โครงการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนและรีดเย็นของสหวิริยาสตีล มีมูลค่าการลงทุนมหาศาล
และมีความสำคัญต่ออนาคตของสหวิริยาเป็นอย่างมากเพราะเป็นจุดเปลี่ยนที่จะก้าวกระโดดจากความเป็นผู้ค้าเหล็ก
ขึ้นสู่ฐานะผู้ผลิตอย่างเต็มตัว กระแสเรียกร้องให้เปิดเสรีโรงงานเหล็กแผ่น
ที่เกิดขึ้น จากคู่แข่ง จึงเป็นสิ่งที่สหวิริยาต้องต่อต้านอย่างเต็มที่ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องไม่ให้เกิดขึ้นในช่วงปีสองปีต่อจากนี้
เพื่อซื้อเวลาให้โรงงานเหล็กของตนยืนได้อย่างเข้มแข็งเสียก่อน
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2532 กระทรวงอุตสาหกรรมในยุคของรัฐมนตรีที่ชื่อ บรรหาร
ศิลปอาชา อนุมัติให้กลุ่มสหวิริยา ผู้ค้าเหล็กรายใหญ่ของเมืองไทย ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน
และเหล็กแผ่นรีดเย็น โดยห้ามผู้ประกอบการรายอื่น เข้ามาตั้งโรงงานประเภทเดียวกันนี้จนกว่าจะถึงปี
2542
ในขณะนั้น กลุ่มสหวิริยามีความเชื่อมั่นด้วยหัวใจที่พองโตว่า จะไม่มีใครหน้าไหนที่จะเข้ามาขวางทางในอุตสาหกรรมเหล็กประเภทนี้อีกแล้วในช่วง
10 ปียกเว้นแต่บริษัทผู้นำเข้าเหล็กแผ่นจากต่างประเทศซึ่งบริษัทผู้นำเข้าเหล่านี้ก็ยังต้องติดขัดในเรื่องภาษีนำเข้าที่จะเป็นตัวขัดขวางสำคัญทางด้านการตลาด
ที่จะแข่งกับอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นในประเทศ
ความเป็นต่อของสหวิริยาในระยะนั้น จึงมีอยู่หลายขุม
แต่หารู้ไม่ว่า เพียงเวลาดำเนินการผ่านไปเพียงครึ่งทางหรือ 5 ปีเท่านั้น
กลุ่มสหวิริยาก็ต้องประสบกับ "ก้างตำคอ" ชิ้นใหญ่เมื่อมีเสียงเรียกร้องจากรอบด้าน
ให้มีการพิจารณา ทบทวนมติที่มอบสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียวนี้ให้กับกลุ่มสหวิริยานี้เสียใหม่
ในขณะที่ค่ายคู่แข่งที่หมายตาจะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้บ้างก็พยายามใช้กำลังภายในทุกรูปแบบที่
จะพลิกมติดังกล่าวให้จงได้
ความฝันของกลุ่มสหวิริยาที่จะเป็นใหญ่แต่ผู้เดียวในอุตสาหกรรมเหล็กประเภทนี้จึงต้อง
"ตกหลุมอากาศ" ทันที
เมื่อย้อนไปดูแนวทางดำเนินการของกลุ่มสหวิริยาที่จะเป็นใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้
จะพบว่าสหวิริยาได้เตรียมการไว้อย่างดีพอสมควร การทุ่มเทงบประมาณมหาศาลเพื่อซื้อที่ดินถึง
1,750 ไร่ ที่ตำบลรำพึง อ. บางสะพาน จ. ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเนรมิตรให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเหล็กของกลุ่มโดยเฉพาะนั้นเป็นไปอย่างไม่อั้น
โดยเมืองอุตสาหกรรมเหล็กแห่งนี้ประกอบด้วย 4 บริษัทหลักที่เป็นหัวใจของกันและกัน
เริ่มจาก บริษัทสหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัดซึ่งเป็นบริษัทพี่เอื้อยของเมืองอุตสาหกรรมเหล็กแห่งนี้ความยิ่งใหญ่จะดูได้จากทุนจดทะเบียนเริ่มต้น
5,100 ล้านบาท มีเป้าหมายที่จะมุ่งผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (HOT ROLLED
COILED) โดยเฉพาะโดยมีกรรมวิธีการผลิตซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนในวงการ
ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป ด้วยการนำเหล็กแบน (CONVENTIONAL SLAB) มาผ่านกระบวนการรีดซ้ำ
(REPRESSING) ให้เหล็กบางลงมา ซึ่งเหล็กแผ่นรีดร้อนนี้จะเป็นวัตถุดิบสำคัญที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องประเภทอื่น
ไม่ว่าจะเป็น ท่อน้ำมัน, ท่อแก๊ส, ท่อน้ำ, โครงสร้างเหล็ก,คลังสินค้า, ถังน้ำมัน,
ตู้รถไฟ, ตู้รถบรรทุกสินค้า, ตัวถังรถบรรทุก, หรือแม้แต่อุตสาหกรรมต่อเรือ
กลุ่มสหวิริยาตั้งความหวังกับเหล็กแผ่นรีดร้อนนี้ไว้เป็นอย่างมาก โดยพยายามแสวงหาผู้ร่วมทุนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้
จนกระทั่งได้กลุ่มดูเฟอร์โกจากอิตาลีเข้ามาร่วมหุ้นในอัตรา 1.8 ล้านตันต่อปี
กลุ่มสหวิริยาค่อนข้างจะภาคภูมิใจเป็นอย่างมากกับโรงงานเหล็กแห่งนี้อย่างมากว่าเป็นโรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์
ด้วยการลงทุนมากถึง 15,000 ล้านบาท
บริษัท เหล็กแผ่นรีดเย็นไทย จำกัดเป็นบริษัทที่ 2 ในเมืองอุตสาหกรรมเหล็กแห่งนี้
ที่ดำเนินโครงผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดม้วน (COLD ROLLER COIL) จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่
20 มีนาคม 2533 มีทุนจดทะเบียน 1,500 ล้านบาท โดยสหวิริยาสตีล อินดัสตรีเข้ามาถือหุ้นในบริษัทแห่งนี้ถึง
99.99% ตั้งกำลังการผลิตสูงสุดขั้นต้นไว้ 6.7 แสนตันต่อปี โดยมีขั้นตอนการผลิตที่เป็นที่ถกเถียงกันในวงการ
ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปเช่นกัน ด้วยการนำเหล็กแผ่นรีดร้อน จากบริษัทแม่ คือสหวิริยาอินดัสตรีมาผ่านกระบวนการ
DOWNSTREAM ให้กลายเป็นเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดม้วน ซึ่งเหล็กแผ่นรีดเย็นนี้
ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมหลายประเภท อาทิเช่น การประกอบตัวรถยนต์,
เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ถังเหล็ก เป็นต้น
นอกจากบริษัททั้ง 2 แล้ว ที่เมืองอุตสาหกรรมเหล็กแห่งนี้ ยังประกอบด้วยบริษัทลูกอีก
2 บริษัท คือ บริษัทเหล็กแผ่นเคลือบไทย ซึ่งผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบม้วน
(ELECTRO-GALVANIZED COIL) ซึ่งจะรับวัตถุดิบคือเหล็กแผ่นรีดเย็นจากบริษัทแม่มาดำเนินการผลิต
โดยมีกำลังผลิต 135,000 ตันต่อปี และบริษัท ท่าเรือประจวบจำกัดซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญอย่างหนึ่งของโครงการ
โดยจะก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก 2 เท่า โดยเริ่มดำเนินการใช้ได้ตั้งแต่เดือนเมษายน
2537 ที่ผ่านมา
ถ้าหากย้อนกลับไปในอดีตช่วงที่กลุ่มสหวิริยาจะได้รับสัมปทานการผลิตโครงการเหล็กรีดร้อน
และเย็นจะได้ทราบถึงเหตุผลสำคัญที่เกิดการเรียกร้องของค่ายอุตสาหกรรมเหล็กรายใหญ่ที่พยายามพลิกผันโครงการให้ตัวเองได้เข้าไปดำเนินการบ้างในขณะนี้
นับแต่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2531 ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
มีมติอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนการผลิตเหล็กรีดร้อนและรีดเย็นแก่สหวิริยากรุ๊ป
แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะให้รายอื่นได้รับการส่งเสริมด้วยหรือไม่ ก็ปรากฏว่า
มีการทุ่มเทกลวิธีทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ที่หวังจะพลิกผันและโน้มน้าวจิตใจให้บีโอไอเปิดโอกาสกว้างให้กลุ่มอื่นบ้าง
แหล่งข่าวระดับสูงผู้เกี่ยวข้องกับค่ายใหญ่ที่หวังจะได้สัมปทานในครั้งนี้
เปิดเผยว่า นักลงทุนต่างก็มองโครงการนี้อย่างใจจดใจจ่อ โดยหลายรายเห็นแววว่า
หากได้ดำเนินโครงการนี้ จะมีแต้มต่อในวงการอุตสากหรรมของไทยอีกมากโข โดยกลุ่มที่สนใจในขณะนั้น
นอกจากกลุ่มสหวิริยาแล้ว ก็มีกลุ่มสยามสตีล กลุ่มวนชัยและบีเอชพี กลุ่มนิปปอนเดนโซ่
กลุ่มกรุงเทพผลิตเหล็ก และกลุ่มนครไทยสตีลเวอร์ค
กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มสหวิริยา และกลุ่มสยามสตีล ได้พยายามใช้กำลังภายในทุกรูปแบบที่จะล็อบบี้ฝ่ายการเมืองซึ่งในขณะนั้น
อยู่ในสมัยของรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้ง 2
กลุ่มต่างมีความสัมพันธ์เป็นอย่างดีต่อพรรคชาติไทย ซึ่ง พล.อ. ชาติชายเป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น
"เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า คุณวิทย์(วิริยะประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ
สหวิริยาสตีลอินดัสตรี) และคุณวันชัย (คุณานันทกุล ประธานกรรมการบริหารของสยามสตีลกรุ๊ป)
ต่างให้การสนับสนุนพรรคชาติไทยมาอย่างเหนียวแน่นจึงทำให้ช่วงนั้นพรรคชาติไทยตัดสินใจค่อนข้างลำบากว่า
จะยอมให้มีค่ายใหม่เข้ามาผลิตแข่งกับสหวิริยาดีหรือไม่" แหล่งข่าวกล่าว
แต่แล้วเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2532 กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งอนุมัติให้สหวิริยาตั้งโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนและรีดเย็นได้เพียงผู้เดียว
และสั่งระงับการตั้งหรือขยายการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนเหล็กแผ่นรีดเย็นของนักลงทุนรายอื่นๆ
เป็นเวลา 10 ปี เป็นการสร้างอำนาจผูกขาด ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า การคุ้มครองอุตสาหกรรมให้กับกลุ่มสหวิริยา
ทางสยามสตีลกรุ๊ป ไม่ละความพยายามที่จะยืนยันตัวเลข ความต้องการเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศ
ว่ามีมากกว่ากำลังผลิตที่สหวิริยาผลิตได้ โดยได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไออยู่หลายรอบตลอด
4 ปี ซึ่งในที่สุดทางบีโอไอก็ได้ให้การส่งเสริมเฉพาะการผลิตเหล็กโครงสร้างแก่สยามสตีลกรุ๊ปเท่านั้น
ส่วนการผลิตเหล็กรีดร้อนรีดเย็นนั้น ทางบีโอไอได้ขอให้รอการพิจารณาออกไปก่อน
โดยเปิดช่องให้ว่า จนกว่า เมื่อความต้องการภายในประเทศจะมากกว่า 1.8 ล้านตันต่อปีที่สหวิริยาสามารถผลิตได้
ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่า เมื่อความต้องการในประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็น 1.804
ล้านตัน มากกว่าที่สหวิริยาตั้งเป้าไว้เล็กน้อย จึงได้มีการคาดการณ์ว่าหากในปี
2540 เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4-6% คือประมาณ 2.2-2.4 ล้านตันต่อปี
ในขณะที่สมรรถภาพการผลิตเต็มที่ของสหวิริยาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2537 นั้น
จะตกอยู่เพียง 1.8 ล้านตันต่อปีเท่านั้น จึงเป็นโอกาสเหมาะที่คู่แข่งรายอื่นจะได้เข้ามาร่วมสังฆกรรมในโครงการนี้บ้าง
มาเมื่อต้นปี 2537 ทางบีโอไอได้เปลี่ยนท่าทีในการให้รายใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมด้วยการเปิดเสรีให้ทุกค่ายมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะผลิตได้อย่างเต็มที่เพื่อตัดปัญหา
"การวิ่งเต้น" ดังเช่นที่เป็นในอดีต ผลกระทบจากจุดนี้ย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อสหวิริยาอย่างช่วยไม่ได้
จึงจำเป็นอยู่เองที่นายใหญ่แห่งสหวิริยา อย่างวิทย์ วิริยะประไพกิจ จะปล่อยให้สยามสตีลย่ามใจและมาหยิบชิ้นปลามันไปเฉย
ๆ ได้อย่างไร
กระบวนการล็อบบี้ทุกฝ่าย ให้เห็นสอดคล้องต้องกันกับทางสหวิริยาจึงได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่จะพยายามให้มีการเลื่อนการเสนอวาระเปิดเสรีเหล็กแผ่นรีดร้อนออกไปให้นานกว่าเดือนกุมภาพันธ์
2537 จนกระทั่งหากเป็นไปได้ ก็อยากจะหน่วงเวลาให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
ความจำเป็นที่สหวิริยาจำเป็นต้องหน่วงเวลาการเปิดเสรีออกไปให้นานที่สุดนั้น
เนื่องด้วยเหตุผลประการสำคัญเรื่องของภาพพจน์ของการนำหุ้นของบริษัทสหวิริยา
สตีลอินดัสตรี จำกัด เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อสหวิริยา
สตีล อินดัสตรีได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นถึง 5,100 ล้านบาท และเตรียมระดมทุนอยู่แล้ว
แต่เนื่องด้วยมีปัญหาทางด้านปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความเสี่ยงในเรื่องของผลกำไร
มีผลทำให้ หุ้นสหวิริยาสตีล ที่กระจายให้แก่นักลงทุนทั่วไป จำนวน 23.4 ล้านหุ้น
มียอดการจองซื้อจากประชาชนเพียง 15.437 ล้านหุ้นเท่านั้น ทำให้มีหุ้นเหลือจากการจองซื้อมากถึง
8 ล้านหุ้น
ซึ่งมีผลกระทบต่อภาพพจน์ความเป็นสหวิริยาในอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอย่างมาก
เนื่องจากผลการดำเนินการของสหวิริยาสตีลที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นโครงการที่ไม่มีการผลิตและการขายทำให้บริษัทมีการขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี
2534-36 และต่อเนื่องมาถึง 2537 แม้ว่าจะมีรายได้จากการขายเหล็กรีดร้อนไปได้บ้างแล้วประมาณ
5 พันล้านบาทก็ตาม แต่ก็ยังขาดทุนสุทธิอยู่ถึง 899 ล้านบาท ยกเว้นในปี 2535
เท่านั้น ที่บริษัทมีรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ประมาณ 343 ล้านบาทและแม้ว่าตามแผนมีการคาดการณ์ว่าในปี
2538 บริษัทจะมีกำไรสุทธิถึง 1,439.89 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทจะสามารถผลิตได้เต็มตามกำลังผลิตที่มีอยู่ก็ตาม
จากผลประกอบการนี้จะส่งผลให้ค่า P/E RATIO ของหุ้นดังกล่าวสูงขึ้นตามไปด้วย
ผนวกกับความไม่แน่นอนสูงมากขึ้นของโครงการนี้ ที่จะต้องเตรียมเปิดเสรีให้ค่ายอื่นเข้ามาร่วมทำตลาดด้วยนั้นก็ยิ่งทำให้ภาพพจน์ของหุ้นตัวนี้ตกต่ำลงไปอีก
ดังนั้นหากมีหนทางที่จะเลื่อนการพิจารณาเปิดเสรีโรงเหล็กรีดร้อนรีดเย็นออกไปให้นานที่สุดแล้ว
วิทย์ก็คงไม่รีรอที่จะปฏิบัติอย่างแน่นอน
แหล่งข่าวในวงการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์รายหนึ่งให้ทัศนะว่า หุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่คือประมาณ
78 ล้านหุ้น ถือว่าเป็นหุ้นที่ไม่ค่อยมีความมั่นคงมากนัก ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจว่า
เหตุใดทางตลาดหลักทรัพย์จึงได้อนุญาตให้หุ้นดังกล่าวเข้าซื้อขายได้
"หุ้นตัวนี้เข้ามาไม่ถูกจังหวะ และเมื่อนักลงทุนทราบถึงผลประกอบการและความเสี่ยงพอสมควรแล้ว
จึงทำให้หุ้นขายไม่ดีเท่าที่ควร และเมื่อแนวโน้มของหุ้นตัวนี้ มีทีท่าว่าจะต้องถือยาวเพื่อรอกำไรในอนาคตแล้ว
จึงไม่เป็นเรื่องฉลาดที่นักลงทุนจะเข้าไปซื้อหุ้นจอง ควรจะเข้าไปซื้อในกระดานจะดีเสียกว่า"
แหล่งข่าวกล่าว
เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่สหวิริยาจะต้องหน่วงเวลาออกไปให้นานที่สุดนั้น
เพื่อให้กลยุทธ์ทางการตลาดของตนประสบความสำเร็จ นั่นก็คือหน่วงเวลาให้นานออกไป
เพื่อให้คู่แข่งมีโอกาสเตรียมการผลิตน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากหากทอดระยะเวลาออกไป
จนถึงใกล้เวลาที่สหวิริยาหมดอายุการคุ้มครองในปี 2542 โดยเป็นในช่วงปี 2539-40
แล้ว ก็จะมีเวลาให้กับรายใหม่น้อยเกินไป ที่จะเริ่มดำเนินการผลิต เพราะอย่างน้อยจะต้องให้เวลาในการติดตั้งเครื่องจักรอย่างน้อย
2 ปี โดยจะเป็นเวลาของงานก่อสร้าง 18 เดือน และเวลาติดตั้งเครื่องจักรอีก
4 เดือน และการทอดระยะเวลาออกไปให้นานมากเท่าไร กำลังผลิตของเหล็กรีดร้อนของสหวิริยาก็จะยิ่งเป็นปึกแผ่นมากขึ้นเท่านั้น
พร้อมไปกับเครือข่ายในการทำตลาดที่สหวิริยาจะสามารถเจาะเข้าไปทำ ตลาดได้เหนือกว่าคู่แข่งที่จะมาทีหลัง
แหล่งข่าวในวงการเหล็กเตาหลอมรายหนึ่งให้ทัศนะว่า สหวิริยาหวังเป็นอย่างมากให้คู่แข่งมีโอกาสผลิตและทำตลาดผลิตภัณฑ์นี้ให้น้อยที่สุด
โดยไม่คำนึงว่าในช่วงที่คุ่แข่งจะต้องใช้เวลาในการเตรียมการเพื่อผลิตนั้น
ใครจะรับผิดชอบในความต้องการเหล็กรีดร้อนที่สูงขึ้น
"ขณะที่สหวิริยาทำรีดร้อนเพียงอย่างเดียว 1.8 ล้านตัน ในขณะที่สหวิริยาบอกว่าอีก
2-3 ปี เขาจะทำเหล็กรีดเย็นอีก ถามว่า เขาจะเอาวัตถุดิบจากที่ไหนเขาก็คงต้องเอามาจากเหล็กรีดร้อนที่เขาทำได้ซึ่งหากดึงเหล็กรีดร้อนปริมาณ
7 แสนตันจาก 1.8 ล้านตันไปเพื่อผลิตเหล็กรีดเย็นของตัวเองแล้วเหล็กรีดร้อนที่จะป้อนสู่ตลาดก็คงจะต้องลดลงมาเหลือ
1.1 ล้านตันโดยปริยาย ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ภาวะเหล็กรีดร้อนในตลาดขาดแคลนขึ้นอย่างแน่นอน"
ทางฝ่ายสหวิริยาเองก็ได้ออกมาตอบโต้ความคิดเห็นที่จะอนุญาตให้มีการเปิดเสรีโรงงานเหล็กรีดร้อนรีดเย็นเช่นเดียวกัน
อัศวิน จินตกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สหวิริยาสตีลอินดัสตรีเปิดเผยอย่างมั่นใจว่า
รัฐควรจะรักษาคำมั่นและพันธะที่เป็นข้อผูกพันกับภาคเอกชนไว้ โดยถ้ารัฐจะพิจารณาให้มีการเปิดเสรี
ทางสหวิริยาก็จะไม่ดำเนินการทางกฎหมายแต่อย่างใด แต่เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นก็คงต้องมีการเปิดเจรจาเพื่อให้ความเป็นธรรมของทั้ง
2 ฝ่าย
มาตรการขั้นต่อมาที่ทางสหวิริยาจะได้เริ่มดำเนินการในโอกาสต่อไป เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองนั้น
คีย์แมนอย่างวิทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของสหวิริยา สตีลอินดัสตรี ได้เตรียมไว้พร้อมสรรพแล้ว
โดยได้เตรียมยื่นหนังสือต่อบีโอไอกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ให้รับทราบถึงข้อเท็จจริง และผลกระทบที่มีต่อบริษัทหากต้องมีการเปิดเสรี
นอกจากนั้นยังได้เตรียมการที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขโครงการสร้างอากรนำเข้าผลิตเหล็กใหม่
ให้เป็นระบบอีกด้วย
อันนี้ถือเป็น "แท็คติค" อีกรูปแบบหนึ่งจากวิทย์ ผู้คร่ำหวอดในวงการเหล็กมาเป็นเวลานาน
โดยวิทย์เสนอว่า รัฐควรแก้ไขโครงสร้างอัตราภาษีนำเข้าใหม่ให้หมด โดยในส่วนของสินแร่เหล็ก
เหล็กพรุน เศษเหล็กนั้นไม่ควรจัดเก็บเลยหรือถ้าจะจัดเก็บก็ควรจะเก็บไม่เกิน
1% เท่านั้น หรืออย่างพลังงานเชื้อเพลิงต่าง ๆ ก็ไม่ควรเก็บภาษี นอกจากนั้นวัตถุดิบเหล็กแสลป
หรือบิลเล็ต ควรจัดเก็บเพียง 2-3% เท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันจัดเก็บสูงถึง
10%
เหล็กแสลปนั้นเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน การเสนอให้มีแก้ไขโครงสร้างภาษีเหล็กของวิทย์นั้น
เป้าหมายโดยตรงอยู่ที่เหล็กแสลปตัวนี้เอง
นอกจากจะเสนอให้ลดภาษีนำเข้าแล้ว ในอีกด้านหนึ่งวิทย์ยังเรียกร้องให้คงกำแพงภาษีนำเข้าเหล็กรีดร้อนรีดเย็นหรือเหล็กแผ่นเคลือบไฟฟ้าไว้ที่
25% เพื่อคุ้มครองโครงการของตนที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง เนื่องจากมีกระแสความต้องการให้รัฐบาลลดภาษีตัวนี้ลง
แหล่งข่าวผู้สันทัดกรณีเรื่องเหล็กรีดร้อนรีดเย็นให้ทัศนะว่า กรณีที่กล่าวหาว่า
จะเกิดการผูกขาดขึ้นหรือไม่นั้น จะต้องดูที่เจตนารมณ์ของผู้พูดก่อนว่าคิดอย่างไร
มีอะไรอยู่เบื้องหลังด้วยหรือเปล่า ซึ่งหากมองเกมส์ของสหวิริยาแล้ว จะเห็นว่า
การที่เรียกร้องขอให้ชะลอการตั้งโรงงานใหม่ขึ้นมานั้น หากยังคงมีมาตรการนำเข้าเสรีอยู่เช่นเดิม
ผนวกกับการไร้ซึ่งกำแพงภาษีที่ปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศแล้วการเรียกร้องก็ไม่เกิดประโยชน์แต่อันใด
ดังนั้นมาตรการต่าง ๆ ที่วิทย์งัดออกมาเพิ่มเติมนี้ จึงทำไปเพื่อให้เป็นไปตามแผนการที่หวังเอาไว้
"หากในช่วงนี้เขาจะขอให้เป็นผู้ผลิตรายเดียวต่อไป และขอให้มีการปกป้องตัวเอง
โดยการขึ้นภาษีนำเข้าในประเทศแล้ว อันนี้จะมีผลอย่างแน่นอน ส่อให้เราคิดไปได้ว่า
เมื่อมีการปกป้องเช่นนั้นแล้ว เขาก็จะพอใจ และมีความสุขในจุดนั้น ซึ่งอันที่จริงแล้ว
เรามองไม่เห็นว่าสหวิริยาจะกลัวอะไร เพราะสหวิริยาค่อนข้างจะได้เปรียบ เพราะเริ่มไปก่อนอย่างน้อย
3-4 ปี ซึ่งข้ออ้างว่าสหวิริยาจะเสียส่วนแบ่งการตลาดไปให้กับคู่แข่งรายใหม่นั้นก็ยังไม่มีใครรู้
ต้องรอเวลาพิสูจน์ในอนาคต"
แหล่งข่าวผู้สันทัดกรณีให้ความคิดเห็นว่า สิ่งที่สหวิริยาสมควรกลัวนั้น
ควรจะเป็นเรื่องกระบวนการผลิตเหล็กรีดร้อนของตัวเองมากกว่า เนื่องจากเทคโนโลยีที่สหวิริยาใช้วันนี้
ไม่ทันสมัยเท่าที่ควรเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับการนำเหล็กแท่ง แบนหรือแสลปไปรีดซ้ำอีกที
โดยพยายามรีดให้บางที่สุด ซึ่งไม่แตกต่างจากกระบวนรีดซ้ำ ซึ่งอันที่จริงแล้ว
ทางสหวิริยาน่าจะหาวิธีการที่พยายามเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ให้เหมือนกับของทางเหล็กสยามที่ทำกับกลุ่มยามาโตะ
ซึ่งมีกระบวนการรีไซเคิลที่ชัดเจน ไม่ใช่การขายค่าแรงงานอย่างที่ทำกันอยู่ตอนนี้
อันที่จริงแล้ว เทคโนโลยี่ใหม่ที่เรียกว่า THIN SLAB CASTING หรือการหลอมเศษเหล็ก
ให้ออกมาเป็นเหล็กแผ่นบางเลยนั้น น่าจะประหยัด ค่าแรงกว่าแบบนี้มากถึง 30%
หรือ 100 เหรียญต่อตัน และยังใช้เวลาน้อยกว่าแบบเก่ามากอีกด้วย โดยมีคุณภาพเท่าเทียมกัน
นอกจากนั้นการพึ่งพาแต่เพียงแสลป จากรัสเซียเพียงแห่งเดียว เพื่อนำมาใช้ในการผลิตนั้น
ก็มีโอกาสเป็นไปได้ตลอดเวลาที่จะเกิดการขาดตลาดขึ้นได้ นอกจากนั้นแล้ว โอกาสที่จะต่อรองเพื่อลดราคาสแลปซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญให้ลงมานั้น
ก็ทำได้ยากเพราะผู้ซัพพลายสินค้าก็ทราบดีอยู่แก่ใจว่า
ตนเองมีแต้มต่ออยู่ในมือที่พร้อมจะบีบลูกไก่ในกำมือเมื่อไหร่ก็ได้
รวมถึงว่า วัตถุดิบที่เขานำมาผลิตนี้ ก็เป็นวัตถุดิบที่นำมาจากโรงงานอื่น
ที่ผลิตเหล็กแผ่นเป็นแบบกึ่งสำเร็จรูป ดังนั้น โรงงานที่ผลิตเหล็กแผ่นขึ้นมา
ก็คงไม่ต้องการจะขายเป็นเศษเหล็กอย่างแน่นอน คงหวังจะขายเป็นเหล็กแผ่น หรือเป็นเหล็กรูปแบบอื่นมากกว่า
ซึ่งหากจะขายเป็นเศษเหล็ก ก็จะขายในช่วงที่กิจการเขาไม่ค่อยจะดีแต่เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว
ผู้ที่เคยขายแสลปราคาถูกให้ ก็คงไม่หลงขายให้เขาในราคาถูกอีกต่อไป ดังนั้นการที่สหวิริยาจะเอาแต่แสลปมาผลิตเพื่อเป็นเหล็กแผ่นอย่างเดียวในแง่ของธุรกิจนั้นไม่
EFFECTIVE อย่างแน่นอน
"ข้อที่น่าเป็นห่วงก็คือ วัตถุดิบดังกล่าวของเขานี้ ไม่ใช่สิ่งที่เขาจะหาซื้อได้ในตลาด
ถ้าเราเริ่มจากแสลป แบบธรรมดา หรือเศษเหล็กทั่วไปนั้น ก็คงจะหาซื้อได้เฉพาะที่และต้องหาที่ที่เขาสามารถซัพพลาย
เราได้อย่างมาก ๆ ด้วยเป็นสิ่งที่น่าถามว่า ทำไมสหวิริยาถึงกล้าเสี่ยง ลงมาทำธุรกิจนี้เองในภาวะที่เสี่ยงเช่นนี้"
ซึ่งหากถามว่า ทำไมสหวิริยา จึงได้มีความกล้าหาญชาญชัยเช่นนี้ ก็เนื่องจากว่าทางสหวิริยามีความเชื่อมั่นในความสามารถของตน
นอกจากข้อได้เปรียบที่ทิ้งห่างรายใหม่ที่จะเข้ามาในวงการนี้ไปแล้ว 2-3 ปีแล้ว
หรือมีเครื่องจักรในการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในเอเชียอาคเนย์ด้วยแล้ว
ในเชิงการตลาดทางสหวิริยาก็มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถจำหน่าย สินค้าในราคาตลาดให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
เพราะนอกจากความเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในประเทศ แล้วสหวิริยาเองก็มีความเชื่อมั่นในช่องทางการจัดจำหน่ายของตนเอง
ที่จะเจาะเข้าหากลุ่มผู้ใช้รายใหญ่สำคัญ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมท่อเหล็ก,
เฟอร์นิเจอร์, เหล็กโครงสร้าง, ตัวถังรถยนต์ โดยย้ำในนโยบายสำคัญของบริษัทที่จะจำหน่ายเหล็กรีดร้อนให้กับผู้ใช้และตัวแทนจำหน่ายทุกรายในราคาเดียวกัน
โดยไม่ให้สิทธิประโยชน์พิเศษอื่นใดแก่ผู้ถือหุ้นบริษัทรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ
ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดแข็งทางการตลาดของกลุ่มสหวิริยาที่จะผูกใจตัวแทนจำหน่ายต่าง
ๆ ไว้ได้อย่างมาก เพราะที่ผ่านมาตัวแทนจำหน่ายต่าง ๆ มักจะพบความเจ็บช้ำที่ต้องรับเหล็กมาในราคาที่สูงกว่าที่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดบริษัทผู้ผลิตเป็นอย่างมาก
ทางสหวิริยาเองก็ยังมีความเชื่อมั่นว่า เมื่อเปรียบเทียบศักยภาพทางการตลาดระหว่างการผลิตในประเทศ
กับการนำเหล็กรีดร้อนเข้ามาแล้ว จะพบว่าการนำเข้าเหล็กรีดร้อนเข้ามาจากญี่ปุ่น
บราซิล รัสเซียฯ จะต้องทำการสั่งซื้อเป็นไตรมาส ซึ่งต้องแจ้งล่วงหน้า "เนื่องจากระยะทางขนส่งของแหล่งที่มาจะไม่เท่ากัน
จึงทำให้ผู้นำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนต้องสำรอง สินค้าไว้จำนวนหนึ่งเสมอ นอกจากนั้นแล้วราคาเหล็กรีดร้อนจากต่างประเทศ
จะแปรเปลี่ยนไปตามคุณภาพขนาดและแหล่งผลิตบวกค่าขนส่งและภาษีต่าง ๆ
นอกจากนั้นแล้ว ผู้นำเข้ายังต้องมีภาระแบกรับต้นทุนในการสต็อคสินค้าจะต้องมีที่เก็บสินค้าที่ใหญ่และสะดวกต่อการขนส่ง
จะต้อง แบกภาระดอกเบี้ยที่สูงในการเก็บสินค้าไว้สำรอง รวมถึงต้องพบพากับความไม่แน่นอนในการซื้อสินค้าอีกด้วย
ความได้เปรียบเชิงตลาดของสหวิริยาดังว่านี้แม้จะมีศักยภาพสูงเพียงใด แต่สิ่งที่สหวิริยาต้องการมากที่สุดในตอนนี้คือ
ความสามารถที่จะถ่วงเวลาให้ตัวเองได้มีโอกาสผูกขาดในอุตสาหกรรมเหล็กประเภทนี้ให้นานที่สุด
และได้รับในสิ่งที่หวังไว้คือการได้กำแพงภาษีนำเข้าที่แข็งแรงกว่านี้
หลังจากที่ได้มีการประชุมคณะกรรมการบีโอไอครั้งล่าสุดไปเมื่อ 20 กรกฎาคม
2537 ที่ผ่านมาและคณะกรรมการได้ประกาศว่า ยังไม่มีการตัดสินใจนโยบายอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นว่าจะให้มีการเปิดเสรีหรือไม่
เพียงแต่การประชุมครั้งนั้นเป็นการรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการทราบเท่านั้น
เนื่องจากการยื่นจดหมายทบทวนความจำจากวิทย์ ดังที่กล่าวนั้นเอง
ซี่งดูตามรูปการณ์ของสถานการณ์ปัจจุบันแล้วในที่สุดทางกลุ่มสหวิริยาก็คงไม่สามารถฝืนกระแสเรียกร้องของหลายฝ่ายที่ต้องการให้เปิดเสรีเหล็กรีดร้อนไปได้
เพียงแต่ว่าตัวเองจะต้องรักษาผลประโยชน์ล็อบบี้ทุกฝ่ายให้หน่วงเวลาการเปิดเสรีไว้ก่อน
เพื่อรอเวลาเข้าตลาดของหุ้นสหวิริยา สตีล อิดัสตรีในเร็ว ๆ นี้
ความสัมพันธ์ที่ดีของคณะผู้บริหารสหวิริยาสตรีลกับรัฐมนตรีสายประชาธิปัตย์อย่าง
พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และ สาวิตต์ โพธิวิหคนั้น
ซึ่งที่ผ่านมาได้แสดงท่าทีสนับสนุนซึ่งกันและกันมาโดยตลอดนั้น และได้ย้ำอย่างหนักแน่นว่า
จะต้องรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับเอกชนไว้นั้น ในขณะเดียวกันคณะฑูตอิตาลี ก็ได้เข้าพบสถาพร
กวิตานนท์ เลขาธิการบีโอไอ เพื่อสอบถามและตอกย้ำความแน่ใจของรัฐที่มีต่อเอกชนอีกทางหนึ่ง
คงเป็นคำตอบได้อย่างดีว่า การหน่วงเวลาของสหวิริยาคงจะยืดระยะออกไปได้อีกพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสหวิริยาจะต้องสูญเสียการผูกขาดในการผลิตเหล้กรีดร้อนไป
วิทย์ก็คงต้องเชื่อมั่นแล้วว่า เขาจะได้รับสิ่งแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่าพอกัน
นั่นคือ จะต้องมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าให้สูงขึ้น
ทีนี้ก็มาว่ากันถึงเหล็กรีดเย็นบ้าง
ในตอนแรกนั้น ทางสหวิริยาได้เตรียมการไว้ว่าจะสามารถลงมือผลิตได้ภายในเดือนสิงหาคม
2540 โดยตั้งกำลังผลิตขั้นต้นไว้ต่ำสุดที่ 6 แสนตันเท่านั้นและได้ทำการเจรจาหาผู้ร่วมลงทุนซึ่งมีเทคโนโลยี่จากหลายประเทศ
อาทิเช่น อังกฤษ อิตาลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย เยอรมัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส
และเกาหลี ซึ่งในตอนแรกนั้นคาดว่าจะทราบผลภายในสิ้นเดือนกันยายน 2537 แต่จนถึงขณะนี้ก็มีทีท่าว่าจะต้องล่าช้าออกไป
ปรากฏว่าในช่วงต้นนั้น มี 2 ประเทศ ที่เป็นตัวเต็งที่จะเข้ามาร่วมทุนด้วยคือ
อังกฤษ และออสเตรีย ในส่วนของอังกฤษนั้น บริษัทที่เสนอตัวเข้ามาคือ BRITISH
STEEL ส่วนของออสเตรียนั้นชื่อ B.H.G. ซึ่งแต่ละบริษัทที่มีข้อเสนอที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีและความพร้อมของวัตถุดิบทางสหวิริยาได้กะเก็งไว้ว่า
จะให้บริษัทจากต่างชาติเข้ามาร่วมทุนในอัตราไม่เกิน 40% ตามเงื่อนไขของบีโอไอ
ระหว่างนี้ทางสหวิริยากำลังหาข้อยุติและข้อดีข้อเสียของทั้ง 2 บริษัท ซึ่งมีความพยายามจะให้ได้ก่อนสิ้นปีนี้
เพราะถ้าหากล่าช้าออกไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2538 หรือปีหน้า ก็จะครบวาระที่โครงการได้เริ่มมาแล้วเป็นเวลา
6 ปี ซึ่งตามข้อตกลงกับทางรัฐนั้น ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2538 สหวิริยาจะต้องหาผู้ร่วมลงทุนในส่วนของเหล็กรีดเย็นให้ได้เพราะถ้าหาไม่ได้
จะมีผลกระทบต่อโครงการที่จะล่าช้าออกไป ซึ่งหากไม่เสร็จตามสัญญา ทางสหวิริยาจะต้องถูกยึดเงินประกัน
100 ล้านบาท ที่ได้วางค้ำไว้เมื่อปี 2532
การไขว่คว้าหาผู้ร่วมลงทุนของสหวิริยาในส่วนของเหล็กรีดเย็นนี้จะต้องประสบกับอุปสรรคมากมายอย่างแน่นอน
เริ่มตั้งแต่จะต้องประจัญหน้ากับอิทธิพลของผู้ผลิตจากค่ายญี่ปุ่น ซึ่งมีอิทธิพลสูงสุดในโลกอุตสาหกรรมเหล็กขณะนี้
ซึ่งอันที่จริงแล้ว ประเทศไทยที่ผ่านมาก็จำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุดิบทางด้านเหล็กหลายอย่างจากญี่ปุ่น
ความขาดแคลนของเหล็กรูปพรรณ หรือเหล็กเส้นในประเทศในอดีตนั้น ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีบทบาทมากมี่สุดในเรื่องนี้
ในส่วนของเหล็กรีดเย็นนั้น ญี่ปุ่นค่อนข้างพอใจกับการขายเหล็กรีดเย็นเข้ามาในประเทศไทยเป็นอย่างมากเพราะกว่า
70% ของเหล็กรีดเย็นที่ไทยนำเข้ามานั้นจะมาจากญี่ปุ่น ในอัตราราคา 600 เหรียญ
ต่อตันซึ่งเหล็กส่วนใหญ่ที่ญี่ปุ่นส่งออกนั้น จะส่งมาจากไทยเป็นอันดับ 3
รองจากสหรัฐและจีน
5. บริษัทใหญ่ทางด้านโรงงานเหล็กของญี่ปุ่นที่ส่งเหล็กรีดเย็นเข้าในไทยนั้น
ประกอบด้วย นิปปอน สตีล, เอ็นเคเค, คาวาซากิ, ซูมิโตโม, โกเบ ในจำนวน 5 บริษัทนี้
นิปปอนสตีล , เอ็นเคเคและคาวาซากิเป็นผู้ขายรายใหญ่ ส่วนโกเบและซูมิโตโมก็มีการขายเข้ามาบ้างแต่ไม่มาก
ในจุดนี้หากสหวิริยาจะต้องสร้างโรงงานเหล็กรีดเย็นขึ้นมา ก็คงมีผลกระทบต่อญี่ปุ่นบ้างไม่มากก็น้อย
เพราะถือได้ว่าเป็นการประกาศตัวขึ้นมาเป็นคู่แข่งซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่เคยเกื้อหนุนกันมาในอดีต
จะมีผลกระทบต่อการติดต่อซื้อวัตถุดิบของสหวิริยาในอนาคตอย่างแน่นอน
แต่เมื่อหลวมตัวมาขนาดนี้แล้ว ก็คงต้องเดินหน้าลุยต่อไป
แหล่งข่าวผู้สันทัดกรณีเรื่องเหล็กรีดร้อนรีดเย็นรายเดิมได้เปิดเผยว่า
ถือได้ว่าเป็นโชคดีของสหวิริยาที่ 3 บริษัทผู้ส่งเหล็กรีดเย็นเข้ามาในไทยคือ
นิปปอนสตีล , คาวาซากิและเอ็นเคเค ไม่ค่อยปรองดองกันเท่าที่ควร จึงยังพอมีช่องว่างที่สหวิริยาจะเจาะหาช่องทางเข้าไปหาความร่วมมือ
หรือหาผู้ร่วมลงทุนได้บ้าง เพราะถึงแม้ว่าทางสหวิริยาจะยอมรับในความสามารถด้านเทคโนโลยี่ของอังกฤษ
และออสเตรียที่เสนอตัวมาก่อนหน้าก็ตาม แต่สหวิริยาก็รู้อย่างซาบซึ้งว่า ถ้าหากได้ผู้ร่วมลงทุนจากญี่ปุ่นมาเข้าร่วมแล้ว
นอกจากจะได้เทคโนโลยี่ที่ไม่น้อยหน้ากว่าชาติอื่นแล้ว
สหวิริยายังจะได้อิทธิพลและบารมีมาเสริมหน้าตาตัวเองด้วย
แต่การที่จะหักด่านเข้าไปดึงเอาผู้ร่วมลงทุนจากญี่ปุ่น มาร่วมกับทางสหวิริยานั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจะต้องเข้าใจให้ดีถึงวัฒนธรรมการแข่งขันของบริษัทญี่ปุ่นเป็นอย่างดี
ซึ่งแม้ว่าทางสหวิริยาจะพยายามเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมนี้แล้วก็ตาม แต่ก็เกิดข้อผิดพลาดจนได้
เมื่อช่วงแรกที่มีการดึงผู้ร่วมทุนมาร่วมในโครงการเหล็กเคลือบสังกะสีด้วยประจุไฟฟ้าทางสหวิริยาก็ได้ไปเลือกเอาเอ็นเคเค
หนึ่งในยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเหล็กของญี่ปุ่น มาร่วมด้วย ซึ่งก็สร้างความไม่พอใจให้เกิดกับกลุ่มนิปปอนสตีลมากพอสมควร
เพราะเล็งไว้แล้วเหมือนกันที่จะเข้าร่วมกับสหวิริยาในโครงการนี้
ดังนั้นเมื่อทางเครือซิเมนต์ไทย หรือกลุ่มสยามซิเมนต์ ได้ประกาศตัวจะผลิต
ทินเพลท (TIN PLATE) หรือเหล็กเคลือบดีบุก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบ
คือเหล็กรีดเย็นเป็นปัจจัยสำคัญ ทางนิปปอนสตีล จึงสบช่องเหมาะที่จะเข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์โดยนัยหนึ่งนั้น
ก็เป็นการแก้แค้นส่วนตัว ต่อสหวิริยาและอีกทางหนึ่งทางนิปปอนสตีลก็มองว่า
อุตสาหกรรมเหล็กเคลือบดีบุกนี้ยังไปได้อีกไกล เพราะผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศก็คือ
แผ่นเหล็กวิลาสไทยซึ่งร่วมทุนกับกลุ่มคาวาซากิ ก็ยังมีกำลังการผลิตที่ค่อนข้างจำกัด
ซึ่งยังมีช่องทางให้รายใหม่ได้เข้ามาเจาะตลาดได้อีกมาก
นอกจากนั้นแล้ว ผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากเหล็กเคลือบดีบุก นั่นก็คือ
TIN MILL BLACK PLATE ซึ่งเป็นที่นิยมของตลาดเป็นอย่างมากในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระป๋องบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง
ๆ และยังมีช่องทางอยู่ในตลาดเป็นอย่างสูง เพราะผู้ที่จะผลิตเหล็กประเภทนี้ได้
จะต้องมีเทคโนโลยี่ขั้นสูง ที่จะต้องควบคุมคุณภาพให้ถึงระดับสูงสุดนั้น เป็นจุดขายอันใหม่ที่นิปปอนสตีลสนใจเป็นอย่างมาก
ตามธรรมเนียมของการเข้ามาร่วมลงทุนกับต่างชาติของญี่ปุ่น จะมีการตกลงเป็นทางการในกลุ่มญี่ปุ่นด้วยกันเองบ้างแล้วว่า
ถ้าหากค่ายใดเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กประเภทใดแล้ว อีกค่ายหนึ่งก็จะเปิดทางให้
จะไม่มาลงทุนแข่งกับค่ายจากชาติเดียวกันในเหล็กประเภทเดียวกันนี้
แต่ในคราวนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ
เมื่อเอ็นเคเค ค่ายใหญ่อีกค่าย เห็นว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมเหล็กแบบทินเพลทนี้แข่งขันมาก
จนเกินกว่าจะไปยึดธรรมเนียมเก่าแล้ว ดังนั้นจึงได้เริ่มเจรจากับทางกลุ่มสหวิริยาที่จะขอร่วมลงทุนด้วย
อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญในวงการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่สหวิริยาจะเชิญค่ายหนึ่งค่ายใดมาร่วมทุนผลิตเหล็กรีดเย็นนั้น
ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากเหล็กรีดเย็นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเหล็กประเภทนี้
จะต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญสูงอย่างมากเป็นพิเศษ
"เหล็กประเภทใหม่ที่เรียกว่า ทิน มิลล์ แบล็ค เพลทนี้จะต้องเตรียมค่าสูญเสียจากการผลิตมากพอสมควร
เพราะเหล็กแผ่นที่ผลิตได้จะมีตำหนิแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้ นอกจากนั้นยังต้องระมัดระวังเรื่องพิษอันเกิดจากรรมวิธีการผลิตในบางขั้นตอน
ที่จะมีผลต่อผู้บริโภคได้ ดังนั้นยิ่งภาวะการแข่งขันปัจจุบันยิ่งสูงขึ้น
ผู้ผลิตเหล็กแบบนี้ จะต้องยิ่งคำนึงถึงคุณภาพสินค้าที่ผลิตออกมามากเท่านั้น"
ดังนั้นจนถึงขณะนี้ ถ้าจะถามสหวิริยาว่าจะเลือกใคร ระหว่างค่ายผู้เสนอตัวจากยุโรปและญี่ปุ่นแล้ว….
จนถึงขณะนี้ สหวิริยาก็ยังคงไม่ได้เลือกแต่อย่างไรซึ่งหากสหวิริยาจะเลือกชาติจากยุโรปทางสหวิริยาก็คงทำใจไว้แล้วว่า
จะมีทางออกที่สวยหรูให้กับค่ายจากญี่ปุ่นที่เสนอตัวมาอย่างไร โดยอาจจะเปิดทางให้มาร่วมทำโครงการอุตสาหกรรมเหล็กประเภทอื่นที่สหวิริยาได้เตรียมไว้
ไม่ว่าจะเป็นโรงงานถลุงเหล็ก หรือโรงงานหล่อเหล็กอีก หลายรูปแบบ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ในขณะเดียวกันหากสหวิริยาจำใจจะต้องเลือกชาติญี่ปุ่น นั่นก็หมายความว่า
นอกจากจะต้องทำความเข้าใจกับชาติยุโรปอย่างที่ทำกับชาติญี่ปุ่นข้างต้นแล้ว
ยังต้องทำความเข้าใจกับค่ายคู่แข่งด้วยว่าเหตุใดจึงเลือกฝ่ายตรงข้าม
แหล่งข่าวผู้สันทัดกรณีได้เสนอทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า หากหวังจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการผลักดันโครงการเหล็กรีดเย็นให้เกิดขึ้นจริงแล้วทางรัฐบาลก็น่าจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้เอกชนทั้ง
3 ฝ่ายคือ นิปปอน สตีล กลุ่มสยามซิเมนต์ และสหวิริยาหาจุดกึ่งกลางที่จะมา
"จับเข่านั่งพูดจากัน" ร่วมทุน 3 ฝ่ายเปิดโรงงานร่วมกัน ซึ่งน่าจะเป็นหนทางที่สวยที่สุดสำหรับเรื่องนี้
สำหรับสหวิริยา อุปสรรคและขวากหนามยังไม่ได้จบสิ้นเพียงเท่านี้เพราะนอกจากอุปสรรคภายในประเทศในส่วนของเหล็กรีดร้อนและรีดเย็นดังกล่าวแล้วอุปสรรคภายนอกประเทศ
ก็กำลังคืบคลานเข้ามาเมื่อมาเลเซียประเทศที่กำลังพัฒนาตัวเองรอบด้านเพื่อหวังจะผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นประเทศที่พัฒนาอย่างเต็มที่ในเวลา
26 ปีข้างหน้า ก็กำลังเปิดโอกาสให้เอกชนเปิดโรงงารนผลิตเหล็กรีดร้อน รีดเย็นอย่างเต็มที่
ซึ่งขณะนี้ได้มีผู้เสนอตัวมาแล้วถึง 3 ราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ภายใน
4-5 ปีนี้อย่างแน่นอน
แรงผลักดันให้เกิดโรงงานเหล็กรีดร้อน และรีดเย็นเสรีนี้นอกจาก จะมาจากภาคเอกชนและรัฐของมาเลเซียแล้ว
มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ก็เคยผ่านงานโรงงานเหล็กมาแล้ว
ดังนั้นแรงผลักดันจึงเข้มข้นเป็น 2 เท่า
ในอนาคตสหริวิรยาจึงจะต้องมีคู่แข่งอันน่ากลัวอย่างแน่นอน หากจะต้องเพิ่มกำลังผลิตเพื่อการส่งออกเหล็กรีดร้อนและรีดเย็นไปแข่งกับค่ายอื่น
ดังนั้น ศึกรอบทิศที่สหวิริยาจะต้องผจญอยู่ขณะนี้ นับตั้งแต่กระแสการเรียกร้องให้เปิดเสรีการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนที่ยุติลงไปแล้วชั่วคราว
แต่ในที่สุดแล้ว หากความต้องการใช้มีมากกว่าความสามารถที่สหวิริยาจะตอบสนองได้
อำนาจผูกขาดของสหวิริยาจะต้องสิ้นสุดลง จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ในขณะที่ความหวังที่จะได้กำแพงภาษีนำเข้ามาป้องกันตัวเองก็ยังเลือนราง
ปัญหาเหล็กรีดเย็น ก็ยังหาผู้ร่วมลงทุนไม่ได้ ในขณะที่หุ้นสหวิริยาสตีลก็ขายไม่ออกเพราะผู้ซื้อไม่มั่นใจในสถานภาพของบริษัท
เพราะฉะนั้น วิทย์คงจะใช้กำลังภายในทุกรูปแบบมาแก้ไขปัญหาในจุดนี้ เนื่องจากหากทิ้งไว้เนินนาน
ความยิ่งใหญ่ของสหวิริยาในวงการเหล็กที่มีอยู่ก็อาจจะถูกกัดกร่อนลงไปได้