ธปท.นำร่องประเมินศก.ปีหน้าใหม่ย้ำค่าบาท-ตลาดหุ้นคืนสู่สภาวะปกติ


ผู้จัดการรายวัน(26 กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติเตรียมประเมินภาพรวมเศรษฐกิจปีหน้าใหม่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ระบุสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงหลังมีการปฏิรูปการเมืองของคปค. ปัจจัยหลักเป็นส่วนของงบประมาณปี 50 ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะจัดทำ-เบิกจ่ายได้เร็วกว่าที่กำหนด ยันสถานการณ์ค่าบาท-ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และไม่มีเงินทุนไหลออกอย่างผิดปกติ

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพการเงิน เปิดเผยว่า หลังจากที่ ธปท.ได้ติดตามภาวะการณ์ในตลาดเงินตลาดทุนไทยตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการดำเนินการปฏิรูปการปกครอง โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 25 ก.ย.นี้ พบว่า ตลาดการเงินของไทย ทั้งตลาดอัตราดอกเบี้ย ตลาดพันธบัตร และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมถึงตลาดทุน ได้เข้าสู่ภาวะปกติและเป็นไปตามกลไกของภาคธุรกิจ และช่วยสนับสนุนให้การดำเนินการของภาคธุรกิจในช่วงต่อไปเดินหน้าได้ตามปกติ

นอกจากนั้น ยังเห็นความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ โดย 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่เห็นการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ ตรงกันข้าม ยังคงเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ สรุปจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทพบว่าค่าเงินบาทมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ในวันแรกของการเข้าปฎิรูปการปกครองในตลาดเงินบาทระหว่างประเทศเท่านั้น โดยอ่อนค่าลงจากราคา 37.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องตั้งแต่ได้รับทราบข้างต้น และอ่อนค่าลงต่ำสุดที่ 37.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่า 67 ส.ต.

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเมื่อเห็นภาพที่ชัดเจนว่าไม่มีความรุนแรง ค่าเงินบาทจึงได้แข็งค่ากลับขึ้นมาจนปิดตลาดระหว่างประเทศในช่วงคืนวันที่ 19 ก.ย. ที่ 37.52 บาท และถัดมาในวันที่ 21-22 ก.ย.49 ที่กลับมาเปิดตลาดค้าเงินบาทอีก ก็ไม่เห็นการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ และเงินที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เหตุผลหนึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่เข้าซื้อหุ้นในตลาดหุ้นไทย 2 วัน รวมกันสูงถึง 7,500 ล้านบาท โดยล่าสุดในวันที่ 25 ก.ย. ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 37.30-37.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายบัณฑิต กล่าวว่า จากการตรวจสอบตลาดสินเชื่อและพันธบัตรก็ไม่ได้ตื่นตระหนกกับภาวะการปฏิรูการปกครองของไทยเช่นกัน เพราะอัตราดอกเบี้ยในตลาดระหว่างธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นเพียง 0.02-0.03% เท่านั้น และยังมีสภาพคล่องคงเหลือ ประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท ขณะที่ดอกเบี้ยการประมูลพันธบัตรเมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนตลาดหุ้นไทย การลดลงของดัชนีหุ้นในอัตราประมาณ 10 จุดต่อวัน ถือเป็นเกณฑ์ที่ปกติไม่น่าเป็นห่วง และนักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิ

นอกจากนี้ หากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดทำงบประมาณประจำปี 50 ได้ในเร็วๆ นี้ และเป็นงบประมาณขาดดุลจะส่งผลดีต่อการใช้จ่าย และการลงทุนของภาครัฐ และจะส่งผลดีต่อเนื่องต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2550 จากเดิมในการประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2550 ของธปท. และสำนักอื่นๆ จะประเมินจากสมมติฐานว่า งบประมาณปี 2550 จะเบิกจ่ายล่าช้าประมาณ 6-9 เดือน จากเดือนต.ค.2549 แต่ในขณะนี้ หากงบระมาณปี 2550 สามารถเบิกจ่ายได้ตามเวลาไม่เลื่อนออกไป ก็จะเป็นประโยชน์ต่อภาวะเศรษฐกิจไทยจากการใช้จ่าย และการลงทุนของภาครัฐ โดยมองว่าการขาดดุลในระดับ 1.5-2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็นขนาดที่รับได้ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมองในระยะยาว ทำให้หากมีความจำเป็นในปีแรกๆ อาจจะมีการขาดดุลเกินกำหนดได้

อย่างไรก็ตาม ธปท.จะมีการประเมินภาพทางเศรษฐกิจ และประมาณการเศรษฐกิจในปี 2549 และปี 2550 ใหม่อีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 18 ตุลาคมที่จะถึงนี้ เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก และจะมีรายละเอียดของประมาณการเศรษฐกิจใหม่ ของธปท.ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับใหม่ที่จะออกสิ้นเดือนต.ค.นี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.