BMCLเดี้ยงราคาหลุดจอง4.58%บิ๊กช.การช่างย้ำเล็งเข้าเก็บหุ้นเพิ่ม


ผู้จัดการรายวัน(22 กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

หุ้นน้องใหม่ BMCL เทรดวันแรกราคาต่ำกว่าจอง 4.58% ผู้บริหารยอมรับราคาหุ้นไม่รอดต่ำจองจากผลกระทบการปฎิรูปการปกครอง ด้านที่ปรึกษาฯ เชื่อเมื่อทุกอย่างชัดเจนจะส่งผลต่อภาพรวมตลาดหุ้น ด้านบิ๊กช.การช่าง "ปลิว ตรีวิศวเวทย์" พร้อมเก็บหุ้นในกระดานเพิ่มหวังรักษาสัดส่วนให้ใกล้เคียงกับก่อนขายไอพีโอซึ่งอยู่ที่ประมาณ 50% ขณะที่รฟม.แจ้งจ่ายเงินค่าหุ้นเรียบร้อยแล้ว

วานนี้ (21 ก.ย.) หุ้นบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นวันแรก หลังผู้บริหารบริษัทและที่ปรึกษาทางการเงินประกาศพร้อมเข้าซื้อขาย โดยไม่หวั่นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นภายหลังคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล โดยราคาเปิด 1.10 บาท ต่ำกว่าราคาจองที่กำหนดไว้หุ้นละ 1.31 บาท หลังจากนั้นก็กระเตื้องขึ้นมาปิดที่ 1.25 บาท ลดลง 0.06 บาท หรือ 4.58% มูลค่าการซื้อขาย 1,203.70 ล้านบาท

ทั้งนี้ระหว่างวันมีการทำรายการซื้อขายรายการใหญ่หรือบิ๊กล็อต จำนวน 1 รายการ 81.99 ล้านหุ้น ในราคาจองหุ้นละ 1.31 บาท รวมมูลค่า 107.41 ล้านล้านบาท

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นบริษัทเป็นไปตามกลไลของตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศขณะนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น แต่เชื่อมั่นว่าด้วยพื้นฐานของบริษัทจะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กลุ่มบริษัท ช.การช่าง หรือ CK ซึ่งได้รับการยืนยันว่าพร้อมที่จะเข้ามาซื้อหุ้นหากราคาที่ซื้อขายปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าราคาจอง เพื่อที่จะรักษาสัดส่วนการถือหุ้น ให้ใกล้เคียงกับสัดส่วนก่อนการกระจายหุ้นให้กับประชาชนและการขายหุ้นให้กับ รฟม.

"มีความเป็นไปได้อย่างมากที่บริษัท ช.การช่าง จะเข้ามาซื้อหุ้นของเราเพิ่ม เพราะเขาแสดงเจตนารมณ์อย่างต่อเนื่องที่จะคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้น เพราะเดิมบริษัท ช.การช่าง ถือหุ้นประมาณ 50% แต่ถูกปรับลดลงไปค่อนข้างมากหลังการขายหุ้นจึงน่าจะเข้ามาซื้อเพิ่ม" นายสมบัติกล่าว

สำหรับการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของหุ้นบีเอ็มซีแอล ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่หุ้นที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภคจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเข้ามาเป็นเจ้าของบริษัท

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินกล่าวว่า การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นบีเอ็มซีแอลเป็นเพราะผลกระทบจากกรณีการเข้ามาของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ต่อราคาหุ้นของบริษัทบีเอ็มซีแอลเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นหลายบริษัทและที่สำคัญส่งผลต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้ เชื่อว่านักลงทุนที่มีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะเข้าใจถึงพื้นฐานของบริษัท และพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนระยะยาวเนื่องจากหุ้นบีเอ็มซีแอลถือว่าเป็นหุ้นที่ดีเหมาะสมกับการลงทุน

สำหรับการเทขายหุ้นของนักลงทุนในช่วงเช้าเป็นไปตามคาดการณ์เพราะนักลงทุนตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่าเมื่อทุกอย่างมีความชัดเจนมีการเปลี่ยนผ่านระบอบประชาธิปไตยไปให้รัฐบาลชุดใหม่ นักลงทุนจะมีความเข้าใจมากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทยในระยะยาว

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทที่จะเข้ามาซื้อหุ้นบริษัทบีเอ็มซีแอล ในกระดานเพิ่มเนื่องจากต้องการรักษาสัดส่วนการถือครองให้ใกล้เคียงกับสัดส่วนก่อนหน้าที่จะขายหุ้นให้กับประชาชน แต่ในเรื่องการเข้าไปซื้อเพิ่มจะต้องหารือกับทีมงานในเรื่องการลงทุนของบริษัทก่อนว่าจะตัดสินใจอย่างไร

ทั้งนี้ หุ้นบริษัทบีเอ็มซีแอล ถือว่าเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก เนื่องจากบริษัทไม่มีความเสี่ยงในเรื่องการดำเนินการโดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดค่าโดยสารเนื่องจากมีสัญญาที่ชัดเจน

สำหรับการถือหุ้นในบริษัทบีเอ็มซีแอลของบริษัท ช.การช่าง เป็นการเข้ามาถือหุ้นในระยะยาว เนื่องจากธุรกิจของบริษัทบีเอ็มซีแอลถือว่าเป็นประโยชน์ต่อบริษัทในแง่ของการขยายธุรกิจในอนาคต นอกจากนี้ธุรกิจของบริษัทบีเอ็มซีแอล ยังถือว่าเป็นธุรกิจที่ให้บริการและเป็นประโยชน์กับประชาชน

นางอัญชลี ชวนิชย์ ประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการในเรื่องการกู้เงินจำนวน 2,987.5 ล้านบาท จากธนาคารออมสิน เพื่อชำระค่าหุ้นที่ซื้อจากบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำนวน 2,987.5 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท โดยบริษัทพร้อมจะชำระให้กับ BMCL ในวานนี้ 21 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันแรกของการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

ทั้งนี้ สินเชื่อที่กู้จากธนาคารออมสินระยะเวลา 5.2 ปี อัตราดอกเบี้ยลอยตัวเท่ากับอัตราต่ำสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือนประเภทบุคคลธรรมดาของ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่

"การซื้อในจำนวนดังกล่าวทำให้ รฟม.ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทบีเอ็มซีแอลในสัดส่วนการถือหุ้น 25% ของทุนจดทะเบียน" นางอัญชลีกล่าว

อย่างไรก็ตาม การเข้าถือหุ้นในครั้งนี้ รฟม.จะเข้าไปถือหุ้นในฐานะตัวแทนภาครัฐ รวมถึงเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งรฟม. จะเป็นหลักทรัพย์ที่ถูกห้ามจำหน่าย (ไซเลนต์พีเรียด) เป็นระยะเวลา 3 ปี เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นหลักรายอื่น เช่น บริษัท ช.การช่าง และบริษัททางด่วนกรุงเทพ หรือ BECL เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยใช้ศักยภาพของเอกชนอย่างเต็มที่

บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2549 ปรากฏว่าขาดทุนสุทธิ 433.54 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.06 บาท ขาดทุนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 525.99 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.07 บาท

สำหรับผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือน ประจำปี 2549 ขาดทุนสุทธิ 821.35 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.11 บาท ขาดทุนสุทธิลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขาดทุนสุทธิ 979.78 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.13 บาท

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ที่ดีขึ้น เนื่องจากรายได้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจำนวน 72.36 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 33.12% เนื่องจากในปีก่อนบริษัทมีช่วงระยะเวลาส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินด้วยการลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็น 3 สถานีแรก 10 บาท 4 สถานีขึ้นไป 15 บาท ตั้งแต่ 7 มกราคม 2548 จนถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2548

สำหรับปี 2549 บริษัทใช้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามข้อตกลงในสัญญาสัมปทาน และให้ส่วนลด 15% สำหรับบัตรโดยสารแบบเติมเงิน ส่งผลให้อัตราค่าโดยสารเฉลี่ยต่อคนและรายได้ค่าโดยสารรวมเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้บริษัทยังมีรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นจาก 0.93 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ของปีก่อน เป็น 41.54 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ของปี 2549 รวมทั้งมีการขายเงินลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทย่อยคือบริษัท บีเอ็มซีแอลเน็ทเวิร์ค จำกัด โดยมีกำไรจากการขายเงินลงทุนดังกล่าวจำนวน 17.15 ล้านบาท และสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทในบริษัทย่อยดังกล่าวลดลงจาก 100% เป็น 70%

ด้านค่าใช้จ่ายรวมในการดำเนินงาน (ไม่รวมดอกเบี้ยจ่าย) สำหรับไตรมาส 2 ปี 2549 เท่ากับ 500.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.90 ล้านบาท หรือเพิ่ม 7.73% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนเท่ากับ 464.42 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น 11.78 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.29% และต้นทุนค่าพัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 20.08 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรายได้ค่าโดยสารและรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ในไตรมาส 2 ของปี 2549 บริษัทมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 80.60 ล้านบาท หรือเพิ่ม 41.53% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ปรับตัวสูงขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.