กรุงไทยลั่นดัน TSEC กำไรปีหน้า


ผู้จัดการรายวัน(26 กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์กรุงไทยวางเป้า บล.ทีเอสอีซี มีกำไรในปี 50 พร้อมดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 2 ปีข้างหน้า ยันคงถือหุ้นทรีนีตี้เหมือนเดิม “ชาญชัย” มั่นใจศักยภาพของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ดันเป็นโบรกเกอร์ ติด 1 ใน 5 ที่มีมาร์เกตแชร์สูงสุด ภายใน 3 ปี มุ่งเน้นบริการครบวงจร ด้านผู้บริหารวาณิชธนกิจ หวังเทียบชั้นบล.ภัทร ในอนาคต

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย (จำกัด) มหาชน หรือ KTB เปิดเผยว่า การที่ธนาคารเข้าถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทีเอสอีซี จำกัด ในสัดส่วน 50% ของทุนจดทะเบียน เนื่องจากมองว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มุ่งเน้นการทำธุรกิจกับนักลงทุนรายย่อยซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารต้องการ ประกอบกับเป็น บล.ขนาดเล็กทำให้ใช้เงินลงทุนไม่มากนัก และการที่บล.ทีเอสอีซี อยู่นอกตลาด จึงสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต ซึ่งหวังว่าผลประกอบการของ บล.ทีเอสอีซี ในปีหน้า จะมีผลประกอบการที่มีกำไร จากปี 49 ที่มีผลขาดทุนลดลง โดยวางเป้าหมายว่า จะนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ธนาคารต้องการที่จะผลักดันให้บล.ทีเอสอีซี ขึ้นเป็นโบรกเกอร์ขนาดใหญ่ในอนาคตซึ่งธนาคารพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเต็มที่ โดยตั้งเป้าว่าหลังจากที่ธนาคารเข้ามาถือหุ้นเป็นเวลา 1 ปีแล้ว จะมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) 1-1.5% ในกลางปี 2550 จากปัจจุบันที่มีมาร์เกตแชร์อยู่ที่ 0.6%

สำหรับการลงทุนในบริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ TNITY ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบล.ทรีนีติ้ โดยธนาคารจะยังคงถือหุ้นประมาณ 10% เหมือนเดิมและคาดว่าลงทุนในระยะยาวคงจะไม่มีการขายหุ้นออกมา ซึ่งรวมถึงการถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) กรุงไทย จำกัด ธนาคารก็ยังคงยืนยันที่จะถือหุ้นในสัดส่วน 100% เช่นเดิม เพราะมองว่าธุรกิจของบลจ.มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของธนาคารอยู่แล้วจึงสามารถเกื้อหนุนกันได้

นายชาญชัย กุลถาวรากร ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทีเอสอีซี จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่ธนาคารกรุงไทยเข้ามาถือหุ้นของบริษัทนั้น บริษัทเตรียมที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น บล.เคทีบี ซึ่งบริษัทจะได้ประโยชน์จากฐานทุนของธนาคารเข้ามาสนับสนุนธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ รวมถึงธุรกิจวาณิชธนกิจ นอกจากนี้ยังจะมุ่งเน้นในเรื่องการจัดทำบทวิเคราะห์ และการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านอินเตอร์เน็ต (อินเตอร์เน็ตเทรดดิ้ง)

ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าว่าภายในระยะเวลา 3 ปี จะขึ้นเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีมาร์เกตแชร์สูงสุด 1 ใน 5 จากปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์ที่มีมาร์เกตแชร์ติด 1 ใน 10 จะมีมาร์เกตแชร์อยู่ที่ 4-7% ซึ่งขณะนี้บริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ 0.6-0.9% โดยบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย เพราะบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนลูกค้าสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากขณะนี้ที่บริษัทมีสัดส่วนลูกค้าเป็นนักลงทุนรายย่อยทั้งหมด

“ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้ารายย่อยเปิดบัญชี 3,000 บัญชี ซึ่งมีการซื้อขายอย่างสม่ำเสมอ 30% ซึ่งในอนาคต บริษัทมีลูกค้าสถาบันเพิ่มขึ้น ก็ทำให้มั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่แบงก์กรุงไทยกำหนดไว้ และแบงก์กรุงไทยก็ให้การสนับสนุน เช่น การเปิดสามารถ ไซเบอร์บาร์น ตามสาขาของธนาคาร รวมถึงจะมีการเปิดสาขาเต็มรูปแบบเพิ่มขึ้นอีก” นายชาญชัย

นายบุญชัย ศรีปรัชญาอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทีเอสอีซี จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มพนักงานด้านวาณิชธนกิจให้มีความแข็งแกร่งและเป็นที่ยอมรับ โดยตั้งเป้าว่า ภายในเวลา 3 ปี จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีทีมวาณิชธนกิจชั้นนำของประเทศไทย เหมือนกับ บล.ภัทร ที่มีทีมวาณิชธกิจที่เป็นที่ยอมรับ โดยตนพร้อมที่จะนำประสบการณ์จากการเป็นผู้บริหารใน บล.ภัทร เข้ามาช่วยและยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย ที่จะแนะนำลูกค้าให้ โดยคาดว่าจะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บริษัทแรกในปีหน้า ทั้งนี้บริษัทที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีขนาดตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้น

นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) กรุงไทย จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่บล.ทีเอสอีซี เข้ามาเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงไทย เชื่อว่าความร่วมมือระหว่างบริษัทกับ บล.ทีเอสอีซี จะมีมากขึ้น โดยมีโอกาสที่ทางบลจ.กรุงไทย จะมีการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ผ่าน บล.ทีเอสอีซี

ทั้งนี้บล.ทีเอสอีซี จะต้องมีความพร้อมในแง่ของงานวิจัยที่จะนำเสนอให้กับบลจ. เหมือนกับบริษัทหลักทรัพย์อื่นๆ ที่มีงานวิจัยให้กับ บลจ.กรุงไทย ในฐานะที่เป็นลูกค้า เพราะบริษัทเองก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเช่นกัน โดยปัจจุบัน บลจ.กรุงไทย ก็มีการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ให้กับบล.หลายแห่ง รวมถึง บล.ทรีนีตี้ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือธนาคารกรุงไทยเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.