"เอ็มบีเอ. บันไดสู่ความสำเร็จในโลกธุรกิจ"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในวันที่ วู ยี เช็ง เป็นเพียงเรือตรีที่ดูแลคลังพัสดุของนาวิกโยธินที่เมือง เกาเสียง ที่ไต้หวันอยู่นั้น เมื่อมีเวลาว่าง เขาจะนั่งคิดอยู่ตลอดเวลาถึงอนาคตของเขาในการเข้าไปทำงานธุรกิจ แม้ว่าจะมีดีกรีที่จบจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติของไต้หวันก็ตาม แต่เนื่องด้วยขาดเงินทุน เขาจึงไม่สามารถทำธุรกิจของตัวเองได้ ดังนั้นในปี 1990 ในช่วงปีสุดท้ายของการเป็นทหาร เขาก็ได้สมัครเข้าเรียนเอ็มบีเอที่คณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่แคลิฟอร์เนีย

ด้วยวัย 29 ปีในปัจจุบัน วูได้กลายเป็นวาณิชธนกร (INVESTMENT BANKER) ที่มีความเชี่ยวชาญในการแปรสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องเช่น หลักทรัพย์ติดจำนองสินเชื่อรถยนต์ หรือแม้แต่หนี้เครดิตการ์ด ให้เป็นพันธบัตรที่เปลี่ยนมือได้

ความสามารถของเขา ที่สามารถแปรเปลี่ยนหนี้สินได้กลายเป็นกำไรได้ นี้เสมือนหนึ่งคุณสมบัติแบบนักเล่นแร่แปรธาตุซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนมาก ผู้บริหารของบริษัทต่าง ๆ หาโอกาสที่จะเลี้ยงข้าวกลางวันเขา บุคคลที่มีบทบาทนำอุตสาหกรรมต้องยอมโทรศัพท์กลับไปหาเขาหลังจบจากสแตนฟอร์ดเพียง 4 เดือน วูก็ได้รับการปฏิบัติต่อเทียบเท่ากับมือการเงินแห่งวอลล์สตรีทเลยทีเดียว

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็มีผลมาจากการที่เขาเป็นเจ้าของกุญแจแห่งความสำเร็จสมัยใหม่ นั่นคือ ปริญญาโทบริหารธุรกิจ (เอ็มบีเอ) จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่างสแตนฟอร์ดนั่นเอง

สำหรับลูกชายหรือลูกสาวของชนชั้นกลางชาวเอเชียแล้ว ที่ผ่านมาหนทางสู่ความร่ำรวยค่อนข้างจะมีจำกัด บางคนอาจจะอาศัยการไต่เต้าเส้นทางแห่งอำนาจในกองทัพ บ้างก็สร้างตัวจากธุรกิจค้าปลีกมีเหมือนกันที่ตกถังข้าวสารเพราะได้ภรรยารวย หรือบางคนก็ไปทำงานในบริษัทข้ามชาติ

แต่ถ้าจะเอาดีในบริษัทชาวเอเชียด้วยกันแล้ว ความสามารถเพียงอย่างเดียวไม่พอ เพราะปัจจัยสำคัญในการเลื่อนขั้นในองค์กร ขึ้นอยู่กับชาติตระกูลและความสัมพันธ์ส่วนตัว

แต่มาวันนี้ เส้นทางใหม่สำหรับการเลื่อนสถานะเริ่มเปิดกว้างขึ้น กระแสการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า 20 ปี ทำให้บริษัทเอเซียมีการพัฒนาจากธุรกิจภายในครอบครัวมาเป็นองค์กรธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่มากขึ้น ผู้ก่อตั้งกิจการบางรายอาจไม่เต็มใจที่จะถ่ายเทอำนาจให้กับบุคคลภายนอกที่เป็นมืออาชีพ แต่ว่าความสำเร็จที่ตัวพวกเขาเองสร้างขึ้นมานั้น กำลังบีบให้พวกเขาต้องมองออกไปให้ไกลกว่าแวดวงลูกหลาน ญาติมิตรในครอบครัว เนื่องจากบริษัทที่กำลังเติบโตนั้นต้องอาศัยความสามารถในการบริหารที่กว้างขวางกว่าที่เคยเป็นมามากมาย บริษัทจำนวนมากขึ้น ๆ กำลังหันไปพึ่งพานักบริหารที่มีดีกรีเอ็มบีเอติดตัว โดยเฉพาะพวกที่พูดได้หลายภาษา มีวิธีคิด มุมมองในระดับโลก (GLOBAL VIEW)

"บริษัทใหญ่ทุกแห่งที่ผมไปมากำลังแสวงหาผู้นำที่มีความเชี่ยวชาญด้านบริหารระดับโลก" สตีเวน แซมเปิล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเซาท์เทอร์น แคลิฟอร์เนีย (ยูเอสซี) ตั้งข้อสังเกต เขาเสริมด้วยว่า "ผู้บริหารที่ไม่มีปัญหาในเรื่องภาษา วัฒนธรรมที่แตกต่างกันและสามารถทำงานได้ดีในธุรกิจหลายประเภทกำลังเป็นที่ต้องการจริง ๆ"

การแข่งขันเพื่อแย่งชิงบัณฑิตจบใหม่อย่างวู เริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนต้นปีเมื่อตัวแทนจากองค์กรมากหลายในอเมริกาได้เริ่มตระเวนสัมภาษณ์ เมื่อวูเรียนจบในเดือนพฤษภาคม โดยควบ 2 ปริญญาคือกฎหมายและบริหารธุรกิจ เขาก็ได้รับข้อเสนอจากมอร์แกน สแตนลีย์, เมอร์ริล ลินช์ และสำนักกฎหมายหลายแห่งของนิวยอร์คให้เข้าทำงานด้วย

"บอสตัน คอนซัลต์ติ้ง กรุ๊ป" อยากได้ตัวเข้าไปร่วมงานที่สำนักงานฮ่องกง โดยให้เงินเดือนปีละ 80,000 เหรียญ บวกกับโบนัส 15,000 เหรียญ ทันทีที่เขาเซ็นสัญญาจ้างงาน แถมด้วยค่าตอบแทนพิเศษอีก 20% ของเงินเดือนทุกสิ้นปี หลังจากชั่งน้ำหนักในทางเลือกต่าง ๆ แล้ว วูก็ตัดสินใจร่วมงานกับโกลด์แมน แซคส์ในนิวยอร์ค เพื่อที่จะได้มีโอกาสหาความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการตราสารทางการเงิน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สำหรับตลาดตราสารที่ให้ผลตอบแทนคงที่

"ด้วยค่าเรียน 21,000 เหรียญต่อปี ทำให้หลักสูตร เอ็มบีเอ ของสปตนฟอร์ดไม่ถูกนัก แต่สำหรับผมแล้วถือว่าเป็นการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ ตอนที่ผมเป็นเรือตรีนั้นผมได้เงินเดือนก่อนหักภาษี 250 เหรียญต่อเดือน ปีนี้ผมจะได้เงินเดือนบวกโบนัส รวมแล้วเกินกว่า 100,000 เหรียญ" วูเปิดเผยถึงผลตอบแทนจากการลงทุนเรียนเอ็มบีเอ.

เอ็มบีเอ. กำลังเป็นวุฒิการศึกษาซึ่งเป็นที่หมายปองของผู้คนจำนวนมากขึ้นทุก ๆ ในขณะนี้ เพราะตอนนี้ธุรกิจของอเมริกาได้กลับมามีความต้องการจ้างนักบริหารมืออาชีพมากขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจของอเมริกาที่กลับมาดีอีกครั้ง

นักศึกษาเอเชียจำนวน 133,000 คนในอเมริกา มีอยู่ 15% ที่ตั้งเป้าไว้ที่การไขว่คว้าปริญญาโททางการบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะนักศึกษาจากญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นักศึกษา 750 คน ยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินคนละ 80 เหรียญสหรัฐ เพื่อเข้าร่วมนิทรรศการและประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการเรียนเอ็มบีเอ. ซึ่งจัดขึ้นที่โตเกียว โดยการสนับสนุนของ GRADUATE MANAGEMENT ADMISSION COUNCIL จากแคลิฟอร์เนีย

สถาบันแห่งนี้จะเป็นศูนย์บริหารการสอบ GRADUATE MANAGEMENT ADMISSION TEST หรือ GMAT การสอบที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมงนี้ เป็นด่านทดสอบด่านแรกสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีทั่วโลกและหวังจะไปเรียนต่อเอ็มบีเอที่อเมริกา

อีกสองวันต่อมา ก็ได้มีการจัดงานในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นที่ฮ่องกง และมีนักศึกษากว่า 1,000 คน ให้ความสนใจขอเอกสาร ข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครเรียน จากโรงเรียนบริหารธุรกิจของสหรัฐฯ 78 แห่งที่ไปตั้งโต๊ะประชาสัมพันธ์ในงาน

"จากจำนวนนักศึกษาเอเซียที่สมัครสอบ GMAT ที่สูงมาก (35,000 คนในปี 1994) ทำให้เรารู้ว่า หลักสูตรการบริหารธุรกิจระดับปริญญาโทนั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก" จูลี่ โดลัน กรรมการผู้จัดการของสถาบัน GMAT กล่าว

การที่นักศึกษาเอเซียสมัครเข้าเรียนเอ็มบีเอ. มากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประชากรในโรงเรียนบริหารธุรกิจของสหรัฐฯ ที่ WILLIAM E. SIMON GRADUATE SCHOOL ของมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ อัตราส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของนักศึกษาเป็นคนเอเซีย และที่คาร์เนกี้ เมลล่อน กับสถาบันเทคโนโลยี แมสซาชูเซสต์ หรือ เอ็มไอที ซึ่งโด่งดังเรื่องการบริหารในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมมีนักศึกษาเอเซียในสัดส่วน 15 และ 21 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุด ดูเหมือนจะเกิดขึ้นที่ยูเอสซี ซึ่งได้สร้างหลักสูตรเอ็มบีเอ สำหรับคนที่ทำงานแล้วในระดับบริหาร ใช้เวลาเรียนเพียงปีเดียวเพื่อตอบสนองความต้องการของนักบริหารวัย 30 กว่า ๆ จากชาติต่าง ๆ ปรากฏว่ากว่าครึ่งหนึ่งของนักศึกษา 48 คนมาจากเอเชีย

ริชาร์ด ดรอบนิค ผู้อำนวยการโครงการศึกษาและวิจัยทางธุรกิจของยูเอสซีเปิดเผยว่า "ผู้ที่เข้ามาเรียนเอ็มบีเอส่วนใหญ่ ได้ทุนจากนายจ้าง ซึ่งมองเห็นว่าพวกเขามีศักยภาพที่จะรับหน้าที่การบริหารที่สูงขึ้น"

หลักสูตรเอ็มบีเอ. ของสหรัฐอเมริกาเป็นหลักสูตรที่ดีที่สุดและมีชื่อสียงมากที่สุดอาจเป็นเพราะว่า อเมริกาซึ่งเป็นต้นธารของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ เป็นจุดกำเนิดของเอ็มบีเอ. และมีระยะเวลาเพียงพอที่จะพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร

แต่ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งก็คือความพร้อมในเรื่องเงินทุน มหาวิทยาลัยในสหรัฐลงทุนในเรื่องของทรัพยากร เครื่องไม้เครื่องมือ สิ่งอำนวยความสะดวกสบายและคณาจารย์มากกว่ามหาวิทยาลัยในเอเซียซึ่งบางแห่งยังคงถูกแทรกแซงจากรัฐบาล

นอกจากนั้นคุณภาพด้านการสอนของอาจารย์ในสหรัฐฯ ก็ดูจะดีกว่าที่อื่นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยดัง ๆ จะมีมุมมองแนวความคิดในเชิงโลกานุวัตร และเคยมีประสบการณ์ในโลกธุรกิจมาแล้ว

ข้อสำคัญคือ ผู้ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้ายังจะได้ประโยชน์ในการทำงานกับบริษัทดี ๆ เพราะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทพวกนี้มักจะอยู่ในแวดวงของศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

แต่สำหรับพรเลิศ รัตนันท์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอส ซี เอฟ จำกัด เขาเห็นว่า การศึกษาในมหาวิทยาลัยในเอเซีย จะนำมาซึ่งสายสัมพันธ์ที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม คนที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยในเอเซีย ก็ยังมองเห็นคุณค่าของเอ็มบีเอ. จากอเมริกา เบ็ตตี้ จีน แกรน ผู้จัดการฝ่ายฝึกอบรมและพัฒนาของบริษัทฮ่องกง เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด กล่าวว่า เมื่อพนักงานมาขอคำแนะนำเกี่ยวกับหลักสูตร เอ็มบีเอ. เธอมักจะแนะนำมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ ถ้าพนักงานคนที่ถามมีแผนที่จะเปลี่ยนงานในอนาคตด้วย เพราะชื่อมหาวิทยาลัยเหล่านั้น จะสร้างความประทับใจให้กับนายจ้างในอนาคตได้มากกว่า

มีเหตุผลมากมายที่นักศึกษาทั้งหลายจะไขว่คว้าปริญญาเอ็มบีเอ. มาไว้กับตัว สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เรื่องเงิน โดยผู้จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อของอเมริกา จะได้เงินเดือนแรกเริ่มมากกว่า 60,000 เหรียญต่อปี และถ้าเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษหรือมีแววมากกว่าคนอื่น ๆ เงินก้อน 10,000 เหรียญที่จ่ายทันทีเมื่อเซ็ญสัญญาจ้างงาน ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในการสำรวจเรื่องเงินเดือนของพนักงานสตรี ริต้า มัลโดนัลโด แบร์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านการเงินแห่ง STERN SCHOOL OF BUSINESS ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ได้เปรียบเทียบเงินเดือนเริ่มต้นของลูกศิษย์ที่เป็นผู้หญิง ซึ่งเรียนจบไปจากที่นี่ กับระดับเงินเดือนเฉลี่ยก่อนที่จะสอบเข้ามาเรียนได้ พบว่าหลังจากจบเอ็มบีเอ. แล้ว เงินเดือนเพิ่มขึ้น 16%

เอ็มบีเอ. ยังแผ้วถางทางให้เปิดกว้างขึ้นอาซัด จูมับฮอย กรรมการผู้จัดการของไลออน ซิตี้ โฮลดิ้งของสิงคโปร์ ซึ่งจบมาจาก SLOAN SCHOOL OF MANAGEMENT ของเอ็มไอที บอกว่า "ผมไม่เคยจ้างคนโดยดูแต่ปริญญาอย่างเดียว แต่สำหรับคนที่จบเอ็มบีเอ. มา ผมถือว่าได้รับการตระเตรียมมาสำหรับตำแหน่งบริหารระดับสูงถือเป็นข้อยกเว้น เอ็มบีเอ. กลายเป็นสิ่งจำเป็นเหมือนเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ใช้แก้ไขปัญหาธุรกิจ"

ตอนแรก ๆ โครงสร้างของหลักสูตรเอ็มบีเอ. มีอยู่สองกระแสที่แตกต่างกันกระแสหนึ่งนั้นมาจากมหาวิทยาลัยชิคาโกซึ่งจะเน้นไปที่การบัญชี และทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ส่วนกระแสที่สองเน้นการเรียนการสอนโดยอาศัยกรณีศึกษา ยกเอาสถานการณ์จริง ๆ มาถกเถียงหาข้อสรุป ซึ่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นผู้บุกเบิก ต่อมาได้มีการประสานแนวทางทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักสูตรมาตรฐานในปัจจุบันที่มุ่งสร้างโอกาสในการยกระดับหน้าที่การงานของนักศึกษามากกว่าหลักวิชาการ

หลังจากผ่านการเรียนวิชาบังคับของหลักสูตรที่ใช้เวลา 2 ปี นักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาที่สอดคล้องกับเป้าหมายของตนได้ วิชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การเงิน ซึ่งสอนการประเมินราคาหุ้น พันธบัตร ตราสารประเภทต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เรียกว่า "อนุพันธ์การเงิน" (DERIVATIVES)

แม้ว่าหลักสูตรเอ็มบีเอ. จะดูคล้าย ๆ กัน ทว่าแต่ละมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ ก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน เช่น มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ค กับวาร์ตัน สกูลของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเชี่ยวชาญด้านการเงิน ส่วนมหาวิทยาลัยนอร์ท เวสเทอร์น, ดุ๊ก และนอร์ท แคโรไลน่า มีชื่อในเรื่องการตลาด สำหรับมหาวิทยาลัยเท็กซัสและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอส แอลเจลิสหรือยูซีแอลเอ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเถ้าแก่ เจ้าของกิจการจำนวนมากในขณะที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนเหมาะสำหรับ นักบริหารในกิจการอุตสาหกรรมและแรงงานสัมพันธ์

ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติคไปที่ปารีสก็มี EUROPEAN INSTITUTE OF BUSINESS ADMINISTRATION หรือ INSEAD ที่เน้นในเรื่องการวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ นักศึกษาที่นี่ต้องเรียนภาษาต่างประเทศอย่างน้อยสองภาษา

แต่ถ้าลองสุ่มถามพวกซีอีโอดูว่า เอ็มบีเอ. ที่ดีที่สุดในโลกอยู่ที่ไหน ส่วนใหญ่จะตอบเหมือนกันว่า ต้องยกให้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 1885 คือ ลีแลนด์ สแตนฟอร์ด มหาเศรษฐีเจ้าของกิจการรถไฟ ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย สแตนฟอร์ดตั้งอยู่ที่เมืองพาโล อัลโต ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างซานฟรานซิสโกและซิลิคอน แวลลี่ย์ มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 3,300 เฮคเตอร์ ซึ่งมีจุดเด่นที่ต้นยูคาลิปตัสสูงเสียดฟ้ากับอาคารรูปทรงสเปน แต่สินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดของสแตนฟอร์ดคือ คณะบริหารธุรกิจ ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารที่ออกแบบโดยเน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความสวยงาม อาณาบริเวณโดยรอบดูแปลกแยกจากบรรยากาศแบบชนบทของส่วนอื่น ๆ แต่มันสมองที่หลักแหลมที่สุดจากสองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิคอยู่ที่นี่

"ที่นี่มีบรรยากาศที่จะช่วยเสริมสร้างจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ และก็มีชื่อด้านวิชาการโด่งดังในระดับโลกด้วย" ไอแวน รามอส วัย 26 คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ "ฟิลิปปินส์ สตาร์" และเป็นนักศึกษาเอ็มบีเอ. ที่นี่กล่าว เขาเคยเป็นผู้จัดการทั่วไปของเครือข่ายร้านฟาสฟู้ดส์ในมนิลาที่ใช้ชื่อว่า "โตเกียว-โตเกียว" รามอสบอกว่า "สถาบันการบริหารแห่งเอเชีย (ASIAN INSTITUTE OF MANAGEMENT) ความจริงก็เป็นสถาบันที่ดี แต่ไม่เป็นที่รู้จักกันนอกฟิลิปปินส์ ความเป็นนักศึกษาเอ็มบีเอ. ของสแตนฟอร์ดเป็นอะไรที่มีความหมายมากกว่า"

การแข่งขันเพื่อเข้าเรียนในสแตนฟอร์ดเป็นไปอย่างเข้มข้น สำหรับปีนี้มีนักศึกษาถึง 4,600 คนที่ยื่นใบสมัคร ในขณะที่มีที่นั่งเพียง 360 ที่เท่านั้นสำหรับการเรียนในปีแรก แม้ว่าการสอบเข้าเรียนที่สแตนฟอร์ดนี้จะพิจารณาถึงผลการสอบ GMAT เหมือนที่อื่น ๆ แต่ปัจจัยอื่น ๆ มีความสำคัญกว่า แมรี่ มูกีนี่ ผู้อำนวยการด้านการคัดเลือกผู้เข้าเรียนเอ็มบีเอ กล่าวว่าทางสแตนฟอร์ดจะดูถึงศักยภาพด้านการบริหารที่จะแสดงออกมา ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหารมาก่อน แต่ต้องแสดงให้เห็นว่ามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

สิ่งที่สแตนฟอร์ดให้ความสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งคือ ความหลากหลายของนักศึกษา ไม่เฉพาะแต่การมาจากส่วนต่าง ๆ ของโลกเท่านั้น (ร้อยละ 9 ของนักศึกษาในแต่ละชั้น เป็นคนเอเชีย ส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น) แต่ยังพิจารณาถึงภูมิหลัง พื้นฐานอาชีพ แม้ว่านักศึกษาเกือบ 1 ใน 3 ส่วนใหญ่จะมาจากวงการวาณิชธนกิจและที่ปรึกษาการบริหาร แต่ในชั้นเรียนก็ยังมีคนที่เป็นนักบวช นักบินเครื่องบินรบ นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิค และหัวหน้าพนักงานต้อนรับของสายการบินแจแปนแอร์ไลน์เรียนรวมกันด้วย

"ทุกคนที่มาที่นี่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ประสบความสำเร็จ คุณค่าของโครงการเอ็มบีเอที่ดีไม่ใช่อยู่ที่ว่าคุณจะเรียนอะไรจากอาจารย์ได้เพียงใด แต่อยู่ที่สิ่งที่นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนกัน" จูน อุย วัย 27 กล่าวไว้ เขาเคยเป็นผู้จัดการโครงการของบริษัท อินเทล เทคโนโลยี่ จำกัดที่ปีนัง

ในแง่ของการเรียนการสอนนั้น การสนับสนุนนักศึกษาให้ทำงานเป็นทีม ช่วยในเรื่องการปรับตัวด้านวัฒนธรรมได้ดี อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาด้านภาษาอยู่ แม้แต่ผู้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก ก็ยังงงเมื่อคำว่า "แรงจูงใจของพนักงาน" (EMPLOYEE'S MOTIVATION กลายเป็นคำว่า "ความคาดหวังในผลการปฏิบัติงาน" (PERFORMANCE-OUTCOME EXPECTION) รวมทั้งศัพท์เทคนิคในเชิงบริหารธุรกิจอีกมากมาย

เป้าหมายของทุกหลักสูตรเอ็มบีเอ. ก็คือ การสร้างระบบความคิดอย่างมีหลัก รู้จักวิเคราะห์เหตุการณ์ด้วยเทคนิคเชิงปริมาณ แทนการมองและตัดสินปัญหาด้วยสัญชาตญาณ ไมเคิล สเปนซ์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจของสแตนฟอร์ดกล่าวว่า "เราพยายามสร้างกรอบในการวิเคราะห์ให้กับนักศึกษา เพื่อที่เขาจะได้นำไปใช้สำหรับการตัดสินใจในวันข้างหน้า คนที่จบเอ็มบีเอ. ควรจะสามารถเข้าใจโลก มองเห็นการเปลี่ยนแปลง และปรับใช้เป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจได้"

คนที่จบมาจากสแตนฟอร์ดได้เปรียบในการหางานทำ ในช่วงระยะเวลาเพียง 3 เดือน ร้อยละ 95 ของนักศึกษารุ่นที่จบปี 1993 สามารถหางานที่มีเงินเดือนเฉลี่ย 65,000 เหรียญต่อปีได้ แต่บางคนความสำเร็จก็เริ่มตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ อย่างเช่นฟิลิปส์ ไนท์ ตอนที่เรียนอยู่ปี 2 เขาสังเกตว่ามีนักจ๊อกกิ้งเพิ่มมากขึ้น เขาจึงลองร่างแผนการจัดตั้งบริษัทขายรองเท้าวิ่งขึ้นมา พอเรียนเอ็มบีเอ. จบ ไนท์ก็หยิบโครงการมาปัดฝุ่น นำไปเสนอแก่นักลงทุน และในที่สุดก็เกิดเป็นบริษัทไนกี้ขึ้นมา

สแตนฟอร์ดยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเอเชีย บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น 12 แห่ง ส่งผู้บริหารที่เก่งที่สุดมาเรียนเอ็มบีเอ. ที่นี่อย่างสม่ำเสมอ บริษัทอย่างซันวา มัตสุชิตะ และธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นก็เคยบริจาคเงินให้กับสแตนฟอร์ดถึงรายละ 1 ล้านเหรียญ นอกจากนั้นสแตนฟอร์ดยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งได้ร่วมกันจัดโครงการสัมมนาระดับบริหารเป็นเวลา 3 สัปดาห์ มาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว

คนเอเชียที่เคยไปเรียนต่างประเทศพบว่า ภูมิหลังแบบหลายวัฒนธรรมของตนนั้น ได้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าของบริษัทข้ามชาติอเมริกัน บริษัทอย่าง แม็คคินเซย์, แอปเปิล คอมพิวเตอร์, ซาโลมอน บราเธอร์ส, 3 เอ็ม, ฟอร์ดและคอมแพ็ค คอมพิวเตอร์ ล้วนมีซีอีโอซึ่งพูดได้ 2 ภาษา เกิดต่างแดนและมีชื่อเสียงจากผลงานในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทในเอเซีย ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการพัฒนาความเป็นโลกานุวัตรของผู้บริหาร ความผิดหวังอย่างยิ่งยวดข้อหนึ่งของผู้ที่จบเอ็มบีเอ. จากอเมริกามาหมาด ๆ ก็คือบริษัทเอเซียช่างมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องอาศัยความสามารถของพวกเขาเสียบ้างเลย

แต่ปัญหานี้ก็อาจจะคลี่คลายไปได้ เมื่อจำนวนคนเอเซียที่จบเอ็มบีเอ. มีมากขึ้นและเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เติบโตขึ้นต่อไป "คนเอเซียอาจจะมีระบบคุณค่าที่ต่างออกไปจากโลกตะวันตก แต่ในที่สุดแล้วพวกเขาก็จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม การต่อต้านการผูกขาด และการบริหารแรงงานเหมือนอย่างที่อเมริกาเจอในทุกวันนี้" วู คาดการณ์เอาไว้เช่นนี้และเมื่อวันนั้นมาถึง คนอย่างวูและผู้สำเร็จเอ็มบีเอ. คนอื่น ๆ ก็พร้อมแล้วที่จะเข้ามาจัดการกับปัญหา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.