|
สินเชื่อบ้านครึ่งปีแรกหดรอฟื้นตัวเมื่อรัฐบาลชัดเจน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมที่ผ่านมาอยู่จังหวะชะลอตัว เนื่องมาจากการกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากปัจจัยลบต่างๆ ที่มากระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราดอกเบี้ย MLR ที่เพิ่มสูงขึ้นไปตามการปรับตัวของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) กลายเป็นภาระที่หนักอึ้งเพิ่มขึ้นของคนที่กำลังผ่อนบ้านอยู่แล้ว ต้องผ่อนค่างวดต่อเดือนเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ที่คิดจะซื้อบ้านต้องคิดหนักขึ้นว่าจะรับภาระไหวหรือไม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะสินเชื่อที่อยู่อาศัยว่า ในครึ่งปีที่ผ่านมาการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีความผันผวนมาก โดยในไตรมาส 1 ทั้งระบบมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 0.45% สาเหตุมาจากภาครัฐวิสาหกิจ คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสินมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 3% ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์มียอดการปล่อยสินเชื่อเพียง -1.89% ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา จึงทำให้อัตราการเติบโตทั้งระบบลดลง ทั้งนี้การมาจากผู้บริโภคอยู่ในภาวะช็อคจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ รวมทั้งได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง
ส่วนในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้อัตราการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากผู้บริโภคได้มองเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาถึงจุดสูงสุดแล้ว ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเริ่มชะลอตัว ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมา ส่งผลให้มีการตัดสินใจซื้อบ้านมากขึ้น บวกกับมีกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยด้วยการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด การจัดแคมเปญทางการเงินของสถาบันการเงิน เพื่อเร่งยอดขายก่อนปิดบัญชีงวดครึ่งปีให้ได้ตัวเลขที่ดี
การคาดการณ์ต่อจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยได้ขั้นมาถึงจุดสูงสุดแล้ว โดยคาดว่าทั้งปีนี้จะขยายตัว 12% ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ในอัตรา 15.9% เนื่องมาจากในไตรมาสแรกมียอดที่ตกต่ำค่อนข้างมาก ในแง่ของส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวอีก 11% ใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตของทั้งระบบ
ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาดสินเชื่อผู้บริโภค ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในอนาคตส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยระหว่างธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐน่าจะอยู่ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่ทั้งนี้ต้องรอดูว่ามาตรการอัตราสินเชื่อคงที่ 20 ปีของ ธอส. ที่กระทรวงการคลังจะมีความคิดจะนำมาใช้เพื่อช่วยให้คนได้มีบ้านหลังแรกจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดของ ธอส.สูงขึ้นกว่าธนาคารพาณิชย์หรือไม่
ส่วนสถานการณ์ในปีหน้าของสินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าจะอยู่ในภาวะที่ไม่น่าหนักใจ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มคงที่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายและ FED จะลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ทั้งนี้คงต้องรอให้สถานการณ์ทางการเมืองมีความแน่นอน มีการเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาล จะทำให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้น โดยปีหน้าภาวะเศรษฐกิจจะทรงตัวไปจนถึงไตรมาส 2 ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงที่จำนวนสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะตกต่ำที่สุด และจะค่อยเติบโตขึ้นในปี 2551-2552 ภาคอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตขึ้นชัดเจนอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะเป็นการเติบโตจากผู้ที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริง มากกว่าในปี 2544-2545 ที่เป็นการเติบโตจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาล
ส่วนในด้านนโยบายของกระทรวงการคลังที่จะช่วยเหลือผู้มีบ้านหลังแรก จะไม่เป็นกระตุ้นตลาดบ้านในระดับกลางที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทได้มากนัก เนื่องจากเป็นนโยบายช่วยเหลือประชาชนในระดับรากหญ้าซึ่งไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีฐานะปานกลาง
กิตติ พัฒน์พงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กลับมองต่างไปว่าสถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าจะซบเซายาวถึงสิ้นปี 2550 คนจะกู้วงเงินได้น้อยลง 15-20% นโยบายของรัฐบาลควรจะเป็นเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ หากจะรอให้ฟื้นในปีหน้า หรือเมื่อได้ตั้งรัฐบาล และได้ใช้มาตรการการคลังมากระตุ้นก็อาจจะช้าเกินไป และมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าปีหน้าจะมีโครงการบ้านเอื้ออาทรที่จะทยอยเสร็จอีกหลายยูนิตมาเพิ่มปริมาณสินเชื่อ แต่ก็มีสัดส่วนมูลค่าที่น้อยมาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|