เอเจนซี่ข้ามชาติ แห่รีแบรนด์ดิ้ง ไล่กวดเทรนด์ผู้บริโภค


ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงเวลาแล้วสำหรับคนในวงการโฆษณาต้องพลิกตำราการตลาด สร้างจุดแข็งและวางโพซิชั่นนิ่งใหม่ให้กับตัวเอง หลังจากตัวเลขยอดเติบโตของทั้งอุตสาหกรรมโฆษณาที่โตเพียง 5-6% ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ ที่โตถึง 10-15% บวกกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองและ เศรษฐกิจที่ยากต่อคนในวงการโฆษณาจะควบคุมได้ การชิงปรับลุกส์ใหม่ครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มขีดการแข่งขันที่ร้อนและจะหนักหน่วงขึ้นไปอีกหลังจากภาวะในตลาดปกติกลับคืนมา

ครีเอทีฟเอเจนซี่ ปรับลุกส์สู่ IMC

ประเดิมการเร่งปรับภาพลักษณ์ใหม่ ด้วยบริษัท ฟาร์อีส ดีดีบี จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ได้ แดน ศรมณี มานั่งแท่นกรรมการผู้จัดการบริษัทคนใหม่ การผ่าตัดโครงสร้างการทำงานภายในจึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุผลที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอเจนซี่ของตนกับเอเจนซี่อื่น ๆ จากเดิมที่การดำเนินงานของบริษัทเป็นเพียงแค่บริษัทโฆษณาธรรมดา แต่การปรับใหม่ครั้งนี้จะมุ่งไปสู่เอเจนซี่ที่เน้นการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจรมากขึ้น

"เอเจนซี่ต้องตามเทรนด์ให้ทัน และคิดว่าเอเจนซี่คงไม่ต่างไปจากร้านอาหารมากนัก ตลอดเวลากว่า 42 ปีที่เราได้ดำเนินการมา ก็เหมือนกับร้านอาหารที่ทำอาหารอร่อยแต่ไม่มีเมนูใหม่ ๆ มาเพิ่ม ร้านเก่า ๆ คนก็เบื่อ ผู้บริโภคไม่ต้องการอะไรที่ซ้ำ ๆ ตลอดเวลา ดังนั้นการปรับตัว ให้เข้ากับเทรนด์ตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง" แดน ศรมณี กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟาร์อีสท์ ดีดีบี จำกัด (มหาชน) กล่าวกับผู้จัดการรายสัปดาห์ถึงเหตุผลในการปรับภาพลักษณ์องค์กรใหม่

พร้อมกันนี้ทางฟาร์อีส ดีดีบี ได้ใช้ระบบการบริหารแบบเมทริกซ์ (Matrix Management) เพื่อเพิ่มการแชร์ไอเดียการทำงานในองค์กรให้มากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้อีกหนึ่งจุดแข็งที่ทางฟาร์อีส ต้องการชูเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้ามากขึ้น นั่นก็คือ การใช้ประโยชน์จากการมีเน็ทเวิร์คข้ามชาติ ที่มีเครือข่ายถึง 99 ประเทศทั่วโลกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การใช้ผลวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคระหว่างประเทศร่วมกันเพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนการตลาดในแต่ละประเทศ

มีเดียเอเจนซี่ เปลี่ยนกองทัพรับศึก

การเล็งเห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่ชอบความซ้ำซากจำเจและพร้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี้ รวมไปถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมโฆษณาที่หนักหน่วง ทำให้ 'ออมนิคอมกรุ๊ป' กลุ่มบริษัทที่ให้บริการด้านโฆษณาและสื่อสารการตลาดที่มีบริษัทในเครือ 100 ประเทศ และมีลูกค้ามากกว่า 5,000 รายทั่วโลก ชู 'พีเอชดี ' แบรนด์เอเจนซี่ไม้เด็ดของกลุ่มออมนิคอม ที่มีอัตราการเติบโตในทวีปเอเชียอยู่ในเกณฑ์น่าสนใจ เข้ามาแทนที่ 'มีเดียไวส์' ที่ต้องม้วนเสื่อลาโรงไป

เหตุผลหนึ่งที่ต้องยุบ 'มีเดียไวส์' และปั้น 'พีเอชดี (ประเทศไทย)'ขึ้นมาแทนนั้น นายจิม โก๊ะ กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคเอเชีย กลุ่มออนิคอม มีดีย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า

"พีเอชดี เป็นบริษัทซื้อสื่อโฆษณาที่มีสาขาอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นเอเจนซี่ที่เน้นการวางแผนเชิงกลยุทธ์ และลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นระดับอินเตอร์มากกว่าของมีเดียไวส์ โดยมีเดียไวส์ จะเน้นเฉพาะลูกค้าในระดับท้องถิ่นมากกว่า ในขณะที่พีเอชดีจะช่วยให้ลูกค้าของกลุ่มมีทางเลือกในการเข้าถึงกับผู้บริโภคได้ดีขึ้น 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวไทยมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมค่อนข้างรวดเร็ว และซับซ้อนขึ้นกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราเฉลี่ยการรับรู้เรื่องแบรนด์สินค้าและบริการต่าง ๆที่สูงขึ้นด้วย"

ปัจจุบันกลุ่มออมนิคอม มีบริษัทซื้อสื่อโฆษณา 2 บริษัทที่อยู่ในเมืองไทย คือ โอเอ็มดี ที่ก่อตั้งมานานกว่า 8 ปี และพีเอชดีที่เปิดตัวในเมืองไทยอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้จะใช้ระบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพเพื่อแยกกลุ่มลูกค้าให้ออกจากกันอย่างชัดเจน ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้ในการวางแผนก็แตกต่างกันอีกด้วย จากเดิมที่มีเดียไวส์ต้องพึ่งพาจุดแข็งของโอเอ็มดีในเรื่องกลยุทธ์การวางแผนและการซื้อสื่อ แต่หลังจากที่พีเอชดี เข้ามาแทนที่มีเดียไวส์จะเน้นการวางแผนเชิงกลยุทธ์และพัฒนาการใช้สื่อรูปแบบใหม่ ๆให้มากขึ้น เน้นการสแกนหาความต้องการของผู้บริโภคที่แท้จริงเหมือนกับการสแกนสมองในผู้ป่วย

แม้ว่ากลุ่มลูกค้า และการบริหารที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนั้น แต่ทว่าทั้งโอเอ็มดีและพีเอชดีจะรวมตัวกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อสื่อ โดยการเปิดตัวของพีเอชดี (ประเทศไทย) นี้ทางผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มออมนิคอม เชื่อว่าจะทำให้ลูกค้าของพีเอชดีในประทศต่าง ๆ ทั้งหมดก้าวเข้าสู่กลุ่มเครือข่ายระดับโลก และทางพีเอชดีสามารถใช้ข้อมูลจากแต่ละประเทศเข้ามาช่วยในการวางแผนเชิงกลุยทธ์ และสามารถใช้ทรัพยากรทางมีเดียและปริมาณการซื้อสื่อของออมนิคอมได้อย่างเต็มที่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.