|
หุ้นการเมืองติดเครื่องเย้ยคณะปฏิรูปฯ คุมทั้งตลาด-โจทย์หินกรรมการตรวจสอบ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
EVER ร้อนแรง เปิดปฏิบัติการลากหุ้นช่วงคณะปฏิรูปฯ ยึดอำนาจ ที่คนวงการรู้ดีว่าตัวนี้เชื่อมโยง พายัพ ชินวัตร ขณะเดียวกันหุ้นเล็กกลุ่มการเมืองเริ่มสำแดงเดช ปรับขึ้นถ้วนหน้า ท้าทายคณะการตรวจสอบ โบรกเกอร์ยอมรับตรวจสอบยากว่าตัวใดเกี่ยวนักการเมือง เหตุนอมินีเกลื่อนตลาดหุ้น
หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของพรรคไทยรักไทย เมื่อค่ำของวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา และประกาศให้วันที่ 20 กันยายนเป็นวันหยุดราชการ ธนาคารและวันหยุดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การเปิดทำการซื้อขายวันแรกเมื่อ 21 กันยายน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์รูดทันทีกว่า 29 จุด ก่อนที่จะดีดตัวขึ้น ปิดตลาดที่ 692.57 จุดติดลบไปเพียง 9.99 จุด และติดลบอีก 10.86 จุดปิดตลาดที่ 681.71 จุดในวันต่อมาหลังจากมีข่าวลือตลอดทั้งวันเรื่องการปฏิวัติซ้อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2 วันนั้นกลับพบหุ้นบริษัท เอเวอร์แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ EVER ราคาพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงและต่อเนื่องจนมาถึงวันที่ 25 กันยายน 2549 ราคาปิดตลาดที่ 9.50 บาท จากระดับราคาเมื่อ 19 กันยายนที่ปิดตลาดที่ 5.05 บาท เพียงแค่ 3 วันทำการราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น 4.45 บาทหรือ 88.12% ถือได้ว่าหุ้นตัวนี้มีราคาเคลื่อนไหวผิดปกติ
จนกระทั่งตลาดหลักทรัพย์ได้สั่งห้ามซื้อขายในลักษณะหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน (Net Settlement) และห้ามสมาชิกให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Trading) ของหลักทรัพย์ EVER ชั่วคราว ตั้งแต่ 26 กันยายน ถึง 7 พฤศจิกายน 2549 โดยก่อนหน้านี้ EVER เคยถึงห้ามในลักษณะนี้มาแล้วตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม ถึง 1 กันยายน 2549 จากมาตรการดังกล่าว EVER อ่อนตัวลงไปปิดที่ 8 บาทเมื่อ 26 กันยายน วันรุ่งขึ้นก็แสดงอภินิหารปรับราคาขึ้นสูงสุดที่ 9.60 บาท
EVER เชื่อมพายัพ
ความน่าสนใจของหุ้นตัวนี้ ผู้บริหารหลักอย่างตระกูลเตชะอุบล ที่มีสดาวุธกลับเข้ามาสู่วงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ธรรมดาเขากลับเข้ารุกในธุรกิจหลักทรัพย์ เข้าถือหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ แอ๊ดคินซัน จำกัด(มหาชน) หรือ ASL ที่ว่ากันว่าเจ้าของตัวจริงในบริษัทหลักทรัพย์แห่งนี้คือพายัพ ชินวัตร ที่ระยะแรกปรากฏชื่อว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ระยะหลังชื่อนี้ก็หายไป
นอกจากนี้บรรดาหุ้นตัวเล็กที่ถูกมองว่าเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองก็เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นกันทั้งกลุ่ม "หุ้นกลุ่มการเมืองตัวอื่นปรับลดลงทันทีหลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการเมื่อ 21 กันยายน มีเพียง EVER เท่านั้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงไม่สนใจต่อทิศทางของคณะปฎิรูปที่เข้ามายึดอำนาจรัฐบาลไทยรักไทย" แหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์ตั้งข้อสังเกตุ
เขากล่าวต่อไปว่า หากคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองชุดที่สวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธาน จะเข้ามาตรวจสอบการผ่องถ่ายทรัพย์สินของนักการเมืองในตลาดหุ้นถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก และ EVER ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่สนใจว่าคณะปฎิรูปการปกครองจะเข้ามายึดอำนาจ ลากขึ้นกันหน้าตาเฉย แม้ถูกสั่งให้ซื้อขายด้วยเงินสดก็ลากกันขึ้นไปอีก
นักการเมืองใช้นอมินี
ที่ผ่านมาบรรดานักการเมืองได้เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากันทุกยุคสมัย แต่ในรัฐบาลชุดนี้อาจจะมากกว่าทุกชุดเนื่องจาก ตัวนายกรัฐมนตรีก็มาจากตลาดหุ้น รัฐมนตรีหลายท่านก็มาจากตลาดหุ้น แต่ที่จะเป็นปัญหาสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบก็คือ จะตรวจได้อย่างไรว่านักการเมืองเข้าไปถือหุ้นตัวใดบ้าง
นักการเมืองก็ทราบดีว่าหากใช้ชื่อของตนเองลงทุน ย่อมถูกจับตาจากทั้งสื่อมวลชน ฝ่ายค้านหรือฝ่ายที่มีหน้าที่ตรวจสอบ พวกเขาจึงใช้บริการของผู้ถือหุ้นแทนหรือนอมินีดำเนินการแทนแทบทั้งสิ้น
การใช้นอมินีเข้าถือหุ้นแทนนั้น มีช่องทางให้เลือกค่อนข้างมาก เริ่มจากการใช้บุคคลใกล้ชิด เช่น บุคคลในครอบครัวที่บรรลุนิติภาวะถือหุ้นแทน หรือใช้คนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเลขาหน้าห้องทำงาน คนสนิท วิธีการนี้ตรวจสอบไม่ยาก แต่ถ้าจะสาวถึงตัวนักการเมืองจริง ๆ ก็ไม่ง่ายเช่นกัน
นอกจากนี้พวกเขายังใช้ช่องทางของกองทุนส่วนบุคคลเข้ามาถือหุ้น ซึ่งการตรวจสอบแบบผิวเผินทำได้ยาก เว้นแต่จะเข้าไปถึงผู้ให้บริการแต่ละแห่งว่ามีใครบ้างเป็นผู้นำเงินมาลงทุน แต่หากพวกเขาใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทนก็ยากแก่การตรวจสอบเช่นเดียวกัน
แต่ที่ยากยิ่งขึ้นไปอีกคือการที่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองดำเนินการจัดตั้งกองทุนในต่างประเทศ แล้วนำกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งขั้นตอนในการตรวจสอบค่อนข้างยุ่งยากเนื่องจากต้องไปไล่ถึงต้นตอในต่างประเทศ บางครั้งก็ติดขัดในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ
ส่วนวิธีการที่นิยมใช้กันและยากแก่การตรวจสอบมาที่สุดเห็น ได้แก่การใช้บริการของสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ที่ใช้ชื่อของสถาบันการเงินที่ให้บริการ การตรวจสอบยากมากเนื่องจากธุรกิจประเภทนี้มีกฎหมายคุ้มครองในเรื่องการเปิดเผยชื่อลูกค้า จึงนับเป็นเรื่องที่ท้าทายคณะกรรมการตรวจสอบอย่างยิ่ง
3 ช่องทางต่อเงิน
สำหรับการหาประโยชน์ของนักการเมืองในตลาดหุ้นนั้นสามารถเข้าไปทำได้ด้วยการลงทุนหรือถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียน 3 แนวทาง ประกอบด้วยการนำเอากิจการของครอบครัวเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนนักการเมืองที่นำเอาธุรกิจของตนเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก่อนหน้านี้ก็สามารถสร้างประโยชน์ได้ด้วยอำนาจของรัฐบาลที่ออกมาตรการมาเอื้อประโยชน์ หรือได้สิทธิพิเศษในการเข้าไปรับงานสัมปทานของรัฐบาล
แนวทางต่อมาเป็นการเข้าไปหาประโยชน์กับบริษัทจดทะเบียนอื่น ที่เป็นพันธมิตรเข้ามารับงานประมูล งานสัมปทานหรืองานก่อสร้างต่าง ๆ ส่วนจะไปแบ่งประโยชน์กันอย่างไรเป็นเรื่องการตกลงระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปรับส่วนแบ่งจากค่านายหน้า หรือการแบ่งส่วนจากมูลค่าว่าจ้างที่รัฐอนุมัติด้วยวงเงินที่สูงกว่ารายอื่นเป็นต้น
และที่แนบเนียนคงเป็นการเข้าไปรับหุ้นใหม่(IPO) โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่เกิดจากการแปรรูปกิจการของรัฐ เช่น ปตท.และไทยออยล์ และที่ผ่านมาประโยชน์ของนักการเมืองลดลงไปหลังจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตไม่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ช่องทางนี้พวกเขานิยมใช้นอมินีต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นแทน ด้วยการสั่งการให้ที่ปรึกษาทางการเงินและบริษัทที่จัดจำหน่ายหุ้นตัดหุ้นที่จะขายในสัดส่วนของนักลงทุนต่างประเทศมาให้ทั้ง 3 วิธีการสามารถสร้างความร่ำรวยและมั่งคั่งให้นักการเมืองชุดนี้ได้ ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเม็ดเงินที่ลงไป
เมื่อวิธีการลงทุนของนักการเมืองยุคนี้ยากต่อการตรวจสอบแล้ว ตลาดหุ้นจึงนับว่าเป็นช่องทางการผ่องถ่ายเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายของนักการเมือง เนื่องจากไม่มีข้อห้ามว่านักการเมืองห้ามเข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
หากจะไล่ถึงที่มาและที่ไปของเงินที่ใช้ในการซื้อและขายหุ้น ก็ทำได้ไม่ง่ายเช่นกันเนื่องจากพวกนี้มีวิธีการแตกบัญชีใช้ชื่อบัญชีของบุคคลอื่นทำธุรกรรมแทบทั้งสิ้น
"เราไม่เคยเห็นว่าการตรวจสอบแล้วจะพบว่านักการเมืองเข้ามาซื้อขายหุ้นแล้วผิด ที่ผ่านมาก็เป็นแค่การตั้งข้อสังเกตุและเชื่อมโยงความสัมพันธ์เท่านั้น อีกทั้งช่องทางในการหลบเลี่ยงก็มีมากมาย ยากมากหากจะตรวจว่าเมื่อนักการเมืองเหล่านี้ทุจริต คอรัปชั่นแล้วนำเงินเหล่านั้นมาฟอกผ่านตลาดหลักทรัพย์" ผู้บริหารโบรกเกอร์กล่าว
นอกจากนี้สิ่งที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะต้องคำนึงถึงนอกเหนือจากที่นักการเมืองแม้จะหมดอำนาจไปก็ยังหาเงินมาเป็นทุนได้จากตลาดหุ้นได้ และการที่นักการเมืองไทยรักไทยส่วนใหญ่ถือหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ สามารถลากหรือทุบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ทุกขณะตรงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่พวกเขาอาจจะทำไม่เพียงแค่การหาส่วนต่างราคาหุ้นเหมือนอย่างในอดีต
*********
"ตัวบุคคล"ตอใหญ่-อุปสรรคตรวจสอบ
ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล - วิชิต สุรพงษ์ชัย - วิจิตร สุพินิจ
คนในระบอบทักษิณนั่งเต็มพื้นที่ในภาคการเงิน-ตลาดหุ้น แถมยังเป็นหนึ่งในกรรมการตรวจสอบ ทุกเส้นทางตีบตัน เหลือความหวังเพียงหน่วยงานแบงก์ชาติที่ปลอดการเมืองมากที่สุด คาดอาจร่วมมือแต่ไม่ร่วมใจ ดึงเวลารอคณะกรรมการหมดอายุ
คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการซึ่งได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ที่มีสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธานกรรมการ โดยมีอำนาจในการอายัดทรัพย์ ตรวจสอบการเสียภาษี รวมถึงการมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบ ที่มีอำนาจในการเรียกข้อมูลและเอกสารจากบริษัทหลักทรัพย์ได้
การตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมืองในผ่านเส้นทางการเงินของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ชุดนี้ ดูเหมือนจะมีอุปสรรคไม่น้อย โดยเฉพาะตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของพื้นที่ที่ทีมงานของคณะกรรมการตรวจสอบฯ จะต้องเข้าไปติดตามข้อมูล
เริ่มจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ที่มีธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็นเลขาธิการ ที่แม้ก่อนหน้านี้จะโชว์ความโปร่งใสในการให้พานทองแท้ ชินวัตร และพิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของทักษิณ ชินวัตร ชี้แจงข้อมูลการได้หุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น ผ่าน Ample Rich Investment หลังจากที่มีการซื้อขายเมื่อ 23 มกราคม 2549
ดูเหมือนครั้งนั้น ก.ล.ต.จะโชว์ความแข็งแกร่งในการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากที่เรื่องการขายหุ้นครั้งนี้ถูกขยายวงออกไปกว้างขึ้น ความคืบหน้าต่าง ๆ ในการตรวจสอบก็เริ่มแผ่วลง พร้อมกับการออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ปกป้องตระกูลชินวัตร จนกระทั่งมีการสรุปออกมาว่าพานทองแท้ ชินวัตร ผิดแค่รายงานไม่ถูกต้องและไม่ได้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ โดยปรับเป็นเงิน 5.98 ล้านบาทเท่านั้น หลังจากนั้นงานของ ก.ล.ต.ที่เคยทำงานในเชิงรุกก็แผ่วลง
หน่วยงานของ ก.ล.ต. ประกอบด้วยคณะกรรมการที่มีบุคคลจากภาครัฐ โดยมีบุคคลสำคัญประกอบด้วย ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง การุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างปี 2544-2547 แถมปัจจุบันยังนั่งเป็นประธานกรรมการในบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สมบัติที่ยังเหลืออยู่ของกลุ่มชินวัตร และสมพล เกียรติไพบูลย์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
คณะกรรมการส่วนใหญ่ได้รับการคัดเลือกมาจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทยทั้งสิ้น จึงนับเป็นเรื่องที่ท้าทายว่าการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบฯ จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
นอกจากนี้หน่วยงานของ ก.ล.ต.ที่มีหน้าที่ในการควบคุมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันมี วิจิตร สุพินิจ เป็นประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยุค ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ นับเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลต่อเลขาธิการ ก.ล.ต. ตั้งแต่สมัยอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยกัน ยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์จากกิตติรัตน์ ณ ระนอง มาเป็น ภัทรียา เบญจพลชัย ทำให้บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ลดความเข้มงวดในบางเรื่องลง
2 หน่วยงานทั้ง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถือว่าเป็นหน่วยงานสำคัญ ซึ่งสามารถไล่ที่มาที่ไปของเม็ดเงินของบรรดานักการเมืองเหล่านี้ได้ หากทั้ง 2 หน่วยงานดำเนินการอย่างเต็มประสิทธิภาพและยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก
หากจะมีการตรวจสอบในเรื่องของการเสียภาษี ก็ต้องมุ่งไปที่กรมสรรพากร ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นฤทธิ์เดชของทีมงานชุดนี้มาแล้ว ที่เริ่มตั้งแต่เจ้ากระทรวงอย่างทนง พิทยะ ที่ยื้อเวลาให้ผู้บริหารกรมสรรพากรไปชี้แจงต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อครั้งที่พร้อมใจกันทั้งกรม ทั้งกระทรวงว่าการขายหุ้นชิน คอร์ปให้กับเทมาเส็กจากสิงคโปร์ โดยไม่เสียภาษีนั้น เป็นธุรกรรมที่ถูกต้องท่ามกลางความคลางแคลงใจของคนทั้งประเทศ
โดยเรื่องการตรวจสอบการหลีกเลี่ยงภาษีของบุคคลในครอบครัวของทักษิณ ชินวัตร ก็ต้องมาผ่านกรมสรรพากรอีกรอบอยู่ดี ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ ก็ยังนั่งอธิบดีกรมสรรพากรเหมือนเดิม ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังก็คนเดิม
เรื่องการตรวจสอบนอมินีในบริษัทกุหลาบแก้ว ที่ยรรยง พวงราช รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ดึงเรื่องไว้สอบใหม่ แม้จะมีการส่งต่อให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์อย่างการุณ กิตติสถาพร แล้ว แต่จะไว้ใจได้อย่างไรว่าผลสอบครั้งใหม่ไม่แตกต่างไปจากชุดที่อรจิต สิงคาลวณิช เคยสอบไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
ที่น่าจะเบาใจได้คือเรื่องการตรวจสอบเส้นทางของเงิน โดยใช้เส้นทางของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ถอยออกจากภาคการเมืองออกมาได้เป็นอย่างดี
ส่วนการขอความร่วมกับภาคธนาคารผ่านสมาคมธนาคารไทยนั้น ปัจจุบันคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทย ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมาธนาคารไทยพาณิชย์ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการถือหุ้นในบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด หนึ่งในร่างทรงของเทมาเส็กที่เข้ามาซื้อชิน คอร์ป แถม วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ยังเข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทชิน คอร์ป อีกด้วย
จะเห็นได้ว่าช่องทางในการตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลไทยรักไทยผ่านช่องทางของตลาดเงินตลาดทุนนั้น คงทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ภาคการเมืองได้วางตัวบุคคลสำคัญที่กุมภาคธุรกิจได้เกือบทั้งหมด ทั้งส่วนตรวจสอบในตลาดหุ้น กระทรวงพาณิชย์หรือภาคธนาคาร
ดังนั้นกระบวนการในการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งนั้นอาจจะได้รับความร่วมมือตามอำนาจหน้าที่ แต่คณะกรรมการอาจเจอรูปแบบของการถ่วงเวลาเพื่อให้อายุของคณะกรรมชุดนี้หมดไป เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบมีอายุเพียง 1 ปีเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|