|

แบงก์กรุงไทยขน1.6พันล้านเร่งปล่อยสินเชื่ออบจ.-เทศบาล
ผู้จัดการรายวัน(28 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กรุงไทยเดินหน้าขยายฐานสินเชื่อปลายปีทุ่มงบ 1.6 พันล้านบาทปล่อยกู้อบจ.-เทศบาล 20 แห่ง ระบุที่ผ่านมาปล่อยไปแล้ว 62 แห่งยังไม่มีเอ็นพีแอล มั่นใจสิ้นปีปล่อยสินเชื่อแก่หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจได้ตามเป้า 15,000 ล้าน
นายปรีชา ภูขำ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ธนาคารมีแผนที่จะปล่อยกู้ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.และเทศบาล ประมาณ 20 แห่ง คิดเป็นเม็ดเงินในการปล่อยทั้งสิน 1,600 ล้านบาท โดยแต่ละแห่งเฉลี่ยมีความจำเป็นในการใช้เงินประมาณ 70-80 ล้านบาท ซึ่งหากธนาคารสามารถปล่อยกู้ได้ตามแผนที่วางไว้ ก็จะทำให้ภายในสิ้นปีนี้จะสามารถปล่อยกู้ให้กับ 2 หน่วยงานดังกล่าวรวมกัน 82 แห่งจากก่อนหน้านี้ได้ปล่อยไปแล้ว 62 แห่ง เม็ดเงินรวมประมาณ 400-500 ล้านบาท
สำหรับหลักการปล่อยกู้ให้กับอบจ.และเทศบาลนั้น ธนาคารยึดหลักการปล่อยกู้เดียวกันกับการปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจเอกชน โดยพิจารณากระแสเงินสด รายรับ รายจ่าย ความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งทิศทางในการหารายได้ ซึ่งหน่วยงานนั้นต้องมีโครงการมานำเสนอให้กับธนาคารก่อน หากธนาคารพิจารณาแล้วว่าโครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้ ธนาคารก็จะพิจารณาอนุมัติเงินกู้ให้ ทั้งนี้จะทยอยให้หน่วยงานนั้นเบิกเงินกู้ โดยธนาคารจะไม่ให้หน่วยงานนั้นๆ ทำการเบิกเงินกู้ไปทั้งหมด สำหรับอัตราดอกเบี้ยนั้น จะถูกกว่าภาคเอกชนที่มาขอกู้เนื่องจากอบจ.และเทศบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่แน่นอนอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกอบจ.หรือทุกเทศบาลจะได้รับเงินกู้ เพราะทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับว่าผ่านคุณสมบัติที่ธนาคารกำหนดหรือไม่
“การปล่อยกู้อบจ.และเทศบาลนั้นจะเป็นในลักษณะคลีนโลน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ12เดือนบวกอีก1.5% กำหนดชำระคืนสูงสุดไม่เกิน 20 ปี หากนำเงินฝากมาจำนำกับธนาคารธนาคารก็จะคิดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามประเภทที่หน่วยงานนั้นเคยฝากอยู่กับธนาคารว่าเป็นประเภท3เดือน 6เดือน 12เดือนหรือ 24เดือน แล้วก็บวกอีก1% กำหนดชำระคืนก็เท่ากันคือ20ปีสูงสุดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกโครงการจะได้รับการผ่อนชำระคืนนานถึง20ปี ขึ้นกับแต่ละโครงการมากกว่าและที่สำคัญโครงการที่อบจ.และเทศบาลนำมาเสนอขอกู้เงินจากธนาคาร ต้องเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือเป็นโครงการที่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับอบจ.หรือเทศบาลเป็นหลัก ส่วนวงเงินสูงสุดไม่มีการกำหนดขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ “
ทั้งนี้จากคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นไม่ได้ทำการยกเลิก อบจ.และเทศบาลทำให้การปล่อยสินเชื่อยังสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง ธนาคารจึงเดินหน้าปล่อยสินเชื่อต่อให้กับ 2 หน่วยงานดังกล่าวต่อไปได้ ขณะที่ 62 แห่งที่ปล่อยสินเชื่อไปแล้วนั้นปรากฏว่าในปัจจุบันยังไม่พบเอ็นพีแอลเลย เนื่องจากอบจ.และเทศบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเข้ามาในแต่ละเดือนแน่นอนและยังมีเงินสมทบจากรัฐบาลเข้ามาอีกด้วย จึงมั่นใจว่าเอ็นพีแอลจากการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้น
“เอ็นพีแอลจากการปล่อยสินเชื่อให้กับหน่วยงานอบจ.และเทศบาล เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะมี เพราะหน่วยงานดังกล่าวมีการจัดเก็บภาษีเข้ามาในแต่ละเดือน พร้อมทั้งยังมีเงินสมทบจากรัฐบาลเข้ามาจึงเชื่อว่าเอ็นพีแอลจากการปล่อยสินเชื่อนี้จะไม่มีปัญหา”
นายปรีชา กล่าวต่อว่า ตลาดอบจ.และเทศบาล ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่และเป็นตลาดที่พึ่งเปิดมีความต้องการลงทุนในการขยายงานค่อนข้างมาก ณ ปัจจุบันทั่วประเทศมีอบจ.อยู่ 75 แห่ง และเทศบาลอยู่ 1,200แห่ง ซึ่งจากนี้ไปธนาคารจะใช้โอกาสที่มีอยู่ในการขยายตลาดในกลุ่มนี้ให้มากขึ้น เพราะถือว่ามีความคล่องตัวสูงเมื่อเทียบกับธนาคารัฐแห่งอื่นๆ ด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในปีนี้ยังยึดเป้าหมายเดิมที่ตั้งเอาไว้ 15,000 ล้านบาท ณ ปัจจุบันสามารถปล่อยไปได้แล้ว 11,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นเวลาที่เหลือคาดว่าจะสามารถปล่อยได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้พอร์ตรวมของสินเชื่อภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ณ ปัจจุบันคิดเป็น 10%ของพอร์ตรวมสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย สำหรับในปีหน้าคาดว่าสินเชื่อภาครัฐและรัฐวิสาหกิจจะเพิ่มเป็น 12%ของพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร ซึ่งในปีหน้าธนาคารจะเพิ่มให้ความสำคัญมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|