แนวรบที่ "เปิด" แล้ว

โดย สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

คนแบงก์ที่ยังคงละล้าละลัง กลัวจะเสียเปรียบธนาคารพาณิชย์ต่างชาติเมื่อวันเปิดเสรีธุรกิจบริการมาถึง คงต้องยิ่งเพิ่มความตระหนักให้มากขึ้นไปอีกในวันนี้ เพราะธนาคารต่างชาติเหล่านี้เขาไม่รอการเปิดเสรี แต่ได้รุกเข้ามายึดกุม "หัวใจ" ในการทำธุรกิจการเงินของไทยไปเรียบร้อยแล้ว

แผนแม่บทเพื่อพัฒนาสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศใช้เมื่อต้นปี 2547 เป็นประหนึ่งสัญญาณที่แบงก์ชาติกำลังตอกย้ำกับผู้บริหารสถาบันการเงินของไทย ให้ต้องเร่งปรับตัว เพื่อสามารถรับมือกับการแข่งขันจากธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ ที่กำลังรุกเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ภายหลังการเปิดเสรีธุรกิจบริการที่จะมาถึงในอีกไม่นานนี้

การแข่งขันดังกล่าวอาจมีความรุนแรง ถึงขั้นที่บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็นการต่อสู้กับการล่าอาณานิคมยุคใหม่

(รายละเอียดอ่าน "บัณฑูร ล่ำซำ : ผม VISIBLE ผมยืนพูด" นิตยสาร "ผู้จัดการ" กันยายน 2549)

บัณฑูรเคยกล่าวไว้ถึงจุดอ่อนของธนาคารพาณิชย์ไทย เมื่อต้องกระโจนลงไปแข่งขันกับผู้เล่นระดับโลก ในตลาดการแข่งขันที่เป็นสากลว่ามีอยู่ทั้งสิ้น 3 ประการ

1. เงินทุน ที่ธนาคารพาณิชย์ไทยมีน้อยกว่า

2. เทคโนโลยี ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ มีการพัฒนาก้าวหน้ากว่า

3. คน ที่มีความรู้ในการทำธุรกรรมทางการเงินยุคใหม่

เรื่องเงินทุน เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับความเป็นจริง ซึ่งธนาคารพาณิชย์ไทยจำเป็นต้องหาจุดยืนในตลาดที่สามารถสอดรับกับข้อเสียเปรียบดังกล่าวให้ได้

ส่วนเรื่องเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวลเท่าไร เพราะเทคโนโลยี่สำเร็จรูปสามารถหาซื้อได้ทั่วไปในตลาด

จุดที่ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะเสียเปรียบที่สุดคือเรื่องของคน โดยเฉพาะคนที่มีความรู้ ความชำนาญ และ know-how ในการทำธุรกิจการเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่ตลาดของไทยอาจยังไม่เคยชิน

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ไทยกำลังวิตกกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรเหล่านี้อยู่นั้น ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติที่ได้เข้ามาทำธุรกิจในไทยอยู่แล้ว กลับมีโอกาสคัดเลือกคนไทยที่มีความรู้ เพื่อส่งออกไปเพิ่มพูนทักษะเฉพาะด้านตามสาขาที่มีทั่วโลก ซึ่งคนเหล่านี้คือกำลังสำคัญที่จะนำความรู้ ประสบการณ์ กลับมาช่วยขยายพื้นที่การทำธุรกิจให้กับธนาคารต้นสังกัดในประเทศไทยได้อย่างดีในอนาคต

ความเคลื่อนไหวในการพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแก่บุคลากร โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่เป็นคนไทยในธนาคารต่างชาติ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงหลังๆ เพราะความคิดในกลุ่มผู้บริหารคนไทยของธนาคารต่างชาติ อย่างสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ แบงกิ้ง คอร์ป (HSBC) ก็เริ่มจะเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น จากเดิมที่แต่ละคนไม่เคยคิดจะเดินทางออกไปทำงานในสาขาต่างประเทศ แต่เมื่อประสบการณ์ในประเทศเริ่มเดินทางมาถึงจุดอิ่มตัว ความต้องการนี้จึงเริ่มมีมากขึ้นเป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ผู้บริหารคนไทยในธนาคาร HSBC ได้เริ่มเดินทางออกไปพัฒนาตัวเองในต่างประเทศ (อ่านรายละเอียดใน "Growth Opportunity at HSBC") แต่ที่สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) การส่งออกคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริหารระดับสูงเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นมาแค่ 1-2 ปี หลังสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กรุ๊ป เข้าเทกโอเวอร์กิจการนครธน จนได้สาขานครธนประมาณ 80 สาขา มาใช้เป็นเครือข่ายขยายธุรกิจการให้บริการจากเดิมที่เน้นลูกค้ารายใหญ่ เพื่อรุกเข้ามาในตลาดรายย่อยเมื่อปี 2542

มีตัวเลขคร่าวๆ ว่า ตั้งแต่ปี 2547 สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดได้ส่งพนักงานคนไทย จากหลายแผนกและในหลายตำแหน่งหน้าที่ ออกไปทำงานเป็นส่วนหนึ่งในสตาฟฟ์ประจำที่สาขาต่างประเทศทั้งในบรูไน อเมริกา แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) และเวียดนาม ซึ่งนับรวมกันได้ราว 22 คน

โดยในจำนวนดังกล่าวมีหลายรายได้กลับมาทำงานในสาขาประจำประเทศไทยแล้ว แต่ก็มีบางรายที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานต่อในตำแหน่งถาวรที่ต่างประเทศ อย่างเช่นกรณีของอนุตรา พันธุ์โพธิ์ทอง ซึ่งปัจจุบันย้ายไปนั่งในตำแหน่ง Talent Management Manager ในหน่วยงาน Human Resources สาขาลอนดอน

และสำหรับช่วงเวลาที่เหลืออยู่ในปีนี้ ว่ากันว่า ยังมีพนักงานอีกราว 10 ราย ที่เป็นกลุ่มซึ่งอยู่ในรายชื่อบุคลากรที่ได้รับการตีตราจองจากสาขาในประเทศต่างๆ เพื่อให้เดินทางเข้าร่วมงานตามโครงการพัฒนาศักยภาพเฉพาะด้านในเร็ววันนี้แล้ว

ขณะเดียวกันยังมีพนักงานระดับล่างและกลางอีกหลายราย ที่ใบสมัครของพวกเขาได้เข้าไปรวมอยู่ในถังแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกลุ่ม เพื่อรอเวลาคัดเลือกให้ออกไปทำงานร่วมกับสาขาต่างๆ ในอนาคต

กิจกรรมแลกเปลี่ยนพนักงานออกไปรับการเทรนในสาขาของต่างประเทศนี้ ถือเป็นนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งมีมานานจากบริษัทแม่ เพื่อเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นที่ประจำตามสาขา ในแต่ละประเทศมีโอกาสได้รับการสนับสนุนให้เติบโตอาชีพหลังเข้าร่วมงานเป็นหนึ่งในสตาฟฟ์ของตนแล้ว เพียงแต่ว่าคนไทยอาจจะเพิ่งเริ่มมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมในโครงการฝึกอบรมในต่างประเทศเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

อาจจะกล่าวได้ว่าโครงการอบรมในต่างประเทศที่มีชื่อว่า Graduate Associate เป็นส่วนต่อยอดในโครงการค้นหาและดึงศักยภาพอันโดดเด่นเฉพาะด้านให้พนักงานแต่ละคนขึ้นมาพัฒนาต่อยังสาขาต่างประเทศของกลุ่มของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด

ด้วยมุมมองของกลุ่มซึ่งมีปรัชญาความเชื่อที่ว่า ในแต่ละคนล้วนมีความโดดเด่นในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป การค้นหาศักยภาพที่แท้จริงในแต่ละด้านของบุคลากรของตน และพัฒนาให้ได้มากที่สุดแล้ว เพื่อทำให้พนักงานของพวกเขามีความสุขกับการทำงานในสายงานที่ตนมีความถนัดอย่างที่สุดนั้น ย่อมเป็นแนวความคิดที่ดีกว่าการมองหาจุดอ่อนที่มีในแต่ละคน เพื่อดึงขึ้นมาพัฒนาให้กลายเป็นจุดแข็งในอนาคต

สำหรับกรณีโครงการอบรมในต่างประเทศนี้ อาจแบ่งออกได้เป็น 2 โครงการคือ International Mobility Training ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้สำหรับพนักงานระดับล่างที่มีอายุงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และเคยผ่านการโยกย้ายไปทำงานยังแผนกต่างๆ ภายในสาขาจนได้ค้นพบศักยภาพการทำงานที่โดดเด่นในด้านหนึ่งด้านใดแล้ว โดยเวลาการฝึกอบรมของพนักงานกลุ่มนี้จะมีเวลาเพียงสั้นๆ เริ่มตั้งแต่เพียงไม่กี่สัปดาห์ไปจนถึงเพียงไม่กี่เดือน ส่วนโครงการ International Training นั้น ถือเป็นโครงการเพิ่มศักยภาพความเชี่ยวชาญในการบริหารกิจการเฉพาะด้านให้แก่ผู้บริหารระดับสูง

ว่ากันว่า CEO ต่างชาติในสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ไทย ต่างก็เคยผ่านเวทีแบบนี้มาแล้วทั้งนั้น ไล่ตั้งแต่ Visahnu Mohan CEO ชาวศรีลังกา ซึ่งเคยได้รับคัดเลือกจากบริษัทแม่ให้มาเป็น CEO สาขาประจำประเทศไทย เมื่อปี 2543 หลังธนาคารนครธน เพิ่งจะมาเป็นสมาชิกใหม่ของ Standard Chartered Group โดยปัจจุบัน Visahnu Mohan อยู่ในตำแหน่ง CEO ประจำสาขาศรีลังกา

ด้าน Annemarie Durbin อดีต CEO ชาวนิวซีแลนด์ ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ามานั่งประจำสาขาเมืองไทยแทนที่ Visahnu Mohan เมื่อปี 2547 ด้วยเหตุผลที่ว่าคุณสมบัติโดดเด่นด้านทักษะการทำงานในลักษณะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญในภาคการเงินการธนาคาร และความสามารถในการบริหารบุคลากรในองค์กรที่เยี่ยมยอดนั้น มีความสอดคล้องกันอย่างมากในความต้องการของสาขาไทย ที่กำลังเร่งสร้างพัฒนาการความก้าวหน้าในธุรกิจ ผ่านการขยายฐานธุรกิจเข้าสู่ตลาดรายย่อยในช่วงเวลานั้น

ทั้งนี้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา Annemarie Durbin ได้รับคัดเลือกจากบริษัทแม่ให้ย้ายกลับไปนั่งทำงานในฝ่ายบริหารที่สาขาลอนดอน เพื่อร่วมจัดวางกลยุทธ์ให้แก่สายงานองค์กรสัมพันธ์ในสาขาทั้ง 56 ประเทศทั่วโลกของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กรุ๊ป

เช่นเดียวกับมีฮาร์ ฟู ซึ่งเพิ่งได้รับคัดเลือกให้เข้ามานั่งเป็น CEO ประจำประเทศไทย เมื่อต้นปี 2549 หลังจากที่ได้ทำผลงานมาอย่างโดดเด่นในตำแหน่ง Head, Client Relationship ประจำสาขาสิงคโปร์

ด้านผู้บริหารระดับสูงชาวไทยประจำสาขากรุงเทพฯ นั้น ว่ากันว่าเพิ่งจะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ International Training นี้ เมื่อปี 2547 โดยมีเพา จากะตานนท์ เป็นผู้บริหารคนไทยคนแรกที่ตัดสินใจเลือกใช้หน้าต่างในโครงการนี้ โดยเพาได้รับคัดเลือกจากสาขาสิงคโปร์ ให้เข้าร่วมงานในตำแหน่ง Regional Head, Interest Rate Derivatives Southeast Asia หลังทำงานให้สาขากรุงเทพฯ มาได้เพียง 3 ปี โดยปัจจุบันเพายังคงทำงาน อยู่ที่สิงคโปร์ ในตำแหน่ง Head of Interest Rate Derivatives Trading, BEA REX

ในปีเดียวกันนั้น ชูเกียรติ รุจนพรพจี ซึ่งเคยมีตำแหน่ง Head of Sales, GMTS Thailand ในกลุ่ม Whole Sale เป็นผู้บริหารชาวไทยอีกรายที่ได้รับคัดเลือกให้ไปทำงานประจำที่สาขาสิงคโปร์ ในตำแหน่ง Head of Structuring Capital Markets

แพท วรวิมาน ก็เป็นอีกคนที่ถูกเรียกตัวให้เข้าประจำตำแหน่ง Head of Syndications, SEA ซึ่งมีหน้าที่ดูแลธุรกิจหลากหลายตลาดทั้งในไทย เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย โดยก่อนหน้านี้แพทเคยเข้าร่วมงานในสาขานิวยอร์ก

ผู้บริหารคนไทยรายถัดมา อารยา ภู่พานิช เมื่อปีก่อนก็ได้รับคัดเลือกจากสาขาสิงคโปร์ ให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในฝ่ายบริหารระดับกลุ่ม ในตำแหน่ง Head, Product Development-Personal Loans, Group CCPL ประจำสาขาสิงคโปร์ โดยในตำแหน่งนี้อารยาจะมีบทบาทเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดวางกลยุทธ์พัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต ให้สาขาธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กรุ๊ป ซึ่งครอบคลุมทั้ง 56 สาขาทั่วโลก (อ่านรายละเอียดใน "อารยา ภู่พานิช คนไทยสู้เขาได้")

อาทิตย์ นันทวิทยา ถือเป็นผู้บริหารรายล่าสุด จากสาขากรุงเทพฯ ที่เมื่อต้นปีนี้เขาเพิ่งจะได้รับการโปรโมตให้เข้ารับตำแหน่ง Regional Head, Global Market, Southeast Asia เพื่อดูแลธุรกิจด้านตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ ครอบคลุมทุกสาขาของกลุ่มสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ที่กระจายอยู่ในประเทศย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างประเทศของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ไทย ที่เริ่มมีความชัดเจนให้เห็นเช่นนี้ ก็น่าจะกล่าวได้ว่า บทบาทการทำธุรกิจในอนาคตของธนาคารแห่งนี้เป็นที่น่าจับตามอง เพราะที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ไทยก็เคยยากลำบากกันมามากกับความจำเป็นที่จะต้องยอมแบ่งปันพื้นที่ในการทำมาหากินของตนให้แก่ธนาคารต่างชาติมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทางการเงิน ธนาคารพาณิชย์ไทยก็ยังแก้ไม่ตก ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จำเป็นต้องลดกำแพงปกป้องการทำธุรกิจตามแผนการเปิดเสรีภาคการเงินและบริการอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้

แม้ว่าวัตถุประสงค์การพัฒนาบุคลากรของธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ อาจเป็นเพียงหนึ่งในข้อตกลงในการพัฒนาโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพให้แก่คนในทุกท้องถิ่นที่พวกเขาได้เข้าไปตั้งรกรากทำธุรกิจก็ตาม แต่ยังมีข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพัฒนาบุคลากรในแต่ละองค์กร ไม่ใช่กลยุทธ์ที่แยกขาดอย่างเป็นเอกเทศจากกลยุทธ์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ แต่เป็นส่วนหนึ่งในแผนการใหญ่ของการเพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจของพวกเขา ในอนาคตด้วย

อีกทั้งยังเป็นเรื่องจริงด้วยว่า เมื่อบุคลากรท้องถิ่นออกไปพอกพูนทักษะเฉพาะด้าน กลับคืนสู่ประเทศเดิมของตนแล้ว ย่อมต้องมีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญใหม่ๆ ติดมือกลับมาใช้ประยุกต์และพัฒนาสินค้าบริการรูปแบบใหม่ ที่เข้าได้กับสภาพเงื่อนไขในท้องถิ่นตน และธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งขาดเครือข่ายในต่างประเทศมาใช้เป็นแหล่งในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้แก่บุคลากรภายในกลุ่มของตน ก็อาจต้องเตรียมใจรอรับศึกใหม่ครั้งนี้ให้ดี

ที่ผ่านมาธนาคารต่างชาติมีความสามารถอยู่หลายประการในการดำรงตนอยู่ได้ภายใต้ข้อจำกัดในการทำธุรกิจ แต่เมื่อตลาดเปิดกว้างก็ไม่ยากที่จะหาทางเปิดตลาดใหม่ๆ ในพื้นที่ที่ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจยังไม่มีความพร้อม

เพียงแต่ต้องเตรียมบุคลากรให้พร้อมสำหรับการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ในวันข้างหน้าอย่าง Private Banking ซึ่งตอนนี้ต่างชาติกำลังหมายตา จะเข้ามาเปิดตัวเสนอเสนอบริการธุรกิจบริหารความมั่งคั่งให้กลุ่มผู้มีอันจะกินในประเทศย่านเอเชียให้มากขึ้นแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.