว
ทุกวันนี้รถในระบบขนส่งของเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารทั้งหมด ทั้งรถขนส่งอาหารสัตว์หรือไซโล รถช่างซ่อมบำรุง และรถประจำโรงงานล้วนแล้วแต่ได้รับการติดอุปกรณ์จีพีเอสเอาไว้ในรถแทบทั้งสิ้น เพื่อจุดประสงค์หลักอย่างการควบคุมการใช้รถ ป้องกันอุบัติเหตุ และผลพลอยได้อย่างการประหยัดค่าใช้จ่ายในหลายๆ ด้าน
รถหนึ่งคันจะติดอุปกรณ์สี่ชิ้นเอาไว้ ทำหน้าที่รับสัญญาณดาวเทียมเพื่อระบุตำแหน่งของรถ เก็บข้อมูลในกล่องดำ และตัวส่งสัญญาณข้อมูลให้กับโรงงาน และในเวลาเดียวกันอุปกรณ์เหล่านั้นยังพ่วงเอาเซ็นเซอร์วัดระดับการใช้งานรถแบบต่างๆ เอาไว้อีก 10 ตัวด้วยกัน ตั้งแต่ตรวจจับความเร็ว ควบคุมเส้นทาง ตั้งแต่เซ็นเซอร์ที่ติดอยู่ที่ไฟเลี้ยวซ้าย, ไฟเลี้ยวขวา, เบรก, ไฟหลัง, ที่ปัดน้ำฝน, ระดับน้ำมัน, เกียร์ไฮดรอลิก, ไฟฉุกเฉิน หรือไฟผ่าหมาก, สตาร์ตเครื่อง และไมล์วัดระยะการใช้งานรถ
รถไซโลที่ติดอุปกรณ์ดังกล่าวเอาไว้จะถูกควบคุมความเร็วเอาไว้ โดยสามารถวิ่งได้ที่ความเร็ว 80 กม.ต่อชั่วโมง เมื่อพนักงานขับรถขับเกิน 90 กม.ต่อชั่วโมง สัญญาณเตือนในรถจะดังขึ้นในห้องพนักงานขับรถตลอดเวลา เป็นการบังคับให้ต้องชะลอความเร็วไปในตัว ไม่นับรวมผลพลอยได้ที่ได้จากการควบคุมความเร็วดังกล่าวก็คือ การลดการใช้น้ำมันของรถในกลุ่มบริษัท วิโรจน์บอกว่า หากคนขับรถขับช้านั่นหมายถึงการประหยัดน้ำมันไปในตัว การไม่ออกนอกเส้นทางก็ประหยัดน้ำมันเช่นเดียวกัน ตัวอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ติดไว้จะบอกไว้แม้กระทั่งการสตาร์ตเครื่อง การดับเครื่อง การจอดนิ่ง การเลี้ยว การเบรก การเรียกใช้ที่ปัดน้ำฝน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งใช้เป็นตัววัดพฤติกรรมการใช้งานรถของพนักงานขับรถได้ทั้งสิ้น
หลายครั้งบริษัทตรวจสอบได้ว่า น้ำมันหายไปได้อย่างไร อาหารสัตว์ที่บรรทุกไปน้ำหนักขาดหายไปหรือไม่ โดยเทียบจากข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์เหล่านั้น
"พนักงานขับรถ วันที่ ตำแหน่งสถานที่อยู่ เครื่องยนต์ ทั้งเร่งเครื่อง จอดเครื่อง อีกทั้งยังมีกราฟแสดงการใช้รถ เช่น การวิ่ง 80 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งบางครั้งโรงงานกำหนดให้วิ่งเกินได้ แต่ไม่เกิน 90 กม.ต่อชั่วโมง โดยเฉพาะกรณีของการแซงรถ แต่สามารถบันทึกได้ว่าวิ่งแซงใช้เวลานานเท่าใด และแซงช่วงระยะเวลาใด ไฟเลี้ยว ไฟหน้า หรือที่ปัดน้ำฝนใช้ได้ดีในกรณีของการเกิดอุบัติเหตุ เช่นเกิดอุบัติเหตุในช่วงฝนตกหรือไม่" วิโรจน์ให้ภาพของความสามารถในการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าว
ปีนี้บริษัทแห่งนี้เพิ่งจะจ่ายเงินค่าประกันจากเหตุการณ์อุบัติเหตุเพียง 3 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งลดลงเหลือเพียง 1 ใน 10 ของที่เคยจ่าย และอุบัติเหตุที่ประสบ ก็เป็นอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ เช่นมีการชนท้าย หรือรถประสบอุบัติเหตุเองในฟาร์มเนื่องจากถนนในฟาร์ม ขณะที่สภาพรถของโรงงานกลับดีขึ้น แผนที่ดิจิตอลของระบบจีพีเอสยังช่วยบอกได้ว่าเส้นทางไหนในการขับขนส่งลำเลียงอาหารสัตว์นั้นดีและเหมาะสมที่สุด เช่นขึ้นเขาน้อย ใช้น้ำมันน้อย รถน้อย ประหยัดมากที่สุด ทำให้การควบคุมค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันได้ดีขึ้น
สามปีให้หลัง ในวันนี้จีพีเอสของเจริญโภคภัณฑ์อาหารทำหน้าที่แตกต่างออกไป ไม่เพียงแต่แก้ปัญหาอุบัติเหตุเท่านั้น แต่เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรยิ่งขึ้น
บริษัทตัดสินใจพัฒนาระบบจีพีเอสที่มีอยู่ให้สามารถใช้งานหรือเรียกดูข้อมูลการเคลื่อนที่ของรถทั้งหมดในโรงงานแบบเรียลไทม์หรือออนไลน์ได้
อุปกรณ์ซึ่งใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มเข้าไปในระบบ จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลการใช้รถทั้งหมดมายังหน้าร้านของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เพื่อให้พนักงานหน้าร้าน โรงงานเรียกดูข้อมูลได้ว่า รถขนส่งหรือลำเลียงอยู่ตรงไหนของพื้นที่ และจะเข้ามาถึงโรงงานหรือยัง เพื่อแจ้งให้พนักงานห้องผลิตได้ทราบและจัดเตรียมอาหารสัตว์ไว้รอรถคันดังกล่าว เพื่อให้กระบวนการในการขนส่งรวดเร็วยิ่งขึ้น
แม้เพิ่งจะเริ่มทดสอบระบบการทำงานได้เพียง 1 เดือน โดยเริ่มทดลองที่โรงงานในโคกตูมเป็นที่แรก เป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 20 คัน ทั้งรถไซโล หรือพนักงานก่อสร้าง แต่ก็เป็นไปได้ว่าท้ายที่สุดรถทั้งหมดของบริษัทจะเข้าสู่ระบบออนไลน์ในไม่ช้านี้
เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารทำให้เห็นว่าระบบจีพีเอสไม่ใช่แค่ติดตามรถว่าอยู่ที่ไหน แต่สิ่งนี้กลับเป็นทางออกที่จะช่วยตอบโจทย์ให้กับองค์กรที่ต้องมีการขนส่งสินค้าแบบนี้ได้ว่า คุณจะประหยัดและควบคุมค่าใช้จ่ายในองค์กร ลดปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานคุณได้อย่างไรต่างหาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|