ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ฉีดภูมิคุ้มกันธุรกิจค้าเงิน


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่การเจรจาเปิดเสรีทางการเงินกำลังจะเปิดฉากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้คุมกฎทางการเงินของประเทศได้พยายามวางรากฐานโครงสร้างของสถาบนการเงินไทย ให้เป็นปึกแผ่นแข็งแกร่งสามารถต้านทานกับการถาโถมเข้ามาของต่างชาติ ซึ่งมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันกว่าไทยหลายเท่าตัว

แผนแม่บททางการเงิน เป็นความตั้งใจหนึ่งในการสร้างความพร้อมให้แก่สถาบันการเงินไทย ก่อนที่จะก้าวย่างเข้าสู่โลกของการแข่งขันที่ดุเดือดอย่างเต็มตัว ดังนั้นนับจากนี้ไปจึงเสมือนหนึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับและเปลี่ยนตัวเองของสถาบันการเงินเพื่อความอยู่รอดในสภาวการณ์เช่นนี้

"จุดสำคัญก็คือว่าธนาคารพาณิชย์ไทยต้องปรับตัว เมื่อปรับตัวได้ก็ต้องเปิดกว้างทีละนิดเพื่อที่จะได้ปรับให้มากขึ้นไปอีก และการปรับตัวนี้ก็เพื่อ defend ตลาดภายในของตนเอง ขณะเดียวกันก็ต้องมีการขยายออกไปยังต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ยังต้องปรับไปหาธุรกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้น ทำยากขึ้น เช่นการค้าเงินตราต่างประเทศ การทำตราสารอนุพันธ์ การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การปรับตัวต้องออกมาในลักษณะนี้" ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินโดยตรง กล่าวถึงทิศทางของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องเดินไปในอนาคตอันใกล้นี้

การเปิดเสรีทางการเงินตามแผนแม่บทของไทย จะมีลักษณะเปิดเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งนี้ก็เพื่อให้โอกาสแก่สถาบันการเงินของไทยปรับปรุงศักยภาพการแข่งขันของตนเองให็แข็งแกร่งขึ้น ล่าสุดเมื่อกลางปี 2539 ธปท. ได้เพิ่มใบอนุญาตการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ สาขาเต็มรูปแบบแก่ธนาคารต่างประเทศอีก 7 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 14 แห่ง พร้อมทั้งได้ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการด้านวิเทศธนกิจ (BIBFs) รอบ 2 อีก 7 แห่งจากเดิมที่มีอยู่ 31 แห่ง นอกเหนือจากนี้ยังมีธนาคารต่างประเทศที่เข้ามาจัดตั้งสำนักงานตัวแทนอยู่ในประเทศไทยอีกประมาณ 40 แห่งอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารต่างชาติ ที่มีสาขาเต็มรูปแบบจะได้รับอนุญาตให้เปิดสาขาได้เพียงแห่งเดียวแต่ก็ได้สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบการเงินของไทยมากกว่า 20,000 ล้านบาททีเดียว

นอกเหนือจากการบริหารที่มีความเป็นมืออาชีพระดับสากลแล้ว ธนาคารต่างชาติยังมีความได้เปรียบในเชิงธุรกิจอีกด้วย โดยเฉพาะในธุรกิจการบริหารเงิน (Treasury) ถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญและยังเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่ธนาคารต่างชาติอย่างเป็นกอบเป็นกำทีเดียว โดยกินส่วนแบ่งการตลาดไทยกว่า 50% โดยเฉพาะในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหรือ FOREX (Foreign Exchange Market)

การหลั่งไหลเข้ามาของธนาคารต่างชาติที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มจะแทรกตัวเข้ามาในตลาดได้มากขึ้น ทำให้การแข่งขันเริ่มทวีความร้อนแรงมากขึ้นตามไปด้วย นอกเหนือจากนี้ บริษัทเงินทุนยังเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งธนาคารไทยจำเป็นต้องมีการปรับทิศทางการสร้างกำไรกันใหม่ โดยเริ่มหันมาทำธุรกิจที่มีความซับซ้อนมีมูลค่าเพิ่ม แลใช้ความชำนาญเฉพาะด้านสูงมากขึ้น ซึ่งธุรกิจการบริหารเงินก็เป็นหนึ่งที่ธนาคารไทยได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินไทย ธปท.จึงมีสามารถนิ่งนอนใจได้

"สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีการทำธุรกิจค้าเงินตราต่างประเทศ ทางธปท.จะให้แต่ละธนาคาร set limit ตัวเองก่อนแล้วนำมายื่นธปท. หลังจากนั้นธปท.ต้องมาดูว่าครอบคลุมและเหมาะสมกับระดับที่เขาทำหรือไม่ ถ้าธนาคารทำซับซ้อนมากก็ต้อง set limit มาก หากไม่ซับซ้อนก็ limit น้อยเท่าที่ผ่านมาธปท.จะเข้าไปควบคุมธนาคารไทยมากกว่าธนาคารต่างชาติ เพราะธนาคารต่างชาติมีกฎระเบียบคอยควบคุมในแง่ขอบเขตกิจกรรมอยู่แล้วฉะนั้นธปท.จะคุมในเรื่องของ net position และลูกหนี้รายใหญ่มากกว่า คือถนนที่เขาเดินแคบกว่าธนาคารไทยเพราะทุนที่ธปท.กำหนดไว้นั้นเล็กกว่าธนาคารไทย ทำให้เขามีช่องที่จะค้าเล็กกว่าธนาคารไทย ซึ่งถนนกว้างแต่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญมากนัก" ธีระชัยให้ภาพกว้างๆ เกี่ยวกับการควบคุมธุรกิจการค้าเงินตราของธปท.

โอกาสที่ตลาดบริหารเงินจะเติบโตยังมีอยู่อีกมาก ซึ่งทางธปท.ก็เล็งเห็นถึงแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะจัดทำกรอบและมาตรฐานในการค้าเงินเป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต "นับแต่นี้ต่อไปการค้าเงินตราต่างประเทศจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีปริมาณใหญ่ขึ้น และจะกระจายออกไปไม่ใช่เฉพาะธนาคาร จะข้ามไปยังบริษัทไฟแน้นซ์ด้วย ฉะนั้นแนวการกำกับดูแลก็ดี เรื่องภาษี การตรวจสอบ แนววิธีที่จะควบคุม และการติดตามว่าเทรดเดอร์คนไหนค้าเกินหรือไม่เกิน limit ตรงนั้นควรจะมีระบบเข้ามากำกับดูแล เนื่องจากธปท.เองไม่มีกำลังก็เลยขอไปยังสมาคมธนาคารไทย ให้ผ่านมาทางชมรม FOREX ให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา ซึ่งเวลานี้ก็ได้จ้างสำนักงานตรวจสอบบัญชีพีท มาร์วิค มาช่วยเขียนให้โดยมีคนของธปท.เข้าไปช่วย ตอนนี้ได้ประมาณ 1 ใน 3 แล้ว เมื่อเสร็จทุกธนาคารก็จะได้นำไปใช้ในแนวเดียวกัน"

ระเบียบวิธีที่กำลังจัดร่างขึ้นนี้ถือเป็นคู่มือปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจการบริหารเงิน ซึ่งจะออกมาในลักษณะให้ธนาคารพาณิชย์ควบคุมตัวเองแทนที่จะเป็นธปท. ขณะเดียวกันก็จะช่วยแก้ไขความไม่ชัดเจนในการลงบัญชีรายได้หรือกำไรที่เกิดจากธุรกิจการบริหารเงิน ซึ่งปัจจุบันการลงบัญชีของธนาคารพาณิชย์ยังไม่ได้แยกว่ากำไรนั้นเกิดจากกิจกรรมการซื้อขายเงินในห้องค้า (Dealing Room) หรือเกิดจากกิจกรรมนอกห้องค้า อันได้แก่ ค่าธรรมเนียมจากการบริการ และส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การโอนเงินเข้า-ออกนอกประเทศ ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ธปท.เข้าไปดูแลได้ไม่เต็มที่นัก

ในระหว่างที่รอให้คู่มือที่ร่างโดยชมรม FOREX เสร็จสิ้น ทางธปท.ได้กำหนดกรอบคร่าวๆ ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในการลงบัญชีกำไรที่ได้มาจากการค้าเงินตราต่างประเทศ

"ขณะนี้ธปท.ได้เริ่มต้นเข้าไปดูระบบคร่าวๆ แล้ว โดยให้ธนาคารพาณิชย์เขียน manual เข้ามาก็ปรากฏว่าบางธนาคารมีการแจกแจงอย่างละเอียด บางธนาคารยังต้องปรับปรุง จากนั้นธปท.ก็จะให้ผู้ตรวจสอบบัญชีมาช่วยตรวจเป็นรอบที่ 2 โดยจะทำทุกปีเพราะการค้าเงินเปลี่ยนแปลงทุกปี ปีนี้ยังไม่ค้าดอลลาร์/เยน แต่ปีหน้าอาจจะค้าก็ต้องเข้าไปดูการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมด้วย และเมื่อคู่มือที่ทางชมรม FOREX เสร็จธนาคารจะต้องปรับปรุงระบบควบคุมภายในให้สอดคล้องกับคู่มือนี้ และหลังจากนั้นธปท.ก็จะออกแบบรายงานเพิ่มเติม โดยแบบรายงานนี้จะบังคับให้รายงานกำไรโดยแบ่งตามกิจกรรมหรือความเสี่ยง ซึ่งธนาคารก็จะต้องปรับระบบให้สอดคล้องกับแบบรายงานนี้ด้วยเช่นกัน แต่คงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป"

ในสายตาของธปท. การค้าเงินตราในห้องค้าเงินขอธนาคารพาณิชย์ไทยค่อนข้างดูแลอย่างรัดกุม เพราะกำไรส่วนใหญ่จะมาจากกิจกรรมนอกห้องค้า ด้วยความที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกธนาคารจึงเปรียบเสมือนผู้คุมช่องทางการชำระเงิน (Channel of Payment) ซึ่งผู้ส่งออกทุกคนจะต้องเข้ามาทำธุรกรรมผ่าน และกำไรตรงนี้ก็มีความเสี่ยงต่ำอีกด้วย

กว่าที่ธนาคารไทยจะเทียบชั้นกับธนาคารต่างประเทศได้ในธุรกิจการบริหารเงิน โดยเฉพาะธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก คงยังต้องใช้ทุนและเวลาอีกมากเพราะเพียงการลงทุนและพัฒนาระบบ เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ และบุคลากรให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจไม่เบาเลยที่เดียว…..!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.